การสอนคนให้เป็นคนดี (ตามแบบฉบับของพระพุทธเจ้า)

 การสอนคนให้เป็นคนดี (ตามแบบฉบับของพระพุทธเจ้า)

วันพฤหัสบดีที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ เวลา ๐๖:๓๙ น. | เขียนโดย ธัมมิกะ

= การสอนคนให้เป็นคนดี =

การ ที่ใคร ๆ จะสั่งสอนใครให้เป็นคนดีนั้น ตัวเองควรปฏิบัติตัวเองให้เป็นคนดีโดยสมบูรณ์ก่อน จึงควรไปสั่งสอนผู้อื่น ถ้าไม่เช่นนั้นจะเข้าทำนองว่า “แม่ปูสอนลูกปู”น่าละอายใจจริง ๆ ดังมีประเด็นที่ควรทำความเข้าใจต่อไปนี้ คือ

๑. ประเด็นที่ ๑ คำสอนเรื่องคนดี

๒. ประเด็นที่ ๒ ความหมายของคนดี

๓. ประเด็นที่ ๓ คนดีที่โลกต้องการ

๔. ประเด็นที่ ๔ คุณสมบัติของคนดี

๕. ประเด็นที่ ๕ การปลูกฝังคุณสมบัติของคนดีที่โลกต้องการ          

= ประเด็นที่ ๑ คำสอนเรื่องคนดี =

สุตตันตปิฎก เล่ม ๖ มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ จูฬกัมมวิภังคสูตร ข้อ ๕๘๐–๕๘๑ สุภมาณพทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้พวกมนุษย์ที่เกิดมา ปรากฏความเลว (ความชั่ว) และความประณีต (ความดี) แตกต่างกัน คือ

๑. บางคนมีอายุสั้น บางคนมีอายุยืน

๒. บางคนมีโรคมาก บางคนมีโรคน้อย

๓. บางคนมีผิวพรรณทราม บางคนมีผิวพรรณงาม

๔. บางคนมีศักดาน้อย บางคนมีศักดามาก

๕. บางคนมีโภคะน้อย (ยากจน) บางคนมีโภคะมาก (ร่ำรวย)

๖. บางคนเกิดในสกุลต่ำ บางคนเกิดในสกุลสูง

๗. บางคนไร้ปัญญา (มีปัญญามิจฉาทิฏฐิ) บางคนมีปัญญา (มีปัญญาสัมมาทิฏฐิ)

พระผู้มีพระภาคทรงตรัสตอบว่า ดูกรมาณพ !

๑. สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน (กรรมเป็นเจ้าของชีวิต)

๒. เป็นทายาทแห่งกรรม (ตัวชีวิตเป็นผลของกรรม)

๓. มีกรรมเป็นกำเนิด (เกิดเป็นชีวิตได้เพราะกรรม)

๔. มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ (สืบต่อเผ่าพันธุ์ด้วยกรรม)

๕. มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย (กรรมเป็นที่พึ่งผู้ซื่อสัตย์ที่สุด)

๖. กรรมย่อมจำแนกสัตว์ให้เลวและประณีตได้

(อกุศลกรรมที่เป็นกรรมชั่วทำให้เกิดเป็น

คนชั่ว ส่วนกุศลกรรมที่เป็นกรรมดีทำให้เกิดเป็นคนดี)

ประเภทของกรรม

คำ ว่า กรรม พฤติกรรม และคำว่า คุณธรรม จริยธรรม จรรยาบรรณ ในทางปฏิบัติจริง มีความหมายถึงการกระทำทางกาย ทางวาจา และทางใจ เหมือนกันหมด เรียกว่า “กรรม” คือ การกระทำทั้งสิ้น อภิธรรมปิฎก จัดธรรมหรือกรรมที่เป็นบทแม่ “มาติกา” ทั้งหมดไว้ ๒๒ หมวดธรรมหรือกรรม และธรรมหมวดแรกใน ๒๒ หมวดนั้นมีว่า

๑. กุสลา ธัมมา. กุศลธรรมหรือกุศลกรรม คือ “กรรมดี”

๒. อกุสลา ธัมมา. อกุศลธรรมหรืออกุศลกรรม คือ “กรรมชั่ว”

๓. อัพยากตา ธัมมา. อัพยากตธรรมหรืออัพยากตกรรม คือ “กรรมไม่ดีไม่ชั่ว”

(๑) กุศลธรรมหรือกุศลกรรม

กุศล ธรรมหรือกุศลกรรม แปลว่า ธรรมหรือกรรมที่ทำให้คนผู้ทำตามเป็นคนดี ฉลาดในการดำเนินชีวิตให้พ้นจากภัยพิบัติในโลก ซึ่งมีกุศลกรรมที่ดีอยู่ ๑๐ อย่าง คือ

๑. เจตนางดเว้นจากการฆ่าสัตว์มีชีวิตและมีลมปราณ (ไม่ฆ่าสัตว์มาเลี้ยงชีวิต)

๒. เจตนางดเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้แล้ว (ไม่ทุจริตทรัพย์มาเลี้ยงชีวิต)

๓. เจตนางดเว้นจากการประพฤติผิดในกามทั้งหลาย (ไม่ขายกามเลี้ยงชีวิต)

๔. เจตนางดเว้นจากการพูดเท็จ (ไม่รับจ้างพูดเท็จเลี้ยงชีวิต)

๕. เจตนางดเว้นจากการพูดส่อเสียด (ไม่รับจ้างพูดยุยงส่งเสริมให้คนแตกแยกเลี้ยงชีวิต)

๖. เจตนางดเว้นจากการพูดคำหยาบ (ไม่รับจ้างพูดคำหยาบคายเลี้ยงชีวิต)

๗. เจตนางดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ (ไม่รับจ้างพูดเหลวใหลหลอกลวงเลี้ยงชีวิต)

๘. เจตนางดเว้นจากการคิดเพ่งเล็งผู้อื่นในแง่ร้าย (ไม่รับจ้างคิดหลอกล่อคนสัตว์ให้หลงผิด)

๙. เจตนางดเว้นจากการคิดปองร้ายผู้อื่น (ไม่รับจ้างคิดวางแผนทำร้ายคนสัตว์)

๑๐. มีความเห็นชอบ (เป็นสัมมาทิฏฐิบุคคล)

(ธรรม ๑๐ อย่างนี้ เป็นคุณธรรมจริยธรรมของคนผู้เป็นคนดี ที่มีจิตวิญญาณเป็นมนุษย์ เป็นเทวดา และเป็นพระพรหม)

คนผู้เลี้ยงชีวิตหรือสร้างฐานะด้วยกุศลกรรมหรือความสุจริต ๑๐ อย่างนี้ ย่อมเป็นคนมีอายุยืน มีโรคน้อย มีผิวพรรณงาม มีศักดามาก มีโภคะมาก เกิดในสกุลสูง มีปัญญา (มีปัญญาสัมมาทิฐิ)

(๒) อกุศลธรรมหรืออกุศลกรรม

อกุศล ธรรมหรืออกุศลกรรม แปลว่า ธรรมหรือกรรมที่ทำให้คนผู้ประพฤติปฏิบัติตามเป็นคนไม่ดีไม่ฉลาดในการดำเนิน ชีวิตให้พ้นจากภัยพิบัติ มีแต่จะให้ไปประสบกับภัยพิบัติทั้งปวง และอกุศลธรรมหรืออกุศลกรรมนั้น มีอยู่ ๑๐ อย่าง คือ

๑. เจตนาฆ่าสิ่งมีชีวิตและมีลมปราณ (ฆ่าสัตว์เลี้ยงชีวิตและทำเป็นสินค้า)

๒. เจตนาถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้แล้ว (ทุจริตทรัพย์สินมาเลี้ยงชีวิต)

๓. เจตนาประพฤติผิดในกามทั้งหลาย (ทำการค้ากามเลี้ยงชีวิต)

๔. เจตนาพูดเท็จ (รับจ้างพูดเท็จเลี้ยงชีวิต)

๕. เจตนาพูดส่อเสียด (รับจ้างพูดยุยงส่งเสริมให้คนแตกแยกเลี้ยงชีวิต)

๖. เจตนาพูดคำหยาบ (รับจ้างพูดคำหยาบคายเลี้ยงชีวิต)

๗. เจตนาพูดเพ้อเจ้อ (รับจ้างพูดเหลวใหลหลอกลวงเลี้ยงชีวิต)

๘. เจตนาคิดเพ่งเล็งผู้อื่นในแง่ร้าย (รับจ้างคิดวางแผนหลอกล่อคนสัตว์ให้หลงผิด)

๙. เจตนาคิดปองร้ายผู้อื่น (รับจ้างคิดวางแผนทำร้ายคนสัตว์)

๑๐. มีความเห็นผิด (เป็นมิจฉาทิฏฐิบุคคล)

(ธรรม ๑๐ อย่างนี้ เป็นคุณธรรมจริยธรรมของคนผู้เป็นคนชั่ว ที่มีจิตวิญญาณเป็นสัตว์นรก เป็นเปรต เป็นเดียรัจฉาน เป็นอสุรกาย เป็นอมนุษย์ และเป็นคนมาร)

คนผู้เลี้ยงชีวิตหรือสร้างฐานะด้วยอกุศลกรรมหรือความทุจริต ๑๐ อย่างนี้ เป็นคนมีอายุสั้น มีโรคมาก มีผิวพรรณทราม มีศักดาน้อย มีโภคะน้อย เกิดในสกุลต่ำ ไร้ปัญญา (มีปัญญามิจฉาทิฐิ)

(๓) อัพยากตธรรมหรืออัพยากตกรรม

อัพ ยากตธรรมหรืออัพยากตกรรม แปลว่า ธรรมหรือกรรมที่ทำให้แจ่มแจ้งไม่ได้ คือ เป็นปัจจัตตัง รู้ได้เฉพาะผู้ปฏิบัติเท่านั้น ที่เรียกว่า วิปัสสนากัมมัฏฐาน สติปัฏฐาน ๔ มรรคมีองค์ ๘ ซึ่งมีหลักอยู่ ๔ อย่าง คือ

๑. กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน การตั้งสติตามเห็นกายในกายอยู่เป็นประจำ

๒. เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน การตั้งสติตามเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่เป็นประจำ

๓. จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน การตั้งสติตามเห็นจิตในจิตอยู่เป็นประจำ

๔. ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน การตั้งสติตามเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่เป็นประจำ

(ธรรม ๔ อย่างนี้ เป็นคุณธรรมจริยธรรมของคนผู้ไม่ดีไม่ชั่ว ที่มีจิตวิญญาณเป็นพระอริยบุคคลทั้งหลาย ๔ จำพวก คือ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์) คนผู้ดำรงชีวิตอยู่ในหลักแห่งวิปัสสนากัมมัฏฐาน มีปัญญาเห็นแจ้งในอริยสัจจ์ ที่อาศัยอาหารจากผู้อื่นเลี้ยงชีวิต มีจิตวิญญาณอยู่ใน “นิพพาน” หรือ “โลกุตตระ” หลุดพ้นจากกรรมดีกรรมชั่วและพ้นจากการเกิด แก่ เจ็บ ตายไปแล้วด้วย

(๔) อนันตริยกรรม

อนันต ริยกรรม แปลว่า กรรมชั่วร้ายที่สุด ซึ่งพัฒนามาจากอกุศลกรรม คือ คนผู้ทำชั่วที่เป็นอกุศลกรรมธรรมดานั้น ถ้าทำมาก ทำบ่อย และทำมานาน มีเจตนาร้ายด้วยแล้ว จิตวิญญาณย่อมโหดเหี้ยม สามารถทำอนันตริยกรรม อันเป็นกรรมชั่วร้ายที่สุดได้โดยไม่สะทกสะท้านแต่อย่างใด มีอยู่ ๕ อย่าง คือ

๑. มาตุฆาต ฆ่าแม่

๒. ปิตุฆาต ฆ่าพ่อ

๓. อรหันตฆาต ฆ่าพระอรหันต์

๔. โลหิตุปบาท ทำอวัยวะของพระอรหันต์ให้ห้อเลือด

๕. สังฆเภท ทำสงฆ์ (ยุยงส่งเสริมหมู่คนดีในสังคม) ให้แตกแยก

(ธรรม ๕ อย่างนี้ เป็นคุณธรรมจริยธรรมของคนผู้เป็นสัตว์นรกร้าย  เป็นเปรตร้าย  เป็นเดียรัจฉานร้าย เป็นอสุรกายร้าย  เป็นอมนุษย์ร้าย และเป็นคนมารร้าย) คน ผู้ทำอนันตริยกรรมที่ชั่วร้ายที่สุดเหล่านี้ ตอนปลายชีวิตระหว่างวัยทั้ง ๓ วัยใดวัยหนึ่ง ย่อมประสบอุปัตติภัย (อุบัติเหตุ) คือ เสียชีวิตปัจจุบันทันทีหลายรูปแบบ (ถูกแผ่นดินสูบ) บ้างก็ฆ่าตัวเอง บ้างก็ถูกผู้อื่นฆ่า บ้างก็ประสบอุปัตติภัย (อุบัติเหตุ) ทางรถยนต์ ทางน้ำ ทางอากาศ เป็นต้น เพราะแรงกรรมที่เป็นอนันตริยกรรมดึงดูดให้เป็นไปเช่นนั้น โดยไม่มีอะไรต้านทานได้.

สรุปคำสอนเรื่องคนดี เรื่อง ของคนดีคนชั่วนั้น พระพุทธเจ้าตรัสตอบคำถามของสุภมาณพแล้วว่า กรรม เป็นสิ่งที่ทำให้คนดีหรือชั่ว คือ กุศลกรรมดี อกุศลกรรมชั่ว อนันตริยกรรมชั่วร้ายมาก อัพยากตกรรมไม่ดีและไม่ชั่ว

= ประเด็นที่ ๒ ความหมายของคนดี =

คนดี หมายถึง คนผู้ยังประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นให้สำเร็จ โดยมีประโยชน์ที่คนควรจะทำให้สำเร็จก่อนสิ้นชีวิตไปจากโลกนี้นั้น มีอยู่ ๓ ประโยชน์ คือ

๑. ทิฏฐธัมมิกัตถะ ประโยชน์ ปัจจุบัน คือ การแสวงหาลาภมีเงิน เป็นต้น ยศ สรรเสริญ สามิสสุข มาเลี้ยงชีวิตและสร้างฐานะ ย่อมแสวงหาด้วยกุศลกรรมที่ดีหรือความสุจริต ๑๐ ประการเท่านั้นจึงจะเรียกว่า “ทรัพย์สมบัติเป็นประโยชน์” ที่เรียกว่า “มนุษย์สมบัติ” แต่ถ้าแสวงหาลาภมีเงิน เป็นต้น ได้มาด้วยอกุศลกรรมที่ชั่วหรือความทุจริต ๑๐ ประการแล้ว ย่อมเรียกว่า “ทรัพย์สมบัติไม่เป็นประโยชน์” คือ เป็นทรัพย์สมบัติที่มีประโยชน์ระยะแรกแต่จะมีโทษในภายหลัง ดังนั้น จึงเรียกว่า  “อบายสมบัติ” ไป คือ เป็นสมบัติที่มีพิษภัยร้ายแก่ผู้ครอบครองในภายหลัง

๒. สัมปรายิกัตถะ ประโยชน์ ภายหน้า คือ การแสวงหาลาภมีเงิน เป็นต้น ยศ ความสรรเสริญ สามิสสุข มาเลี้ยงชีวิตและสร้างฐานะนั้น ย่อมแสวงหาด้วยกุศลกรรมที่ดีหรือความสุจริต ๑๐ ประการ และร่วมด้วย สัมปทา ๔ คือ สัทธาสัมปทา (เชื่อกรรมไม่เชื่ออย่างอื่น) สีลสัมปทา (ปฏิบัติให้ชีวิตเป็นไปตามศีลห้า เป็นต้น) จาคสัมปทา (เสียสละสิ่งที่เป็นข้าศึกต่อศีล) และปัญญาสัมปทา (สั่งสมปัญญาสัมมาทิฐิ) จึงจะได้รับประโยชน์ภายหน้าที่เรียกว่า “สวรรค์สมบัติ” แต่ถ้าปฏิบัติสมถกัมมัฏฐานกับอาจารย์ผู้สำเร็จสมถกัมมัฏฐานจริง ๆ จนสำเร็จรูปฌานหรืออรูปฌานแล้ว สมบัติที่ได้เป็นฌานสมาบัติ ดังนั้นจึงเรียกว่า “พรหมสมบัติ” จัดว่าเป็น สัมปรายิกัตถะ คือ ประโยชน์ภายหน้าอย่างหนึ่งเช่นกัน

๓. ปรมัตถะ ประโยชน์ อย่างยิ่ง คือ นำชีวิตตนไปมอบกายถวายตัว ให้อาจารย์ผู้สำเร็จเป็นสัมมาทิฐิบุคคลแล้ว สั่งสอนภาคปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน สายสติปัฏฐาน ๔ มรรคมีองค์แปดจริง ๆ เราก็ปฏิบัติตามให้ได้ความรู้ผ่านวิปัสสนาญาณที่ ๑ –๑๖ สำเร็จลงที่อริยมรรค ๔ อริยผล ๔ จิตใจกลายเป็นนิพพาน เป็นโลกุตตระ เรียกว่า “นิพพานสมบัติ” จัดว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งที่ยิ่งกว่าประโยชน์ทั้ง ๒ ดังที่กล่าวมาแล้วนั้น เพราะจิตวิญญาณพ้นจากการเกิด แก่ เจ็บ ตายแล้ว ดังนั้นจึงเรียกว่า ปรมัตถะ คือ เป็นประโยชน์อย่างยิ่งที่ยิ่งกว่าประโยชน์ทั้งสองดังที่กล่าวมาแล้ว

= ประเด็นที่ ๓ คนดีที่โลกต้องการ =

โลกด้านจิตวิญญาณ มีอยู่ ๕ โลก สุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๕ ข้อ ๗๐๗ พระพุทธองค์ตรัสว่า กมฺมุนา วตฺตตี โลโก. โลก (จิตวิญญาณ) ย่อมเป็นไปตามกรรม ดังนั้น จึงแบ่งโลกของคนด้านจิตวิญญาณออกได้ ๕ โลก คือ

๑. อบายโลก คือ โลกของคนผู้มีจิตใจไม่เจริญ (ทำอกุศลกรรรมที่ชั่ว ๑๐ เลี้ยงชีวิต)

๒. มนุษย์โลก คือ โลกของคนผู้มีจิตใจสูง (ทำกุศลกรรมที่ดี ๑๐ เลี้ยงชีวิต)

๓. เทวโลก คือ โลกของคนผู้มีหูทิพย์ตาทิพย์ (ทำกุศลกรรมที่ดี ๑๐ มีหิริโอตตัปปะและยินดีในทานด้วย)

๔. พรหมโลก คือ โลกของคนผู้มีใจประเสริฐสุด (ทำกุศลกรรม ๑๐ เจริญสมถกัมมัฏฐานด้วย)

๕. โลกุตตระ คือ คนผู้มีจิตใจพ้นจากโลกทั้งปวง (เจริญสมาธิด้านวิปัสสนากัมมัฏฐานสายกลางจริง ๆ เท่านั้น)

คนดีสามระดับ

๑. คนดีระดับปรกติ คือ คนผู้ทำประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นด้วยอกุศลกรรมหรือความทุจริต ๑๐ ประการ มีการฆ่าสัตว์มีชีวิตและฆ่าสิ่งมีลมปราณ เป็นต้น เพื่อให้ได้ลาภ ยศ สรรเสริญ และสามิสสุข มาเลี้ยงชีวิตและสร้างฐานะ เนื่องจากความหลงผิดคิดว่าเป็นความดีที่เป็นกุศลกรรม ดังนั้น คนดีระดับนี้จึงเป็นคนดีเฉพาะอย่างไม่เป็นคนดีสากล ต่างคนต่างก็เห็นว่าตนและหมู่พวกของตนเป็นคนดี คนอื่น ๆ พร้อมหมู่พวกของเขาเป็นคนชั่วช้าเลวทรามไม่ดีทั้งนั้น ทำให้เกิดการแข่งดีกัน ทะเลาะวิวาท ฆ่ารันฟันแทง ขัดแย้ง ทุจริต คดโกง เอาเปรียบเอารัด มือใครยาวสาวได้สาวเอา เป็นต้น ความโกลาหลวุ่นวายเกิดขึ้นในสังคมโลกทุกยุคทุกสมัยก็เพราะการแข่งดีกันของคน ดีระดับปรกตินี้นี่เอง ดังนั้น ความดีระดับนี้จึงเป็นความดีที่นำไปสู่ปัญหานานาชนิด ที่สุดย่อมทำให้โลกพินาศฉิบหายได้โดยเร็วพลัน เพราะการเรียนการสอนในสถาบันต่าง ๆ ตั้งแต่สถาบันระดับครอบครัวไป ตลอดถึงระดับอุดมศึกษาทั้งโลก ต่างก็อบรมสั่งสอนกันให้เป็นคนดีตามระดับนี้ด้วยกันทั้งสิ้น (ปัญญาชนโปรดพิจารณา การเรียนการสอนในสถาบันของท่าน) จริงไหม ?

 ๒. คนดีระดับดีกว่าปรกติ คือ คนผู้ทำประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นด้วยกุศลกรรมหรือความสุจริต ๑๐ ประการ มีเจตนางดเว้นจากการฆ่าสัตว์มีชีวิตและฆ่าสิ่งมีลมปราณ เป็นต้น เพื่อให้ได้ลาภ ยศ สรรเสริญ สามิสสุข มาเลี้ยงชีวิตและสร้างฐานะ เนื่องจากว่าเป็นคนดีมีปัญญาสัมมาทิฏฐิ ที่ตนอบรมมาดีแล้วจากสัตตบุรุษ ดังนั้น ความสงบร่มเย็น ความสมัครสมานสามัคคี ความปรองดอง ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่จึงเกิดมีในสังคมของคนดีระดับที่ดีกว่าปรกตินี้ตลอด ไป โดยไม่มีการแข่งดีกัน เพราะว่าดีเสมอกันหมด สำหรับสถาบันการเรียนการสอนให้คนเป็นคนดีระดับนี้ไม่มีในโลก ใครสนใจจะเป็นคนดีระดับนี้ ย่อมแสวงหาอาจารย์ผู้เป็นสัตตบุรุษ ผู้เป็นเช่นกับพระมโหสถบัณฑิตหรือพระเวสสันดร เป็นต้น เห็นแล้วมอบกายถวายชีวิตให้ท่านอบรมสั่งสอนให้ และคนดีเมื่อดีระดับนี้แล้ว ย่อมไม่มีใบประกาศนียบัติหรือใบปริญญาบัติรับรองให้ แต่จะมีใบรับรองอยู่ที่ฟ้าดินทั้งโลกคุ้มครองเอง ธมฺโม หเว รกฺขติ ธมฺมจารึ. ธรรม (ที่เป็นกุศลธรรมหรือสุจริตธรรม) นั่นแล ย่อมรักษาคนผู้ประพฤติธรรม ความหมายในทางปฏิบัติจริง คือ ฟ้าดินนั่นเองรักษาไม่ให้ประสบภัยใด ๆ ในโลก

๓. คนดีระดับดีที่สุด คือ คนผู้ทำประโยชน์ตนที่เรียกว่า ปรมัตถะ อันเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง คือ อริยมรรค ๔ อริยผล ๔ รวมเรียกว่า “นิพพาน” ที่ตนทำให้แก่ตนสำเร็จแล้ว มีหน้าที่ทำประโยชน์ให้ผู้อื่นฝ่ายเดียว ๓ วิธีการ คือ (๑) โลกัตถจริยา ประพฤติเป็นประโยชน์แก่ชาวโลก ด้วยการสอนให้เป็นคนดีมีสัมมาทิฐิ หรือมีความเห็น ชอบ (๒) ญาตัตถจริยา ประพฤติเป็นประโยชน์แก่ญาติ คือ พุทธบริษัท ด้วยการสอนให้ละเว้นอกุศลกรรมหรือทุจริตในการเลี้ยงชีวิต กระทำแต่กุศลกรรมหรือสุจริตเลี้ยงชีวิต และ (๓) พุทธัตถจริยา ประพฤติเป็นประโยชน์แก่ผู้ปรารถนาเป็นอนุพุทธ เช่นพระสารีบุตร เป็นต้น สำหรับคนดีระดับดีที่สุดย่อมมีลักษณะดังที่กล่าวมานี้

โลกต่างโลกย่อมต้องการคนดีต่างกัน

๑. อบายโลก  คือ โลกของคนผู้มีจิตวิญญาณที่ไม่เจริญ ๖ เผ่าพันธุ์ มีคนสัตว์นรก เป็นต้น ย่อมต้องการยินดีต้อนรับคนดีระดับปรกติเท่านั้น เพราะคนดีระดับนี้เป็นมิจฉาทิฐิบุคคล คือ เป็นบุคคลผู้หลงผิดเป็นชอบหรือ “ผู้เห็นกงจักรเป็นดอกบัว” ในการทำอกุศลกรรมที่ชั่ว ๑๐ เลี้ยงชีวิตอยู่ในสังคมโลก ดังนั้น อบายโลกจึงต้องการรับมาอยู่ร่วม

๒. มนุษย์โลก คือ โลกของคนผู้มีจิตวิญญาณที่เจริญสูงส่ง ย่อมต้องการยินดีต้อนรับคนดีระดับดีกว่าปรกติเท่านั้น เพราะคนดีระดับนี้เป็นสัมมาทิฐิบุคคล ผู้มีปัญญาเห็นชอบทำกุศลกรรมที่ดี ๑๐ เลี้ยงชีวิตอยู่ในสังคมโลก ดังนั้น มนุษย์โลกจึงต้องการรับมาอยู่ร่วม

๓. เทวโลก คือ โลกของคนผู้มีจิตวิญญาณที่เป็นเทพมีหูทิพย์ตาทิพย์ ย่อมต้องการยินดีต้อนรับคนดีระดับดีกว่าปรกติเท่านั้น เพราะคนดีระดับนี้เป็นสัมมาทิฐิบุคคล ผู้มีปัญญาเห็นชอบทำกุศลกรรมที่ดี ๑๐ เลี้ยงชีวิตอยู่ในสังคมโลก และเป็นผู้ยินดีในการทำทานในกรณีที่ควรทานด้วย ดังนั้น เทวโลกจึงต้องการรับมาอยู่ร่วม

๔. พรหมโลก คือ โลกของคนผู้มีจิตวิญญาณที่ประเสริฐสุด ย่อมต้องการยินดีต้อนรับคนดีระดับดีกว่าปรกติเท่านั้น เพราะคนดีระดับนี้เป็นสัมมาทิฐิบุคคล ผู้มีปัญญาเห็นชอบทำกุศลกรรมที่ดี ๑๐ เลี้ยงชีวิตแต่ปลีกตัวออกจากสังคมโลกไปเจริญสมาธิด้านสมถกัมมัฏฐาน เป็นการทำใจให้สงบเพื่อยังฌานสมาบัติให้เกิดให้มีขึ้นในชีวิต ดังนั้น พรหมโลกจึงต้องการรับมาอยู่ร่วม

๕. โลกุตตระ คือ คนผู้มีจิตวิญญาณบริสุทธิ์ พ้นจากอบายโลก มนุษย์โลก เทวโลก พรหมโลกไปแล้ว โดยมีนามบัญญัติว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าบ้าง พระปัจเจกพุทธเจ้าบ้าง พระอนุพุทธเจ้าบ้าง ท่านเหล่านี้ย่อมอาศัยปัจจัย ๔ จากชาวบ้านผู้ศรัทธาบริจาคทานให้เลี้ยงชีวิต ท่านผู้ดำรงชีวิตอยู่ในโลกุตตระเหล่านี้ย่อมต้องการต้อนรับคนดีระดับดีที่ สุด เช่น สัตตบุรุษและพระโพธิสัตว์เท่านั้น โดยไม่ยินดีไม่ยินร้ายในการต้อนรับมาอยู่ร่วม

= ประเด็นที่ ๔ คุณสมบัติของคนดี =

คำว่า “คุณสมบัติ” หนังสือพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ให้ความหมายไว้ว่า “คุณสมบัติประจำตัวของบุคคล” ดัง นั้น คุณสมบัติประจำตัวของคนดีทั้ง ๓ ระดับ คือ ดีระดับปรกติ ดีระดับดีกว่าปรกติ และดีระดับดีที่สุด ย่อมมีแตกต่างกันไป ดังมีต่อไปนี้ คือ

๑. คุณสมบัติของคนดีระดับปรกติ ๑๐ ประการ

สุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต เล่ม ๑๖ ข้อ ๑๓๔ ในสูตรชื่อว่า สาธุสูตร สูตรว่าด้วยสิ่งที่ดีและสิ่งที่ไม่ดี ความว่า…ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งที่ไม่ดีได้แก่ :-

๑. มิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิด

๒. มิจฉาสังกัปปะ ความดำริผิด

๓. มิจฉาวาจา การเจรจาผิด

๔. มิจฉากัมมันตะ การทำการงานผิด

๕. มิจฉาอาชีวะ การเลี้ยงชีวิตผิด

๖. มิจฉาวายามะ ความพยายามผิด

๗. มิจฉาสติ ความระลึกผิด

๘. มิจฉาสมาธิ ความตั้งใจมั่นผิด

๙. มิจฉาญาณะ ความรู้ผิด

๑๐. มิจฉาวิมุติ ความหลุดพ้นผิด

ธรรมที่ไม่ดี ๑๐ อย่างเหล่านี้ที่มีใน “สาธุสูตร” (แต่คนหลงผิดย่อมคิดว่าเป็นความดี) ย่อมชื่อว่าเป็นคุณสมบัติ หรือเป็นคุณธรรม เป็นจริยธรรม หรือเป็นจรรยาบรรณประจำชีวิตของคนดีระดับปรกติ เพราะคนดีระดับนี้ถูกอบรมสั่งสอนมาตั้งแต่สถาบันระดับครอบครัว ตลอดถึงสถาบันการเรียนการสอนระดับอนุบาล ประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอุดมศึกษาปริญญาตรี โท เอก ทั้งในประเทศและนอกประเทศ ดังนั้น คนดีระดับนี้จึงเรียกว่า คนดีมีปัญญามิจฉาทิฐิ คือ เป็นปัญญาระบบสุตามยปัญญา จินตามยปัญญา หรือปัญญาในระบบ “อวิชชา” เป็นความรู้ที่ “รู้มากยากนาน” สิ่งที่ควรรู้กลับเป็น “ไม่รู้ไม่ชี้” ไป ความดีระดับนี้จัดว่าเป็นความดีต่างคนต่างดี ไม่ใช่ความดีสากล (ปัญญาชนโปรดไตร่ตรอง)

๒. คุณสมบัติของคนดีระดับดีกว่าปรกติ ๑๐ ประการ

สาธุสูตร สูตรว่าด้วยสิ่งที่ดีและสิ่งที่ไม่ดี ในสุตตันตปิฎกเล่มเดียวกัน แต่มีในตอนท้ายความว่า…ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งที่ดีได้แก่ :-

๑. สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ

๒. สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ

๓. สัมมาวาจา การเจรจาชอบ

๔. สัมมากัมมันตะ การทำการงานชอบ

๕. สัมมาอาชีวะ การเลี้ยงชีวิตชอบ

๖. สัมมาวายามะ ความพยายามชอบ

๗. สัมมาสติ ความระลึกชอบ

๘. สัมมาสมาธิ ความตั้งใจมั่นชอบ

๙. สัมมาญาณะ ความรู้ชอบ

๑๐. สัมมาวิมุติ ความหลุดพ้นชอบ

ธรรมที่ดี ๑๐ อย่างเหล่านี้ที่มีใน “สาธุสูตร” (แต่คนหลงผิดคิดว่าไม่ดี) ตอนท้ายย่อมชื่อว่าเป็นคุณสมบัติ หรือเป็นคุณธรรม เป็นจริยธรรม หรือเป็นจรรยาบรรณประจำชีวิตของคนดีระดับดีกว่าปรกติ เพราะคนดีระดับนี้เป็นคนดีมีปัญญาสัมมาทิฐิ คือ เป็นปัญญาที่ได้จากการศึกษาอบรมมาจาก “บัณฑิต” ผู้เป็นสัตบุรุษหรือเป็นพระโพธิสัตว์เท่านั้น ไม่มีสั่งสอนกันในสถาบันการเรียนการสอนทั่ว ๆ ไปในโลก ดังนั้น คนดีระดับนี้จึงจัดว่าเป็นคนดีที่มีความดีที่เป็นสากล (ปัญญาชนโปรดไตร่ตรอง)

๓. คุณสมบัติของคนดีระดับดีที่สุด ๙ ประการ

สุตตันตปิฎก เล่ม ๗ สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ข้อ ๘๖๕ พระพุทธองค์ทรงตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! …ทีนั้นพวกเธอพึงตามระลึกถึงเรานี้แหละว่า แม้เพราะเหตุอย่างนี้ ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น

๑. เป็นพระอรหันต์

๒. เป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ

๓. เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ

๔. เป็นผู้เสด็จไปดีแล้ว

๕. เป็นผู้รู้แจ้งโลก

๖. เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึกไม่มีผู้อื่นจะยิ่งไปกว่า

๗. เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

๘. เป็นผู้ตื่นแล้ว

๙. เป็นผู้จำแนกธรรมสั่งสอนสัตว์ ดังนี้

ธรรม ที่เป็นพุทธคุณทั้ง ๙ บทนี้ หรือสรุปลงใน พุทธคุณ ๓ คือ พระมหากรุณาธิคุณ พระปริสุทธิคุณ และพระปัญญาคุณ เหล่านี้นี่เองเป็นคุณสมบัติหรือเป็นคุณธรรม เป็นจริยธรรม หรือเป็นจรรยาบรรณของคนดีระดับดีที่สุด ซึ่งมีนามบัญญัติว่า (๑) พระสัมมาสัมพุทธเจ้า (๒) พระปัจเจกพุทธเจ้า และ (๓) พระอนุพุทธเจ้า

= ประเด็นที่ ๕ การปลูกฝังคุณสมบัติของคนดีที่โลกต้องการ =

คำว่า “ปลูกฝัง” คือ การฝึกฝนอบรมให้เกิดมีความดีขึ้นในตนแล้ว บำรุงรักษาความดีตามที่ตนต้องการนั้นไว้ไม่ให้ศูนย์หายไปจากตน เรียกว่าการปลูกฝัง โดยมีอยู่  ๓ วิธีการปลูกฝัง คือ

๑. ปลูกฝัง “มิจฉาทิฏฐิ ฯลฯ มิจฉาวิมุติ” และอกุศลกรรมที่ชั่ว ๑๐ อย่าง ซึ่งเป็นคุณสมบัติของคนดีระดับปรกติ ด้วยการคบหรือเสพ “คนพาล” คือ “เสวนา จ พาลานัง” เพราะคนพาล คือ ผู้มีจิตวิญญาณท่องเที่ยวอยู่ในอบายโลก ๖ เผ่าพันธุ์มีคนสัตว์นรก เป็นต้น ย่อมต้องการอยู่ร่วมกับคน “มิจฉาทิฏฐิ ฯลฯ มิจฉาวิมุติ” เท่านั้น เพราะมีอุปนิสัยใจคอเข้ากันได้

๒. ปลูกฝัง “สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาวิมุติ” และกุศลกรรมที่ดี ๑๐ อย่าง ซึ่งเป็นคุณสมบัติของคนดีระดับดีกว่าปรกติ ด้วยการคบหรือเสพ “คนบัณฑิต” ตามหลักมงคลชีวิตว่า “อเสวนา จ พาลานัง ปัณฑิตานัญ จ เสวนา” คือ งดเว้นไม่คบคนพาลยินดีคบแต่บัณฑิตอย่างเดียว เพราะคนบัณฑิค คือ ผู้มีจิตวิญญาณท่องเที่ยวอยู่ใน มนุษย์โลก เทวโลก และพรหมโลก ย่อมต้องการอยู่ร่วมกับคน “สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาวิมุติ” เท่านั้น เพระมีอุปนิสัยใจคอเข้ากันได้

๓. ปลูกฝัง “อัพยากตธรรม” คือ วิปัสสนากัมมัฏฐาน สติปัฏฐาน ๔ สายกลางประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ ซึ่งเป็นธรรมหรือกรรมที่ไม่ใช่กุศลและอกุศล ไม่ใช่มิจฉาทิฐิและสัมมาทิฐิ ที่เป็นคุณสมบัติของคนระดับดีที่สุด ด้วยการคบหรือเสพพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระอนุพุทธเจ้าทั้งหลาย เพราะท่านทั้งหลายเหล่านี้ คือ ผู้มีจิตวิญญาณเป็น “นิโรธ” เป็น “วิมุติ” เป็น “นิพพาน” หรือเป็น “โลกุตตระ” คือ หลุดพ้นจากโลกทั้งปวงแล้ว ดังนั้น ท่านเหล่านี้ย่อมต้องการโดยว่าง ๆ เพื่ออยู่ร่วมกับคน ผู้ปฏิบัติอัพยากตธรรม วิปัสสนากัมมัฏฐานตรงตามหลักสติปัฏฐาน ๔ และสายกลางประกอบด้วยองค์ ๘ ประการจริง ๆ เท่านั้น เพราะจะเป็นผู้มีจิตวิญญาณหลุดพ้นจากโลกเหมือน ๆ กัน

=ประเด็นที่ ๖ ผู้สอนและผู้ถูกสอนจะเป็นคนดีได้หรือไม่นั้น ควรตรวจสอบดูพุทธภาษิตบทนี้ คือ         

สุกรํ สาธุนา สาธุ    สาธุ ปาเปน ทุกฺกรํ

ปาปํ ปาเปน สุกรํ    ปาปมริเยหิ ทุกฺกรํ.    

แปลว่า ความดีอันคนดีทำได้ง่าย ความดีอันคนชั่วทำได้ยาก ความชั่วอันคนชั่วทำได้ง่าย แต่ความชั่วอันพระอริยบุคคลทำได้ยาก.

วิ. จุล. ๗/๑๙๕, ขุ. อุ. ๒๕/๑๖๗.

มอบ เป็นของขวัญให้พุทธบริษัทและชาวโลกทุกหมู่เหล่า ด้วยกำลังความเมตตาและเอ็นดูจริง ๆ เพื่อความวิงวอนให้เกิดจิตสำนึกรู้สึกผิดชอบชั่วดีว่า ทุกครั้งทุกคราวที่เกิดโกลาหลวุ่นวายขึ้นในสังคม มีสาเหตุหลักมาจากการเสี้ยมสอน อบรมบ่มนิสัย ปลูกฝัง ให้พลโลกประพฤติปฏิบัติตนให้เป็นคนดีเพียงระดับเดียว คือ คนดี “ระดับปรกติ” เท่า นั้น  ซึ่งไม่เป็นความดีที่เป็นสากล แต่เป็นความดีที่ต่างคนต่างก็ว่าตนและพวกของตนเป็นคนดี เป็นความหลงผิดของมิจฉาทิฐิบุคคลเท่านั้น ท่านผู้เป็นปัญญาชนทั้งหลาย ! ที่มีอำนาจวาสนากำบังเหียนสังคมอยู่ ถ้ามีจริง ขอได้โปรดกรุณาช่วยกันสอนคนให้เป็นคนดี “ระดับดีกว่าปรกติ” ด้วยเถิด โลกจะได้เกิดสันติภาพชนิดที่ถาวรอย่างแท้จริง สาธุ !