วิเคราะห์เจาะลึกศีลข้อแรกในเบญจศีล

= วิเคราะห์เจาะลึกศีลข้อแรกในเบญจศีล =

(ตอน ๑)

ศีล หรือ สีละ มีคำแปลอยู่ ๓ อย่าง คือ

๑. ศีล แปลว่า ความปรกติ

๒. ศีล แปลว่า สิ่งที่ทำคนผู้ปฏิบัติตามให้เป็นคนปรกติ

๓. ศีล แปลว่า สิ่งที่เป็นสมบัติ (เป็นคุณธรรมจริยธรรม) ของบุคคลผู้มีชีวิตอยู่เป็นปรกติแล้ว

= ความปรกติ =

ความปรกติของคนผู้ยังมีชีวิตอยู่ในโลกนี้นั้น ย่อมมีความปรกติที่สังเกตได้อยู่ ๓ ลักษณะ หรือ ๑๐ อย่าง ในการเคลื่อนไหวหรือการแสดงออกทางกาย วาจา ใจ คือ

       ๑. ความปรกติทางกาย ๓ ลักษณะหรือ ๓ อย่าง ได้แก่ (๑) มีสติระงับยับยั้งกายมีมือเท้า เป็นต้น ไม่ให้ฆ่าสัตว์มีชีวิตและฆ่าสิ่งมีลมปราณให้ตาย ให้พิการ หรือให้ทรมาน (๒) มีสติระงับยับยั้งกายมีมือเท้า เป็นต้น ไม่ให้ลักทรัพย์ของคนและสัตว์ (๓) มีสติระงับยับยั้งกายมีมือเท้า เป็นต้น ไม่ให้ประพฤติผิดในกามทั้งหลาย ซึ่งเป็นสิ่งที่มีผู้อื่นหวงแหนและหวงห้ามอยู่ คนผู้มีลักษณะนิสัยเช่นนี้ เรียกว่า “มนุษย์ผู้มีความปรกติทางกาย” 

       ๒. ความปรกติทางวาจา ๔ ลักษณะหรือ ๔ อย่าง ได้แก่ (๔) มีสติระงับยับยั้งปากไม่ให้พูดปด (๕) มีสติระงับยับยั้งปากไม่ให้พูดคำหยาบคาย (๖) มีสติระงับยับยั้งปากไม่ให้พูดคำส่อเสียด และ (๗) มีสติระงับยับยั้งปากไม่ให้พูดคำเพ้อเจ้อเหลวไหลไร้สาระ คนผู้มีลักษณะนิสัยทางการพูดเช่นนี้เรียกว่า มนุษย์ผู้มีความปรกติทางวาจา

       ๓. ความปรกติทางใจ ๓ ลักษณะหรือ ๓ อย่าง ได้แก่ (๘) มีสติระงับยับยั้งไม่ให้จิตคิดเพ่งเล็งคนและสัตว์ในแง่ร้าย (๙) มีสติระงับยับยั้งไม่ให้จิตคิดพยาบาทปองร้ายคนและสัตว์ให้พินาศฉิบหาย และ (๑๐) มีสติระงับยับยั้งไม่ให้จิตคิดเห็นผิดจากความจริง คือ ไม่เป็นมิจฉาทิฏฐิบุคคล คนผู้มีลักษณะนิสัยเช่นนี้เรียกว่า มนุษย์ผู้มีความปรกติทางจิตหรือทางใจ

= สิ่งที่ทำผู้ปฏิบัติตามให้เป็นคนปรกติ =

ศีล หรือ จรรยาบรรณ ซึ่งเป็นประมวลความประพฤติปฏิบัติที่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ได้กำหนดหรือได้บัญญัติขึ้น เพื่อรักษาและส่งเสริมเกียรติคุณ ชื่อเสียง และฐานะของคนผู้เป็นมนุษย์ชาติในโลก ให้ดำรงชีวิตอยู่เป็นปรกติ  และท่านได้บัญญัติศีลหรือจรรยาบรรณไว้เป็น หมู่ ๆ หมู่ละ ๕ สิกขาบทบ้าง ๘ สิกขาบทบ้าง ๑๐ สิกขาบทบ้าง และหมู่ละ ๒๒๗ สิกขาบทบ้าง

       สิกขาบท หมายถึง บทธรรมหรือบทศีลแต่ละบท ๆ นั้น จะต้องทำการศึกษา จึงจะสามารถนำมาปฏิบัติได้ และการศึกษานั้นไม่ใช่การเล่าเรียน การเล่าเรียนตามตำราเรียกว่า “ปริยัติ” ส่วนการศึกษาที่เรียกว่า “สิกขา” นั้นต้องไปอยู่กับคนผู้เป็นสัตบุรุษ คือ ผู้มีคุณธรรม ๗ ประการ มีความเป็นผู้รู้จักเหตุ เป็นต้น และเมื่ออยู่กับสัตบุรุษแล้ว ก็ให้สอบถาม สนทนากับท่านปากต่อปาก คำต่อคำเป็นวัน ๆ ไป ตามหลักใน สุตตันตปิฎกภาษาไทย เล่ม ๖ มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ ข้อ ๕๗๙ ที่สุภมาณพไปถามพระพุทธเจ้าว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ อะไรหนอแล เป็นเหตุ เป็นปัจจัย ให้พวกมนุษย์ ที่เกิดเป็นมนุษย์อยู่ ปรากฏความเลวและความประณีต คือ …มนุษย์ ทั้งหลายย่อมปรากฏว่าไร้ปัญญา มีปัญญา…เป็นต้น พระผู้มีพระภาคตรัสว่า :-

       ดูกรมาณพ สัตว์ทั้งหลาย ! (๑) มีกรรมเป็นของตน (๒) เป็นทายาทแห่งกรรม (๓) มีกรรมเป็นกำเนิด (๔) มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ (๕) มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย และ (๖) กรรมย่อมจำแนกสัตว์ให้เลวและประณีตได้ ฯ (เป็นได้ทั้งสัตว์เดียรัจฉานและคนด้วย) และเหตุให้เกิดปัญญาสัมมาทิฏฐิได้ก็อยู่ที่ “กรรม” คือไปทำการ “ศึกษา” กับ สมณะพราหมณ์ (ผู้เป็นสัตบุรุษ) โดยที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงในข้อต่อไปว่า 

       ดูกรมาณพ บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม ย่อมเป็นผู้เข้าไปหาสมณะหรือพราหมณ์ (ผู้เป็นสัตบุรุษ) แล้วสอบถามว่า อะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล อะไรมีโทษ อะไรไม่มีโทษ อะไรควรเสพ อะไรไม่ควรเสพ อะไร เมื่อทำย่อมเป็นไปเพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อทุกข์สิ้นกาลนาน หรือว่าอะไรเมื่อทำ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขสิ้นกาลนาน ดังนี้ เป็นต้น การสอบถามและการสนทนาในลักษณะเช่นนี้เรียกว่า “การศึกษา” ย่อมสามารถมีจิตสำนึกนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้จริง (ปฏิบัติในศีล ๕ เป็นต้น หรือปฏิบัติในจรรยาบรรณของมนุษย์) แต่การเรียน “ปริยัติธรรม” ได้ปัญญาเพียงสุตามยปัญญา จินตามยปัญญา เท่านั้น ไม่ใช่เป็นการ “ศึกษา” หรือไม่ใช่เป็น“สิกขา” แต่อย่างใด ดังนั้น ผู้ที่ศึกษาและปฏิบัติตามศีลหรือจรรยาบรรณ ของมนุษย์ ๕ สิกขาบทบ้าง ๘, ๑๐, หรือ ๒๒๗ สิกขาบทบ้าง โดยทำการศึกษาและปฏิบัติให้สมบูรณ์แล้ว ศีล เหล่านั้นเองย่อมทำหน้าที่รักษาให้คนผู้ปฏิบัติตาม ดำรงชีวิตอยู่เป็นปรกติได้ตลอดไป “ธัมโม หะเว รักขะติ ธัมมะ จาริง” ความว่า ธรรม คือ กุศลธรรม (ศีล) แล ย่อมรักษาคนผู้ประพฤติปฏิบัติธรรม คือ ปฏิบัติกุศลธรรม (และปฏิบัติศีล) (ทำให้มีชีวิตเป็นปรกติ)   

         สรุปความว่า กุศลธรรม ๑๐ ในกาย วาจา ใจ และศีล ๕. ๘, ๑๐, ๒๒๗ คือ สิ่งที่ทำให้คนผู้  ประพฤติปฏิบัติตาม โดยทำให้สมบูรณ์และต่อเนื่องจริง ๆ แล้ว ย่อมดำรงชีวิตอยู่ในโลกเป็นปรกติ

= สิ่งที่เป็นสมบัติของบุคคลผู้เป็นปรกติแล้ว =

       ๑. อบายสมบัติ เป็นสมบัติ (เป็นคุณธรรมจริยธรรม) ของบุคคลผู้ยังไม่ปรกติ ได้แก่ บุคคลผู้ทุศิลหรือผู้ไม่เอื้อเฟื้อในศีล และปฏิบัติอกุศลธรรม ซึ่งเป็นความชั่ว ๑๐ อย่างทางกาย วาจา ใจ ตลอดชีวิต จึงได้ “อบายสมบัติ” มาครอบครอง

       ๒. มนุษย์สมบัติ เป็นสมบัติ (เป็นคุณธรรมจริยธรรม) ของบุคคลผู้เป็นปรกติแล้ว ได้แก่ บุคคลผู้ปฏิบัติตามหลักศีลหรือผู้เอื้อเฟื้อในศีล และปฏิบัติกุศลธรรม ซึ่งเป็นความดี ๑๐ อย่างทางกาย วาจา ใจ ตลอดชีวิต จึงได้ “มนุษย์สมบัติ” มาครอบครอง

       ๓. สวรรค์สมบัติ เป็นสมบัติ (เป็นคุณธรรมจริยธรรม) ของบุคคลผู้เป็นปรกติแล้ว ได้แก่ บุคคลผู้ปฏิบัติตามหลักศีลหรือผู้เอื้อเฟื้อในศีล และปฏิบัติกุศลธรรม ๑๐ อย่างด้วย อบรมหิริ โอตตัปปะให้มีในสันดานด้วย และยินดีในทานด้วย โดยให้เป็นไปพร้อมทั้งทางกาย วาจา ใจ ตลอดชีวิต จึงได้ “สวรรค์สมบัติ” มาครอบครอง

       ๔. พรหมสมบัติ เป็นสมบัติ (เป็นคุณธรรมจริยธรรม) ของบุคคลผู้เป็นปรกติแล้ว ได้แก่ บุคคลผู้ปฏิบัติตามหลักศีลหรือผู้เอื้อเฟื้อในศีล และปฏิบัติกุศลธรรมด้านสมถกัมมัฏฐาน ซึ่งเป็น กัมมัฏฐานมีรูปเป็นอารมณ์บ้าง มีอรูปเป็นอารมณ์บ้าง สำเร็จรูปฌาน ๔ บ้าง อรูปฌาน ๔ บ้าง โดยให้เป็นไปทั้งทางกาย วาจา ใจ ตลอดชีวิต จึงได้ “พรหมสมบัติ” มาครอบครอง

       ๕. นิพพานสมบัติ เป็นสมบัติ (เป็นคุณธรรมจริยธรรม) ของบุคคลผู้เป็นปรกติแล้ว ได้แก่ บุคคลผู้ปฏิบัติตามหลักศีลหรือผู้เอื้อเฟื้อในศีล และปฏิบัติอัพยากตธรรม หรือวิปัสสนากัมมัฏฐานสายสัมมาปฏิบัติ สติปัฏฐาน ๔ จริง ๆ ซึ่งมีขันธ์ ๕ เป็นอารมณ์ สำเร็จเป็นพระอริยบุคคล ๔ จำพวก ชีวิตเป็นวิมุติหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง ไม่เวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏสงสารอีกต่อไป. (ยังมีตอน 2 ต่อ) 

ส่งมาด้วยจิตเมตตาสรรพสัตว์

ธัมมิกะ

watnongriewnang@gmail.com

24 กุมภาพันธ์ 2552

 

= วิเคราะห์เจาะลึกศีลข้อแรกในเบญจศีล ๒ =

(ตอน ๒)

 พุทธบัญญัติชื่อศีลข้อแรกในเบญจศีล

       ๑. ปาณาติปาตา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ. แปลเป็นไทยว่า ข้าพเจ้า ย่อมสมาทานเอา ซึ่งสิกขาบท อันเป็นเจตนาเครื่องละเว้นเวร คือ การยังสิ่งมีชีวิตและสิ่งมีลมปราณให้ตกล่วง. (คือ ฆ่าให้ตายบ้าง ทำให้พิการบ้าง ทำให้ทรมานบ้าง เรียกว่า ทำสัตว์มีชีวิตและทำสิ่งมีลมปราณให้ตกล่วง)   

 

วิเคราะห์ตามแนวทางปฏิบัติดังนี้      

       ๑. คำว่า สะมาทิยามิ. เป็นกิริยาในประโยค ขึ้นประธานมาว่า ข้าพเจ้า ซึ่งมีเครื่องหมายบอกที่ตัว “มิ” และคำว่า “ข้าพเจ้า” ที่เป็นตัวประธานในประโยคนี้ ในทางปฏิบัติจริงของชีวิตคน หมายถึง จิตสำนึกปรากฏขึ้นในใจของผู้ปฏิบัติศีลและกุศลธรรม หรือผู้มีศีลและกุศลธรรมเป็นสมบัติแล้ว ไม่ใช่เป็นการพูดหรือการแสดงออกทางเสียงแบบพิธีการ เพราะเป็นเรื่องเฉพาะตัว คือ ตัวใครตัวมัน ไม่เกี่ยวกับคนอื่นแต่อย่างใด และจิตสำนึกนี้จะตรงกับภาษาธรรมว่า“สติและสัมปชัญญะ” หรือ “ความระลึกได้และความรู้สึกตัว” ย่อมเป็นสิ่งที่ตนศึกษาอบรมจาก “สัตบุรุษ” เป็นอย่างดีและช่ำชองมาแล้วด้วย สามารถหล่อเลี้ยงหรือซึมซาบอยู่ในระบบประสาททุก ๆ ส่วนของร่างกาย เป็นเหมือนกระแสไฟฟ้าหล่อเลี้ยงอยู่ในสายไฟฟ้าทุก ๆ สาย พร้อมที่จะให้แสงสว่างหรือให้พลังงานแก่หลอดและเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิดและทุกเวลา ในเมื่อสวิตช์ถูกสัมผัส ฉันใด จิตสำนึกหรือสติสัมปชัญญะก็พร้อมที่จะเกิดปรากฏว่า “ข้าพเจ้า” ขึ้นมาทันทีที่อายตนะมีตา หู เป็นต้น ถูกสัมผัส ฉันนั้นเหมือนกัน ดังนั้น คำว่า “ข้าพเจ้า” จึงมีความหมายทางด้านปฏิบัติดังที่กล่าวมาแล้ว ไม่ใช่ ข้าพเจ้า ด้วยการจดจำเอา คิดเอา พูดเอา สวดเอา หรือทำพิธีการสาธุอ้อนวอนขอเอาแต่อย่างใด

       ๒. คำว่า ปาณาติปาตา นั้น เมื่อแยกศัพท์ออกจะได้ดังนี้ คือ (ปาณ + อติ + ปาต) = ปาณาติปาตา แปลว่า การยังสิ่งมีชีวิตและมีลมปราณให้ตกล่วง (คือ ฆ่าให้ตาย ทำให้พิการ ทำให้ทรมาน)  

      

ปาณสัตว์ ๓ ประเภทที่ฆาตกรฆ่า

       ๑. สิ่งมีชีวิตและมีลมปราณ ประเภทสัตว์มี (๑) สัตว์สองเท้า มีคน ไก่ เป็ด เป็นต้น (๒) สัตว์สี่เท้า มีสุนัข โค กระบือ เป็นต้น (๓) สัตว์เท้ามาก มีกุ้ง ปู แมงมุม เป็นต้น (๔) สัตว์ไม่มีเท้า มีงู ไส้เดือน ปลา หอย เป็นต้น

       ๒. สิ่งมีชีวิตและมีลมปราณ ประเภทพืชมี (๑) พืชเกิดจากเหง้าหรือหัว มีขิง ข่า กล้วย หอม กระเทียม เป็นต้น (๒) พืชเกิดจากต้น มีมันสำปะหลัง เป็นต้น (๓) พืชเกิดจากข้อ มีอ้อยต่าง ๆ เป็นต้น (๔) พืชเกิดจากยอด มีผักบุ้ง ผักกระเฉด เป็นต้น (๕) พืชเกิดจากเมล็ด มีข้าว ข้าวโพด มะขาม เป็นต้น

       ๓. สิ่งมีลมปราณแต่ยังไม่มีชีวิต คือ ปาณ ที่แปลว่า ลมปราณนั้นเมื่อแปล ลมปราณ เป็นไทยอีกครั้งก็แปลว่าเชื้อชีวิต โดยเชื้อนี้ยังไม่ปรากฏเป็นตัวตนของชีวิตแต่อย่างใด ตัวอย่าง เช่น

       ปาณ หรือ (Sperm) คือ ลมปราณหรือเชื้อชีวิตสัตว์เกิดในครรภ์ เช่น (๑) น้ำอสุจิสุกรหรือน้ำเชื้อสุกร ก็เรียกว่า ปาณหรือลมปราณสุกร (๒) น้ำอสุจิคนหรือน้ำเชื้อคนก็เรียกว่า ปาณหรือลมปราณคน (๓) น้ำอสุจิวัวหรือน้ำเชื้อวัวก็เรียกว่า ปาณหรือลมปราณวัว เป็นต้น น้ำเชื้อสัตว์เกิดในครรภ์ดังที่กล่าวมาแล้วนั้นเรียกว่า ปาณ ลม ปราณหรือเขื้อชีวิต เพราะยังไม่ปรากฏว่าเป็นตัวตนของชีวิตแต่อย่างใด ต่อเมื่อเหตุปัจจัยอำนวยให้และสภาพแวดล้อมเหมาะสมในวันต่อ ๆ ไปแล้ว ปาณ หรือลมปราณหรือน้ำเชื้อนี้ก็ย่อมกลายเป็นตัวตนแห่งชีวิตได้ เช่น ตัวตนคน ตัวตนวัว ตัวตนสุนัข เป็นต้น และมีอาหารมาบริโภคเลี้ยงชีวิตต่อไปอีก ตัวตนที่มีชีวิตสมบูรณ์ในลักษณะเช่นนี้เรียกว่า “ปาณสัตว์” คือ เป็นคนหรือสัตว์ที่มีทั้งชีวิตและมีทั้งลมปราณ

       ถ้าใคร ๆ มาฆ่าให้ตาย ทำให้พิการ หรือทำให้ทรมาน ซึ่งปาณสัตว์เหล่านี้ก็เป็น ปาณาติปาตา กลายเป็นฆาตกรหรือเป็นคนทุศีลทันที และจะดำรงชีวิตอยู่ในโลกไม่เป็นปรกติสุข เพราะได้รับ อบายสมบัติ มาครอบครองในชีวิต และมีเวรจากปาณสัตว์ที่ถูกฆ่าเหล่านั้นคอยติดตามให้ชีวิตไปประสบภัยพิบัตินานัปการ ทั้งภัยพิบัติที่ลึกลับและภัยพิบัติที่เปิดเผย (ภัยพิบัติที่ลึกลับ ๖ ภัยพิบัติที่เปิดเผย ๑๐)

       ปาณ คือ ลมปราณหรือเชื้อชีวิตสัตว์เกิดในไข่ เช่น ไข่เป็ด ไข่ไก่ ไข่นก ไข่เต่า ไข่จระเข้ ไข่ห่าน ไข่ตุ๊กแก เป็นต้น ที่คลอดออกจากครรภ์หรือออกจากท้องมาแล้วและยังสดอยู่ ก็เรียกว่า ปาณ ลมปราณหรือเชื้อชีวิตด้วย คือ เป็นลมปราณหรือเชื้อชีวิตอยู่ด้านในของเปลือกไข่ เพราะยังไม่ปรากฏว่าเป็นตัวตนของชีวิตแต่อย่างใด ต่อเมื่อเหตุปัจจัยอำนวยให้และสภาพแวดล้อมเหมาะสมในวันต่อ ๆ ไปแล้ว ปาณ หรือลมปราณหรือเชื้อชีวิตนี้ก็ย่อมกลายเป็นตัวตน (ฟักเป็นตัว) แห่งชีวิตได้ เช่น ตัวตนเป็ด ตัวตนไก่ ตัวตนนก ตัวตนห่าน เป็นต้น และมีอาหารมาบริโภคเลี้ยงชีวิตต่อไปอีก ตัวตนที่มีชีวิตสมบูรณ์ในลักษณะเช่นนี้เรียกว่า “ปาณสัตว์” คือ เป็นสัตว์ที่เกิดจากไข่ (ฟักเป็นตัว) และมีทั้งชีวิตมีทั้งลมปราณ

       ถ้าใคร ๆ มาฆ่าให้ตาย ทำให้พิการ หรือทำให้ทรมาน ซึ่งปาณสัตว์เหล่านี้ก็เป็น ปาณาติปาตา กลายเป็นฆาตกรหรือเป็นคนทุศีลทันที และจะดำรงชีวิตอยู่ในโลกไม่เป็นปรกติสุข เพราะได้รับ อบายสมบัติ มาครอบครองในชีวิต และมีเวรจากปาณสัตว์ที่ถูกฆ่าเหล่านั้นคอยติดตามให้ชีวิตไปประสบภัยพิบัตินานัปการ ทั้งภัยพิบัติที่ลึกลับและภัยพิบัติที่เปิดเผย (ภัยพิบัติที่ลึกลับ ๖ ภัยพิบัติที่เปิดเผย ๑๐)                 

       ปาณ ลมปราณหรือเชื้อชีวิตพืชรวมถึงต้นไม้ด้วย เช่น (๑) พืชเกิดจากเหง้าหรือหัว (๒) พืชเกิดจากต้น (๓) พืชเกิดจากข้อ (๔) พืชเกิดจากยอด (๕) พืชเกิดจากเมล็ด บรรดาพืชหรือไม้เหล่านี้ ถ้าเป็นลักษณะพืชพรรณที่ขึ้นอยู่กับที่เรียกว่า ภูตคาม จัดว่าเป็นพืชพรรณที่มีทั้งชีวิตและมีทั้งลมปราณ ถ้าใคร ๆ ทำการฆ่าพืชต้นไม้ที่ยังเป็นภูตคามอยู่ ด้วยการตัดบ้าง รานกิ่งก้านบ้าง ตัดรากถอนโคนบ้าง ทำการบั่นลำต้นบ้าง ทำการกลบด้วยวัตถุอย่างใดอย่างหนึ่งบ้าง ใช้ยามีพิษพ่นบ้าง เป็นต้น จนกระทั่งภูตคามเหล่านั้นได้ตายไปหรือเกิดพิการจากธรรมชาติเดิมไป เป็นต้น คนผู้ทำหรือผู้ใช้ให้ทำก็ชื่อว่าเป็น “ปาณาติปาตา” ฆ่าหรือทำลายสิ่งมีชีวิตและสิ่งมีลมปราณ กลายเป็นฆาตกรหรือเป็นคนทุศิลทันที และจะดำรงชีวิตอยู่ในโลกไม่เป็นปรกติสุข เพราะได้รับ อบายสมบัติ มาครอบครองในชีวิต และมีเวรจากปาณพืชหรือไม้คอยติดตามให้ชีวิตไปประสบภัยพิบัตินานัปการทั้งภัยพิบัติที่ลึกลับและภัยพิบัติที่เปิดเผย (ภัยพิบัติที่ลึกลับ ๖ ภัยพิบัติที่เปิดเผย ๑๐) 

       แต่ถ้าเป็นพืชพรรณที่พรากจากที่ไปแล้วเรียกว่า พืชคาม จัดว่าเป็นพืชพรรณที่มี ปาณ หรือมีลมปราณหรือมีเชื้อชีวิตเท่านั้น เช่น เมล็ดข้าวเปลือกในยุ้งฉาง หัวหอม หัวกระเทียม หัวเผือก หัวมัน เป็นต้น ที่คนพรากจากที่เดิมแล้วนำมาเก็บไว้ที่ครัวหรือที่โรงเก็บอื่น ๆ เป็นต้น ถ้าใคร ๆ ทำการฆ่าพืชคามมีเมล็ดข้าวเปลือกบ้าง หัวหอมบ้าง หัวกระเทียมบ้าง เป็นต้น ด้วยวิธีการสี หั่น ตัด โขลก ทุบ ต้ม แกง เผา เป็นต้น ก็ได้ชื่อว่าเป็น ปาณาติปาตา กลายเป็นฆาตกรหรือเป็นคนทุศีลทันที และจะดำรงชีวิตอยู่ในโลกไม่เป็นปรกติสุข เพราะได้รับ อบายสมบัติ มาครอบครองในชีวิต และมีเวรจากปาณพืชที่ถูกฆ่าเหล่านั้นคอยติดตามให้ชีวิตไปประสบภัยพิบัตินานัปการ ทั้งภัยพิบัติที่ลึกลับและภัยพิบัติที่เปิดเผย (ภัยพิบัติที่ลึกลับ ๖ ภัยพิบัติที่เปิดเผย ๑๐)

(ยังมีต่อตอน ๓) 

ส่งมาด้วยความเมตตาสรรพสัตว์

ธัมมิกะ

watnongriewnang@gmail.com

27  กุมภาพันธ์  2552 

 

= วิเคราะห์เจาะลึกศีลข้อแรกในเบญจศีล ๓ =

(ตอน ๓)

กำเนิดสิ่งมีชีวิตและมีลมปราณประเภทคนและสัตว์

        ในสุตตันตปิฎกฉบับภาษาไทย เล่ม ๔ มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ ข้อ ๑๖๙ พระพุทธองค์ทรงตรัสเรื่อง การถือกำเนิดของสัตว์มีชีวิตและมีลมปราณไว้ ๔ ลักษณะ คือ

       ๑. ชลาพุชะ สัตว์เกิดในครรภ์ เช่น คน วัว ควาย สุนัข แมว เป็นต้น 

       ๒. อัณฑชะ สัตว์เกิดในไข่ เช่น เป็ด ไก่ นก ห่าน เต่า เป็นต้น

       ๓. สังเสทชะ สัตว์เกิดในเถ้าไคล (ของสกปรก) เช่น หนอนต่าง ๆ ที่เกิดในปลาเน่า เป็นต้น

       ๔. โอปปาติกะ สิ่งที่เกิดผุดขึ้น เช่น การผุดการเกิดของจิต อารมณ์ ทัศนคติ ในสัตว์มีชีวิตทุกชนิด โดยเฉพาะคน จะตรงกับคำที่พูดกันอยู่เสมอว่า คนนั้นคนนี้เกิดมีความคิดเห็นว่า… เป็นต้น  

กำเนิดสิ่งมีชีวิตและมีลมปราณประเภทพืชและต้นไม้

       ในวินัยปิฎกฉบับภาษาไทย เล่ม ๒ มหาวิภังค์ ทุติยภาค ข้อ ๓๕๕ พระพุทธองค์ทรงตรัสถึงเรื่อง ภูตคาม (พืชพรรณที่เกิดอยู่กับที่) ว่า ที่ชื่อว่า ภูตคาม ได้แก่พืช ๕ ชนิด คือ

       ๑. มูลพีชัง พืชเกิดจากเหง้า ได้แก่ ขมิ้น ขิง ว่านน้ำ ว่านเปราะ อุตพิด ข่า แฝก แห้วหมู หรือแม้พืชอื่น ๆ ซึ่งเกิดที่เหง้า งอกที่เหง้า นั่นชื่อว่า มูลพีชัง พืชเกิดจากเหง้า

       ๒. ขันธพีชัง พืชเกิดจากต้น ได้แก่ ต้นโพธิ์ ต้นไทร ต้นดีปลี ต้นมะเดื่อ ต้นเต่าร้าง ต้นมะขวิด หรือแม้พืชอื่น ๆ ซึ่งเกิดที่ต้น งอกที่ต้น นั่นชื่อว่า ขันธพีชัง พืชเกิดจากต้น

       ๓. ผฬุพีชัง พืชเกิดจากข้อ ได้แก่ อ้อย ไม้ไผ่ ไม้อ้อ หรือแม้พืชอื่น ๆ ซึ่งเกิดที่ข้อ งอกที่ข้อ นั่นชื่อว่า ผฬุพีชัง พืชเกิดจากข้อ

       ๔. อัคคพีชัง พืชเกิดจากยอด ได้แก่ ผักบุ้งล้อม แมงลัก เถาหญ้านาง หรือแม้พืชอื่น ๆ ซึ่งเกิดที่ยอด งอกที่ยอด นั่นชื่อว่า อัคคพีชัง พืชเกิดจากยอด   

        ๕. พีชพีชัง พืชเกิดจากเมล็ด ได้แก่ ข้าว ถั่ว งา หรือแม้พืชอื่น ๆ ซึ่งเกิดที่เมล็ด งอกที่เมล็ด นั่นชื่อว่า พีชพีชัง พืชเกิดจากเมล็ด

ปาณหรือลมปราณสัตว์เกิดในครรภ์ ๒ ลักษณะ

       ๑. ปาณ หรือ ลมปราณ ที่เจือปนอยู่กับฃีวิต โดยเฉพาะชีวิตคน ในแง่ภาษาปรมัตถ์หรือภาษาอภิธรรมจะเรียกว่า“ชีวิตินทรีย์” อยู่ในกลุ่มอินทรีย์ ๒๒ อย่าง (อภิธรรมปิฎกภาษาไทย เล่ม ๓ ธาตุกถา – ปุคคลบัญญัติ ข้อ ๑ (๕) อินทรีย์บัญญัติ) ดังนั้น สัตว์เกิดในครรภ์ทุกชนิด เช่น คน วัว ควาย เป็นต้น ที่ยังมีชีวิตอยู่ในโลกทุกเพศ ทุกวัย ทุกชาติทุกภาษา และทุกสาขาอาชีพด้วย จัดว่าเป็น ปาณสัตว์ คือ สัตว์ (คนด้วย) ผู้มีทั้งชีวิตและมีทั้งลมปราณ ถ้าฆ่าให้ตาย ทำให้พิการ หรือทำให้ทรมานก็เป็น ปาณาติปาตา ได้ชื่อว่าฆาตกรหรือทุศีลทันที จะมีเวรหรือมีโทษด้านชีวิตของผู้ฆ่ามากตามแต่กรณี (จะแจ่มแจ้งในตอนหน้า)

       ๒. ปาณ หรือ ลมปราณ หรือ เชื้อชีวิต ที่มีคนทำให้เคลื่อนหรือมีเหตุปัจจัยอื่นที่ทำให้เคลื่อนออกจากชีวิตสัตว์เกิดในครรภ์มีคน เป็นต้น คือ น้ำอสุจิ (Sperm) (โปรดอ่านตอน ๒ ประกอบด้วย) เช่น (๑) น้ำอสุจิสุกรหรือน้ำเชื้อสุกร ก็เรียกว่า ปาณหรือลมปราณสุกร (๒) น้ำอสุจิคนหรือน้ำเชื้อคนก็เรียกว่า ปาณหรือลมปราณคน (๓) น้ำอสุจิวัวหรือน้ำเชื้อวัวก็เรียกว่า ปาณหรือลมปราณวัว เป็นต้น น้ำเชื้อสัตว์เกิดในครรภ์ที่เคลื่อนออกจากตัวตนที่มีชีวิตและยังสดอยู่ด้วย ดังที่กล่าวมาแล้วนั้นเรียกว่า ปาณ คือ ลมปราณหรือเขื้อชีวิตแต่ยังไม่มีชีวิต ดังนั้น จึงไม่เรียกว่า ปาณสัตว์ เพราะยังไม่ปรากฏว่าเป็นตัวตนของชีวิตแต่อย่างใด ถ้าฆ่าหรือทำลายให้ปาณหรือให้เชื้อชีวิตตายก็เป็น ปาณาติปาตา ด้วย คนผู้ฆ่าหรือทำลายก็ชื่อว่าเป็นฆาตกรหรือคนทุศีลเหมือนกับการฆ่า ปาณสัตว์ เช่นกัน แต่เวรหรือโทษด้านชีวิตผู้ฆ่าจะลดหลั่นลงไปตามแต่กรณี (จะแจ่มแจ้งในตอนหน้า)

ปาณหรือลมปราณสัตว์เกิดในไข่ ๒ ลักษณะ 

       ๑. ปาณ หรือ ลมปราณ ที่เจือปนอยู่กับฃีวิตสัตว์เกิดในไข่ทุกชนิดที่ยังมีชีวิตอยู่ เช่น ไก่ เป็ด ห่าน นก เต่า จระเข้ เป็นต้น ทุก ๆ ตัวในชีวิตนั้น ๆ เรียกว่า ปาณสัตว์ เพราะเป็นสัตว์มีทั้งชีวิตและมีทั้งลมปราณ ถ้าฆ่าให้ตาย ทำให้พิการ หรือทำให้ทรมานก็เป็น ปาณาติปาตา คนผู้ฆ่าหรือทำลายก็ชื่อว่าเป็นฆาตกรหรือคนทุศีลทันที จะมีเวรหรือมีโทษด้านชีวิตของผู้ฆ่ามากหรือน้อยตามแต่กรณี (จะแจ่มแจ้งในตอนหน้า)

       ๒. ปาณ หรือ ลมปราณ หรือ เชื้อชีวิต คือ ไข่ของสัตว์เกิดในไข่ทุกชนิด ที่เคลื่อนหรือคลอดออกมาจากครรภ์หรือจากท้องของสัตว์เกิดในไข่ซึ่งเป็นตัวเมีย มีไก่ตัวเมีย เป็ดตัวเมีย ห่านตัวเมีย นกตัวเมีย เต่าตัวเมีย เป็นต้น และยังเป็นไข่สด ๆ อยู่ด้วย เรียกว่า ปาณ คือ ไข่มีลมปราณหรือไข่มีเชื้อชีวิต ถ้าฆ่าให้ตาย หรือทำลายให้แตกก็เป็นปาณาติปาตา ด้วย คนผู้ฆ่าหรือผู้ทำลายให้แตกตาย ก็เป็นฆาตกรหรือเป็นคนทุศีลทันที จะมีเวรหรือมีโทษด้านชีวิตของผู้ฆ่าหรือผู้ทำลายมากหรือน้อยตามแต่กรณี

 

ปาณหรือลมปราณหรือสิ่งเกิดในเถ้าไคล ๒ ลักษณะ

       ๑. ลมปราณที่พัฒนาเป็นสัตว์มีชีวิตได้ เช่น แมลงวัน เป็นต้น ผู้เขียนเคยพบเห็นตัวหนอน (ปาณสัตว์ คือ สัตว์เกิดในเถ้าไคล) ในไหปลาร้า คือ คนผู้หมักปลาร้าไว้ในไหโดยปิดปากไหอย่างมิดชิด รู้ว่าปลาในไหเน่าเป็นปลาร้าแล้วก็เปิดไห เพื่อนำไปประกอบอาหาร ปรากฏว่ามีตัวหนอนไต่ยั้วเยี้ย ๆ อยู่ในไหมากมาย สอบถามได้ความว่า หนอนเหล่านี้เกิดขึ้นเองในไหที่มีปลาเน่า (ปลาร้า) และมีอยู่ครั้งหนึ่งที่ผู้เขียนได้เห็นด้วยตาตนเอง คือ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๑ ปลายปี มีกิจถูกเชิญไปอบรมธรรมปฏิบัติต่างถิ่น จึงปิดประตูหน้าต่างห้องทำงานไว้ (ประตูหน้าต่างมีมุ้งลวดปิดทุกบาน) ราว ๑๐ วันก็กลับมา เมื่อเปิดประตูห้องเข้าไปปรากฏว่ามีแมลงวันเขียวใหญ่หัวแดง ๗ ตัว ก็นึกสงสัยอยู่ว่าแมลงวันเข้ามาในห้องได้อย่างไรกัน เมื่อมองไปรอบ ๆ ห้องจึงพบซากจิ้งจกตายที่เหลือโครงกระดูกไว้ให้เห็น ทันใดนั้นเอง ความทรงจำเรื่องที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในพระไตรปิฎกว่า มีการเกิดของสัตว์อยู่ ๔ อย่าง และเกิดอย่างที่ ๓ คือสังเสทชะ สิ่งที่เกิดในเถ้าไคล หรือเกิดในศพเน่า ที่สกปรก ชื้นแฉะ เป็นต้น และตนก็ได้นำไปสอนนักศึกษาปริญญาในสถาบันอุดมศึกษาอยู่หลายปีและหลายรุ่นด้วย

       จึงได้ความจริงตามที่พระพุทธเจ้าแสดงไว้ คือ ความสกปรกในปลาเน่าที่ถูกหมักไว้ในไหปลาร้า หรือความสกปรกในศพเน่ามีศพจิ้งจก เป็นต้น นั้นเป็น สังเสทชะ หรือเป็น เถ้าไคล คือ ความสกปรก ชื้นแฉะ เน่าเหม็น ทำให้ปาณ หรือ ลมปราณ หรือ เชื้อชีวิต เกิดขึ้นได้โดยไม่มีแม่พ่อที่เป็นตัวตนพาให้เกิดแต่อย่างใด และมีลำดับการเกิดปาณ ของสิ่งที่เกิดในเถ้าไคล คือ อันดับแรกเกิดเป็นปาณหรือสิ่งมีลมปราณในเถ้าไคลก่อน จากนั้นก็พัฒนามาเป้นตัวหนอน และเมื่อตัวหนอนได้เหตุปัจจัยหรือสิ่งแวดล้อมเหมาะสมก็พัฒนาตัวเองต่อไปเป็นแมลงวันที่สมบูรณ์ โดยเป็นแมลงวันเพศผู้บ้างเพศเมียบ้าง   

       สำหรับชีวิตหนอนตัวใดพัฒนามาเป็นแมลงวันเพศเมีย แมลงวันเพศเมียตัวนั้นก็มีพวงไข่เกิดในครรภ์หรือในท้องมาพร้อมกับตัวตนชีวิตด้วย เมื่อไข่ในท้องแก่ตัวเต็มที่แล้ว ก็แสวงหาที่ที่เป็น สังเสทชะ หรือ เถ้าไคล เช่น ซากศพเน่า มูลโค มูลช้าง เป็นต้น เพื่อทำการวางไข่ทิ้งไว้ ที่เรียกกันว่า ไข่ขาง เมื่อไข่ขางได้เหตุปัจจัยเหมาะสมก็กลายเป็นตัวหนอนและตัวแมลงวันตามลำดับ ได้ความว่าสัตว์ชนิดนี้มีแมลงวัน เป็นต้น เกิดได้ ๒ ลักษณะ คือ สังเสทชะ เกิดในเถ้าไคลบ้าง อัณฑชะ เกิดในไข่บ้าง สิ่งที่เกิดในเถ้าไคลก็ดี เกิดในไข่ก็ดีและเป็นไข่ที่ยังสดอยู่ด้วยนั้น จัดว่าเป็นสิ่งมีปาณ หรือมีลมปราณ หรือมีเชื้อชีวิตอยู่โดยยังไม่มีชีวิตก่อน แต่เมื่อกลายเป็นตัวหนอนและตัวแมลงวันแล้วจึงจะจัดว่าเป็น ปาณสัตว์ คือ สัตว์มีทั้งชีวิตและมีทั้งลมปราณ คนผู้ฆ่าหรือผู้ทำลาย ปาณ ก็ดี ฆ่าหรือทำลาย ปาณสัตว์ ก็ดี โดยทำให้ตายก็ดี ทำให้พิการก็ดี หรือทำให้ทรมานก็ดี ย่อมชื่อว่าเป็นการทำ ปาณาติปาตา ด้วย กลายเป็นฆาตกรหรือเป็นคนทุศีลทันที จะมีเวรหรือมีโทษด้านชีวิตของผู้ฆ่าหรือผู้ทำลายมากหรือน้อยนั้นตามแต่กรณี (จะแจ่มแจ้งตอนหน้า)  

       ๒. ลมปราณที่พัฒนาเป็นสัตว์มีชีวิตไม่ได้ แต่มีการพัฒนาด้วยการแพร่ขยาย ปาณ หรือแพร่ขยายลมปราณ ซึ่งเป็นเชื้อชีวิตให้ลุกลามไปทั่วบริเวณหรือพื้นที่ที่เป็น เถ้าไคล หรือบริเวณที่ความสกปรกไปถึง เช่น เชื้อไวรัส (Virus) เชื้อแบคทีเรีย (bacteria) ซึ่งเป็น ปาณ หรือเป็นสิ่งมีลมปราณที่ก่อเกิดขึ้นใน เถ้าไคล คือ ความสกปรกที่อวัยวะน้อยใหญ่ของคนบาป (คนผู้ทำบาป คือ ทำอกุศลกรรมหรือทุจริต ๑๐ อนันตริยกรรม ๕ มีทำปาณาติปาตา เป็นต้น) มีอวัยวะตับ ไต เป็นต้น ที่เรียกกันว่า โรคมะเร็งตับ โรคมะเร็งในเม็ดเลือด โรคปอด โรคไต โรคไข้หวัดนก เป็นต้น  

       หนังสือ ปทานุกรมวิทยาศาสตร์ รวบรวมโดย มานิต รุจิวโรดม วท.บ., วท.ม. (ฟิสิกส์) จุฬา ฯ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดพิมพ์เผยแพร่โดย สำนักพิมพ์ อักษรวัฒนา อาจารย์มานิต ได้นิยามคำไวรัส (Virus) ไว้หน้า ๒๔๐ ว่า

       ไวรัส (Virus) อนุภาคกึ่งมีชีวิตมองเห็นได้เฉพาะ จากกล้องจุลทัศน์อิเลคตรอน สามารถแสดงลักษณะของสิ่งมีชีวิต คือ เพิ่มจำนวนเมื่ออยู่ในเซลล์ ไวรัสแต่ละชนิดจะมีสภาพดังกล่าวในเซลล์ เมื่ออยู่นอกเซลล์จะมีสภาพเหมือนสารประกอบเคมีธรรมดาไม่มีชีวิต

       ไวรัสอาจถือได้ว่าเป็น “สิ่ง” ที่อยู่ระหว่าง “สิ่งมีชีวิต” และ “สิ่งที่ไม่มีชีวิต” ในปัจจุบันพบว่าไวรัสเป็นสาเหตุของโรคมากมาย และทำนองกลับกันไวรัสก็มีประโยชน์มากเช่นกัน

       ได้ข้อยุติว่า ไวรัส กับ ปาณ เป็นสิ่งสิ่งเดียวกัน จะว่ามีชีวิตก็ไม่ใช่ ไม่มีชีวิตก็ไม่ใช่ จึงควรเรียกว่า เป็นเชื้อชีวิตเพราะเกิดใน สังเสทชะ คือ ที่เป็นที่สกปรกเช่นเดียวกัน กรุณาทำความเข้าใจให้ดี ๆ จะแจ่มแจ้ง

       หนังสือ สารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม ๒๓ หน้า ๑๔๖๖๒ – ๑๔๖๖๖ นายแพทย์ กิติ จินดาวิจักษณ์ พ.ม., FACS. FRCSS. FICS. หัวหน้ากลุ่มงานศัลยกรรม และรองผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ เขียนเรื่อง“มะเร็ง” ไว้ในที่นั้นว่า

       มะเร็ง เซลล์เนื้อร้ายที่เจริญเติบโตผิดปรกติแทรกซึมเข้าไปในเซลล์ดีที่อยู่โดยรอบ สามารถบุกรุกทำลายอวัยวะที่มันอาศัยอยู่ และสามารถกระจายไปยังอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย โดยกระจายเข้าสู่หลอดเลือดและน้ำเหลือง เมื่อมะเร็งไปก่อตัวในอวัยวะดังกล่าว ก็จะเจริญเติบโตและทำลายอวัยวะที่มันไปอาศัยอยู่ใหม่ทำให้อวัยวะสูญเสียหน้าที่และทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตในที่สุด ฯลฯ (มีรายละเอียดในหนังสือนี้)

       สรุปว่า กำเนิดของสัตว์มีชีวิต ๔ ลักษณะ และ ๑ ใน ๔ นั้น คือ สังเสทชะ สิ่งที่เกิดในเถ้าไคล หรือที่สกปรก ชื้นแฉะ เน่าเหม็น มี ๒ ชนิด คือ (๑) ชนิดที่ก่อเชื้อเป็น ปาณ แล้วพัฒนาเป็น ปาณสัตว์ ได้ เช่น หนอนแมลงวัน เป็นต้น และ (๒) ชนิดที่ก่อเชื้อเป็น ปาณ แล้วพัฒนาเป็น ปาณสัตว์ ไม่ได้แต่แพร่ขยายปาณให้ลุกลามไปตามพื้นที่ที่เถ้าไคล (ความสกปรก) ไปถึงได้

       เชื้อไวรัส (Virus) ตามทรรศนของแพทย์ มาตรงกับทรรศนของพระพุทธเจ้า ผู้เป็นปราชญ์จริง ๆ ว่า ปาณ หรือลมปราณ หรือ เชื้อชีวิต ชนิดที่ (๒) ที่พัฒนาเป็น ปาณสัตว์ ไม่ได้ ก่อตัวขึ้นใน สังเสทชะ หรือ ใน เถ้าไคล คือ ในเชลล์เนื้อร้ายหรือเชลล์สกปรกในอวัยวะของคนผู้ทำบาป คือ ทำอกุศลกรรม ๑๐ อนันตริยกรรม ๕ ตลอดชีวิต คนผู้ฆ่าหรือผู้ทำลาย ปาณ ชนิดไหนก็ตาม ฆ่าหรือทำลาย ปาณสัตว์ ชนิดไหนก็ตาม ย่อมชื่อว่าเป็นการทำ ปาณาติปาตา ด้วย กลายเป็นฆาตกรหรือเป็นคนทุศีลทันที จะมีเวรหรือมีโทษด้านชีวิตของผู้ฆ่าหรือผู้ทำลายมากหรือน้อยนั้นตามแต่กรณี (จะแจ่มแจ้งตอนหน้า)

       ในสุตตันตปิฎกฉบับบาลี ม. มู. ๑๒/๖๔ มีว่า  “จิตฺเต สังกิลิฏฺเฐ ทุคฺคติ ปาฏิกังขา”  แปลว่า เมื่อบุคคลผู้มีจิตเศร้าหมองแล้ว ทุคติ (การดำเนินชีวิตไปสู่ที่ชั่ว) ก็เป็นอันหวังได้ 

       “จิตฺเต อสงฺกิลิฏฺเฐ สุคติ ปาฏิกงฺขา” แปลว่า เมื่อจิตไม่เศร้าหมองแล้ว สุคติ (การดำเนินชีวิตไปสู่ที่ดี) ก็เป็นอันหวังได้. คำว่า จิตเศร้าหมองนั้น คือ จิตคนผู้ทำบาปทุจริตทั้งปวง ได้แก่ ทำอกุศลกรรม ๑๐ อย่าง อนันตริยกรรม ๕ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างในการดำรงชีวิต เวรที่ตนไปทำบาปกับ ปาณ ต่าง ๆ มาทำให้จิตเศร้าหมอง เมื่อกระแสจิตที่เศร้าหมองไหลผ่านเชลล์ชีวิตใด ๆ มีเชลล์เม็ดเลือด หลอดเลือดหรือน้ำเหลือง เป็นต้น ในร่างกาย เชลล์ชีวิตนั้น ๆ ก็กลายเป็นเชลล์เนิ้อร้าย คือ เป็น สังเสทชะ ความสกปรกปรากฏขึ้น พระเรียกว่า อาสวะ บาปหรือกรรมชั่วถูกหมักดองไว้ในเฃลล์นั้น ๆ นานพอสมควรก็ก่อกำเนิดเชื้อไวรัส (Virus) หรือก่อเชื้อ ปาณ หรือเชื้อชีวิตในเชลล์ที่สกปรกนั้น ๆ ได้ จิตเศร้าหมองที่ทำบาปทั้งปวงมานั้น คือ เหตุเกิดเชื้อโรคทุกชนิด การเกิดโรคชนิดใด ๆ ก็ตาม ย่อมเรียกคนเช่นนั้นว่าไปสู่ ทุคติ คือ ชีวิตถึงที่ชั่วแล้ว

       ส่วนคนผู้ไม่ทำบาปทั้งปวง (สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง) ผู้ยังกุศลให้ถึงพร้อม (กุสะลัสสูปะสัมปะทา) ผู้ชำระจิตของตนให้ผ่องแผ้ว (สะจิตตะปะริโยทะปะนัง) ในการดำเนินชีวิตแต่ละวัน ๆ ของคนประเภทนี้ย่อมเป็นคนบริสุทธิ์ทั้งกาย ทั้งวาจา ทั้งใจ เชลล์ชีวิตใด ๆ ก็ตามในชีวิตบริสุทธิ์ไปหมด สังเสทชะ หรือ เถ้าไคล หรือความสกปรก หมักหมมไม่มีในเชลล์นั้น ๆ ได้ เชื้อชีวิตที่เป็นเชื้อไวรัส (Virus) หรือเชื้อ ปาณ ที่เป็นฝ่ายเวรมาให้โทษก็ก่อขึ้นไม่ได้ มีแต่ไวรัสหรือปาณฝ่ายให้คุณเป็นภูมิคุ้มกันชีวิตให้ดำรงอยู่ด้วยความผาสุก ทางพระเรียกไวรัสหรือปาณหรือภูมิคุ้มกันชีวิตชนิดนี้ว่า ชีวิตินทรีย์ แปลว่า สิ่งที่มีความเป็นใหญ่เป็นอิสระในชีวิต ตรงกับอาจารย์มานิตว่า ไวรัส เมื่ออยู่นอกเซลล์จะมีสภาพเหมือนสารประกอบเคมีธรรมดาไม่มีชีวิต …และทำนองกลับกันไวรัสก็มีประโยชน์มากเช่นกัน อันไวรัสที่ว่ามีประโยชน์มากนั้น แท้ที่จริงก็ คือ ฃีวิตินทรีย์ นั่นเอง

       บาลีพุทธภาษิตใน ขุ. ธ. ๒๕/๓๗, ขุ. มหา. ๒๙/๓๗, ขุ. จู. ๓๐/๑๑๖. ความว่า สุทฺธิ อสุทฺธิ ปจฺจตฺตํ นาญฺโญ อญฺญํ วิโสธเย. แปลว่า ความบริสุทธิ์และไม่บริสุทธิ์ มีได้เฉพาะตัว ผู้อื่นพึงยังผู้อื่นให้บริสุทธิ์ไม่ได้

       บาลีใน ม. ม. ๑๓/๖๔๘, ขุ. สุ. ๒๕/๔๕๗. ความว่า กมฺมุนา วตฺตตี ปชา. แปลว่า หมู่สัตว์ (คนด้วย) ย่อมเป็นไปตามกรรม

= จากโคลงโลกนิติ ที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร นิพนธ์ไว้มีว่า

4อย่าโทษไทท้าวท่วย     เทวา               

อย่าโทษสถานภูผา           ย่านกว้าง          

อย่าโทษหมู่วงศา             มิตรญาติ

โทษแต่กรรมเองสร้าง        ส่งให้เป็นเอง ฯ

4สนิมเหล็กเกิดแต่เนื้อ      ในตน

กินกัดเนื้อเหล็กจน            กร่อนขร้ำ

บาปเกิดแก่ตนคน             เป็นบาป

บาปย่อมทำโทษซ้ำ          ใส่ผู้บาปเอง ฯ 

4หมอแพทย์ทายว่าไข้     ลมคุม

โหรว่าเคราะห์แรงรุม          ส่งให้

แม่มดว่าผีกุม                  ทำโทษ

ปราชญ์ว่ากรรมเองไซร้       ก่อสร้างมาเอง ฯ 

(ยังมีต่อตอน ๔) 

ส่งมาด้วยความเมตตาสรรพสัตว์

ธัมมิกะ

watnongriewnang@gmail.com

๒๔  มีนาคม  ๒๕๕๒