สัมมาทิฏฐิในสรรพสิ่ง

สัมมาทิฏิในสรรพสิ่ง

 สัมมาทิฏฐิ  แปลว่า ความเห็นชอบ คือ มีความเห็นไปตามความจริงของสิ่งนั้น ๆ และสิ่งที่เป็นความจริงในโลกนี้มีอยู่ ๒ ลักษณะ คือ

๑. สัจจบัญญัติหรือปรมัตถ์สัจจะ เป็นความจริงที่มีอยู่จริง เป็นไปตามที่บัญญัตินั้นจริง ๆ ซึ่งมีหลักฐานอยู่ในอภิธรรมปิฎก เล่ม ๓ ธาตุกถา – ปุคคลบัญญัติปกรณ์ อุทเทสวาร ข้อ ๑ บัญญัติ ๖ ประการ

๒. สมมุติบัญญัติหรือสมมุติสัจจะ เป็นความจริงที่สมมุติบัญญัติขึ้น โดยไม่มีจริงไม่เป็นจริงตามสมมุติบัญญัติขึ้นมาแต่อย่างใด

 ภาค ๑ สัจจบัญญัติ

 สัมมาทิฏฐิที่ ๑ เรื่อง องค์ประกอบของชีวิต =

ชีวิต แปลว่า ความเป็นอยู่ คือ เป็นชีวิตที่เกิดมาแล้วและยังไม่ตาย เรียกว่า ชีวิต มีชีวิตคน สัตว์ พืช ต้นไม้ เป็นต้น และชีวิตของแต่ละคนนั้นมีองค์ประกอบอยู่โดยธรรมชาติของชีวิตเอง ๕ กลุ่มธรรม คือ

๑. ธาตุ      ๔

๒. ขันธ์      ๕

๓. อายตนะ ๑๒

๔. ธาตุ      ๑๘

๕. อินทรีย์  ๒๒

 

= ธาตุ ๔ อย่าง =

ธาตุ แปลว่า สภาพที่ทรงตัวอยู่อย่างนั้น แต่จะเปลี่ยนไปตามเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง มีอยู่ ๔ อย่าง คือ

๑. ปฐวีธาตุ ธาตุดิน มีอยู่ ๑๙ อย่าง คือ (๑) ผม (๒) ขน (๓) เล็บ (๔) ฟัน (๕) หนัง (๖) เนื้อ (๗) เอ็น (๘) กระดูก (๙) เยื่อในกระดูก (๑๐) ม้าม (๑๑) หัวใจ (๑๒) ตับ (๑๓) พังผืด (๑๔) ไต (๑๕) ปอด (๑๖) ไส้ใหญ่ (๑๗) ไส้น้อย (๑๘) อาหารใหม่ (๑๙) อาหารเก่า

 ๒. อาโปธาตุ ธาตุน้ำ มีอยู่ ๑๒ อย่าง คือ (๑) ดี (๒) เสลด (๓) หนอง (๔) เลือด (๕) เหงื่อ (๖) มันข้น (๗) น้ำตา (๘) เปลวมัน (๙) น้ำลาย (๑๐) น้ำมูก (๑๑) ไขข้อ (๑๒) มูตร

 ๓. เตโชธาตุ ธาตุไฟ มีอยู่ ๔ อย่าง คือ (๑) ไฟที่ยังกายให้อบอุ่น (๒) ไฟที่ยังกายให้ทรุดโทรม (๓) ไฟที่ยังกายให้กระวนกระวาย (๔) ไฟที่ยังอาหารให้ย่อย

 ๔. วาโยธาตุ ธาตุลม มีอยู่ ๖ อย่าง คือ (๑) ลมพัดขึ้นเบื้องบน (๒) ลมพัดลงเบื้องต่ำ (๓) ลมในท้อง (๔) ลมในไส้ (๕) ลมซ่านไปตามตัว (๖) ลมหายใจ

 

= ขันธ์ ๕ อย่าง =

ขันธ์ แปลว่า สิ่งที่รวมเข้ากันเป็นกองหรือเป็นกลุ่ม เรียกว่า ขันธ์ มีอยู่ ๕ กองหรือ ๕ กลุ่ม คือ

๑. รูปขันธ์ กองแห่งรูป มีอยู่ ๑๑ อย่าง คือ (๑) รูปในอดีต (๒) รูปในอนาคต (๓) รูปในปัจจุบัน (๔) รูปภายใน (๕) รูปภายนอก (๖) รูปโอฬาร (๗) รูปสุขุม (๘) รูปหยาบ (๙) รูปประณีต (๑๐) รูปไกล (๑๑) รูปใกล้

 ๒. เวทนาขันธ์ กองแห่งเวทนา (สุข ทุกข์ อุเบกขา) มีอยู่ ๑๑ อย่าง คือ (๑) เวทนาในอดีต (๒) เวทนาในอนาคต (๓) เวทนาในปัจจุบัน (๔) เวทนาภายใน (๕) เวทนาภายนอก (๖) เวทนาโอฬาร (๗) เวทนาสุขุม (๘) เวทนาหยาบ (๙) เวทนาประณีต (๑๐) เวทนาไกล  (๑๑) เวทนาใกล้

๓. สัญญาขันธ์ กองแห่งสัญญา (ความจำได้หมายรู้) มีอยู่ ๑๑ อย่าง คือ (๑) สัญญาในอดีต (๒) สัญญาในอนาคต (๓) สัญญาในปัจจุบัน (๔) สัญญาภายใน (๕) สัญญาภายนอก (๖) สัญญาโอฬาร (๗) สัญญาสุขุม (๘) สัญญาหยาบ (๙) สัญญาประณีต (๑๐) สัญญาไกล (๑๑) สัญญาใกล้

 ๔. สังขารขันธ์ กองแห่งสังขาร (ความคิดปรุงแต่ง) มีอยู่ ๑๑ อย่าง คือ (๑) สังขารในอดีต (๒) สังขารในอนาคต (๓) สังขารในปัจจุบัน (๔) สังขารภายใน (๕) สังขารภายนอก (๖) สังขารโอฬาร (๗) สังขารสุขุม (๘) สังขารหยาบ (๙) สังขารประณีต (๑๐) สังขารไกล (๑๑) สังขารใกล้

 ๕. วิญญาณขันธ์ กองแห่งวิญญาณ (ความรู้แจ้ง) มีอยู่ ๑๑ อย่าง คือ (๑) วิญญาณในอดีต (๒) วิญญาณในอนาคต (๓) วิญญาณปัจจุบัน (๔) วิญญาณภายใน (๕) วิญญาณภายนอก (๖) วิญญาณโอฬาร (๗) วิญญาณสุขุม (๘) วิญญาณหยาบ (๙)วิญญาณประณีต (๑๐) วิญญาณไกล (๑๑) วิญญาณใกล้

 

อายตนะ ๑๒ อย่าง =

อายตนะ แปลว่า ที่เป็นที่เชื่อมต่อให้เกิดความรู้ระหว่างอารมณ์ภายในและภายนอก เรียกว่า อายตนะ มีอยู่ ๑๒ อย่าง เป็นอายตนะภายใน ๖ และอายตนะภายนอก ๖ ส่วนที่เป็นอายตนะภายใน ๖ นั้น คือ

๑. จักขวายตนะ         อายตนะ คือ ตา

๒. โสตายตนะ          อายตนะ คือ หู

๓. ฆานายตนะ          อายตนะ คือ จมูก

๔. ชิวหายตนะ          อายตนะ คือ ลิ้น

๕. กายายตนะ          อายตนะ คือ กาย

๖. มนายตนะ            อายตนะ คือ ใจ

 ที่เป็นอายตนะภายนอก ๖ คือ

๑. รูปายตนะ            อายตนะ คือ รูป

๒. สัททายตนะ         อายตนะ คือ เสียง

๓. คันธายตนะ          อายตนะ คือ กลิ่น

๔. รสายตนะ            อายตนะ คือ รส

๕ โผฏฐัพพายตนะ     อายตนะ คือ โผฏฐัพพะ

๖. ธรรมายตนะ          อายตนะ คือ ธรรม

 

ธาตุ ๑๘ อย่าง =

ธาตุ แปลว่า สภาพที่ทรงตัวอยู่อย่างนั้น แต่จะเปลี่ยนไปตามเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง เรียกว่า “ธาตุ”มีอยู่ ๑๘ อย่าง คือ

๑. จักขุธาตุ            ธาตุ คือ ตา

๒. โสตธาตุ             ธาตุ คือ หู

๓. ฆานธาตุ            ธาตุ คือ จมูก

๔. ชิวหาธาตุ           ธาตุ คือ ลิ้น

๕. กายธาตุ            ธาตุ คือ กาย

๖. มโนธาตุ             ธาตุ คือ ใจ

๗. รูปธาตุ              ธาตุ คือ รูป

๘. สัททธาตุ           ธาตุ คือ เสียง

๙. คันธธาตุ            ธาตุ คือ กลิ่น

๑๐. รสธาตุ             ธาตุ คือ รส

๑๑. โผฏฐัพพธาตุ ธาตุ คือ โผฏฐัพพะ

๑๒. ธรรมธาตุ          ธาตุ คือ ธรรม

๑๓. จักขุวิญญาณธาตุ  ธาตุ คือ ความรู้แจ้งทางตา

๑๔. โสตวิญญาณธาตุ  ธาตุ คือ ความรู้แจ้งทางหู

๑๕. ฆานวิญญาณธาตุ  ธาตุ คือ ความรู้แจ้งทางจมูก

๑๖. ชิวหาวิญญาณธาตุ ธาตุ คือ ความรู้แจ้งทางลิ้น

๑๗. กายวิญญาณธาตุ   ธาตุ คือ ความรู้แจ้งทางกาย

๑๘. มโนวิญญาณธาตุ   ธาตุ คือ ความรู้แจ้งทางใจ

 

อินทรีย์ ๒๒ อย่าง =

อินทรีย์ แปลว่า ความเป็นใหญ่ที่มีอำนาจสิทธิ์ขาด ในการตัดสินชี้ขาดในชีวิตว่าจะดีหรือร้าย มีอยู่ ๒๒ อย่าง คือ

๑. จักขุนทรีย์           ความเป็นใหญ่ของ ตา

๒. โสตินทรีย์            ความเป็นใหญ่ของ หู

๓. ฆานินทรีย์           ความเป็นใหญ่ของ จมูก

๔. ชิวหินทรีย์           ความเป็นใหญ่ของ ลิ้น

๕. กายินทรีย์           ความเป็นใหญ่ของ กาย

๖. มนินทรีย์             ความเป็นใหญ่ของ ใจ

๗. อิตถินทรีย์           ความเป็นใหญ่ของ สตรี

๘. ปุริสินทรีย์           ความเป็นใหญ่ของ บุรุษ

๙. ชีวิตินทรีย์           ความเป็นใหญ่ของ ชีวิต

๑๐. สุขินทรีย์           ความเป็นใหญ่ของ สุข

๑๑. ทุกขินทรีย์         ความเป็นใหญ่ของ ทุกข์

๑๒.โสมนัสสินทรีย์     ความเป็นใหญ่ของ โสมนัส

๑๓. โทมนัสสินทรีย์     ความเป็นใหญ่ของ โทมนัส

๑๔. อุเปกขินทรีย์      ความเป็นใหญ่ของ อุเบกขา

๑๕. สัทธินทรีย์         ความเป็นใหญ่ของ ศรัทธา

๑๖. วิริยินทรีย์          ความเป็นใหญ่ของ ความเพียร

๑๗. สตินทรีย์           ความเป็นใหญ่ของ สติ

๑๘. สมาธินทรีย์        ความเป็นใหญ่ของ สมาธิ

๑๙. ปัญญินทรีย์       ความเป็นใหญ่ของ ปัญญา

๒๐. อนัญญตัญญัสสามีตินทรีย์ ความเป็นใหญ่ของ ความอยากรู้ในสิ่งที่ยังไม่รู้

๒๑. อัญญินทรีย์        ความเป็นใหญ่ของ ปัญญาอันรู้ทั่วถึงแล้ว

๒๒. อัญญาตาวินทรีย์  ความเป็นใหญ่ของ ท่านผู้รู้ที่รู้ทั่วถึงแล้ว

 

สัมมาทิฏฐิที่ ๒ เรื่อง สัจจบัญญัติในบุคคล =

การบัญญัติจำพวกบุคคลของบุคคลทั้งหลาย ที่จัดว่าเป็นสัจจบัญญัติ หรือเป็นปรมัตถ์สัจจะในบุคคล คือ

บุคคลที่เป็นปุถุชน คือ

สังโยชน์ ๓ อันบุคคลใดละไม่ได้ ทั้งไม่ปฏิบัติเพื่อละธรรมเหล่านั้น บุคคลนี้เรียกว่า ปุถุชน (สังโยชน์ แปลว่า สิ่งผูกรัดจิตใจสัตว์โลกไว้ในภพ ๑๐ ที่เป็น ๓ ใน ๑๐ คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส)

บุคคลผู้ไม่ควรแก่การบรรลุมรรคผล คือ

บุคคลที่ประกอบด้วยกัมมาวรณ์ ประกอบด้วยกิเลสาวรณ์ ประกอบด้วยวิปากาวรณ์ ไม่มีศรัทธา ไม่มีฉันทะ มีปัญญาทราม โง่เขลา เป็นผู้ไม่ควรหยั่งลงสู่นิยามอันถูกในกุศลธรรมทั้งหลาย บุคคลเหล่านี้ เรียกว่า ผู้ไม่ควรแก่การบรรลุมรรคผล

บุคคลเป็นพระอริยะ คือ

พระอริยบุคคล ๘ เป็นอริยะ บุคคลนอกนั้น ไม่ใช่อริยะ (พระอริยบุคคล ๘ คือ พระโสดาปัตติมรรค พระโสดาปัตติผล พระสกทาคามิมรรค พระสกทาคามิผล พระอนาคามิมรรค พระอนาคามิผล พระอรหัตตมรรค พระอรหัตตผล)

บุคคลเป็นเสขะ คือ

บุคคลผู้พร้อมเพรียงด้วยมรรค ๔ พร้อมเพรียงด้วยผล ๓ เป็นเสขะ พระอรหันต์เป็นอเสขะ บุคคลนอกนั้น เป็นเสขะก็มิใช่ เป็นอเสขะก็มิใช่ (พร้อมเพรียงด้วยมรรค ๔ คือ โสดาปัตติมรรค สกทาคามิมรรค  อนาคามิมรรค อรหัตตมรรค พร้อมเพรียงด้วยผล ๓ คือ โสดาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล)

บุคคลเป็นพระสัมมาสัมพุทธะ คือ

บุคคลบางคนในโลกนี้ ตรัสรู้ด้วยปัญญาอันยิ่ง ซึ่งสัจจะด้วยตนเองในธรรมทั้งหลาย ที่ตนมิได้สดับมาแล้วในก่อน บรรลุความเป็นพระสัพพัญญูในธรรมนั้น และบรรลุความเป็นผู้มีความชำนาญในธรรมเป็นกำลังทั้งหลาย บุคคลนี้เรียกว่า พระสัมมาสัมพุทธะ

บุคคลเป็นพระปัจเจกพุทธะ คือ

บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมตรัสรู้ซึ่งสัจจะทั้งหลายด้วยตนเอง ในธรรมทั้งหลายที่ตนไม่ได้สดับมาแล้วในก่อน แต่มิได้บรรลุความเป็นพระสัพพัญญูในธรรมนั้น ทั้งไม่ถึงความเป็นผู้ชำนาญในธรรมอันเป็นกำลังทั้งหลาย บุคคลนี้เรียกว่า พระปัจเจกพุทธะ

 บุคคลผู้มักลบหลู่บุญคุณของผู้อื่น คือ

ความลบหลู่ ในข้อนั้นเป็นไฉน ความลบหลู่ กิริยาที่ลบหลู่ ภาวะที่ลบหลู่ ความไม่เห็นคุณของผู้อื่น การกระทำที่ไม่เห็นคุณของผู้อื่น นี้เรียกว่าความลบหลู่ ความลบหลู่นี้ อันบุคคลใดละไม่ได้แล้ว บุคคลนี้เรียกว่า ผู้มักลบหลู่บุญคุณของผู้อื่น แต่ถ้าบุคคลใดละความลบหลู่ได้แล้ว บุคคลนี้เรียกว่า ผู้ไม่ลบหลู่บุญคุณผู้อื่น

บุคคลผู้ตีเสมอ คือ

การตีเสมอ ในข้อนั้นเป็นไฉน  การตีเสมอ กิริยาที่ตีเสมอ ภาวะที่ตีเสมอ ธรรมที่เป็นอาหารแห่งการตีเสมอ ฐานะแห่งวิวาท การถือเป็นคู่ว่าเท่าเทียมกัน การไม่สละคืนอันใด นี้เรียกว่าการตีเสมอ การตีเสมอนี้อันบุคคลใดละไม่ได้แล้ว บุคคลนี้เรียกว่าผู้ตีเสมอ แต่ถ้าบุคคลใดละการตีเสมอได้แล้ว บุคคลนี้เรียกว่า ผู้ไม่ตีเสมอผู้อื่น

บุคคลผู้มีความริษยา คือ

ความริษยา ในข้อนั้นเป็นไฉน ความริษยา กิริยาที่ริษยา ภาวะที่ริษยา ความไม่ยินดีด้วย กิริยาที่ไม่ยินดีด้วย ภาวะที่ไม่ยินดีด้วยในลาภสักการะ การเคารพ ความนับถือ การไหว้ การบูชาของผู้อื่น อันใด นี้เรียกว่าความริษยา ก็ความริษยานี้ อันบุคคลใดละไม่ได้แล้ว บุคคลนี้เรียกว่า ผู้มีความริษยา แต่ถ้าบุคคลใดละความริษยาได้แล้ว บุคคลนี้เรียกว่า ผู้ไม่มีความริษยา

บุคคลผู้มีความตระหนี่ คือ

ความตระหนี่ ในข้อนั้นเป็นไฉน ความตระหนี่มี ๕ อย่าง คือ ตระหนี่ที่อยู่ ตระหนี่ตระกูล ตระหนี่ลาภ ตระหนี่วรรณะ ตระหนี่ธรรม ความตระหนี่ กิริยาที่ตระหนี่ ภาวะที่ตระหนี่ ความอยากมีประการต่างๆ ความเหนียวแน่น ความตระหนี่ถี่เหนียว ความที่จิตไม่เผื่อแผ่ อันใดเห็นปานนี้ นี้เรียกว่า ความตระหนี่ ความตระหนี่นี้ อันบุคคลใดละไม่ได้แล้วบุคคลนี้เรียกว่า ผู้มีความตระหนี่  แต่ถ้าบุคคลใดละความตระหนี่ได้แล้ว บุคคลนี้เรียกว่า ผู้ไม่มีความตระหนี่

บุคคลผู้โอ้อวด คือ

ความโอ้อวด ในข้อนั้นเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้อวด ความโอ้อวด ภาวะโอ้อวด กิริยาที่โอ้อวด ภาวะที่แข็งกระด้าง กิริยาที่แข็งกระด้าง ความพูดยกตน กิริยาที่พูดยกตน อันใด ในข้อนั้น นี้เรียกว่าความโอ้อวด ความโอ้อวดนี้  อันบุคคลใดละไม่ได้แล้ว บุคคลนี้เรียกว่า ผู้โอ้อวด แต่ถ้าบุคคลใดละความโอ้อวดได้แล้ว บุคคลนี้เรียกว่า ผู้ไม่โอ้อวด

บุคคลผู้มีมายา คือ

มายา ในข้อนั้นเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ ประพฤติทุจริตด้วยกาย ประพฤติทุจริตด้วยวาจา ประพฤติทุจริตด้วยใจแล้ว เพราะเหตุจะปกปิดทุจริตนั้น จึงตั้งความปรารถนาอันลามก ปรารถนาว่าใครๆ อย่ารู้เรา ดำริว่าใครๆ อย่ารู้เรา พยายามว่าใครๆ อย่ารู้เรา มายา ภาวะที่มายา ความวางท่าความหลอกลวง ความตลบตะแลง ความมีเล่ห์เหลี่ยม ความทำให้ลุ่มหลง ความซ่อน ความอำพราง ความปิด ความปกปิด การไม่ทำให้เข้าใจง่าย การไม่ทำให้จะแจ้ง การปิดบังกิริยาลามกเห็นปานนี้ อันใด นี้เรียกว่า มีมายา แต่ถ้าบุคคลใดละมายาได้แล้ว บุคคลนี้เรียกว่า ไม่มีมายา

บุคคลผู้มีสติอันเข้าไปตั้งไว้แล้ว คือ

สติ คือ ความระลึกได้ ความตามระลึกได้ ความหวนระลึกได้ ความนึกได้ คือ สติ ความทรงจำ ความไม่ฟั่นเฟือน ความไม่หลงลืมนี้เรียกว่า สติ บุคคลผู้ประกอบแล้วด้วยสตินี้ ชื่อว่าผู้มีสติอันเข้าไปตั้งไว้แล้ว ส่วนบุคคลผู้มีสติหลง คือ มีความระลึกไม่ได้ ตามระลึกไม่ได้ มีความทรงจำไม่ได้ ความเป็นผู้มีสติฟั่นเฟือน บุคคลเป็นผู้ประกอบด้วยความเป็นผู้มีสติหลงนี้ ชื่อว่าบุคคลผู้มีสติหลง

 
= สัมมาทิฏฐิที่ ๓ เรื่อง จิตใจในชีวิต =

จิต ใจ หรือ จิตใจ นั้น แปลว่า สิ่งที่เป็นความคิดแล้วสะสมอารมณ์ไว้ เรียกว่า จิต หรือจิตใจ มีอยู่ ๘๙ หรือ ๑๒๑ ดวง แบ่งเป็น ๔ กลุ่มงาน คือ

๑. กามาวจรจิต ๕๔ ดวง (เป็นจิตฝ่ายต่ำ)

๒. รูปาวจรจิต ๑๕ ดวง (เป็นจิตฝ่ายกลางใกล้จิตฝ่ายต่ำ)

๓. อรูปาวจรจิต ๑๒ ดวง (เป็นจิตฝ่ายกลางใกล้จิตฝ่ายสูง)

๔. โลกุตตรจิต ๘ หรือ ๔๐ ดวง (เป็นจิตฝ่ายสูงยิ่ง)

๑. กามาวจรจิต ๕๔ ดวง แบ่งเป็น ๓ หมวด คือ

๑. อกุศลจิต ๑๒ ดวง

– โลภมูลจิต ๘ ดวง(นำชีวิตให้ทำอกุศลกรรมอันชั่วกับสิ่งที่พอใจ)

– โทสมูลจิต ๒ ดวง(นำชีวิตให้ทำอกุศลกรรมอันชั่วกับสิ่งที่ไม่พอใจ)

– โมหมูลจิต ๒ ดวง (นำชีวิตให้ทำชั่วทั้งที่พอใจและไม่พอใจ)

๒. อเหตุกจิต ๑๘ ดวง

– อกุศลวิปากจิต ๗ ดวง(จดจำบันทึกกรรมชั่วไว้ในชีวิต)

– อเหตุกกุศลวิปากจิต ๘ ดวง (จดจำบันทึกกรรมดีไว้ในชีวิต)

– อเหตุกกิริยาจิต ๓ ดวง(ดีลีทหรือลบกรรมดีและชั่วออกจากชีวิต)

๓. กามาวจรโสภณจิต ๒๔ ดวง

– มหากุศลจิต ๘ ดวง(นำชีวิตให้ทำกุศลกรรมงดเว้นอกุศลกรรม)

– มหาวิปากจิต ๘ ดวง(ชีวิตได้รับผลกรรมอันดีฝ่ายเดียว)

– มหากิริยาจิต ๘ ดวง(ชีวิตบริสุทธิ์ไม่มีทั้งผลดีและผลชั่ว)

 

๒. รูปาวจรจิต ๑๕ ดวง แบ่งเป็น ๓ หมวด คือ

๑. รูปาวจรกุศลจิต ๕ ดวง(กุศลจิตในสมถภาวนามีรูปเป็นอารมณ์)

๒. รูปาวจรวิปากจิต ๕ ดวง(วิปากจิตในสมถภาวนามีรูปเป็นอารมณ์)

๓. รูปาวจรกิริยาจิต ๕ ดวง(กิริยาจิตในสมถภาวนามีรูปเป็นอารมณ์)

 

๓. อรูปาวจรจิต ๑๒ ดวง แบ่งเป็น ๓ หมวด คือ

๑. อรูปาวจรกุศลจิต ๔ ดวง(กุศลจิตในสมถภาวนามีอรูปเป็นอารมณ์)

๒. อรูปาวจรวิปากจิต ๔ ดวง(วิปากจิตในสมถภาวนามีอรูปเป็นอารมณ์)

๓. อรูปาวจรกิริยาจิต ๔ ดวง(กิริยาจิตในสมถภาวนามีอรูปเป็นอารมณ์)

 

๔. โลกุตตรจิตโดยย่อ ๘ ดวง แบ่งเป็น ๒ หมวด คือ

๑. โลกุตตรกุศลจิต ๔ ดวง(กุศลจิตที่หลุดพ้นจากโลกไป)

๒. โลกุตตรวิปากจิต ๔ ดวง(วิปากจิตที่หลุดพ้นจากโลกไป)

 

๕. โลกุตตรจิตโดยพิสดาร ๔๐ ดวง แบ่งเป็น ๒ หมวด คือ

๑. โลกุตตรกุศลจิต ๒๐ ดวง(กุศลจิตที่หลุดพ้นจากโลกไป)

๒. โลกุตตรวิปากจิต ๒๐ ดวง(กุศลจิตที่หลุดพ้นจากโลกไป)

 

สัมมาทิฏฐิที่ ๔ เรื่อง ธรรมะในชีวิต =

ธรรมะหรือธรรมชาติในชีวิตคน ย่อมมีประจำอยู่ ๓ กลุ่มธรรม ที่คนผู้มีชีวิตอยู่สามารถนำมาประพฤติปฏิบัติได้จริง คือ

๑. กุศลธรรมหรือความดี ๑๐ อย่าง

๒. อกุศลธรรมหรือความชั่ว ๑๐ อย่าง

๓. อัพยากตธรรมหรือความไม่ดีไม่ชั่ว ๔ อย่าง

 

กุศลธรรมหรือความดีในชีวิต ๑๐ อย่าง คือ

๑. เจตนางดเว้นจากการฆ่าสัตว์มีชีวิตและมีลมปราณ

๒. เจตนางดเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้แล้ว

๓. เจตนางดเว้นจากการประพฤติผิดในกามทั้งหลาย

๔. เจตนางดเว้นจากการพูดปด

๕. เจตนางดเว้นจากการพูดคำหยาบ

๖. เจตนางดเว้นจากการพูดส่อเสียด

๗. เจตนางดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ

๘. เจตนางดเว้นจากการคิดเพ่งเล็งผู้อื่นในแง่ร้าย

๙. เจตนางดเว้นจากการคิดปองร้ายผู้อื่น

๑๐. เป็นผู้มีความเห็นชอบ(เป็นสัมมาทิฏฐิบุคคล)

(กุศลธรรมหรือความดี ๑๐ อย่างนี้ เป็นคุณธรรมจริยธรรมของคนผู้มีจิตวิญญาณเป็นมนุษย์ เป็นเทวดา และเป็นพระพรหม)

อกุศลธรรมหรือความชั่วในชีวิต ๑๐ อย่าง คือ

๑. เจตนาฆ่าสัตว์มีชีวิตและมีลมปราณ

๒. เจตนาถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้แล้ว

๓. เจตนาประพฤติผิดในกามทั้งหลาย

๔. เจตนาพูดปด

๕. เจตนาพูดคำหยาบ

๖. เจตนาพูดส่อเสียด

๗. เจตนาพูดเพ้อเจ้อ

๘. เจตนาคิดเพ่งเล็งผู้อื่นในแง่ร้าย

๙. เจตนาคิดปองร้ายผู้อื่น

๑๐. เป็นผู้มีความเห็นผิด (เป็นมิจฉาทิฏฐิบุคคล)

(อกุศลธรรมหรือความชั่ว ๑๐ อย่างนี้ เป็นคุณธรรมจริยธรรมของคนผู้มีจิตวิญญาณเป็นสัตว์นรก เป็นเปรต เป็นเดียรัจฉาน เป็นอสุรกาย เป็นอมนุษย์ และเป็นคนมาร) 

อัพยากตธรรมหรือความไม่ดีไม่ชั่วในชีวิต ๔ อย่าง คือ

๑. กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน   ตั้งสติตามเห็นกายในกายอยู่เป็นประจำ

๒. เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ตั้งสติตามเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่เป็นประจำ

๓. จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน   ตั้งสติตามเห็นจิตในจิตอยู่เป็นประจำ

๔. ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน  ตั้งสติตามเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่เป็นประจำ

(อัพยากตธรรมหรือความไม่ดีไม่ชั่ว ๔ อย่างนี้ เป็นคุณธรรมจริยธรรมของคนผู้มีจิตวิญญาณเป็นพระอริยบุคคลทั้งหลาย ๔ จำพวก)

 

สัมมาทิฏฐิที่ ๕ เรื่อง กรรมในชีวิต =

กรรม แปลว่า การกระทำหรือพฤติกรรมของคน ในการวิ่งเต้นแสวงหาปัจจัยมาเลี้ยงชีวิตหรือสร้างฐานะให้แก่ตนและครอบครัว เรียกว่า กรรม” และในชีวิตนั้น มีอยู่ ๔ กรรม คือ

๑. กุศลกรรมหรือกรรมดีในชีวิต ๑๐ อย่าง

๒. อกุศลกรรมหรือกรรมชั่วในชีวิต ๑๐ อย่าง

๓. อัพยากตกรรมหรือกรรมไม่ดีไม่ชั่วในชีวิต ๔ อย่าง

๔. อนันตริยกรรมหรือกรรมชั่วร้ายที่สุดในชีวิต ๕ อย่าง

 

(๑) กุศลกรรมหรือกรรมดีในชีวิต ๑๐ อย่าง คือ

๑. เจตนางดเว้นจากการฆ่าสัตว์มีชีวิตและมีลมปราณ

๒. เจตนางดเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้แล้ว

๓. เจตนางดเว้นจากการประพฤติผิดในกามทั้งหลาย

๔. เจตนางดเว้นจากการพูดปด

๕. เจตนางดเว้นจากการพูดคำหยาบ

๖. เจตนางดเว้นจากการพูดส่อเสียด

๗. เจตนางดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ

๘. เจตนางดเว้นจากการคิดเพ่งเล็งผู้อื่นในแง่ร้าย

๙. เจตนางดเว้นจากการคิดปองร้ายผู้อื่น

๑๐. เป็นผู้มีความเห็นชอบ(เป็นสัมมาทิฏฐิบุคคล)

(คนผู้มีจิตวิญญาณเป็นมนุษย์ เป็นเทวดา และเป็นพระพรหม ย่อมแสวงหาปัจจัยมีเงิน เป็นต้น มาเลี้ยงชีวิตด้วยกรรมดี ๑๐ อย่างนี้)

 

(๒) อกุศลกรรมหรือกรรมชั่วในชีวิต ๑๐ อย่าง คือ

๑. เจตนาฆ่าสัตว์มีชีวิตและมีลมปราณ

๒. เจตนาถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้แล้ว

๓. เจตนาประพฤติผิดในกามทั้งหลาย

๔. เจตนาพูดปด

๕. เจตนาพูดคำหยาบ

๖. เจตนาพูดส่อเสียด

๗. เจตนาพูดเพ้อเจ้อ

๘. เจตนาคิดเพ่งเล็งผู้อื่นในแง่ร้าย

๙. เจตนาคิดปองร้ายผู้อื่น

๑๐. เป็นผู้มีความเห็นผิด (เป็นมิจฉาทิฏฐิบุคคล)

(คนผู้มีจิตวิญญาณเป็นสัตว์นรก เป็นเปรต เป็นเดียรัจฉาน เป็นอสุรกาย เป็นอมนุษย์ และเป็นคนมาร ย่อมแสวงหาปัจจัยมีเงิน เป็นต้น มาเลี้ยงชีวิต ด้วยกรรมชั่ว ๑๐ อย่างนี้)

 

(๓) อัพยากตกรรมหรือกรรมไม่ดีไม่ชั่วในชีวิต ๔ อย่าง คือ

๑. กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน   ตั้งสติตามเห็นกายในกายอยู่เป็นประจำ

๒. เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ตั้งสติตามเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่เป็นประจำ

๓.จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน    ตั้งสติตามเห็นจิตในจิตอยู่เป็นประจำ

๔. ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน  ตั้งสติตามเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่เป็นประจำ

(คนผู้มีจิตวิญญาณเป็นพระอริยบุคคลทั้งหลาย ๔ จำพวกเหล่านั้น ย่อมอาศัยปัจจัย ๔ จากชาวบ้านผู้มีศรัทธาเลี้ยงชีวิต)

 

(๔) อนันตริยกรรมหรือกรรมชั่วร้ายที่สุดในชีวิต ๕ อย่าง คือ

๑. มาตุฆาต ฆ่ามารดาหรือฆ่าบุคคลผู้มีคุณคล้ายมารดา

๒. ปิตุฆาต ฆ่าบิดาหรือฆ่าบุคคลผู้มีคุณคล้ายบิดา

๓. อรหันตฆาต ฆ่าพระอรหันต์หรือฆ่าบุคคลผู้มีคุณคล้ายพระอรหันต์

๔. โลหิตุปบาท ทำร้ายพระอรหันต์ให้ห้อเลือด

๕. สังฆเภท ทำสงฆ์หรือหมู่ชนให้แตกแยก

(คนผู้มีจิตวิญญาณชั่วร้ายที่สุด ย่อมแสวงหาปัจจัยมีเงิน เป็นต้น มาเลี้ยงชีวิตด้วยอกุศลกรรม ๑๐ และทำอนันตริยกรรมร่วมอยู่ด้วย)

 

= สัมมาทิฏฐิที่ ๖ เรื่อง วิบากหรือผลกรรมในชีวิต =

วิบาก คือ ผลของกรรมที่คนทำ พูด คิด แล้วได้ปัจจัยมีเงิน เป็นต้น มาเลี้ยงชีวิตและสร้างฐานะให้ตนและครอบครัวนั้น เรียกว่า วิบาก มีอยู่ ๒ ลักษณะ คือ

๑. วิบากหรือผลกรรมอย่างลึกลับ (เป็นผลด้านจิตวิญญาณ)

๒. วิบากหรือผลกรรมอย่างเปิดเผย (เป็นผลด้านชีวิต ทรัพย์สิน)

(๑) กุศลวิบากหรือผลกรรมดีอย่างลึกลับ ๓ อย่าง คือ

๑. จิตวิญญาณเป็นมนุษย์ใจสูง

๒. จิตวิญญาณเป็นเทวดา มีหูตาทิพย์

๓. จิตวิญญาณเป็นพระพรหม ใจประเสริฐ

(คนผู้ทำกุศลกรรมหรือกรรมดี ๑๐ เลี้ยงชีวิต ย่อมได้รับผลดีด้านจิตวิญญาณดังที่กล่าวมานี้ คือ ใจสูง มีหูตาทิพย์ ใจประเสริฐ)

 

(๒) กุศลวิบากหรือผลกรรมดีอย่างเปิดเผย ๗ อย่าง คือ

๑. อายุวัฑฒโก           มีอายุเจริญ

๒. ธนวัฑฒโก             มีทรัพย์เจริญ

๓. สิริวัฑฒโก             มีศิริเจริญ

๔. ยสวัฑฒโก             มียศเจริญ

๕. พลวัฑฒโก            มีกำลังเจริญ

๖. วัณณวัฑฒโก       ผิวพรรณหรือเพศเจริญ

๗. สุขวัฑฒโก                   ความสุขทางกายและใจเจริญ

(คนผู้ทำกุศลกรรมหรือกรรมดี ๑๐ เลี้ยงชีวิต ย่อมได้รับผลดีด้านฐานะความเป็นอยู่ดี ๗ อย่าง ดังที่กล่าวมานี้ คือ มีอายุเจริญ เป็นต้น)

 

(๓) อกุศลวิบากหรือผลกรรมชั่วอย่างลึกลับ ๖ อย่าง คือ

๑. จิตวิญญาณเป็นสัตว์นรก ในนรก ๔๕๗ ขุม

๒. จิตวิญญาณเป็นเปรต ในเปรต ๒๕ จำพวกขึ้นไป

๓. จิตวิญญาณเป็นเดียรัจฉาน ในเดียรัจฉาน ๔ จำพวก

๔. จิตวิญญาณเป็นอสุรกาย จำพวกเดียว

๕. จิตวิญญาณเป็นอมนุษย์ ในอมนุษย์ ๑๒ จำพวก

๖. จิตวิญญาณเป็นมาร ในมาร ๕ จำพวก

(คนผู้ทำอกุศลกรรมหรือกรรมชั่ว ๑๐ เลี้ยงชีวิต ย่อมได้รับผลชั่วด้านจิตวิญญาณ ๖ อย่าง ดังที่กล่าวมานี้ คือ เป็นสัตว์นรก เป็นต้น)

 

(๔) อกุศลวิบากหรือผลกรรมชั่วอย่างเปิดเผย ๑๐ อย่าง คือ

๑. ราชภัย ภัยแต่ราชการ

๒. โจรภัย ภัยแต่โจรผู้ร้าย

๓. อัคคีภัย ภัยแต่ไฟ

๔. วาตภัย ภัยแต่ลม

๕. อุทกภัย ภัยแต่น้ำ

๖. วิวาทภัย ภัยแต่การทะเลาะวิวาท

๗. โรคภัย ภัยแต่โรค

๘. อุปัตติภัย (อุบัติเหตุ) ภัยที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า

๙. ทุพภิกขภัย ภัยเกิดแต่ข้าวยากหมากแพง (ของแพง)

๑๐. วินาศภัย ภัยเกิดแต่ความพินาศฉิบหายอย่างใหญ่หลวง

 

(๕) อัพยากตวิบากหรือผลกรรมไม่ดีไม่ชั่วอย่างลึกลับ ๔ อย่าง คือ

๑. เป็นพระโสดาบันอริยบุคคล ๓ จำพวก

๒. เป็นพระสกทาคามีอริยบุคคล ๕ จำพวก

๓. เป็นพระอนาคามีอริยบุคคล ๕ จำพวก

๔. เป็นพระอรหันต์อริยบุคคล ๔ จำพวก

 

(๖) อัพยากตวิบากหรือผลกรรมไม่ดีไม่ชั่วอย่างเปิดเผย ๓ อย่าง คือ

๑. โลกัตถจริยา ประพฤติเป็นประโยชน์แก่ชาวโลก คือ สอนชาวโลกให้เป็นสัมมาทิฏฐิในทุกๆ อย่าง

๒. ญาตัตถจริยา ประพฤติเป็นประโยชน์แก่ญาติ คือ สอนชาวพุทธให้ปฏิบัติในกุศลธรรม ๑๐ งดเว้นอกุศลธรรม ๑๐ ตลอดชีวิต

๓. พุทธัตถจริยา ประพฤติเป็นประโยชน์แก่ผู้ปรารถนาเป็นอนุพุทธ คือ แนะนำให้ปฏิบัติอัพยากตธรรม หรือวิปัสสนากัมมัฏฐานสายกลาง

 

(๗) อนันตริยกรรมวิบากหรือผลกรรมชั่วร้ายที่สุดอย่างลึกลับ ๖ อย่าง คือ

๑. จิตวิญญาณเป็นสัตว์นรก “ร้าย” ใน ๔๕๗ ขุม

๒. จิตวิญญาณเป็นเปรต “ร้าย” ในเปรต ๒๕ จำพวกขึ้นไป

๓. จิตวิญญาณเป็นเดียรัจฉาน “ร้าย” ในเดียรัจฉาน ๔ จำพวก

๔. จิตวิญญาณเป็นอสุรกาย “ร้าย” จำพวกเดียว

๕. จิตวิญญาณเป็นอมนุษย์ “ร้าย” ในอมนุษย์ ๑๒ จำพวก

๖. จิตวิญญาณเป็นมาร “ร้าย” ในมาร ๕ จำพวก

(คนผู้ทำอนันตริยกรรมหรือกรรมชั่วร้ายที่สุด ๕ อย่างเลี้ยงชีวิต ย่อมได้รับผลชั่วด้านจิตวิญญาณร้าย ๖ อย่าง ดังที่กล่าวมานี้ คือ จิตวิญญาณเป็นสัตว์นรกร้าย เป็นต้น)

 

(๘) อนันตริยกรรมวิบากหรือผลกรรมชั่วร้ายที่สุดอย่างเปิดเผย คือ

๑. ชีวิตประสบอุปัตติภัย (อุบัติเหตุ) ต่างๆ แล้วเสียชีวิตปัจจุบันโดยไม่เจ็บไข้ได้ป่วยแต่อย่างใด ที่ชาวบ้านเรียกว่า ตายโหง คำพระโบราณว่า แผ่นดินสูบ เช่น

– ทำอัตวินิบาตกรรม คือ ฆ่าตัวตายหลากหลายวิธี บ้างดื่มยาพิษตาย บ้างโดดจากที่สูงตาย บ้างโดดน้ำตาย บ้างใช้ของมีคมทิ่มแทงตัวตาย บ้างใช้ปืนยิงตัวตาย บ้างใช้เชือกผูกคอตาย บ้างกลั้นใจตาย เป็นต้น

– ประสบอุปัตติภัย (อุบัติเหตุ) ที่คาดไม่ถึง เช่น หนาวตาย ร้อนตาย หกล้มตาย ไฟไหม้บ้านแล้วถูกเผาตาย แผ่นดินไหวหนีไม่พ้นแล้วตาย ถูกคลื่นน้ำ (คลื่นสึนามิ) ซัดแล้วตาย นอนหลับใหลแล้วตาย หัวใจวายหรือล้มเหลวแล้วตาย เป็นลมหน้ามืดวูบเดียวแล้วตาย ถูกรถชนตาย รถที่นั่งมาเสียหลักแล้วพุ่งชนสิ่งกีดขวางหรือตกถนนแล้วตาย สัตว์ร้ายมีงูพิษกัดตาย เป็นต้น

– ถูกทำร้ายถึงตายด้วยวิธีต่างๆ เช่น ถูกข่มขืนแล้วฆ่าตาย ถูกปล้นชิงทรัพย์แล้วฆ่าตาย สามีภรรยาหึงหวงแล้วฆ่ากันตาย โกรธแค้นเพราะขัดผลประโยชน์แล้วถูกฆ่าตาย ถูกฆ่าตายเพราะความหลงผิด โจรคิดจะฆ่าคนหนึ่งแต่อีกคนหนึ่งตายแทน เป็นต้น หรือตายปัจจุบันทันทีด้วยวิธีการอื่นๆ ที่ไม่มีไว้ในบทความนี้ ชื่อว่าเป็นผลร้ายมาจาก “อนันตริยกรรม” ทั้งสิ้น

 

ภาค ๒ สมมุติบัญญัติ

= สัมมาทิฏฐิที่ ๗ เรื่อง สมมุติบัญญัติในบุคคล =

สมมุติบัญญัติ แปลว่า สิ่งที่คนบัญญัติหรือตั้งชื่อขึ้นมา แล้ววางแนวทางไว้ เพื่อใช้เป็นสื่อความหมายกันในสังคมของคนเท่านั้น โดยไม่มีจริงไม่เป็นจริงตามที่บัญญัติชื่อขึ้นมานั้นแต่อย่างใด ดังนั้น จึงเรียก สมมุติบัญญัติ คือ เป็นความจริงที่สมมุติหรือตั้งชื่อขึ้นมาเองเท่านั้น ไม่ใช่ความจริงที่มีอยู่จริงแต่อย่างใด ส่วนกรรมดีกรรมชั่วที่ทำกับสิ่งสมมุติบัญญัตินั้นมีจริง ได้ผลจริง เช่น

๑. สมมุติบัญญัติเพศคนว่า เพศบรรพชิต เพศคฤหัสถ์ เพศทหาร เพศตำรวจ เป็นต้น

๒. สมมุติบัญญัติชื่อคน เช่น เด็กชายบุญ เด็กชายแดง เด็กหญิงแวว นายชาย นายหิน นางสาวแพ้ นางสาวชนะ แม่เบา พ่อเม้า ป้าสอ ลุงดิน ปู่ใบ ย่าตอง ตาเรียน ยายใส พระศีล เณรธรรม อุบาสกก้อน อุบาสิกาเย็น เป็นต้น

๓. สมมุติบัญญัติตำแหน่งคน เช่น ประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ประธานรัฐสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส. สมาชิกวุฒิสภา ประธานศาลฎีกา ปลัดกระทรวง อธิบดี ผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัด นายอำเภอ ปลัดอำเภอ นายกเทศมนตรี ปลัดเทศบาล ปลัดอบต. นายกอบต. กำนันตำบล ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล อนามัยประจำตำบล นายกสภามหาวิทยาลัย อธิการบดีมหาวิทยาลัย รองอธิการบดี ผู้ช่วยอธิการบดี คณบดี รองคณบดี หัวหน้าภาควิชา ศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ผู้อำนวยการสำนักงานเขต ผู้อำนวยการโรงเรียน ผู้อำนวยการ รองผู้อำนวยการ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ หัวหน้ากลุ่ม อาจารย์ใหญ่ ครูใหญ่ ผู้บัญชาการ ผู้กำกับการ ผู้บังคับการ เป็นต้น ฯลฯ

๔. สมมุติบัญญัติตำแหน่งบรรพชิต เช่นว่า เจ้าอาวาสวัด รองเจ้าอาวาส ผู้ช่วยเจ้าอาวาส รักษาการเจ้าอาวาส เจ้าคณะตำบล เจ้าคณะอำเภอ รองเจ้าคณะอำเภอ เลขานุการเจ้าคณะอำเภอ  เจ้าคณะจังหวัด รองเจ้าคณะจังหวัด เลขานุการเจ้าคณะจังหวัด พระปลัด พระสมุห์ พระใบฎีกา เจ้าคณะภาค รองเจ้าคณะภาค เลขานุการ เจ้าคณะภาค เลขานุการรองเจ้าคณะภาค เจ้าคณะใหญ่หนใต้ เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ กรรมการมหาเถรสมาคม แม่กองบาลีสนามหลวง แม่กองธรรมสนามหลวง แม่กองงานพระธรรมทูต รองแม่กอง เลขานุการแม่กอง หัวหน้าพระธรรมทูต เป็นต้น ฯลฯ

๕. สมมุติบัญญัติยศ เช่นว่า นายพลตำรวจ พันตำรวจ ร้อยตำรวจ สิบตำรวจ จ่า ดาบ พลเอก พลโท พลตรี จ่าเอก จ่าโทร จ่าตรี เป็นต้น ฯลฯ

๖. สมมุติบัญญัติยศบรรพชิต เช่นว่า พระครูปลัด พระครูสมุห์ พระครูใบฎีกา พระครูสัญญาบัตร เจ้าคุณชั้นสามัญ เจ้าคุณชั้นราช เจ้าคุณชั้นเทพ เจ้าคุณชั้นธรรม เจ้าคุณชั้นรองสมเด็จ เจ้าคุณชั้นสมเด็จ เป็นต้น ฯลฯ

๗. สมมุติบัญญัติวุฒิการศึกษา เช่นว่า ประถมปีที่ มัธยมปีที่ ปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก การศึกษาบัณฑิต (กศ.บ) ครุสาสตรบัณฑิต (ค.บ.) นิติศาสตรบัณฑิต (น.บ.) ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปว.ส.) วิทยาศาสตรบัณฑิต (วท.บ.) เภสัชศาสตรบัณฑิต (ภ.บ.) ศิลปศาสตรบัณฑิต (ศศ.บ.) ศึกษาศาสตรบัณฑิต (ศษ.บ.) พุทธศาสตร์บัณฑิต (พธ.บ.) นักธรรมชั้น ธรรมศึกษาชั้น เปรียญธรรมประโยค เป็นต้น

๘. สมมุติบัญญัติหน่วยงาน เช่นว่า กระทรวง ทบวง กรม กอง สำนักงาน องค์การ ธนาคาร ศาล วัด เป็นต้น ฯลฯ

๙.สมมุติบัญญัติวันเดือนปี เช่นว่า วัน ๗ วัน วันอาทิตย์ วันจันทร์  เป็นต้น เดือน ๑๒ เดือน มีเดือนมกราคม เดือนกุมภาพันธ์ เป็นต้น หรือเดือนอ้าย (เดือน ๑) เดือนยี่ (เดือน ๒) เป็นต้น ปี ๑๒ ปี มีปีชวด ปีฉลู ปีขาล เป็นต้น

๑๐. สมมุติบัญญัติให้เป็นวันสำคัญ เช่นว่า วันเด็กแห่งชาติ วันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือวันพ่อแห่งชาติ วันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ หรือวันแม่แห่งชาติ วันขึ้นปีใหม่ วันมาฆบูชา วันจักรี วันสงกรานต์ วันฉัตรมงคล วันพืชมงคล วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษา วันปิยมหาราช วันพระราชทานรัฐธรรมนูญ วันปวารณาออกพรรษา วันพระ วันโกน

เป็นต้น ฯลฯ

๑๑. สมมุติบัญญัติบุญ เช่นว่า บุญกฐิน บุญผ้าป่า บุญสงกรานต์ บุญอุทิศ (บุญแจกข้าว) บุญขึ้นบ้านใหม่ บุญสารท (เทศกาลทำบุญสิ้นเดือน ๑๐ ) เป็นการสมมุติบุญอุทิศหาผู้ล่วงลับไปแล้ว เทศกาลลอยกระทง บุญเข้าพรรษา บุญออกพรรษา บุญมหาชาติ (บุญผะเวส) บุญเผาศพ บุญฉลอง บุญข้าวกี่ บุญข้าวเม่า บุญคูนลาน หรือบุญกุ้มข้าว (บุญกองข้างเปลือก) เป็นต้น ฯลฯ

๑๒. สมมุติวัตถุบางอย่างว่า เงิน เช่น สมมุติโลหะว่าเป็นเงินเหรียญบาท เหรียญห้าบาท เหรียญสิบบาท และสมมุติกระดาษว่าเป็นเงินใบละ ๒๐ บาท ใบละ ๕๐ บาท ใบละ ๑๐๐ บาท ใบละ ๕๐๐ บาท ใบละ ๑,๐๐๐ เป็นต้น

๑๓. สมมุติวัตถุบางอย่างว่า เครื่องยนต์ เช่น สมมุติเครื่องยนต์ว่า เป็นรถยนต์ รถไถนา รถขุดดิน รถบดถนน รถไฟ รถจักรยานยนต์ เรือยนต์ เครื่องบิน เครื่องร่อน เครื่องสีข้าว เป็นต้น

๑๔. สมมุติบัญญัติอื่นๆ ที่นอกเหนือจากที่กล่าวมาแล้วนั้น และเข้ากันได้ก็ให้ท่านผู้อ่านสงเคราะห์เองเถิด.

ธัมมิกะ

watnongriewnang@gmail.com

๒  เมษายน  ๒๕๕๖