อวิชชา วิชชา และติรัจฉานวิชา

อวิชชา วิชชา และติรัจฉานวิชา

๑. อวิชชา แปลว่า ความรู้ที่ไม่ใช่ความรู้ คือ เป็นความรู้ที่ไม่เกี่ยวกับความรู้ในอริยสัจจ์

๒. วิชชา แปลว่า ความรู้แจ้ง คือ เป็นความรู้แจ้งในอริยสัจจ์

๓.  ติรัจฉานวิชา เดรัจฉานวิชา เดียรัจฉานวิชา แปลว่า ความรู้ที่ขวางทางไปสู่สุคติ

๑. อวิชชา แปลว่า ความรู้นี้ไม่ใช่ความรู้ หรือว่า ปัญญานี้ไม่ใช่ปัญญา ตัวอย่างในบาลีไวยากรณ์ กัมมธารยสมาส ที่มี น อยู่หน้า ดังนี้ น พฺราหฺมโณ = อพฺราหฺมโณ (อยํ ชโน ชนนี้) มิใช่พราหมณ์ หมายความว่า มีความยอมรับว่าคนนี้เป็นคนจริง แต่ปฏิเสธหรือไม่ยอมรับว่า คนนี้เป็นพราหมณ์

อวิชชา เป็น น วิชฺชา = อวิชฺชา (อยํ วิชฺชา ความรู้นี้) มิใช่ความรู้ หมายความว่า มีความรู้หรือมีปัญญาอยู่จริง แต่ปฏิเสธหรือไม่ยอมรับว่า ความรู้หรือปัญญานี้เป็นความรู้หรือปัญญาที่เกี่ยวกับอริยสัจจ์ คือ เป็นความรู้เรื่องอื่นๆ นับไม่ถ้วน เช่น ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ รัฐศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ เป็นต้น ดังนั้น จึงเรียกความรู้เหล่านั้นว่า “อวิชชา” คือ ความรู้ที่ไม่ใช่ความรู้ และได้ความรู้หรือปัญญาอวิชชาเหล่านั้นมาจากที่ต่างๆ ดังนี้ คือ :-

๑. อวิชชา จากการเรียนการสอนระดับมัธยมศึกษา (จบ ม. ๑, ๒, ๓, ๔, ๕, ๖) ทุกๆ สาขาวิชา

๒. อวิชชา จากการเรียนการสอนระดับอุดมศึกษา (จบ ปริญญาตรี, โท, เอก) ทุกๆ สาขาวิชา

๓. อวิชชา จากการเรียนการสอนประเภทนักธรรม (จบ นักธรรมตรี, โท, เอก) รวมหมดทั้งนักธรรมและธรรมศึกษา

๔. อวิชชา จากการเรียนการสอนประเภทบาลี (จบ มหาเปรียญ ๑-๒, ๓, ๔, ๕, ๖, ๗, ๘, ๙) ทั้งที่เรียนด้วยตนเองและมีผู้ อบรมสั่งสอนให้

๕. อวิชชา จากการเรียนการสอนประเภทอื่นๆ เช่น การเรียนการสอนพระไตรปิฎก คือ สุตตันตปิฎก วินัยปิฎก อภิธรรมปิฎก จะสังกัดสถาบันหรือไม่สังกัดสถาบันก็ตาม แต่ได้ปัญญาหรือความรู้มาจากพระไตรปิฎก เป็นต้น จัดว่าเป็นอวิชชาทั้งสิ้น

วินัยปิฎก เล่ม ๔ มหาวรรค มีว่า

๑. เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขาร (สังขาร คือ ความคิดปรุงแต่งหรือคิดสร้างสรรค์ มีใจครองบ้าง ไม่มีใจครองบ้าง)

๒. เพราะสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ (วิญญาณ คือ ความรู้แจ้งในการสร้างสรรค์ตามอวิชชานั้นๆ)

๓. เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป (ถ้ารู้แจ้งทางสร้างคนก็ร่วมสังวาสกันระหว่างหญิงกับชาย แล้วมีคนเกิดในครรภ์ คนผู้ถูกสร้างเกิดมาก็มีนามรูป (ใจ-กาย)

๔. เพราะนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ (มีอายตนะภายใน ๖ และภายนอก ๖)

๕. เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ (อายตนะภายใน ๖ ผัสสะกับอายตนะภายนอก ๖)

๖. เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา (มีทุกขเวทนา สุขเวทนา อุเบกขาเวทนา)

๗. เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา (มีกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา)

๘. เพราะตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน (มีกามุปาทาน ทิฏุปาทาน สีลัพพตุปาทาน อัตตวาทุปาทาน)

๙. เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ (มีกามภพ รูปภพ อรูปภพ)

๑๐. เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ (ชาติ คือ ความคิดเกิดขึ้นตามอวิชชาที่มี และชาติ คือ สิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาตามอวิชชาแต่ละสาขาๆ เกิดขึ้น แล้วก็เข้าสู่อำนาจ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัสสะ อุปายาส ในที่สุด)

๑๑. เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัสสะ อุปายาส. เป็นอันว่ากองทุกข์ทั้งมวล (ปัญหานานาชนิดที่เกิดขึ้นกับคนในสังคมโลก) นั่น ย่อมเกิดด้วยประการฉะนี้.

อวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขาร

๑. ผู้มีอวิชชาด้านชีวิตก็เป็นปัจจัย ให้มีสังขาร คือ คิดปรุงแต่งสร้างสรรค์ชีวิตคน สัตว์ พืช (เกิดสถาบันครอบครัว) ที่สุดก็ไปลงเอยที่ทุกขะ โทมนัสสะ อุปายาส ทั้งสิ้น

๒. ผู้มีอวิชชาด้านการเรียนการสอนก็เป็นปัจจัย ให้มีสังขาร คือ คิดปรุงแต่งสร้างสรรค์การเรียนการสอนคน สัตว์ (เกิดสถาบันการเรียนการสอนหลายรูปแบบหลายระดับ) ที่สุดก็ไปลงเอยที่ทุกขะ โทมนัสสะ อุปายาส ทั้งสิ้น

๓. ผู้มีอวิชชาด้านการก่อสร้างก็เป็นปัจจัย ให้มีสังขาร คือ คิดปรุงแต่งสร้างสรรค์หลายอย่าง บ้างก็คิดปรุงแต่งสร้างสรรค์ถนนหนทาง บ้างก็คิดปรุงแต่งสร้างสรรค์สะพานข้ามแม่น้ำ บ้างก็คิดปรุงแต่งสร้างสรรค์รถยนต์ บ้างก็คิดปรุงแต่งสร้างสรรค์เครื่องบิน บ้างก็คิดปรุงแต่งสร้างสรรค์อาคารหลากหลายรูปแบบ เป็นต้น ที่สุดก็ไปลงเอยที่ทุกขะ โทมนัสสะ อุปายาส ทั้งสิ้น

๔. ผู้มีอวิชชาด้านอาวุธสังหารก็เป็นปัจจัย ให้มีสังขาร คือ คิดปรุงแต่งสร้างสรรค์อาวุธยุทโธปกรณ์ทำลายล้างหลายประเภท เช่น คิดปรุงแต่งสร้างสรรค์อาวุธประจำตัวบ้าง ประจำครอบครัวบ้าง ประจำประเทศบ้าง เพื่อเป็นสินค้าขายให้ผู้ต้องการบ้าง มีอาวุธมีด อาวุธปืน อาวุธเหล็กแหลม อาวุธลูกละเบิดต่างๆ เป็นต้น ทั้งที่ทำลายล้างเฉพาะที่และทำลายล้างให้เกิดความพินาศในวงกว้างด้วย ที่สุดก็ไปลงเอยที่ทุกขะ โทมนัสสะ อุปายาส ทั้งสิ้น

๕. ผู้มีอวิชชาด้านสิ่งเสพติดให้โทษก็เป็นปัจจัย ให้มีสังขาร คือ คิดปรุงแต่งสร้างสรรค์สิ่งเสพติดให้โทษหลากหลายประเภท ทั้งที่เป็นประเภทดม ดื่ม กิน ดูด สูบ อม ทา ฉีด เป็นต้น ที่สุดก็ไปลงเอยที่ทุกขะ โทมนัสสะ อุปายาส ทั้งสิ้น

๖. ผู้มีอวิชชาด้านการพนันก็เป็นปัจจัย ให้มีสังขาร คือ คิดปรุงแต่งสร้างสรรค์อุปกรณ์เล่นการพนันหลายประเภท ทั้งที่เป็นประเภทการเล่นหุ้น การเล่นไพ่ เล่นกุ้งไก่ ไฮโล โปถั่ว เล่นเลขหวยเบอร์ ใต้ดินบ้าง บนดินบ้าง เป็นต้น ที่สุดก็ไปลงเอยที่ทุกขะ โทมนัสสะ อุปายาส ทั้งสิ้น 

๗. ผู้มีอวิชชาด้านการแพทย์ก็เป็นปัจจัย ให้มีสังขาร คือ คิดปรุงแต่งสร้างสรรค์อุปกรณ์การรักษาพยาบาลหลายประเภท ทั้งที่เป็นยารักษาโรค เครื่องมือแพทย์ เป็นต้น ที่สุดก็ไปลงเอยที่ทุกขะ โทมนัสสะ อุปายาส ทั้งสิ้น (ยังมีต่อ)

อริยสัจจ์ ๔ อย่าง ในชีวิต

อริยสัจจ์ แปลว่า ความจริงอันประเสริฐ เกิดๆ ดับๆ อยู่ในชีวิตคนทุกชีวิต มีอยู่ ๔ อย่าง คือ

๑. ทุกขอริยสัจจ์ ความจริงอันประเสริฐ คือ ความทุกข์หรือตัวปัญหา

๒. ทุกขสมุทัยอริยสัจจ์ ความจริงอันประเสริฐ คือ เหตุให้เกิดทุกข์หรือเหตุให้เกิดปัญหา

๓. ทุกขนิโรธอริยสัจจ์ ความจริงอันประเสริฐ คือ ความดับทุกข์หรือดับปัญหา

๔. ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจจ์ ความจริงอันประเสริฐ คือ ทางดำเนินไปให้ถึงความดับทุกข์ (หลักให้เกิดปัญญาสัมมาทิฏฐิแก้ไขทุกข์หรือปัญหาได้)

เหตุปัจจัยให้เกิดทุกข์

– อกุศลกรรมทุจริตธรรมหรือกรรมชั่ว ๑๐ อย่าง เป็นตัวเหตุ ให้เกิดทุกข์ (๒. เป็นทุกขสมุทัยอริยสัจจ์)

– อวิชชาหรือความรู้ที่ใช้ทำการงานเลี้ยงชีพ เป็นตัวปัจจัย มาสนับสนุนเหตุ คือ สนับสนุนอกุศลกรรมที่ชั่ว ๑๐ อย่าง

– ได้รับผลเป็นทุกข์หรือประสบปัญหา ๑๐ อย่าง (๑. เป็นทุกขอริยสัจจ์) คือ

๑. ราชภัย ๒. โจรภัย ๓. อัคคีภัย ๔. วาตภัย ๕. อุทกภัย ๖. วิวาทภัย ๗. โรคภัย ๘. อุปัตติภัยหรืออุบัติเหตุ ๙. ทุพภิกขภัย ๑๐. วินาศภัย อาจจะประสบภัยเหล่านี้ระหว่างอายุ ปฐมวัย มัชฌิมวัย หรือปัจฉิมวัยก็ได้ แล้วเสียชีวิต จิตวิญญาณไปสู่ทุคติ  

คือ สัตว์นรก เปรต เดียรัจฉาน อสุรกาย อมนุษย์ มาร

อกุศลกรรมทุจริตธรรมหรือกรรมชั่ว ๑๐ อย่าง (เหตุให้เกิดทุกข์)

๑. ปาณาติบาต ฆ่าสัตว์มีชีวิตและสิ่งมีลมปราณ

๒. อทินนาทาน ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้แล้ว

๓. กาเมสุมิจฉาจาร ประพฤติผิดในกามทั้งหลาย

๔. มุสาวาท พูดเท็จ

๕. ปิสุณาวาจา พูดส่อเสียด (พูดยุยงส่งเสริมให้เขาแตกแยก)

๖. ผรุสวาจา พูดคำหยาบ

๗. สัมผัปปลาปา พูดเพ้อเจ้อ (พูดไม่ถูกกาล พูดไม่เป็นจริง พูดไม่เป็นธรรม พูดไม่เป็นวินัย พูดเลื่อนลอย เป็นต้น)

๘. อภิชฌา คิดเพ่งเล็งผู้อื่นในแง่ร้าย

๙. พยาบาท คิดปองร้ายผู้อื่นเพื่อให้เขาพินาศฉิบหาย

๑๐. มิจฉาทิฏฐิ เป็นผู้มีความเห็นผิด

– มิจฉาทิฏฐิ แปลว่า ความเห็นผิด คือ ๑. มีความเห็นผิดในความทุกข์หรือปัญหา ๒. มีความเห็นผิดในเหตุให้เกิดทุกข์หรือเหตุให้เกิดปัญหา ๓. มีความเห็นผิดในความดับทุกข์หรือในการแก้ปัญหา ๔. มีความเห็นผิดในการปฏิบัติเพื่อให้ดับทุกข์หรือแก้ไขปัญหาได้ (ยังมีต่อ)

ด้วยความรักและเมตตา

ธัมมิกะ

watnongriewnang@gmail.com

๔ ตุลาคม ๒๕๕๗