อวิชชา

อวิชชา วิชชา และติรัจฉานวิชา

๑. อวิชชา แปลว่า ความรู้ที่ไม่ใช่ความรู้ คือ เป็นความรู้ที่ไม่เกี่ยวกับความรู้ในอริยสัจจ์

๒. วิชชา แปลว่า ความรู้แจ้ง คือ เป็นความรู้แจ้งในอริยสัจจ์

๓.  ติรัจฉานวิชา เดรัจฉานวิชา เดียรัจฉานวิชา แปลว่า ความรู้ที่ขวางทางไปสู่สุคติ

     ๑. อวิชชา แปลว่า ความรู้นี้ไม่ใช่ความรู้ หรือว่า ปัญญานี้ไม่ใช่ปัญญา ตัวอย่างในบาลีไวยากรณ์ กัมมธารยสมาส ที่มี น อยู่หน้า ดังนี้ น พฺราหฺมโณ = อพฺราหฺมโณ (อยํ ชโน ชนนี้) มิใช่พราหมณ์ หมายความว่า มีความยอมรับว่าคนนี้เป็นคนจริง แต่ปฏิเสธหรือไม่ยอมรับว่า คนนี้เป็นพราหมณ์

     อวิชชา เป็น น วิชฺชา = อวิชฺชา (อยํ วิชฺชา ความรู้นี้) มิใช่ความรู้ หมายความว่า มีความรู้หรือมีปัญญาอยู่จริง แต่ปฏิเสธหรือไม่ยอมรับว่า ความรู้หรือปัญญานี้เป็นความรู้หรือปัญญาที่เกี่ยวกับอริยสัจจ์ คือ เป็นความรู้เรื่องอื่นๆ นับไม่ถ้วน เช่น ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ รัฐศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ เป็นต้น ดังนั้น จึงเรียกความรู้เหล่านั้นว่า “อวิชชา” คือ ความรู้ที่ไม่ใช่ความรู้ และได้ความรู้หรือปัญญาอวิชชาเหล่านั้นมาจากที่ต่างๆ ดังนี้ คือ :-

     ๑. อวิชชา จากการเรียนการสอนระดับมัธยมศึกษา (จบ ม. ๑, ๒, ๓, ๔, ๕, ๖) ทุกๆ สาขาวิชา

     ๒. อวิชชา จากการเรียนการสอนระดับอุดมศึกษา (จบ ปริญญาตรี, โท, เอก) ทุกๆ สาขาวิชา

     ๓. อวิชชา จากการเรียนการสอนประเภทนักธรรม (จบ นักธรรมตรี, โท, เอก) รวมหมดทั้งนักธรรมและธรรมศึกษา

     ๔. อวิชชา จากการเรียนการสอนประเภทบาลี (จบ มหาเปรียญ ๑-๒, ๓, ๔, ๕, ๖, ๗, ๘, ๙) ทั้งที่เรียนด้วยตนเองและมีผู้ อบรมสั่งสอนให้

     ๕. อวิชชา จากการเรียนการสอนประเภทอื่นๆ เช่น การเรียนการสอนพระไตรปิฎก คือ สุตตันตปิฎก วินัยปิฎก อภิธรรมปิฎก จะสังกัดสถาบันหรือไม่สังกัดสถาบันก็ตาม แต่ได้ปัญญาหรือความรู้มาจากพระไตรปิฎก เป็นต้น จัดว่าเป็นอวิชชาทั้งสิ้น

     วินัยปิฎก เล่ม ๔ มหาวรรค มีว่า

     ๑. เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขาร (สังขาร คือ ความคิดปรุงแต่งหรือคิดสร้างสรรค์ มีใจครองบ้าง ไม่มีใจครองบ้าง)

     ๒. เพราะสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ (วิญญาณ คือ ความรู้แจ้งในการสร้างสรรค์ตามอวิชชานั้นๆ)

     ๓. เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป (ถ้ารู้แจ้งทางสร้างคนก็ร่วมสังวาสกันระหว่างหญิงกับชาย แล้วมีคนเกิดในครรภ์ คนผู้ถูกสร้างเกิดมาก็มีนามรูป (ใจ-กาย)

     ๔. เพราะนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ (มีอายตนะภายใน ๖ และภายนอก ๖)

     ๕. เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ (อายตนะภายใน ๖ ผัสสะกับอายตนะภายนอก ๖)

     ๖. เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา (มีทุกขเวทนา สุขเวทนา อุเบกขาเวทนา)

     ๗. เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา (มีกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา)

     ๘. เพราะตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน (มีกามุปาทาน ทิฏุปาทาน สีลัพพตุปาทาน อัตตวาทุปาทาน)

     ๙. เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ (มีกามภพ รูปภพ อรูปภพ)

     ๑๐. เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ (ชาติ คือ ความคิดเกิดขึ้นตามอวิชชาที่มี และชาติ คือ สิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาตามอวิชชาแต่ละสาขาๆ เกิดขึ้น แล้วก็เข้าสู่อำนาจ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัสสะ อุปายาส ในที่สุด)

     ๑๑. เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัสสะ อุปายาส. เป็นอันว่ากองทุกข์ทั้งมวล (ปัญหานานาชนิดที่เกิดขึ้นกับคนในสังคมโลก) นั่น ย่อมเกิดด้วยประการฉะนี้.

     อวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขาร

     ๑. ผู้มีอวิชชาด้านชีวิตก็เป็นปัจจัย ให้มีสังขาร คือ คิดปรุงแต่งสร้างสรรค์ชีวิตคน สัตว์ พืช (เกิดสถาบันครอบครัว) ที่สุดก็ไปลงเอยที่ทุกขะ โทมนัสสะ อุปายาส ทั้งสิ้น

     ๒. ผู้มีอวิชชาด้านการเรียนการสอนก็เป็นปัจจัย ให้มีสังขาร คือ คิดปรุงแต่งสร้างสรรค์การเรียนการสอนคน สัตว์ (เกิดสถาบันการเรียนการสอนหลายรูปแบบหลายระดับ) ที่สุดก็ไปลงเอยที่ทุกขะ โทมนัสสะ อุปายาส ทั้งสิ้น

     ๓. ผู้มีอวิชชาด้านการก่อสร้างก็เป็นปัจจัย ให้มีสังขาร คือ คิดปรุงแต่งสร้างสรรค์หลายอย่าง บ้างก็คิดปรุงแต่งสร้างสรรค์ถนนหนทาง บ้างก็คิดปรุงแต่งสร้างสรรค์สะพานข้ามแม่น้ำ บ้างก็คิดปรุงแต่งสร้างสรรค์รถยนต์ บ้างก็คิดปรุงแต่งสร้างสรรค์เครื่องบิน บ้างก็คิดปรุงแต่งสร้างสรรค์อาคารหลากหลายรูปแบบ เป็นต้น ที่สุดก็ไปลงเอยที่ทุกขะ โทมนัสสะ อุปายาส ทั้งสิ้น

     ๔. ผู้มีอวิชชาด้านอาวุธสังหารก็เป็นปัจจัย ให้มีสังขาร คือ คิดปรุงแต่งสร้างสรรค์อาวุธยุทโธปกรณ์ทำลายล้างหลายประเภท เช่น คิดปรุงแต่งสร้างสรรค์อาวุธประจำตัวบ้าง ประจำครอบครัวบ้าง ประจำประเทศบ้าง เพื่อเป็นสินค้าขายให้ผู้ต้องการบ้าง มีอาวุธมีด อาวุธปืน อาวุธเหล็กแหลม อาวุธลูกละเบิดต่างๆ เป็นต้น ทั้งที่ทำลายล้างเฉพาะที่และทำลายล้างให้เกิดความพินาศในวงกว้างด้วย ที่สุดก็ไปลงเอยที่ทุกขะ โทมนัสสะ อุปายาส ทั้งสิ้น

     ๕. ผู้มีอวิชชาด้านสิ่งเสพติดให้โทษก็เป็นปัจจัย ให้มีสังขาร คือ คิดปรุงแต่งสร้างสรรค์สิ่งเสพติดให้โทษหลากหลายประเภท ทั้งที่เป็นประเภทดม ดื่ม กิน ดูด สูบ อม ทา ฉีด เป็นต้น ที่สุดก็ไปลงเอยที่ทุกขะ โทมนัสสะ อุปายาส ทั้งสิ้น

     ๖. ผู้มีอวิชชาด้านการพนันก็เป็นปัจจัย ให้มีสังขาร คือ คิดปรุงแต่งสร้างสรรค์อุปกรณ์เล่นการพนันหลายประเภท ทั้งที่เป็นประเภทการเล่นหุ้น การเล่นไพ่ เล่นกุ้งไก่ ไฮโล โปถั่ว เล่นเลขหวยเบอร์ ใต้ดินบ้าง บนดินบ้าง เป็นต้น ที่สุดก็ไปลงเอยที่ทุกขะ โทมนัสสะ อุปายาส ทั้งสิ้น

     ๗. ผู้มีอวิชชาด้านการแพทย์ก็เป็นปัจจัย ให้มีสังขาร คือ คิดปรุงแต่งสร้างสรรค์อุปกรณ์การรักษาพยาบาลหลายประเภท ทั้งที่เป็นยารักษาโรค เครื่องมือแพทย์ เป็นต้น ที่สุดก็ไปลงเอยที่ทุกขะ โทมนัสสะ อุปายาส ทั้งสิ้น (ยังมีต่อ)

อริยสัจจ์ ๔ อย่าง ในชีวิต

     อริยสัจจ์ แปลว่า ความจริงอันประเสริฐ เกิดๆ ดับๆ อยู่ในชีวิตคนทุกชีวิต มีอยู่ ๔ อย่าง คือ

     ๑. ทุกขอริยสัจจ์ ความจริงอันประเสริฐ คือ ความทุกข์หรือตัวปัญหา

     ๒. ทุกขสมุทัยอริยสัจจ์ ความจริงอันประเสริฐ คือ เหตุให้เกิดทุกข์หรือเหตุให้เกิดปัญหา

     ๓. ทุกขนิโรธอริยสัจจ์ ความจริงอันประเสริฐ คือ ความดับทุกข์หรือดับปัญหา

     ๔. ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจจ์ ความจริงอันประเสริฐ คือ ทางดำเนินไปให้ถึงความดับทุกข์ (หลักให้เกิดปัญญาสัมมาทิฏฐิแก้ไขทุกข์หรือปัญหาได้)

เหตุปัจจัยให้เกิดทุกข์

     – อกุศลกรรมทุจริตธรรมหรือกรรมชั่ว ๑๐ อย่าง เป็นตัวเหตุ ให้เกิดทุกข์ (๒. เป็นทุกขสมุทัยอริยสัจจ์)

     – อวิชชาหรือความรู้ที่ใช้ทำการงานเลี้ยงชีพ เป็นตัวปัจจัย มาสนับสนุนเหตุ คือ สนับสนุนอกุศลกรรมที่ชั่ว ๑๐ อย่าง

     – ได้รับผลเป็นทุกข์หรือประสบปัญหา ๑๐ อย่าง (๑. เป็นทุกขอริยสัจจ์) คือ

     ๑. ราชภัย ๒. โจรภัย ๓. อัคคีภัย ๔. วาตภัย ๕. อุทกภัย ๖. วิวาทภัย ๗. โรคภัย ๘. อุปัตติภัยหรืออุบัติเหตุ ๙. ทุพภิกขภัย ๑๐. วินาศภัย อาจจะประสบภัยเหล่านี้ระหว่างอายุ ปฐมวัย มัชฌิมวัย หรือปัจฉิมวัยก็ได้ แล้วเสียชีวิต จิตวิญญาณไปสู่ทุคติ

     คือ สัตว์นรก เปรต เดียรัจฉาน อสุรกาย อมนุษย์ มาร

     อกุศลกรรมทุจริตธรรมหรือกรรมชั่ว ๑๐ อย่าง (เหตุให้เกิดทุกข์)

     ๑. ปาณาติบาต ฆ่าสัตว์มีชีวิตและสิ่งมีลมปราณ

     ๒. อทินนาทาน ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้แล้ว

     ๓. กาเมสุมิจฉาจาร ประพฤติผิดในกามทั้งหลาย

     ๔. มุสาวาท พูดเท็จ

     ๕. ปิสุณาวาจา พูดส่อเสียด (พูดยุยงส่งเสริมให้เขาแตกแยก)

     ๖. ผรุสวาจา พูดคำหยาบ

     ๗. สัมผัปปลาปา พูดเพ้อเจ้อ (พูดไม่ถูกกาล พูดไม่เป็นจริง พูดไม่เป็นธรรม พูดไม่เป็นวินัย พูดเลื่อนลอย เป็นต้น)

     ๘. อภิชฌา คิดเพ่งเล็งผู้อื่นในแง่ร้าย

     ๙. พยาบาท คิดปองร้ายผู้อื่นเพื่อให้เขาพินาศฉิบหาย

     ๑๐. มิจฉาทิฏฐิ เป็นผู้มีความเห็นผิด

     – มิจฉาทิฏฐิ แปลว่า ความเห็นผิด คือ ๑. มีความเห็นผิดในความทุกข์หรือปัญหา ๒. มีความเห็นผิดในเหตุให้เกิดทุกข์หรือเหตุให้เกิดปัญหา ๓. มีความเห็นผิดในความดับทุกข์หรือในการแก้ปัญหา ๔. มีความเห็นผิดในการปฏิบัติเพื่อให้ดับทุกข์หรือแก้ไขปัญหาได้

อวิชชาประเภทติรัจฉานวิชา 

     ติรัจฉานวิชา เดรัจฉานวิชา เดียรัจฉานวิชา แปลว่า ความรู้ที่ขวางทางไปสู่สุคติ คือ ขวางทางไปสู่มนุษย์ ทางไปสู่สวรรค์ ทางไปสู่พระพรหม และขวางทางปฏิบัติไปสู่มรรค ผล นิพพาน หรือเป็นความรู้ที่ขัดขวางกุศลธรรมสุจริตธรรมที่ดีในชีวิตของมนุษย์ไม่ให้ปฏิบัติไปได้ โดยมีที่มาแห่งวิชาความรู้ติรัจฉานวิชานี้ ๒ ทาง คือ

     ๑. ติรัจฉานวิชาทางไสยศาตร์
     ๒. ติรัจฉานวิชาทางโหราศาสตร์
     ติรัจฉานวิชาทางไสยศาสตร์
ไสยศาสตร์ แปลว่า วิชาความรู้ในแนวนอนหรือแนวขวาง มีอยู่หลายสาขา เช่น ไสยเวทย์ เวทย์มนกลคาถา ภูตผีปีศาจ เครื่องรางของขลัง เป็นต้น (โปรดค้นดูเอง) ปัญญาหรือความรู้ด้านไสยศาสตร์ทุกสาขาวิชา จัดว่า เป็น “อวิชชา” ทั้งสิ้น เพราะเป็นความรู้ที่ไม่เกี่ยวกับอริยสัจจ์แต่อย่างใด พ้นทุกข์หรือพ้นปัญหาไปไม่ได้
     ติรัจฉานวิชาทางโหราศาสตร์

     โหราศาสตร์ แปลว่า วิชาความรู้ทำนายทายทัก คือ ทำนายถึงเหตุในภายหน้า และเหตุในอดีต ปัญญาหรือความรู้ด้านโหราศาสตร์ทุกสาขาวิชา จัดว่าเป็น “อวิชชา” ทั้งสิ้น เพราะเป็นความรู้ที่ไม่เกี่ยวกับอริยสัจจ์แต่อย่างใด พ้นทุกข์หรือพ้นปัญหาไปไม่ได้

     วิชาความรู้ทางคุณไสย์และทางโหร

     คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ในสุตตันตปิฎก เล่ม ๑ ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค ว่า ติรัจฉานวิชาเหล่านี้เป็น มิจฉาชีพ คือ เป็นอาชีพที่ผิดจากอาชีพของมนุษย์ทั้งสิ้น ซึ่งมีรายละเอียด ดังต่อไปนี้

     [๑๙] การเลี้ยงชีพผิด คือ ผิดจากอาชีพของมนุษย์ หรือผิดจากอาชีพที่เป็นกุศลเป็นสุจริต กลายเป็นอาชีพที่เป็นอกุศลเป็นทุจริต ดังนั้น จึงเรียกว่า มิจฉาอาชีวะ ด้วยติรัจฉานวิชา เช่น ๑. ทายอวัยวะ ๒. ทายนิมิต ๓. ทายอุปบาตร ๔. ทำนายฝัน   ๕. ทำนายลักษณะ ๖. ทำนายหนูกัดผ้า ๗. ทำพิธีบูชาไฟ ๘. ทำพิธีเบิกแว่นเวียนเทียน ๙. ทำพิธีซัดข้าวสารบูชาไฟ ๑๐. เป็นหมอดูอวัยวะ ๑๑. ดูลักษณะที่บ้าน ๑๒. ดูลักษณะที่นา ๑๓. เป็นหมอปลุกเสก ๑๔. เป็นหมอผี ๑๕. เป็นหมอเลขยันต์คุ้มกันบ้านเรือน ๑๖. เป็นหมองู ๑๗. เป็นหมอยาพิษ ๑๘. เป็นหมอทายอายุ ๑๙. เป็นหมอทายเสียงสัตว์ เป็นต้น
     [๒๐] การเลี้ยงชีพผิด คือ ผิดจากอาชีพของมนุษย์ หรือผิดจากอาชีพที่เป็นกุศลเป็นสุจริต กลายเป็นอาชีพที่เป็นอกุศลเป็นทุจริต ดังนั้น จึงเรียกว่า มิจฉาอาชีวะ ด้วยติรัจฉานวิชา เช่น  ๑. ทายลักษณะไม้พลอง ๒. ทายลักษณะศัสตรา ๓. ทายลักษณะอาวุธ ๔. ทายลักษณะสตรี ๕. ทายลักษณะบุรุษ ๖. ทายลักษณะกระบือ ๗. ทายลักษณะโค เป็นต้น
     [๒๑] การเลี้ยงชีพผิด คือ ผิดจากอาชีพของมนุษย์ หรือผิดจากอาชีพที่เป็นกุศลเป็นสุจริต กลายเป็นอาชีพที่เป็นอกุศลเป็นทุจริต ดังนั้น จึงเรียกว่า มิจฉาอาชีวะ ด้วยติรัจฉานวิชา เช่น ๑. ดูฤกษ์ยาตราทัพว่าพระราชาจักยกทัพออก เป็นต้น ๒. พยากรณ์ว่าจักมีจันทรคราส ๓. จักมีสุริยคราส ๔. จักมีดาวหาง ๕. จักมีแผ่นดินไหว ๖. จันทรคราสจักมีผลเป็นอย่างนี้  ๗. สุริยคราสจักมีผลเป็นอย่างนี้ ๘. มีดาวหางจักมีผลเป็นอย่างนี้ ๙. แผ่นดินไหวจักมีผลเป็นอย่างนี้ ๑๐. ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรมัวหมองจักมีผลเป็นอย่างนี้ ๑๑. ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรกระจ่างจักมีผลเป็นอย่างนี้    ๑๒. พยากรณ์ว่าจักมีฝนดี ๑๓. จักมีฝนแล้ง ๑๔. จักมีภัย ๑๕. จักเกิดโรค ๑๖. จักมีความสำราญหาโรคมิได้ ๑๗. นับประมวลหรือนับคะแนน คำนวณ แต่งกาพย์ โลกายศาสตร์ เป็นต้น
     [๒๒] การเลี้ยงชีพผิด คือ ผิดจากอาชีพของมนุษย์ หรือผิดจากอาชีพที่เป็นกุศลเป็นสุจริต กลายเป็นอาชีพที่เป็นอกุศลเป็นทุจริต ดังนั้น จึงเรียกว่า มิจฉาอาชีวะ ด้วยติรัจฉานวิชา เช่น ๑. ให้ฤกษ์อาวาหมงคล วิวาหมงคล ๒. ดูฤกษ์เรียงหมอน ๓. ดูฤกษ์หย่าร้าง ๔. ดูฤกษ์เก็บทรัพย์ ๕. ดูฤกษ์จ่ายทรัพย์ ๖. ดูโชคดี ๗. ดูเคราะห์ร้าย ๘. ให้ยาผดุงครรภ์ ๙. เป็นหมอทรงผู้หญิง ๑๐. เป็นหมอทรงเจ้า ๑๑. บวงสรวงพระอาทิตย์ ๑๒. บวงสรวงพระจันทร์  ๑๓. บวงสรวงท้าวมหาพรหม ๑๔. ร่ายมนต์พ่นไฟ ๑๕. ทำพิธีเชิญขวัญ เป็นต้น
     [๒๓] การเลี้ยงชีพผิด คือ ผิดจากอาชีพของมนุษย์ หรือผิดจากอาชีพที่เป็นกุศลเป็นสุจริต กลายเป็นอาชีพที่เป็นอกุศลเป็นทุจริต ดังนั้น จึงเรียกว่า มิจฉาอาชีวะ ด้วยติรัจฉานวิชา เช่น ๑. ทำพิธีแก้บน ร่ายมนต์ขับผี ๒. สอนมนต์ป้องกันบ้านเรือน ๓. ทำพิธีปลูกเรือน ๔. ปรุงยาถ่ายโทษเบื้องล่าง ๕. ปรุงยาแก้ปวดศีรษะ ๖. หุงน้ำมันหยอดหู ๗. ปรุงยาตา ๘. รักษาเด็ก ๙. ทำพิธีบวงสรวงพื้นที่ ๑๐. พ่นน้ำมนต์ ๑๑. รดน้ำมนต์
 

ความแตกต่างของคนด้านจิตวิญญาณ

     มีพุทธภาษิตใน ม. อุป. ๑๔/๓๘๕. มีว่า “กมฺมํ สตฺเต วิภชติ ยทิทํ หีนปฺปณีตตาย.” แปลว่า กรรมย่อมจำแนกสัตว์ (จำแนกคน) คือ ให้ทรามและประณีต โดยมีกรรมที่กล่าวถึงในพุทธภาษิตนั้น ๓ กรรม คือ
     ๑. กุศลกรรมหรือสุจริตธรรมที่ดี ๑๐ อย่าง มีเจตนางดเว้นจากการทำปาณาติบาต หรืองดเว้นจากการฆ่าสัตว์มีชีวิตและสิ่งมีลมปราณเลี้ยงชีพ เป็นต้น (กุศลกรรม ๑๐ โปรดหาดูในหนังสือนวโกวาท)
     ๒. อกุศลกรรมหรือทุจริตธรรมที่ชั่ว ๑๐ อย่าง มีเจตนาทำปาณาติบาต หรือมีเจตนาฆ่าสิ่งมีชีวิตและสิ่งมีลมปราณเลี้ยงชีพ เป็นต้น (อกุศลกรรม ๑๐ โปรดหาดูในหนังสือนวโกวาท หรือในบทความ อวิชชา ๑)
     ๓. อัพยากตกรรมที่ไม่ดีไม่ชั่ว หรือที่เหนือดีเหนือชั่ว ๔ อย่าง คือ วิปัสสนากัมมัฏฐาน สติปัฏฐาน ๔ อย่าง สายสัมมาปฏิบัติจริง มีกายานุปัสสนา สติปัฏฐาน เป็นต้น (สติปัฏฐาน ๔ โปรดหาดูในหนังสือนวโกวาท)
     ผู้ทำกุศลกรรมหรือสุจริตธรรมที่ดี ๑๐ อย่าง เลี้ยงชีพ กรรมดีนี้ย่อมจำแนกจิตวิญญาณให้ประณีต คือ ให้จิตวิญญาณเป็นมนุษย์บ้าง เป็นเทวดาบ้าง เป็นพระพรหมบ้าง แล้วแต่กรณี แต่ปฏิบัติงานอยู่ในชีวิตคนดี
     ผู้ทำอกุศลกรรมหรือทุจริตธรรมที่ชั่ว ๑๐ อย่าง เลี้ยงชีพ กรรมชั่วนี้ย่อมจำแนกจิตวิญญาณให้เลวทราม คือ ให้จิตวิญญาณเป็นสัตว์นรกบ้าง เป็นเปรตบ้าง เป็นเดียรัจฉานบ้าง เป็นอสุรกายบ้าง เป็นอมนุษย์บ้าง เป็นมารบ้าง แล้วแต่กรณี แต่ปฏิบัติงานอยู่ในชีวิตคนชั่ว
     ผู้ทำอัพยากตกรรมหรือปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน สติปัฏฐาน ๔ อย่าง เฉพาะวิปัสสนา ฯ สายสัมมาปฏิบัติจริง เลี้ยงชีพ กรรมที่เหนือดีเหนือชั่วนี้ย่อมจำแนกจิตวิญญาณให้ประณีตที่สุด คือ ให้จิตวิญญาณบรรลุ “นิพพาน” พ้นจากเกิด จากแก่ จากเจ็บ จากตาย ไปได้.
     อนึ่ง บางคนทำอกุศลกรรมหรือทุจริตธรรมที่ชั่ว ๑๐ อย่างเลี้ยงชีพแล้ว ยังพัฒนาถึง อนันตริยกรรม ๕ อย่าง ซึ่งเป็นกรรมชั่วร้ายที่สุด (ครุกรรม) คือ ๑. มาตุฆาต ฆ่าแม่หรือฆ่าบุคคลผู้มีคุณคล้ายแม่ ๒. ปิตุฆาต ฆ่าพ่อหรือฆ่าบุคคลผู้มีคุณคล้ายพ่อ ๓. อรหันตฆาต ฆ่าพระอรหันต์หรือฆ่าบุคคลผู้มีคุณคล้ายพระอรหันต์ ๔. โลหิตุปบาท ทำร้ายพระอริยบุคคลจนถึงยังโลหิตให้ห้อขึ้น ๕. สังฆเภท ยังสงฆ์หรือยังหมู่คนหมู่สัตว์ให้แตกสามัคคี บุคคลผู้ทำอนันตริยกรรมที่ชั่วร้ายที่สุด ๕ อย่างนี้ จักได้รับผลกรรมร้ายแรง คือ ชีวิตจะถูกอนันตริยกรรมบันดาลให้ได้ตายปัจจุบัน (ตายโหง) ในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง ๓ ลักษณะ คือ
     ๑. บันดาลให้ฆ่าตัวตายหลายวิธี บ้างก็ผูกคอตาย บ้างก็ดื่มยาพิษตาย บ้างก็โดดจากที่สูงตาย บ้างก็โดดน้ำตาย บ้างก็ใช้อาวุธต่างๆ ฆ่าตัวตาย เป็นต้น
     ๒. บันดาลให้ผู้อื่นฆ่าตาย บ้างก็คนฆ่าตาย บ้างก็สัตว์ต่างๆ ทำร้ายให้ตาย เป็นต้น
     ๓. บันดาลให้ตายโดยบังเอิญต่างๆ เช่น รถชนตาย ฟ้าผ่าตาย พลัดตกน้ำตาย ไฟไหม้ตาย พลัดตกจากที่สูงตาย นอนหลับใหลตาย รับประทานอาหารมีพิษตาย เป็นต้น
     คนผู้ดำรงชีวิตอยู่ด้วยอกุศลกรรมอนันตริยกรรมซึ่งเป็นตัวเหตุ (สมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์) มีปัญญาหรือความรู้ด้านอวิชชาสาขาใดก็ตามที่มีใช้ประจำชีวิตซึ่งเป็นตัวปัจจัย (อวิชชาปัจจยา สังขารา) เป็นสิ่งสนับสนุนอกุศลกรรมอนันตริยกรรมตลอดชีวิต ที่สุดก็ประสบทุกข์ (ทุกขัง อริยสัจจัง) ดังที่กล่าวมาแล้วทุกประการ
 
ทางดำเนินชีวิตเพื่อให้พ้นทุกข์
     สุตตันตปิฎก เล่ม ๑๗  ขุททกนิกาย ขุททกปาฐ มีคำสั่งสอนที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้ใน มงคลสูตร มีว่า อเสวนา จ พาลานํ ปณฺฑิตานญฺจ เสวนา เป็นต้น แปลว่า การไม่เสพพาล เสพแต่บัณฑิต คือ แสวงหาอาจารย์ผู้เป็นบัณฑิตทางด้านจิตวิญญาณ เช่น มโหสถบัณฑิต เป็นต้น (ไม่ใช่บัณฑิตปริญญาตรี โท เอก) มอบกายถวายชีวิตให้ท่านสั่งสอน ท่านจะสั่งสอนให้เป็นสัมมาทิฏฐิ สั่งสอนให้เราดำรงชีวิตอยู่ในกุศลธรรมสุจริตธรรม ๑๐ อย่าง ต่อไปอาจจะให้ได้ปฏิบัติวิปัสสนา ฯ สายกลางด้วย สามารถเลิกละปัญญาความรู้ “อวิชชา” ทั้งหมดได้ ที่สุดย่อมจะได้วิธีดำรงชีวิตอยู่ในทาง “ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา อริยสัจจ์” พ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้ในปัจจุบันชาติ แล.

ด้วยความรักและเมตตา

ธัมมิกะ

watnongriewnang@gmail.com

๑๐ ตุลาคม ๒๕๕๗