แนวทางการเลี้ยงดูบุตรให้เป็นคนดี (ตามแบบฉบับของพระพุทธเจ้า)

= พระพุทธเจ้าทรงจัดสังคมของคนในโลกไว้ ๖ กลุ่ม (จัดตามธรรมชาติของชีวิต) = 

สุตตันตปิฎกภาษาไทย เล่ม ๓ ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค ข้อ ๑๙๘ พระพุทธองค์ทรงจัดคนในสังคมทุกระดับไว้เป็น ๖ กลุ่ม ที่มีความสัมพันธ์โยงใยทั่วถึงกันทั้งโลก โดยมีชื่อบัญญัติว่า “ทิศหก” คือ :-

๑. มารดาบิดาเป็นทิศเบื้องหน้า (มารดาบิดาเป็นข้าศึก ศัตรู หรือเป็นมิตรไมตรีเบื้องหน้า)

๒. อาจารย์เป็นทิศเบื้องขวา (อาจารย์เป็นข้าศึก สํตรู หรือเป็นมิตรไมตรีเบื้องขวา)

๓. บุตรและภรรยาเป็นทิศเบื้องหลัง (บุตรและภรรยาเป็นข้าศึก ศัตรู หรือเป็นมิตรไมตรีเบื้องหลัง)

๔. มิตรและอำมาตย์เป็นทิศเบื้องซ้าย (มิตรและอำมาตย์เป็นข้าศึก ศัตรู หรือเป็นมิตรไมตรีเบื้องซ้าย)

๕. ทาสและกรรมกรเป็นทิศเบื้องล่าง (ทาสและกรรมกรเป็นข้าศึก ศัตรู หรือเป็นมิตรไมตรีเบื้องล่าง)

๖. สมณพราหมณ์ (พระสงฆ์) เป็นทิศเบื้องบน (สมณพราหมณ์หรือพระสงฆ์ เป็นข้าศึก ศัตรู หรือเป็นมิตรไมตรีเบื้องบน)

= มารดาบิดาเป็นทิศเบื้องหน้า =

คำว่า “มารดาบิดา” นั้น ท่านผู้อ่านโปรดระลึกถึงมารดาบิดาของคนทุกชาติทุกภาษาทั้งโลกด้วย คือ ทั้งมารดาบิดาของคนในทวีปเอเชีย ทวีปยุโรป ทวีปแอฟริกา ทวีปอเมริกาเหนือ  ทวีปอเมริกาใต้ด้วย ทุก ๆ มารดาบิดาย่อมมีความหมายในทางปฏิบัติตามธรรมชาติแห่งชีวิตเป็นทิศเบื้องหน้า หรือทิศตะวันออกเหมือนกันหมด คือ ทำหน้าที่ยังบุตรให้เกิดและรับผิดชอบเลี้ยงดูเขาให้เติบใหญ่ทั้งหมด เรียกว่ามารดาบิดา พระพุทธองค์ตรัสว่า มารดาบิดาเป็นทิศเบื้องหน้าหรือทิศตะวันออกนั้น ภาษาธรรมหมายถึง เป็นข้าศึก ศัตรูเบื้องหน้าก่อนกว่าข้าศึก ศัตรูใด ๆ ในโลก คำที่ว่าเป็นข้าศึก ศัตรูเบื่องหน้าของบุตรนั้น คือ มารดาบิดาผู้ไม่มีคุณธรรมจริยธรรมที่ดีงามมาปฏิบัติในเมื่อให้บุตรเกิดและในการเลี้ยงดูเขา ดังนั้น จึงเป็นข้าศึก ศัตรูแก่เขา แต่ถ้ามารดาบิดามีคุณธรรมจริยธรรมที่ดีงามมาปฏิบัติในเมื่อให้บุตรเกิด และในการเลี้ยงดูเขาแล้ว มารดาบิดาก็เป็นมิตรไมตรีของบุตรก่อนกว่ามิตรไมตรีของคนในสังคมทั้งหกกลุ่มในโลก ดังนั้น จึงมีจุดเริ่มต้นแห่งความสามัคคีปรองดองหรือแตกแยก หรือว่าจุดเริ่มต้นแห่งสันติภาพที่ถาวรหรือสงครามโลก ย่อมเริ่มต้นที่มารดาบิดาทั้งโลก เพราะบุตร (ลูกชายลูกหญิง) เป็นทรัพยากรหรือเป็นผลิตผลของมารดาบิดาให้เขาได้เกิดมาเป็นคนทั้งโลก

= จุดเริ่มแห่งความสามัคคีปรองดองหรือแตกแยก =

คำว่า “ทิศ” ในคำว่ามารดาบิดาเป็นทิศเบื้องหน้านั้น ถ้าบาลีเป็น “ทิส” (อ่าน ทิสะ) พจนานุกรมมคธ – ไทย ของ พันตรี ป. หลงสมบุญ ให้คำจำกัดความว่า ทิส (ปุ) ข้าศึก ศัตรู เพราะฉะนั้นคำว่า ทิศ จึงมี ๒ ความหมาย คือ ความหมายตามภาษาคน หมายถึง ทิศตะวันออก ทิศตะวันตก เป็นต้น ส่วนความหมายตามภาษาธรรมหรือภาษาปฏิบัติ หมายถึง ข้าศึก ศัตรู ของคนผู้สัมพันธ์กันทั้งหกกลุ่ม มีมารดาบิดาเป็นทิศเบื้องหน้า เป็นต้น หากแปลความหมายเป็นภาษาธรรมแล้ว หมายถึง มารดาบิดาเป็นข้าศึก ศัตรูเบื้องหน้า คือ เป็นข้าศึก ศัตรู อันดับแรกหรือเป็นก่อนกว่าข้าศึก ศัตรูอื่น ๆ ของคนในสังคมทั้งหกกลุ่มในโลกนั้น ถามว่า มารดาบิดาท่านเป็นข้าศึก ศัตรูของใคร ? ตอบว่า เป็นข้าศึก ศัตรู ของบุตรหรือลูกชายลูกหญิงก่อน และบุตรหรือลูกชายลูกหญิงก็กลับเป็นข้าศึก ศัตรูของมารดาบิดาเป็นอันดับสองรองมาจากมารดาบิดา แต่เมื่อบุตรใหญ่โตขึ้นได้ไปสัมพันธ์กับคนในสังคมใด ๆ ก็ตามย่อมแสดงตนเป็นข้าศึก ศัตรูต่อคนในสังคมนั้น ๆ เรื่อยไปและลุกลามไปทั่วหัวระแหงในผืนแผ่นดินโลกใบนี้ ขอให้ท่านผู้ที่ถูกสมมุติให้เป็นผู้นำสังคมที่เป็นปัญญาชนพึงใคร่ครวญดูให้ดี “กลฺยาณการี  กลฺญาณํ ปาปการี จ ปาปกํ” แปลว่า ทำดีได้ดี ทำขั่วได้ชั่ว. พุทธภาษิตนี้มาใน สํ. ส. ๑๕/๓๓๓. สรุปว่า มารดาบิดาทั้งโลกทำชั่วไว้ให้กับลูกชายลูกหญิงเป็นมรดกตกทอด ดังนั้น ข้าศึก ศัตรูจึงมีประจำอยู่ทุก ๆ สังคมในโลกและมีอยู่ทุกยุคทุกสมัยด้วย.

= คำว่า บุตร หรือ ปุตตะ นั้น หมายความว่าอย่างไร ? =

บุตร หรือ ปุตตะ นั้น หมายถึง ลูกชายและลูกหญิง ซึ่งเป็นบุคคลผู้อันมารดาบิดาต้องเลี้ยงดู คือ ต้องรับผิดชอบจนกว่าจะเติบใหญ่ แต่มีมารดาบิดาบางคู่ไม่เลี้ยงดู

ลูกหรือไม่รับผิดชอบลูก มารดาบิดาชนิดนี้คงไม่ต่างอะไรกับ สัตว์บางชนิด เช่น แม่เป็ด แม่งู แม่กิ้งก่า แม่เต่า เป็นต้น ดังนั้น มารดาบิดาชนิดนี้ย่อมไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับบทความธรรมะสอนใจให้ปฏิบัติจริงบทนี้.

= กฎเกณฑ์แห่งความดีและความชั่ว (ตามแบบฉบับของพระพุทธเจ้า) =

หากมีคำถามขึ้นมาว่า คำว่าดีหรือชั่วนั้นจะเอาอะไรเป็นเกณฑ์ ชวนให้เกิดคำถามต่อไปว่า แล้วจะเอาคำตอบตามแนวทางของศาสดาใด เพราะศาสดาแต่ละศาสดาในโลกนี้ย่อมจำกัดความดีไปต่าง ๆ กัน บ้างก็ว่ามีทรัพย์มาก ๆ ดี บ้างก็ว่ามียศสูง ๆ ดี บ้างก็ว่ามีตำแหน่งใหญ่ ๆ ดี บ้างก็ว่ามีคนนับหน้าถือตามาก ๆ หรือเป็นคนดังดี บ้างก็ว่ามีความสุขสบายนั่นแหละดี เป็นต้น แต่พระพุทธเจ้าจะตรัสว่า กมฺมุนา วตฺตตี ปชา. แปลว่า หมู่สัตว์ (คนด้วย) ย่อมเป็นไปตามกรรม คำว่า “กรรม” คือ การกระทำทางกาย วาจา ใจ หรือว่าพฤติกรรมย่อมมีความหมายอย่างเดียวกัน มีอยู่ในอภิธรรมปิฎกบท “มาติกาธรรม” ซึ่งเป็นบทแม่แห่งธรรมทั้งหลายมีอยู่ ๓ กรรมหรือ ๓ ธรรม  (๔ อนันตริยกรรม) ที่คนทั้งโลกจะปฏิบัติหรือกระทำตามได้ และปฏิบัติตามได้ทุกยุคทุกสมัยด้วย คือ :-

๑. กุสลา ธัมมา. ธรรมหรือกรรมที่เป็นกุศลหรือกรรมดี ๑๐ อย่าง

๒. อกุสลา ธัมมา. ธรรมหรือกรรมที่เป็นอกุศลหรือกรรมชั่ว ๑๐ อย่าง

๓. อัพยากตา ธัมมา. ธรรมหรือกรรมไม่ดีและไม่ชั่ว ๔ อย่าง

๔. อนันตริยกรรม. กรรมชั่วที่สุดที่พัฒนามาจากอกุศลกรรม มี ๕ อย่าง

= กุศลธรรมหรือกุศลกรรมที่ดี ๑๐ อย่าง =

ถ้าเป็นกิริยาของธรรมเรียกว่า “ธรรม” เช่น ธรรมและอธรรมย่อมมีผลเสมอกันหามิได้ เป็นต้น แต่ถ้าเป็นกิริยาของคนเรียกว่า “กรรม” เช่น หมู่สัตว์ย่อมเป็นไปตามกรรม เป็นต้น มีกุศลกรรมอันดีที่ผู้ใส่ใจจริงสามารถทำได้ ๑๐ อย่าง คือ

๑. มีเจตนางดเว้นจากการฆ่าสัตว์มีชีวิตและมีลมปราณเลี้ยงชีพ หรือฆ่านำไปเป็นสินค้า เป็นต้น (การเลี้ยงสัตว์ไว้เพื่อเป็นสินค้าก็อยู่ในข่ายฆ่าด้วย)

๒. มีเจตนางดเว้นจากการลักทรัพย์ หรืองดเว้นจากการทำโจรกรรมเลี้ยงชีพ

๓. มีเจตนางดเว้นจากการประพฤติผิดในกามทั้งหลายเลี้ยงชีพ

๔. มีเจตนางดเว้นจากการพูดปดเป็นนิสัย

๕. มีเจตนางดเว้นจากการพูดคำหยาบเป็นนิสัย

๖. มีเจตนางดเว้นจากการพูดส่อเสียด (ไม่พูดยุยงให้เขาแตกสามัคคี)

๗. มีเจตนางดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ (พูดแต่คำที่อิงเหตุผล อิงหลักฐาน อิงธรรมวินัย ที่พระพุทธเจ้าสั่งสอนไว้)

๘. มีเจตนางดเว้นจากการคิดเพ่งเล็งคนและสัตว์ในแง่ร้าย

๙. มีเจตนางดเว้นจากการคิดปองร้ายคนและสัตว์ให้พินาศฉิบหาย

๑๐. มีความคิดเห็นชอบในทุก ๆ กรณี (เป็นสัมมาทิฏฐิบุคคล)

= อกุศลธรรมหรืออกุศลกรรมที่ชั่ว ๑๐ อย่าง =

อกุศลธรรมหรืออกุศลกรรมอันชั่ว ที่คนปุถุชนทั่ว ๆ ไปทั้งโลกโดยไม่เกี่ยวกับเชื้อชาติศาสนาแต่อย่างใด สามารถทำกรรมชั่วได้ ๑๐ อย่าง คือ

๑. มีเจตนาฆ่าสัตว์มีชีวิตและมีลมปราณเลี้ยงชีพ หรือเป็นสินค้า เป็นต้น

๒. มีเจตนาลักทรัพย์ หรือทำโจรกรรมเลี้ยงชีพ

๓. มีเจตนาประพฤติผิดในกามทั้งหลายเลี้ยงชีพ

๔. มีเจตนาพูดปดเป็นนิสัย

๕. มีเจตนาพูดคำหยาบเป็นนิสัย

๖. มีเจตนาพูดส่อเสียด (พูดยุยงส่งเสริมให้แตกสามัคคี) เป็นนิสัย

๗. มีเจตนาพูดเพ้อเจ้อ (พูดไม่อิงเหตุผล ไม่อิงหลักฐาน ไม่อิงธรรมวินัย)

๘. มีเจตนาคิดเพ่งเล็งคนและสัตว์ในแง่ร้าย

๙. มีเจตนาคิดปองร้ายคนและสัตว์ให้พินาศฉิบหาย

๑๐. มีความคิดเห็นเป็นผิดในทุก ๆ กรณี (เป็นมิจฉาทิฏฐิบุคคล)

= อัพยากตธรรมหรืออัพยากตกรรมที่ไม่ดีและไม่ชั่ว ๔ อย่าง =

อัพยากตธรรมหรืออัพยากตกรรมที่ไม่ดีและไม่ชั่วนั้น หมายถึง การปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานสัมมาปฏิบัติจริง ๆ ตรงกับสติปัฏฐาน ๔ มรรคมีองค์ ๘ ท่านผู้ปฏิบัติตามธรรม คือ สติปัฏฐาน  ๔ อย่างนี้ ย่อมมีปัญญาพิเศษเกิดปรากฏอยู่ในใจที่เรียกว่า “ภาวนามยปัญญา” ซึ่งเป็นปัญญาที่นักธรรม ๔ ประเภทไม่รู้ไม่เห็น คือ (๑) นักเรียนธรรม (ปริยัตติพหุโล) (๒) นักแต่งธรรมแล้วนำมาแสดง (ปัญญัตติพหุโล) (๓) นักสวดธรรม (สัชฌายพหุโล) (๔) นักคิดธรรม (วิตักกพหุโล) ส่วนปัญญาที่เป็นภาวนามยปัญญานั้น พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า นักธรรมวิหารี (ธรรมวิหารี โหติ เป็นผู้อยู่ด้วยธรรม)มีมาในธรรมวิหาริกสูตรที่ ๑ สุตตันต. ปัญจก. อัง. เล่ม ๑๔ ข้อ ๗๓ และสติปัฏฐาน ๔ ในวิปัสสนากัมมัฏฐานนั้น คือ :-

๑. มีสติตามเห็นกายในกาย (มีในตน) อยู่เป็นประจำ

๒. มีสติตามเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลาย (มีในตน) อยู่เป็นประจำ

๓. มีสติตามเห็นจิตในจิต (มีในตน) อยู่เป็นประจำ

๔. มีสติตามเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย (มีในตน) อยู่เป็นประจำ

ท่านที่ปฏิบัติตามหลักอัพยากตธรรม สติปัฏฐาน ๔ มรรคมีองค์ ๘ ส่วนที่เป็นทางสายกลางสัมมาปฏิบัติจริง ๆ และมีอาจารย์ผู้อบรมปฏิบัติเป็นสัมมาทิฏฐิบุคคลด้วย และตนเองก็มีปุพเพกตปุญญตาด้วย ปัญญาภาวนามยปัญญาเกิดปรากฏในใจจริง ๆ ด้วย ตรงนี้เองเรียกว่า กรรมไม่ดีและไม่ชั่ว เพราะจิตเป็น “ปัญญาวิมุติ” คือ จิตหลุดพ้นจากความดีและความชั่วหมด เพราะรู้เห็นสิ่งทั้งปวงในโลกนี้เป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาทั้งหมด เรียกว่า “จิตนิพพาน” ก็ถูก

= อนันตริยกรรมอันชั่วร้ายที่สุด ๕ อย่าง = 

อนันตริยกรรมอันชั่วร้ายที่สุดนั้น เป็นกรรมที่พัฒนามาจากอกุศลกรรม ซึ่งเป็นกรรมชั่วหรือเป็นบาปธรรมดา ๑๐ อย่าง คือ เขาพัฒนาด้วยการทำอกุศลกรรมพิเศษกว่าธรรมดาบ้าง ทำให้มากยิ่งกว่าธรรมดาบ้าง จิตใจคนผู้ทำก็โหดเหี้ยมมากยิ่งกว่าธรรมดาด้วย จึงทำอนันตริยกรรมได้ มีอยู่ ๕ อย่าง คือ

๑. มาตุฆาต. ฆ่ามารดาหรือฆ่าผู้มีพระคุณเช่นกับมารดา

๒. ปิตุฆาต. ฆ่าบิดาหรือฆ่าผู้มีพระคุณเช่นกับบิดา

๓. อรหันตฆาต. ฆ่าพระอรหันต์หรือฆ่าผู้ดำเนินชีวิตไปเป็นพระอรหันต์

๔. โลหิตุปบาท. ทำอวัยวะของพระอรหันต์ให้ห้อเลือด

๕. สังฆเภท. ทำสงฆ์หรือทำหมู่ชนที่มีความสามัคคีทางชอบให้แตกแยก

= บุตรหรือลูกจะดีหรือชั่วขึ้นอยู่กับมารดาบิดา =

บุตรหรือลูก ซึ่งเป็นคนถือกำเนิดมาจากมารดาบิดาทุก ๆ คนทั้งโลก จะดีหรือชั่วขึ้นอยู่กับมารดาบิดาผู้ให้กำเนิด เข้าทำนองว่าลูกไม้ย่อมหล่นไม่ไกลต้น หรือว่าดูช้างให้ดูหาง ดูนางให้ดูแม่ ถ้าจะให้แน่ต้องดูถึงปู่ ย่า ตา ยาย คือ มารดาบิดา ปู่ ย่า ตา ยาย ของคนในด้านจิตวิญญาณเป็นคนเผ่าพันธุ์ใดใน ๑๐ เผ่าพันธุ์นั้น ลูก ๆ  ก็เผ่าพันธุ์นั้นเหมือนกัน ให้สังเกตดูสัตว์ เช่น ลูกแมวย่อมเกิดจากแม่แมว ลูกแพะย่อมเกิดจากแม่แพะ เป็นต้น ลูกแพะจะไปเกิดกับแม่แมวคงเป็นไปไม่ได้ ฉันใด ลูกคนจะดีหรือจะชั่วขึ้นอยู่กับเผ่าพันธุ์ของมารดาบิดา ฉันนั้น เหมือนกัน

=  มารดาบิดาของคนทั้งโลก มี ๑๐ เผ่าพันธุ์ =

มารดาบิดาของคนทั้งโลก ว่ากันด้านจิตวิญญาณโดยไม่เกี่ยวกับเชื้อชาติศาสนาแต่อย่างใด มีอยู่ทั้งหมด ๑๐ เผ่าพันธุ์ ตามกรรมที่ทำมา คือ

๑. คนพันธุ์สัตว์นรก  คือ คนผู้มีจิตวิญญาณไม่เจริญ หมายถึง คุณสมบัติของจิตวิญญาณเสื่อมจากความเป็นจิตวิญญาณของมนุษย์ไปแล้ว

๒. คนพันธุ์เปรต  มีจิตวิญญาณเห็นแต่ประโยชน์ตนฝ่ายเดียว ไม่คำนึงถึงประโยชน์ผู้อื่น เพียงให้ตนได้สิ่งที่พอใจฝ่ายเดียวเป็นการดี

๓. คนพันธุ์เดียรัจฉาน มีจิตวิญญาณขัดขวางกุศลธรรมหรือความดี ทั้งความดีของตนและของผู้อื่นสัตว์อื่น แต่ชอบเผยแผ่อกุศลธรรมหรือความชั่ว

๔. คนพันธุ์อสุรกาย มีจิตวิญญาณไม่กล้าทำความดี หรือไม่กล้าประพฤติปฏิบัติตามหลักแห่งกุศลธรรมหรือความดี ๑๐ ประการที่พระพุทธเจ้าสั่งสอนไว้

๕. คนพันธุ์อมนุษย์ มีจิตวิญญาณที่ไม่ใช่ของมนุษย์ คือ มีอุปนิสัยใจคอคล้าย ๆ กับมนุษย์แต่ไม่ใช่มนุษย์ ดังนั้นจึงเรียกว่า “อมนุษย์”

๖. คนพันธุ์มาร มีจิตวิญญาณฆ่ากุศลธรรมหรือฆ่าความดีในชีวิต ๑๐ ประการให้ตาย ฆ่าได้ทั้งกุศลธรรมในชีวิตตนและในชีวิตของผู้อื่น

๗. คนพันธุ์มนุษย์ มีจิตวิญญาณดำเนินไปทางสูง เห็นประโยชน์ผู้อื่นมากกว่าประโยชน์ของตน ความโลภ โกรธ หลง ในชีวิตจิตใจมีเป็นส่วนน้อย

๘. คนพันธุ์เทวดา มีจิตวิญญาณประกอบด้วยหิริและโอตตัปปะ คือ จะพูดบาป คิดบาป ก็มีความละอาย หรือจะทำกิจการใด ๆ ก็ตามถ้าเห็นว่าเป็นบาปอกุศลแล้วย่อมมีความละอาย ละอายคิดทางใจ ละอายพูดทางปาก ละอายทำทางกาย ดังนั้น จึงเรียกคนเผ่าพันธุ์เช่นนี้ว่าเป็น “คนพันธุ์เทวดา”

๙. คนพันธุ์พระพรหม ผู้มีจิตวิญญาณประเสริฐ คือ ประเสริฐในฌานสมาบัติ เพราะยินดีในการเจริญสมถ กัมมัฏฐาน ดังนั้น จึงเรียกว่า “พระพรหม”

๑๐. คนพันธุ์พระอริยบุคคล ผู้มีจิตวิญญาณไกลจากข้าศึกศัตรู หมายถึง คนผู้ปฏิบัติอัพยากตธรรมหรืออัพยากตกรรมถึงที่สุดแล้ว จิตพ้นจากความดีความชั่วไปแล้ว จะเรียกว่าจิตบรรลุนิพพานก็ไม่ผิด.

= คน ๑๐ เผ่าพันธุ์ให้กำเนิดและเลี้ยงดูบุตรต่างกัน =

คน ๑๐ เผ่าพันธุ์ ว่ากันด้านจิตวิญญาณนั้น ย่อมเป็นผู้มีคุณธรรมจริยธรรมประจำชีวิตต่าง ๆ กัน ดังนั้น มารดาบิดาที่มีคุณธรรมจริยธรรมในชีวิตตนเช่นใด ย่อมแสดงการเลี้ยงดูหรือการเสี้ยมสอนคุณธรรมจริยธรรมแก่บุตรเช่นนั้น เหมือนแม่สัตว์อื่น ๆ มีแม่แมว เป็นต้น ย่อมเลี้ยงดูและเสี้ยมสอนลูก ๆ ให้มีคุณธรรมจริยธรรม (อุปนิสัยใจคอ) เหมือนแม่แมวทั้งหมด.

= คนเผ่าพันธุ์มนุษย์ย่อมเลี้ยงดูบุตรเป็นคนดีได้ =

มารดาบิดาผู้มีจิตวิญญาณเป็นมนุษย์ ย่อมมีคุณธรรมจริยธรรมอันดีงาม ๕ อย่างประจำชีวิตตน  สำหรับนำมาปฏิบัติในการเลี้ยงดูบุตรให้เป็นคนดีจริง ๆ ซึ่งมีหลักฐานที่พระพุทธเจ้าสั่งสอนไว้ ในพระไตรปิฎกฉบับภาษาไทย สุตตันตปิฎก เล่ม ๓ ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค สิงคาลกสูตร ข้อ ๑๙๘, ๑๙๙ ความว่า

…ดูกรคฤหบดีบุตร มารดาบิดา (มารดาบิดาคนทั้งโลก) ผู้เป็นทิศเบื้องหน้า ย่อมอนุเคราะห์บุตร (ย่อมให้กำเนิดบุตรและเลี้ยงดูเขา) ด้วยสถาน ๕ (ด้วยคุณธรรมจริยธรรมอันดี ๕ อย่าง) ถ้ามารดาบิดาคู่ใดไม่มีคุณธรรมจริยธรรมอันดี ๕ อย่างในเมื่อให้บุตรเกิดและเลี้ยงดูเขา บุตรของมารดาบิดาคู่นั้นย่อมเป็นคนบาป คนชั่ว คนพาล เป็นโจรผู้ร้าย เป็นนักเลงหัวไม้ เป็นต้น เขาจึงกลายเป็นข้าศึก ศัตรู ก่อความทะเลาะวิวาท ยังคนในครอบครัวให้แตกแยก คือ ไม่มีความสามัคคีปรองดองในครอบครัวก่อน เมื่อบุตรชนิดนี้ไปสัมพันธ์กับคนในสังคมใด ๆ ก็ตาม ย่อมยังความแตกแยกให้เกิดขึ้นในสังคมนั้น ๆ ด้วย ที่เขาเป็นเช่นนั้นก็เพราะมารดาบิดาให้กำเนิดและเลี้ยงเขามาด้วยอกุศลกรรมหรือความชั่ว ๑๐ อย่าง “หมุ่สัตว์หรือหมู่คนย่อมเป็นไปตามกรรม” โปรดย้อนอ่านดูตอนว่าด้วย อกุศลธรรมหรืออกุศลกรรมที่ชั่ว ๑๐ อย่าง ในตอนต้น ๆ นั้นด้วย พระพุทธองค์ทรงตรัสย้ำเพื่อให้เนื้อความชัดเจนว่า เอวมสฺส เอสาปุรตฺถิมา ทิสา ปฏิจฺฉนฺนา โหติ เขมา อปฺปฏิภยา. แปลว่า ทิศ (ข้าศึก ศัตรูเบื้องหน้านั้น ชื่อว่าอันบุตรปกปิดให้เกษมสำราญ ให้ไม่มีภัย ด้วยประการฉะนี้. ที่ว่าบุตรปกปิดให้เกษมสำราญ ให้ไม่มีภัยนั้น คือ เป็นบุตรที่มารดาบิดาให้กำเนิดและเลี้ยงดูเขามาด้วยคุณธรรมจริยธรรมอันดีงาม ๕ อย่าง เขาจึงเป็นผู้ปกปิดความเป็นข้าศึก ศัตรู คือ ไม่เป็นข้าศึก ไม่เป็นศัตรูในครอบครัวและในสังคมอื่น ๆ ที่เขาเข้าไปเกี่ยวข้องทั้ง ๖ กลุ่มเหล่านั้นด้วย    

= คุณธรรมจริยธรรมอันดีงามของมารดาบิดา ๕ อย่าง =

๑. ปาปา นิวาเรนฺติ. มารดาบิดาย่อมปิดกั้นความประพฤติของบุตรให้พ้นจากบาป หมายความว่า ผู้เป็นมารดาบิดาไม่แสวงหาสิ่งที่เป็นบาปมาเลี้ยงดูบุตร หรือไม่นำพาบุตรแสวงหาสิ่งที่เป็นบาปมาเป็นอาหารและสร้างฐานะ และไม่ใช้ให้บุตรไปประกอบอาชีพการงานที่เป็นบาป (มิจฉาอาชีวะ) ด้วย และบาปหรือความชั่วที่คนผู้มีจิตวิญญาณเป็นมนุษย์ไม่ควรประพฤติปฏิบัติเป็นอย่างยิ่ง มีอยู่ ๑๐ อย่างเรียกว่า อกุศลกรรมบถที่ชั่ว ๑๐ อย่าง มีเจตนาฆ่าสัตว์มีชีวิตและฆ่าสิ่งมีลมปราณ (สิ่งมีลมปราณ เช่น ไข่เป็ด ไข่ไก่ ไข่นก…) เป็นต้น ส่วนกุศลกรรมที่ดี ๑๐ อย่างเหล่านั้น เป็นคุณธรรมจริยธรรมอันดีงามของมารดาบิดาในการเลี้ยงดูและอบรมสั่งสอนบุตรให้เป็นคนดีจริง ๆ ตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ถ้าดีมีคุณธรรมต่างจากนี้ก็ไม่ใช่คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแน่

๒. กลฺยาเณ นิเวเสนฺติ. มารดาบิดาย่อมให้บุตรเข้าไปอาศัยกัลยาณมิตร หมายถึง แนะนำบุตรไม่ให้คบมิตรที่เป็นคนพาล ไม่ให้ไปในสถานที่ที่ทำให้ตนเป็นพาล ไม่ให้บุตรเสพสิ่งที่จะทำให้เป็นคนพาล เป็นต้น

๓. สิปฺปํ สิกฺขาเปนฺติ. มารดาบิดาย่อมให้บุตรได้ศึกษาศิลปวิทยา ทั้งศิลปวิทยาด้านประกอบอาชีพ (วิชาชีพที่เป็นกุศลที่ไม่บาป เป็นสัมมาอาชีวะ) และศิลปวิทยาด้านเอาตัวรอด (ปฏิบัติกุศลธรรมหรือวิปัสสนากัมมัฏฐาน สายสัมมาปฏิบัติ)คือ ให้บุตรไปศึกษาหาความรู้ที่เป็นปัญญาสัมมาทิฏฐิ.

๔. ปฏิรูเปน ทาเรน สญฺโญเชนฺติ. มารดาบิดาย่อมให้บุตรได้รับโอชะหรือความรุ่งเรืองด้วยเมีย (ทาเรน เป็นลิงค์สมมุติ) ที่สมควรแก่ตน คำว่า “เมีย” นั้น หมายถึงอะไรก็ได้อันเป็นสิ่งที่บุตรรักและพอใจ แต่ควรแนะนำให้เขารักและพอใจสิ่งที่เป็นกุศลหรือความดีเท่านั้น ไม่ใช่เป็นผู้รักและพอใจในบาป อาจเป็นช่างซ่อมเครื่องยนต์ นักบวช เป็นต้น หรืออาจเป็นภรรยาที่เป็นคนดีก็ได้เช่นกัน ในเมื่อเขารักและพอใจ

๕. สมเย ทายชฺชํ นิยฺยาเทนฺติ. มารดาบิดาย่อมมอบทรัพย์ หรือโอนความเป็นทายาทให้บุตร ในสมัยที่ตนไม่สามารถบริหารจัดการได้ (สมัยที่ตนแก่หรือหมดเรี่ยวแรง) ไม่ควรปล่อยมรดกไว้จนกว่าตนเสียชีวิตไป

อนึ่งระหว่าง ๒๐ กว่าปีที่ผ่านมา(พ.ศ.๒๕๓๑ -๒๕๕๓)มีมารดาบิดาประมาณ ๑๐ คู่หรือ ๑๐ ครอบครัว มีจิตศรัทธาขนาด“อจลศรัทธา”คือ ศรัทธาที่มั่นคงหรือศรัทธาไม่คลอนแคลน สมัครเลี้ยงดูบุตรให้เป็นคนดีตามแบบฉบับของพระพุทธเจ้านี้ไปแล้ว และยังมีปฏิบัติอยู่มิได้ขาด ชีวิตเขาปลอดภัยดีอยู่ทุกคน โดยมีคำแนะนำให้ปฏิบัติเพิ่มเติม คือ :- 

๑. ลูกหลานหรือมิตรสหายเป็นหนุ่มสาวจะแต่งงาน  แนะนำให้เขางดเว้นจากบาปทุกชนิดในวันนั้น โดยเฉพาะการฆ่าสัตว์มีเป็ด ไก่ วัว ควาย สุกร เป็นต้น ตลอดถึงงดเว้นการเลี้ยงสุราเมรัย (เบียร์) ในวันแต่งงาน เพราะเป็นสิ่งมอมเมาด้วย ให้ทำพิธีเพียงแม่พ่อของฝ่ายชายหญิงตามธรรมดาก็พอแล้ว นี้เป็นการเริ่มต้นที่ดีในการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมอันดีแก่ลูก ๆ ผู้จะมาเกิดกับสามีภรรยาคู่นี้

๒. เมื่อแต่งงานแล้วให้สามีภรรยาคู่นั้น หาอาหารที่ไม่ได้ฆ่าสัตว์เองและไม่ได้สั่งผู้อื่นให้ฆ่ามาบริโภค หากฆ่าเองหรือสั่งผู้อื่นฆ่าให้แล้วนำมาทำเป็นอาหารบริโภค  เวรกับวิญญาณสัตว์ที่ถูกฆ่าจะตามอาฆาตลูก ๆ ที่จะเกิดมาในวันข้างหน้า “เวรย่อมไม่ระงับด้วยการจองเวร” ดังนั้น จึงควรงดเว้นจากการฆ่าสัตว์เสีย

๓. ไข่สด ๆ เช่นไข่ไก่ ไข่เป็ด ไข่นก ไข่เต่า เป็นต้น เป็นสิ่งมีลมปราณ เมื่อฆ่าสัตว์มีชีวิตและมีลมปราณจัดว่า “ทำปาณาติบาต” มาบริโภคหรือมาเลี้ยงลูก ๆ ผลร้ายที่เกิดจากการฆ่าหรือทุบไข่มาบริโภคประจำวันนั้น จะบันดาลให้สามีภรรยานอกใจซึ่งกันและกัน และให้ลูก ๆ มักมากหรือสำส่อนในเพศตรงข้าม ลูกหญิงจะถูกเขาข่มขืนกระทำชำเรา ถ้าเป็นลูกชายก็จะไปข่มขืนกระทำชำเราหญิงอื่น ๆ ตามอำนาจแห่งกรรมชั่วที่ทำกับ “ไข่สัตว์” ดังนั้น จึงควรงดเว้นเสีย

๔. ในระหว่างเลี้ยงลูกที่ยังเด็กอยู่ ไม่ควรแสดงความรักด้วยการจูบ ดูด ดม อม เลีย ที่อวัยวะทุก ๆ ส่วนในร่างกายของเด็ก นั่นเป็นการยัดเยียดหรือปลูกฝัง “กามราคะ” ให้เด็กโดยไม่ได้ตั้งใจ จะเกิดผลร้ายเมื่อเด็กโตขึ้น ผละออกจากอกมารดาบิดาแล้วย่อมหว้าเหว่ จิตใจจะถูกอาสวะจูบดมกดดันให้หาคนจูบดมแทนมารดาบิดา การทำความผิดทางเพศจึงเกิดขึ้นได้ง่าย ๆ กับเด็กวัยรุ่นทั่วไป ดังนั้น ควรงดการแสดงความรักกับลูกในลักษณะจูบ ดม อม เลีย อวัยวะต่าง ๆ ของเขาเสีย ดีที่สุดก็ให้แสดงความรักด้วยการพูดจาสละสลวย นุ่มนวล มีเหตุผลกับเขาจะดีกว่า เด็กเขาสามารถรู้ได้ ให้ถามเขาบอกเขาบ่อย ๆ ดีมาก

๕. ตามประสบการณ์ที่สังเกตได้ชัดเจนว่า เด็กแรกเกิดถึงวัย ๑๒ เดือนหรือ ๑ ขวบ ให้ดื่มนมแม่กับน้ำเปล่าเท่านั้น หลัง ๑๒ เดือนไปแล้วจึงให้ทานข้าวต้มเหลวเรื่อย ๆ ไปสัก ๔- ๕ วันจึงให้อาหารธรรมดาที่แม่พ่อรับประทาน เด็กจะมีความจำและอารมณ์ดีมาก ๆ เพราะอวัยวะย่อยอาหารของเด็กวัยก่อน ๑ ขวบนั้นยังอ่อนแออยู่ เมื่ออาหารหยาบตกลงกระเพาะ น้ำย่อยจะทำงานหนักทำให้เด็กหลับง่ายและหลับบ่อย ๆ นิสัยเฉื่อยชา โง่เขลา “เมื่อท้องตึงหนังตาก็หย่อน”

= บุตรที่มารดาบิดาเลี้ยงมาไม่ดีหรือดีย่อมมีผลต่อโลกมาก =

บุตรที่มารดาบิดาเลี้ยงมาไม่ดี คือ เลี้ยงมากับบาปอกุศล ๑๐ อย่างนั้น จนเติบใหญ่ ดังนั้น ชีวิตเขาจึงเป็นชีวิตที่มีจิตวิญญาณของสัตว์นรกบ้าง เปรตบ้าง เดียรัจฉานบ้าง อสุรกายบ้าง อมนุษย์บ้าง มารบ้าง เช่นเดียวกับจิต วิญญาณของมารดาบิดา เมื่อชีวิตเขาเข้าไปร่วมอยู่ในสังคมใด ย่อมเป็นข้าศึก เป็นศัตรู เป็นโจรผู้ร้ายในสังคมนั้น ๆ และจะประสบภัยต่าง ๆ ในวันข้างหน้า อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลาย ๆ อย่างใน ๑๐ ภัย คือ (๑)ราชภัย ภัยทางราชการ(๒) โจรภัย ภัยแต่โจรผู้ร้าย(๓)อัคคีภัย ภัยแต่ไฟ (๔)วาตภัย ภัยแต่ลม (๕)อุทกภัย ภัยแต่น้ำ (๖)วิวาทภัย ภัยแต่การทะเลาะวิวาท(๗) โรคภัย ภัยแต่โรค ร้ายแรงหรือโรคเรื้อรัง(๘) อุปัตติภัย(อุบัติเหตุ) ภัยที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า(๙)ทุพภิกขภัย ภัยแต่อาหารที่หาได้โดยยาก(เครื่องอุปโภคบริโภคมีราคาแพง)และ(๑๐)วินาศภัย ภัยที่ทำให้พินาศฉิบหายอย่างร้ายแรง(สิ้นเนื้อประดาตัว)

แต่ถ้าบุตรอันมารดาบิดาผู้มีจิตวิญญาณเป็นมนุษย์ ได้เลี้ยงดูเขามาจนเติบใหญ่ตามหลักแห่งความดี คือ มีคุณธรรมจริยธรรม ๕ อย่าง มีปิดกั้นความประพฤติของบุตรให้พ้นจากบาป ๑๐ อย่างดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นนั้น  บุตรย่อมเป็นคนดีมีจิตวิญญาณเป็นมนุษย์ เช่นเดียวกับมารดาบิดา เมื่อชีวิตเขาเข้าไปร่วมอยู่ในสังคมใด ย่อมมีความสงบเสงี่ยม มีความสามัคคี มีความปรองดอง จิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ในสังคมนั้น ๆ และจะประสบความเจริญต่าง ๆ ในวันข้างหน้า ๗ อย่าง คือ (๑) อายุวัฑฒโก อายุเจริญ (๒) ธนวัฑฒโก ทรัพย์สมบัติเจริญ (๓) สิริวัฑฒโก ศิริหรือความงามเจริญ (๔)ยสวัฑฒโก ยศฐาบรรดาศักดิ์เจริญ (๕) พลวัฑฒโก พละกำลังเจริญ (๖) วัณณวัฑฒโก ผิวพรรณเจริญ (๗) สุขวัฑฒโก ความสุขกายสบายใจเจริญ

เจริญ บาลีว่า “วัฑฒก” เช่น อายุเจริญนั้น หมายถึง ชีวิตที่ประกอบด้วยธาตุสี่ขันธ์ห้าของคนที่มารดาบิดาเลี้ยงมาดีย่อมบริสุทธิ์ ไม่ปนเปื้อนด้วยโรคใด ๆ เพราะไม่ได้ทำอกุศลกรรมหรือความชั่วทางกาย วาจา ใจ ทำแต่กุศลกรรมหรือความดีทางกาย วาจา ใจ ๑๐ ประการในการดำเนินชีวิต ดังนั้น อายุจึงเจริญ

คำว่า “ทรัพย์สมบัติเจริญ” นั้น หมายถึง คนดีที่ไม่มีบาปในชีวิต เมื่อได้ ทรัพย์มาก็ดี จ่ายทรัพย์ออกไปก็ดี เก็บหอมรอมริบทรัพย์ไว้ก็ดี ล้วนเป็นไปใน ลักษณะสุจริตหรือความดีที่เป็นกุศลกรรม ๑๐ อย่างทั้งสิ้น ไม่เป็นหนี้ใครและ ไม่ให้ใครเป็นหนี้ตน ทรัพย์เขาจะมีน้อยหรือมากหรือปานกลางก็ตาม ย่อมไม่มี ปัญหาใด ๆ กับทรัพย์สมบัติ ดังนั้น จึงเรียกว่า ทรัพย์เจริญ

คำว่า “ศิริหรือความงามเจริญ” นั้น หมายถึง คนดีไม่มีบาปในชีวิต ย่อมเป็นผู้มีบุคคลิกลักษณะสง่าผ่าเผย องอาจแกล้วกล้า เมื่อคนดีผู้ไม่มีบาปพบเห็นก็อบอุ่นใจ ชื่นใจ เกิดศรัทธาเลื่อมใส แต่ถ้าคนบาปพบเห็นก็เกิดความเกรงขาม ไม่ปรารถนาจะเข้าใกล้ นี้เรียกว่า ศิริหรือความงามเจริญ

คำว่า “ยศเจริญ” นั้น เราควรทำความเข้าใจคำว่า “ยศ” ก่อน  พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ให้คำนิยามไว้ว่า เครื่องกำหนดหมาย ฐานะของบุคคล จะแสดงไว้ในที่นี้ว่า “ยศ” หรือเครื่องกำหนดหมายฐานะของ บุคคลนั้น มีอยู่ ๓ ลักษณะ คือ

๑. ยศที่ได้มาตามธรรมชาติแห่งความเป็นไปของชีวิต เช่น ยศแห่งความเป็นหนุ่มเป็นสาว เป็นมารดาบิดา เป็นปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อาว์ เป็นต้น เรียกว่ายศ คือ เครื่องกำหนดหมายของบุคคลตามธรรมชาติ

๒. ยศที่ได้มาตามกรรมหรือตามการกระทำของตน ๆ คือ ยศที่เป็นผลจากการกระทำนั้นเอง เช่น กุศลกรรม ย่อมได้ยศทางจิตวิญญาณเป็น มนุษย์ เทวดา พระพรหม อกุศลกรรม ย่อมได้ยศทางจิตวิญญาณเป็นสัตว์นรก เปรต เดียรัจฉาน อสุรกาย อมนุษย์ มาร อัพยากตกรรม ย่อมได้ยศทางจิตวิญญาณเป็น พระอริยบุคคล ๔ จำพวก มีพระโสดาบันอริยบุคคล เป็นต้น

๓. ยศที่ได้มาตามความเห็นดีเห็นชอบของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลในสังคมมอบหมายให้ เช่น ยศพระครู ยศเจ้าคุณ ยศนายร้อย ยศนายพัน ยศนายพล ยศเกียรติบัตร ยศบัตรรับรองฐานะ เป็นต้น สำหรับยศหรือ เครื่องกำหนดหมาย ฐานะของบุคคล เหล่านี้จะเจริญได้ก็เพราะมารดาบิดาเลี้ยงมาดีตรงตามหลักคุณธรรมจริยธรรมของมารดาบิดา ๕ อย่างดังที่กล่าวมาแล้วนั้น ยศของบุตรจึงมีความเจริญ เพราะบุตรเช่นนี้ย่อมเป็นบุตรที่มีความหมั่น มีสติ มีการงานสะอาด ใคร่ครวญแล้วจึงทำ มีความระวังดีแล้ว เป็นอยู่โดยธรรม (เป็นอยู่โดย กุศลธรรม) และไม่ประมาท สมกับพุทธภาษิตใน ขุ. ธ. ๒๕/๑๘. ความว่า :-

อุฏฺฐานวโต สติมโต ฯลฯ อปฺปมสฺตสฺส ยโสภิวฑฺฒติ. แปลว่า ยศย่อมเจริญ แก่ผู้มีความหมั่น มีสติ มีการงานสะอาด ใคร่ครวญแล้วทำ ระวังดีแล้ว มีชีวิตเป็นอยู่โดยธรรม (โดยกุศลธรรมหรือความดี ๑๐ อย่าง) และไม่ประมาท

ที่ว่า ยศ เจริญนั้น คือ จะเป็นยศโดยธรรมชาติของชีวิต เช่น มารดาบิดา เป็นต้นก็ดี ยศที่ได้มาตามกรรมที่ทำ เช่น มนุษย์ เทวดา พระพรหม พระอริย บุคคลก็ดี (ยกเว้นยศของบุคคล ๖ เผ่าพันธุ์ มีสัตว์นรก เป็นต้น) ย่อมเป็นยศที่ดำรงอยู่ในชีวิตของบุคคลผู้มีความหมั่น และไม่ประมาททั้งสิ้น ดังนั้น ชีวิตจึงไม่มีปัญหาใด ๆ มารุมเร้าให้เกิดทุกข์กับยศเหล่านี้ ดังนั้น จึงเรียกว่า ยศเจริญ

แต่ถ้าเป็นยศในชีวิตของคนผู้มีจิตวิญญาณเป็นสัตว์นรก เปรต เดียรัจฉาน อสุรกาย อมนุษย์ มาร ย่อมเป็นชีวิตที่ประมาท ขาดสติ การงานไม่สะอาด มีแต่ทุจริต ไม่มีความใคร่ครวญในงาน ทำการงานแบบสุกเอาเผากิน มีชีวิตเป็นอยู่โดยอกุศลธรรมหรือความชั่ว ๑๐ ประการ ดังนั้น ชีวิตของเขาจึงมีปัญหานานาชนิดมารุมเร้าให้เกิดทุกข์ยากลำบากกับยศเหล่านี้ตลอดกาลนาน

คำว่า กำลังเจริญ นั้น หมายถึง กำลังภายใน เช่น (๑) สัทธาพละ กำลังศรัทธา ในการปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญา เป็นอจลศรัทธา เป็นศรัทธาที่ไม่หวั่นไหวไปตามกระแสโลก (๒) วิริยพละ กำลังความเพียร มีเพียรระวังไม่ให้บาปเกิดขึ้นในสันดาน ทางกาย วาจา ใจ ๑ เพียรละบาปที่เกิดขึ้นแล้ว ๑ เพียรสร้างหรือทำกุศลที่ยังไม่เกิดไม่มีให้เกิดให้มีขึ้นในสันดาน ๑ เพียรรักษากุศลที่เกิดมีขึ้นแล้วไม่ให้เสื่อมเสียไป ๑ (๓) สติพละ กำลังสติหรือความระลึกได้ในการเคลื่อนไหวกาย วาจา ใจ (๔) สมาธิพละ กำลังสมาธิหรือความตั้งใจมั่นคงในการปฏิบัติกุศลธรรมหรือความดี ๑๐ อย่าง และวิปัสสนา ฯ หรือสติปัฏฐาน ๔ ด้วย โดยการงดเว้นอกุศลธรรมหรือความชั่ว ๑๐ อย่างให้ได้ (๕) ปัญญาพละ กำลังปัญญาหรือกำลังความรอบรู้ ทั้งด้านสุตามยปัญญา จินตามยปัญญา ภาวนามยปัญญาด้วย กำลังทั้ง ๕ อย่างเหล่านี้ซึ่งเป็นกำลังภายในของบุคคลผู้มารดาบิดาเลี้ยงดูมาดีแล้ว ย่อมมีความ เจริญรุ่งเรืองอยู่ในชีวิตเขาตลอดไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่.

คำว่า ผิวพรรณเจริญ นั้น ได้แก่ เป็นคนมีผิวพรรณเนียน ไม่หยาบกร้าน จะเป็นคนผิวดำ ผิวขาว หรือผิวผสมก็ตาม ย่อมเนียนนุ่ม สดใส ผุดผ่อง เกลี้ยงเกลา โดยไม่มีการเสริมแต่งด้วยเครื่องสำอางใด ๆ ทั้งสิ้น แต่เป็นชีวิต ที่ถูกธรรมชาติที่เป็นกุศลกรรมหรือความดี ๑๐ อย่าง วิปัสสนา ฯ สติปัฏฐาน ๔ ตกแต่งมาให้ ดังนั้น ทางพระจึงบัญญัติคนผู้มีผิวพรรณเนียนนุ่ม ผุดผ่อง สดใส เช่นนี้ว่า วัณณวัฑฒโก ผู้มีผิวพรรณเจริญ คือ ผิวพรรณงามดี ไม่ใช่สวยงาม

คำว่า ความสุขเจริญ นั้น หมายถึง ความสุขที่ไม่อิงอาศัยอามิสใด ๆ ให้เกิดมีความสุข แต่เป็นความสุขอิสระ เช่นสุโข ปุญญัสส อุจจโย คนดีที่มารดาบิดาเลี้ยงมาดีย่อมมีชีวิตเป็นสุข ซึ่งเป็นสุขที่มาจากการสั่งสมบุญ เป็นต้น และคนดีนั้นเมื่อชีวิตมีความสุขแล้วก็ไม่เสพติดความสุขจนลืมตัว แต่จะเอาความสุขเป็นเครื่องมือพัฒนาชีวิตด้วยการไปศึกษาปฏิบัติในศีล สมาธิ ปัญญา จากท่านผู้เป็นสัตบุรุษให้เพิ่มพูนยิ่ง ๆ ขึ้นไป ชีวิตที่เป็นอยู่ดังที่กล่าวมาแล้วนั้นเรียกว่า สุขวัฑฒโก คนดีที่มีความสุขเจริญ

= หลักและวิธีการกลับตัวกลับใจเป็นมนุษย์ =

คนผู้มีจิตวิญญาณเสื่อมจากจิตวิญญาณมนุษย์เป็นจิตวิญญาณสัตว์นรกเปรต เดียรัจฉาน อสุรกาย อมนุษย์ หรือเป็นมารแล้ว มีความปรารถนาหรือมุ่งมั่นที่จะกลับตัวกลับใจทำตนให้จิตวิญญาณกลับมาเป็นมนุษย์นั้นย่อมไม่ สามารถกลับได้ด้วยกำลังของตนแน่นอนแม้ท่านจะอ่านคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าจนจำได้และเข้าใจทั้งหมดก็ตาม หรือฟังผู้รู้สั่งสอนจนจำได้และเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งก็ตาม ย่อมกลับไม่ได้จริง ๆ เพราะพระพุทธเจ้าตรัสว่า“กิจฺโฉ”คือ เป็นการยากมาก ๆ โดยท่านแสดงไว้ในบาลีพระไตรปิฎก ขุ. ธ.๒๕/๓๙. มี ใจความเป็นคาถาว่า

๑. กิจฺโฉ มนุสฺสปฏิลาโภ. การกลับได้เป็นมนุษย์ เป็นการกลับได้ยาก

๒. กิจฺฉํ มจฺจาน ชีวิตํ. การเป็นอยู่ของสัตว์ที่จะพึงตาย เป็นการอยู่ยาก

๓. กิจฺฉํ สทฺธมฺมสฺสวนํ. การได้ฟังพระสัทธรรม (จากสัตบุรุษ) เป็นการยาก

๔. กิจฺโฉ พุทฺธานมุปฺปาโท. การเกิดขึ้นแห่งความเป็นพุทธ เป็นการยาก

คำว่า “กิจฺโฉ มนุสฺสปฏิลาโภ” แปลว่า การที่คนจะกลับตัวกลับใจเป็น มนุษย์ได้นั้น เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก หมายความว่า คนผู้เกิดมาแล้วถูกเลี้ยงให้ เติบใหญ่กับบาปอกุศลกรรม ๑๐ อย่าง คือ (๑) เจตนาทำปาณาติบาตเลี้ยงชีพ (๒) เจตนาทำอทินนาทานเลี้ยงชีพ (๓) เจตนาประพฤติผิดในกามทั้งหลายเลี้ยง ชีพ (๔) เจตนาพูดปด (๕)เจตนาพูดคำหยาบ (๖) เจตนาพูดส่อเสียด (๗) เจตนาพูดเพ้อเจ้อ (๘) เจตนาคิดเพ่งเล็งผู้อื่นในแง่ร้าย (๙) เจตนาคิดปองร้าย ผู้อื่นให้พินาศฉิบหาย (๑๐) เป็นมิจฉาทิฏฐิบุคคล (คนผู้มีความคิดเห็นผิด)

 ถ้าอย่างนั้น พระพุทธเจ้าได้ชี้ทางการกลับตัวกลับใจเป็นมนุษย์ให้ได้นั้น มีอยู่หรือไม่ อย่างไร ? ตอบว่าได้แต่ยากมาก ๆ ยากขนาดเข็นครกขึ้นภูเขา หรือฝนทั่งให้เป็นเข็ม ไม่งั้นจิตวิญญาณตกลงสู่ “ทุคติ” เหมือนเดิม ลองตรวจดูหลัก และวิธีการกลับตัวกลับใจให้เป็นมนุษย์ในพระสูตร คือ องฺ. จตุกฺก. ๒๑/๓๑/ ๔๑. ชื่อว่า “จักร ๔” ซึ่งแปลว่า ธรรมนำชีวิตไปสู่ความเจริญ (จะกลับเป็นมนุษย์ได้) เหมือนล้อนำรถไปสู่ที่หมายได้ ฉะนั้น มีอยู่ ๔ อย่าง คือ

๑. ปฏิรูปเทสวาสะ ไปอยู่ในถิ่นที่สอนให้ปฏิรูปตนเองกลับเป็นมนุษย์ได้

๒. สัปปุริสูปัสสยะ สมาคมและสอบถามธรรมกับสัตบุรุษเนือง ๆ

๓. อัตตสัมมาปณิธิ มีปณิธานอันชอบตั้งไว้ในตน (ไปเพื่อปฏิบัติธรรม)

๔. ปุพเพกตปุญญตา ความเป็นผู้มีบุญอันตนทำไว้แล้วแต่ปางก่อน

หากชีวิต มีองค์ธรรมประกอบอยู่ทั้ง ๔ อย่างนี้ พระพุทธเจ้าตรัสว่า กลับตัว เป็นมนุษย์มีจิตใจสูงส่งได้แน่  ถึงจะกลับยากแสนยากอย่างไรก็สำเร็จ ในเมื่อมี อาจารย์ผู้เป็นสัตบุรุษสั่งสอนอยู่ และตนเองก็มีความเพียรพยายามตามหลัก อิทธิบาท ๔ ประกอบด้วย  ปุพเพกตปุญญตาของตนก็มีพร้อม เผ่าพันธุ์มนุษย์ ด้านจิตวิญญาณย่อมจะ

กลับมาเจริญรุ่งเรืองในโลกมนุษย์อีก และอิทธิบาท คือ คุณธรรมที่นำไปสู่ความสำเร็จแห่งผลที่มุ่งหมาย (กลับเป็นมนุษย์ได้) ซึ่งเป็นธรรมที่ปฏิบัติร่วมกับจักร ๔ และปฏิบัติให้ต่อเนื่องกันไปกับอาจารย์ผู้เป็นคนดี คือ สัตบุรุษนั้นด้วย และอิทธิบาท ๔ อย่างนั้น คือ :-

๑. ฉันทะ ความใฝ่ใจในการที่จะปฏิบัติตามคำสอนของอาจารย์

๒. วิริยะ มีความเพียรพยายามในการปฏิบัติไม่มีความเกียจคร้าน

๓. จิตตะ เอาใจฝักใฝ่ไม่ปล่อยใจให้ฟุ้งซ่านไปไหนอีก

๔. วิมังสา หมั่นใช้ปัญญาใคร่ครวญตรวจตราหาเหตุผลในการปฏิบัติ

ที่ได้แนะนำ “แนวทางการเลี้ยงดูบุตรให้เป็นคนดี” ตามหลักคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งมีอยู่ใน “สิงคาลกสูตร” โดยสรุปลงในคำว่า ลูกไม้ย่อมหล่นไม่ไกลต้น คือ คน ๑๐ เผ่าพันธุ์ด้านจิตวิญญาณนั่นเอง มารดาบิดาเป็นคนเผ่าพันธุ์ใด บุตรหรือลูก ๆ ก็ย่อมเป็นเช่นนั้น ลูกแมวจะไปเกิดกับแม่สุนัขคงเป็นไปไม่ได้ใช่ไหม ? ต่อไปเราขอวิงวอนผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมือง ตลอดถึงท่านผู้กำบังเหียนในสังคมครอบครัว  ซึ่งดำรงตำแหน่งมารดาบิดา ได้โปรดหันมาดูตนเองและพวกของตนด้วยเถิด ไม่ควรไปโยนความผิดให้เด็ก ๆ ที่เป็นเยาวชน ผู้ถือกำเนิดมาจากเราผู้เป็นมารดาบิดาของเขาเอง จนเขากลายเป็นแพะรับบาปโดยไม่รู้ตัว.

ขอแสดงความเมตตาจิต แด่ท่านผู้ใหญ่ในบ้านเมืองและท่านผู้เป็นมารดาบิดาของบุตรทั้งโลก

ด้วยพุทธศาสนสุภาษิตและภาษิตอื่น ๆ คือ

– อุชฺฌตฺติพลา พาลา. แปลว่า คนพาล (คนโง่) มีความเพ่งโทษผู้อื่น (เพ่งโทษเยาวชน เป็นต้น) เป็นกำลัง. มาในบาลี องฺ. อฏฺฐก. ๒๓/๒๒๗.

– นิชฺฌตฺฺติพลา ปณฺฑิตา. แปลว่า บัณฑิต (ผู้มีปัญญาและมีบุญ) มีความไม่เพ่งโทษผู้อื่น (ไม่เพ่งโทษเยาวชน เป็นต้น) เป็นกำลัง. มาในบาลี องฺ. อฏฺฐก. ๒๓/๒๒๗. 

– สุทสฺสํ วชฺชมญฺเญสํ อตฺตโน ปน ทุทฺทสํ. แปลว่า ความผิดของผู้อื่น (ความผิดของเยาวชน เป็นต้น) เห็นได้ ง่าย ฝ่าย (ความผิด) ของตน (ผู้เป็นใหญ่) เห็นได้ยาก. ขุ. ธ. ๒๕/๔๘.

          – โทษคนอื่น    มองเห็น         เท่าภูเขา

          โทษของเรา     มองไม่เห็น      เท่าเส้นขน

          ตดคนอื่น        เหม็นเบื่อ        เราเหลือทน

          ตดของตน       ถึงเหม็น         ไม่เป็นไร. (เก็บตกมาบอก)

ส่งให้เป็นพรปีใหม่แก่เพื่อนร่วมโลก โดยเฉพาะท่านผู้เป็นมารดาบิดาคนทั้งโลกอยู่แล้ว และท่านที่คิดจักเป็นมารดาบิดาเขาอยู่ในวันนี้และวันหน้าด้วย ในฐานะที่เป็นผู้สร้างทรัพยากรมนุษย์สืบเผ่าพันธุ์ไว้ในโลก โปรดสร้างจิตสำนึกด้วยว่า โลกเดือดร้อนวุ่นวายระส่ำระสายทั่วหัวระแหงนั้น และอาจเกิดกลียุคขึ้นในไม่ช้าได้ มีต้นกำเนิดมาจากมารดาบิดาให้กำเนิดและเลี้ยงดูบุตรไปตามแนวทาง อกุศลกรรมหรือทำบาป ๑๐ อย่างเลี้ยงเขาให้เติบใหญ่มิใช่หรือ ? กรุณาอ่านบทธรรมเรื่อง “แนวทางการเลี้ยงดูบุตรให้เป็นคนดี” (ตามแบบฉบับของพระพุทธเจ้า) เรื่อย ๆ และบ่อย ๆ ให้เข้าใจแล้วนำไปปฏิบัติจริงด้วย จะได้ลูกเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่ดีสืบเผ่าพันธุ์ไว้ในโลกใบนี้ สาธุ.

ธัมมิกะ

watnongriewnang@gmail.com

๖  มกราคม  ๒๕๕๔.