๑๐. สุขวิหาริชาดก (ว่าด้วยการอยู่เป็นสุข)

(๑๐) สุขวิหาริชาดก (ว่าด้วยการอยู่เป็นสุข)

            พระบรมศาสดาทรงปรารภซึ่งพระภัททิยเถรเจ้าผู้สำเร็จพระอรหันต์แล้วทรงเปล่งวาจาว่า สุขหนอ สุขหนอ ในที่ทั้งปวง เมื่อภิกษุทั้งหลายได้ยินแล้วจึงนำไปกราบทูลพระบรมศาสดาว่า พระภัททิยะเห็นจะนึกถึงความสุขเมื่อเป็นพระเจ้าแผ่นดิน พระบรมศาสดาจึงตรัสว่า หามิได้ มิใช่พระภัททิยะนึกถึงความสุขเมื่อเป็นพระเจ้าแผ่นดิน เป็นเพราะอุปนิสัยเขาเคยมาแต่ปางก่อน แล้วทรงแสดงเรื่องอดีตในครั้งก่อน เราตถาคตได้เกิดเป็นดาบสเจริญพรตพรหมวิหารอยู่ในป่าหิมพานต์มีศิษย์บริวารเป็นอันมาก ล้วนแต่ได้ณานสมาบัติ ในเวลาฤดูฝนได้พาพวกศิษย์ไปอาศัยอยู่ในพระราชอุทยานของพระเจ้าพาราณสี เมื่อสิ้นฤดูฝนแล้ว พระเจ้าพราณสีได้นิมนต์ขอให้อยู่ในพระราชอุทยานนั้นต่อไป ได้สั่งศิษย์บริวารไปอยู่ในป่าหิมพานต์ตามเดิม ครั้นต่อมาศิษย์ผู้ใหญ่รูปหนึ่งซึ่งเคยเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ได้มาเยี่ยมเราผู้เป็นอาจารย์ซึ่งอาศัยอยู่ในพระราชอุทยาน ในเวลาที่พระเจ้าพาราณาสีเสด็จไปหาเราศิษย์รูปนั้นก็ไม่ลุกรับ ได้แต่นอนเปล่งวาจาอยู่ว่า สุขหนอ ๆ พระเจ้าพาราณสีก็ทรงพิโรธว่า ฤๅษีนั้นโฉดเขลาไม่มีความเคารพต่อท้าวเธอ ท้าวเธอจึงตรัสว่า ฤๅษีผู้นั้นเห็นจักฉันอิ่มสบายใจจึงนอนเปล่งวาจาว่า สุขหนอ ๆ เช่นนี้ ฤๅษีผู้เป็นอาจารย์จึงถวายพระพรว่า หามิได้ ที่เปล่งวาจาเช่นนั้นเพราะเขานึกถึงความสุขในเพศบรรพชิตว่าดีกว่าในเพศฆราวาส คือเมื่อก่อนเขาก็ได้เป็นพระราชาเหมือนมหาบพิตร แต่ในเวลาที่เขาเป็นพระราชา เขายังไม่เคยมีความสุขเหมือนอย่างนี้เพราะเขายังมีความกลัว และความกังวลอยู่เป็นอันมาก ครั้นฤๅษีผู้อาจารย์ถวายพระพรอย่างนี้แล้ว จึงทรงแสดงธรรมถวายว่า

ยญฺจ อญฺเญ น รกฺขนฺติ            โย จ อญฺเญ น รกฺขติ

 สเว ราช สุขํ เสติ                     กาเมสุ อนเปกฺขวาติ

            แปลว่า ผู้ที่ไม่ได้รักษาผู้อื่น และไม่ต้องให้ผู้อื่นรักษาตน ไม่มีความกังวลในกามารมณ์ทั้งหลายย่อมอยู่เป็นสุข ดังนี้

            เมื่อพระเจ้าพาราณสีได้ทรงสดับซึ่งพระธรรมเทศนานี้ ก็ทรงปีดาปราโมทย์หายพระพิโรธต่อฤๅษีรูปนั้น แล้วเสด็จกลับยังพระราชนิเวศน์ ส่วนฤๅษีผู้เป็นอาจารย์และศิษย์ทั้ง ๒ นั้น เมื่อสิ้นอายุแล้วก็ได้ไปเกิดในพรหมโลก ครั้นต่อมาฤๅษีผู้เป็นอาจารย์ก็ได้มาเกิดเป็นเราตถาคต ส่วนฤๅษีผู้เป็นศิษย์ก็ได้เกิดมาเป็นพระภัททิยะในบัดนี้ ชาดกนี้ชี้ให้เห็นว่า ความสุขที่เกิดจากความไม่กังวลในสิ่งทั้งปวง ย่อมเป็นความสุขอย่างยิ่ง ดีกว่าความสุขอย่างอื่นซึ่งมีอยู่ในโลก ความสุขที่เกิดจากความไม่มีกังวลนั้น คือความสุขอยู่ในเพศบรรพชิต หรือความสุขของผู้มีจิตไม่เกี่ยวข้องด้วยของล่อลวงในโลก คือเบญจกามารมณ์มีบุตร ภรรยา ทรัพย์สมบัติเป็นต้น ถึงตนจะยังอยู่ในเพศฆราวาส ก็ไม่มีใจหมกมุ่นอยู่ในเบญจกามคุณ ไม่หมกมุ่นในบุตรภรรยา ทรัพย์ สมบัติพัสถานจนเกินประมาณ ถือแต่เพียงว่าเป็นของอาศัยชั่วกาลชั่วเวลาเท่านั้น ดังนี้

“ชนเหล่าอื่นไม่ต้องรักษาผู้ใดด้วย ผู้ใดก็ไม่ต้อง

รักษาชนเหล่าอื่นด้วย ดูกรมหาบพิตร ผู้นั้นแล

ไม่มีเยื่อใยในกามทั้งหลาย ย่อมอยู่เป็นสุข.”

สุขวิหาริชาดก จบ.