๑๑. ลักขณชาดก (ว่าด้วยผู้มีศีล)

๒. สีลวรรค

(๑๑) ลักขณชาดก (ว่าด้วยผู้มีศีล)

            พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงเพราะทรงปรารภพระเทวทัตเป็นต้นเหตุ มีเนื้อความว่า พระเทวทัตผูกอาฆาตมุ่งหมายจะทำลายสงฆ์ให้แตกจากกัน ได้ชักชวนภิกษุที่บวชใหม่ให้เป็นพรรคพวกได้ถึง ๕๐๐ รูป สมเด็จพระบรมศาสดาจึงทรงรับสั่งให้พระสาลีบุตรและพระโมคคัลลาน์ไปแนะนำภิกษุทั้ง ๕๐๐ นั้นให้กลับใจจากพระเทวทัตกลับมานับถือพระพุทธองค์ตามเดิม พระอัครสาวกทั้งสองก็พาภิกษุทั้ง ๕๐๐ รูปนั้นมาในสำนักพระบรมศาสดา เหลืออยู่แต่พระเทวทัตกับพรรคพวกอีก ๒-๓ รูปเท่านั้น ภิกษุทั้งหลายเมื่อได้เห็นดังนั้น จึงพากันสรรเสริญพระอัครสาวกทั้งสองว่าเป็นผู้สง่าในบริวาร สมเด็จพระบรมศาสดาจึงตรัสว่า เรื่องนี้ได้เคยมีมาแล้วในปางก่อน แล้วจึงทรงแสดงเรื่องอดีตว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในอดีตกาลล่วงมาแล้ว ครั้งพระเจ้าแผ่นดินองค์หนึ่งเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงราชคฤห์ มีเนื้อหนุ่มฝูงหนึ่งอาศัยอยู่ในป่าใหญ่แห่งหนึ่ง เนื้อที่เป็นนายฝูงมีบุตรอยู่ ๒ ตัว ชื่อลักขณะตัวหนึ่ง ชื่อกาฬะตัวหนึ่ง เมื่อเนื้อผู้เป็นนายฝูงนั้นแก่ลงจึงมอบธุระให้บุตรทั้งสองปกครองเนื้อที่เป็นบริวารแทนตัว ตัวละ ๕๐๐ เท่า ๆ กัน ส่วนเนื้อทั้งสองที่เป็นบุตรนั้น ตัวหนึ่งฉลาด ตัวหนึ่งโง่เขลา ตัวที่ฉลาดนั้นชื่อว่าลักขณะพาบริวารเที่ยวหากินโดยปราศจากภัยอันตราย ได้พาบริวารกลับมาสู่สำนักบิดาโดยสวัสดิภาพ ส่วนบุตรที่โง่เขลานั้นชื่อว่ากาฬะ ได้พาบริวารไปเป็นอันตรายเสียหมด กลับสู่สำนักบิดาแต่ตัวผู้เดียว เมื่อบิดาได้แลเห็นบุตรทั้งสองพากันกลับมาด้วยอาการอย่างนั้น จึงกล่าวเป็นคาถาประพันธ์ขึ้นในเวลานั้นว่า โหติ สีลวตํ อตฺโถ เป็นต้น แปลว่า ความเจริญย่อมมีแก่ผู้มีศีล ผู้ฉลาดในการต้อนรับ จงดูแต่เนื้อชื่อลักขณะที่หมู่ญาติห้อมล้อมเป็นตัวอย่าง ผู้ไม่มีศีล ไม่ฉลาดในการต้อนรับปราศรัยย่อมหาความเจริญมิได้ จงดูแต่เนื้อกาฬะอันเสื่อมจากหมู่ญาติเป็นตัวอย่างเถิด ดังนี้ เมื่อแสดงเรื่องอดีตจบลงแล้ว พระพุทธองค์จึงทรงประชุมชาดกว่า เนื้อชื่อลักขณะในครั้งนั้น ได้มาเกิดเป็นพระสาลีบุตร เนื้อชื่อกาฬะได้เกิดมาเป็นพระเทวทัต ส่วนเนื้อผู้เป็นบิดาได้อุบัติมาเป็นเราตถาคตในบัดนี้ ในชาดกนี้ชี้ให้เห็นว่าคนโง่ย่อมปกครองผู้อื่นไม่ได้ บางทีปกครองตัวเองก็ไม่ได้ ส่วนคนฉลาดย่อมอาจปกครองตนเองและผู้อื่นโดยสวัสดี เพราะฉะนั้นในเวลาที่จะยกสมบัติมรดกให้แก่บุตรธิดาปกครองแทนต่อไป จงเลือกดูว่าผู้ใดโง่และฉลาด แล้วมอบให้แก่ผู้ฉลาดปกครองแทนตนต่อไป ทรัพย์สมบัติมรดกของตนจึงจักไม่เป็นอันตรายสูญหาย

“ความเจริญย่อมมีแก่คนทั้งหลายผู้มีศีล ประ

พฤติในปฏิสันถาร ท่านจงดูลูกเนื้อชื่อลักขณะผู้

อันหมู่แห่งญาติแวดล้อมกลับมาอยู่ อนึ่ง ท่านจงดู

ลูกเนื้อชื่อกาฬะนี้ ผู้เสื่อมจากพวกญาติกลับมาแต่ผู้เดียว.”

ลักขณชาดก จบ.