๑. อปัณณกวรรค (ว่าด้วยการรู้ฐานะและไม่ใช่ฐานะ)

ชาดก

คัมภีร์ขุททกนิกายมหานิบาตชาดก

หรือ

พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ

เอกนิบาติชาดก

๑. อปัณณกวรรค

(๑) อปัณณกชาดก (ว่าด้วยการรู้ฐานะและไม่ใช่ฐานะ)

                ในอปัณณกชาดกอันเป็นชาดกแรกนี้ มีเนื้อความว่า เมื่อสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทั้งหลาย ประทับอยู่ในเขตพระเชตวันมหาวิหารในกรุงสาวัตถี พระองค์ทรงปรารภซึ่งพวกอุบาสกอันเป็นสหายแห่งอนาถบิณฑิกเศรษฐีให้เป็นต้นเหตุ จึงทรงแสดงชาดกนี้ให้เป็นผล

                มีเนื้อความในชาดกนี้ว่า ในเวลาวันหนึ่ง อนาถบิณฑิกเศรษฐีให้บ่าวไพร่บริวารถือเครื่องสักการะบูชาออกไปกับตนสู่พระเชตวันมหาวิหาร ในครั้งนั้นสาวกแห่งเดียรถีย์ ๕๐๐ คน ซึ่งเป็นสหายแห่งอนาถบิณฑิกเศรษฐี ก็ได้ไปกับอนาถบิณฑิก-เศรษฐีด้วย ในเวลาที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมไปโดยนัยอันน่าเลื่อมใสศรัทธา สหายแห่งอนาถบิณฑิกเศรษฐี ๕๐๐ นั้น ก็เกิดความเลื่อมใสศรัทธา ตั้งตนอยู่ในพระไตรสรณคมน์ แล้วพร้อมกันถวายบังคมลากลับสู่นิวาสสถานของตน ครั้นต่อมา เมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จจากพระเชตะวันมหาวิหารกรุงสาวัตถีไปประทับกรุงราชคฤห์ อุบากสกใหม่ทั้ง ๕๐๐ คนนั้นก็ได้ละทิ้งพระไตรสรณคมน์เสียกลับไปนับถือลัทธิแห่งเดียรถีย์ตามเดิม เมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จกลับมาสู่กรุงสาวัตถีอีก พวกนั้นจึงกลับมานับถือพระไตรสรณคมน์อีก สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงแสดงโทษแห่งการถือผิดตามลัทธิของเดียรถีย์และทรงแสดงคุณแห่งการถือโดยประการต่างๆเป็นต้นว่า  นับถือพระไตรสรณคมน์ย่อมไม่เกิดในอบายภูมิทั้ง ๔ มีนรกเป็นต้น เกิดแต่ในมนุษย์และสวรรค์เทานั้น แล้วในที่สุดพระองค์ได้ทรงแสดงซึ่งปัณณกชาดกว่า ดูก่อนอุบาสกทั้งหลาย ในอดีตกาลล่วงแล้วแต่หลัง ครั้งสมเด็จพระเจ้าพรหมทัตได้เถลิงถวัลราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี มีพ่อค้าใหญ่อยู่ ๒ คนได้ชักชวนกันไปค้าขายโดยทางเกวียนในประเทศอื่น พ่อค้าคนหนึ่งพร้อมด้วยเกวียน ๕๐๐ กับพ่อค้าที่เป็นบริวารอีกเป็นอันมากเดินทางไปก่อน จนกระทั่งถึงที่กันดารด้วยน้ำแห่งหนึ่งซึ่งมีระยะทางไกลประมาณ ๖๐ โยชน์ พ่อค้าที่เป็นหัวหน้านั้นได้สั่งให้บริวารทั้งหลายเตรียมตักน้ำใส่ตุ่มใหญ่ ๆ บรรทุกไปในเกวียนทั้งหลาย เพื่อจะได้กินอาบในทางกันดาร แต่พอเดินทางไปได้กึ่งหนึ่ง ยักษ์ผู้สิงอยู่ในทางกันดารนั้นได้จำแลงเพศเป็นมนุษย์ ขึ้นเกวียนอันเทียมด้วยโคเดินสวนทางมาข้างหน้ากับบริวารอีก ๑๐ คน หรือ ๒๐ คน ล้วนแต่มีผมและผ้าเปียกชุ่มไปด้วยน้ำ ครั้นมาพบกับพ่อค้าเกวียน ๕๐๐ นั้น ยักษ์นั้นบอกว่าท่านทั้งหลายจงเทน้ำทิ้งเสียเถิด เพราะต่อไปอีกไม่ช้าก็จะถึงห้วย หนอง คลอง บึง อันเต็มไปด้วยน้ำ ซึ่งฝนกำลังตกใหม่ ๆ พ่อค้าที่เป็นหัวหน้านั้นก็เชื่อฟัง จึงสั่งให้บริวารเทน้ำทิ้งเสียหมด โดยหวังว่าต่อไปช้าก็จะมีน้ำอยู่ข้างหน้า แต่เมื่อเดินทางไปก็หาได้พบน้ำไม่ ได้พากันหิวโหยอิดโรยทั้งโคทั้งคน ครั้นตกเวลากลางคืนก็พากันนอนไม่รู้สึกสติ พวกยักษ์ก็พากันมากินเสียหมดทั้งโคทั้งคน เหลือแต่เกวียนอันบรรทุกเต็มไปด้วยสินค้าตั้งอยู่ในหาดทรายเท่านั้น ครั้นต่อมาอีกครึ่งเดือน พ่อค้าเกวียนอีกคนหนึ่งจึงพร้อมด้วยบริวารกับเกวียน ๕๐๐ ออกเดินทางตามไปภายหลัง ในเวลาไปถึงทางกันดารนั้น ยักษ์ก็จำแลงเพศมาหลอกลวงเหมือนกับพ่อค้าเกวียนพวกก่อนอีก แต่พ่อค้าเกวียนคนหลังนี้ รู้เท่าทันโดยสังเกตท่วงทีของยักษ์นั้นได้ จึงห้ามมิให้บริวารของตนเทน้ำทิ้งเสีย โดยประกาศว่า ตั้งแต่ไหนแต่ไรมาไม่เคยปรากฏว่าในทางกันดารนี้มีห้วย หนอง คลอง บึงเลย อีกประการหนึ่ง ถ้าฝนเพิ่งตกใหม่ ๆ จริงดังคำเขาว่าแล้ว พวกเราทั้งหลายก็คงจักได้ยินเสียงฟ้าร้องและจักมีลมฝนพัดมาถูกต้อง แต่นี่ไม่ปรากฏเลยสักอย่างเดียว จักต้องเป็นกลอุบายของบุรุษนี้แน่นอน บุรุษนี้คงไม่ใช่มนุษย์ธรรมดา จักต้องเป็นยักษ์หรือผีป่าเป็นเที่ยงแท้ เพราะนัยน์ตาแดงแปลกจากมนุษย์ทั้งหลาย กับไม่กระพริบตาเลย ทั้งกิริยาท่าทางก็องอาจ พวกพ่อค้าเกวียนที่ไปก่อนคงจักถูกยักษ์หรือผีป่านี้กินหมดสิ้นแล้ว โดยไม่ต้องสงสัย ไม่ช้าพวกเราทั้งหลายจักได้ประจักษ์แก่ตา พวกท่านทั้งหลายจึงรีบขับเกวียนไปเถิด ครั้นพ่อค้าที่เป็นหัวหน้าประกาศแก่บริวารดังนี้แล้ว ก็เร่งขับเกวียนต่อไป พอถึงเวลาเย็นก็ได้พบเห็นเกวียนทั้ง ๕๐๐ ของพวกพ่อค้าที่ถูกยักษ์กินตามที่กล่าวมาแล้วนั้น แล้วได้ให้บริวารเลือกสรรเอาสินค้าซึ่งมีราคาในเกวียนทั้ง ๕๐๐ นั้นไปจำหน่ายต่อไป เมื่อพ้นทางกันดารนั้นแล้วก็ไปถึงบ้านเมืองคน ได้จำหน่ายสินค้าแล้วกลับไปสู่บ้านเมืองตนโดยสวัสดิภาพ ครั้นต่อมาในพุทธุปบาทกาลนี้ พ่อค้าเกวียนทั้ง ๕๐๐ ที่ถูกยักษ์กินนั้น ได้มาเกิดเป็นอุบาสกทั้ง ๕๐๐ คนนี้ ส่วนพ่อค้าเกวียนคนที่เป็นหัวหน้าซึ่งไม่หลงเชื่อถือตามคำของยักษ์นั้น ได้เกิดมาเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือเราตถาคตนี้เอง ส่วนบริวารทั้ง ๕๐๐ ของพ่อค้าเกวียนคนนั้น ก็ได้มาเกิดเป็นพุทธบริษัทในบัดนี้ ครั้นสมเด็จพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงอปัณณกชาดกยกเรื่องพ่อค้าเกวียน ๕๐๐ ในอดีตขึ้นแสดงจบลงแล้ว จึงประทานพุทธศาสโนวาทคำสั่งสอนไว้โดยพระพุทธนิพนธ์คาถาว่า อปณฺณกํ ฐานเมเก เป็นอาทิ แปลว่า การถือการคาดคะเนเป็นประมาณจัดเป็นการถือผิด การถือตามเหตุผลซึ่งเป็นจริงจัดเป็นการถือถูก สิ่งใดที่ไม่ผิดผู้เป็นบัณฑิตควรถือสิ่งนั้น ดังนี้ ในชาดกนี้เป็นเครื่องชี้ให้พุทธศาสนิกบริษัททั้งหลายทราบว่า การปฏิบัติมีสองอย่างคือ ปฏิบัติผิด ๑ ปฏิบัติถูก ๑ การปฏิบัติผิดนั้นได้แก่การปฏิบัติโดยการคาดคะเนเชื่อตามคำของผู้อื่นอย่างเดียว เหมือนกับพวกพ่อค้าเกวียน ๕๐๐ ซึ่งเชื่อถือคำของยักษ์เป็นตัวอย่าง ส่วนในการปฏิบัติถูกต้องนั้นได้แก่การถือเหตุผลเป็นประมาณ โดยใช้วิจารณญาณของตนให้แลเห็นผลชั่วและดี เหมือนกับพ่อค้าเกวียนคนหลัง ซึ่งไม่เชื่อคำล่อลวงของยักษ์นั้น อีกประการหนึ่ง ชาดกนี้แลที่โบราณทั้งหลายได้กล่าวเป็นสุภาษิตไว้ว่า หวังน้ำย่อหน้าย่อมอดตาย ดังนี้

“คนพวกหนึ่งกล่าวฐานะอันหนึ่งว่าไม่ผิด นักเดา

ทั้งหลายกล่าวฐานะอันนั้นว่าเป็นที่สอง คนมีปัญญา

รู้ฐานะและมิใช่ฐานะนั้นแล้ว ควรถือเอาฐานะที่ไม่ผิดไว้.”

อปัณณกชาดก จบ.