๓. เสรีววาณิชชาดก (ว่าด้วยเสรีววาณิช)

               ในชาดกนี้พระบรมศาสดาทรงปรารภภิกษุผู้สละความเพียร ดุจแต่หนหลังให้เป็นต้นเหตุว่า ในอดีตกาลล่วงลับมานับแต่กัลป์นี้ถอยหลังไปถึงกัลป์ที่ ๔ มีพ่อค้าอยู่ ๒ คนมีนามว่าเสริวะเหมือนกัน อยู่ในเสริวะประเทศ พ่อค้าทั้งสองคนนั้นอยู่ในตำบลเดียวกัน ได้ไปค้าขายร่วมทางกันเสมอ ครั้นอยู่มาคราวหนึ่งได้ชวนกันสะพายห่อสินค้าเที่ยวไปขายในตำบลหนึ่ง พ่อค้าคนหนึ่งเข้าทางตะวันตกของบ้าน อีกคนเข้าทางตะวันออก คนที่เข้าทางตะวันตกนั้นได้ไปถึงเรือนเศรษฐีตกยากแห่งหนึ่ง ซึ่งมีอยู่แต่ยายกับหลานสาวสองคนเท่านั้น ส่วนหลานสาวพอได้เห็นเครื่องประดับที่พ่อค้านั้นเที่ยวเร่ขายก็ร้องไห้อยากได้ ยายจึงนำถาดเก่าคร่ำคร่าสนิมเกรอะใบหนึ่งออกมาขอแลก พ่อค้าคนนั้น พอเอาเข็มขีดดูก็รู้ว่าเป็นถาดทองคำ จึงชั่งน้ำหนักดูก็เห็นว่าหนักแสนกหาปณะ รู้สึกดีใจคิดอยากได้เปล่า ๆ จึงวางถาดนั้นเสีย แล้วบอกว่าถาดของยายไม่มีราคาเลย ครั้นบอกแล้วก็เดินต่อไปข้างหน้าด้วยหวังว่า เมื่อย้อนกลับมาก็จะได้ถาดนั้นเปล่า ๆ หรือไม่อย่างนั้นก็จะได้แลกด้วยราคาย่อมเยา แต่พอเดินไปสักครู่ใหญ่ ฝ่ายพ่อค้าที่เข้ามาทางตะวันออกก็ถึงเรือนเศรษฐีตกยากนั้นทันที เมื่อยายกับหลานนำถาดใบนั้นออกมาขอแลกเครื่องประดับ จึงจับถาดใบนั้นชูขึ้น เมื่อเห็นว่าหนักแปลกกว่าถาดธรรมดาจึงขีดดูด้วยเข็มก็ทราบว่าเป็นทองคำ จึงบอกตามความจริงว่าถาดใบนี้เป็นทองคำมีราคาแสนกหาปณะ ส่วนสินค้าที่ข้าพเจ้ามีอยู่ มีราคาเพียง ๕๐๐ กหาปณะเท่านั้น ย่อมไม่สมควรจะแลกเปลี่ยนกัน ฝ่ายยายแก่ที่เป็นเจ้าของจึงบอกว่า เมื่อกี้นี้พ่อค้าคนหนึ่งมาดูแล้วเขาว่าเป็นของไม่มีราคา แต่มาบัดนี้ได้ปรากฏขึ้นว่าเป็นทองคำ ก็เห็นจะเป็นบุญของพ่อ พ่อจงให้ยายแลกสินค้าของพ่อเถิด เมื่อยายเจ้าของอ้อนวอนอย่างนี้ถึง    ๒ – ๓ ครั้ง พ่อค้าคนนั้นจึงยอมตกลงยกสินค้าทั้งหมดซึ่งมีราคา ๕๐๐ กหาปณะ กับเงินอีก ๕๐๐ กหาปณะ ให้แก่ยายผู้เป็นเจ้าของ แล้วรีบถือเอาถาดนั้นออกไปจากบ้านโดยเร็ว เมื่อพ่อค้าคนนั้นออกไปพ้นหมู่บ้านแล้วพ่อค้าโกงคนนั้นก็ได้ย้อนกลับมา พอทราบว่าพ่อค้าคนนั้นได้นำถาดนั้นไปแล้วก็เสียใจจนล้มทั้งยืน เมื่อฟื้นสติขึ้นจึงคว้าไม้ค้อนออกวิ่งตาม ได้ไปพบพ่อค้าซึ่งนำถาดทองไปนั้นกำลังเรือจวนจะข้ามแม่น้ำจึงร้องเรียกให้กลับมา แต่เมื่อพ่อค้าคนนั้นไม่กลับคืนมาก็เกิดขัดเคืองผูกอาฆาตว่า ขอให้เราได้ประทุษร้ายท่านในชาติหน้าต่อ ๆ ไป โดยหาประมาณมิได้เถิด ครั้นผูกอาฆาตอย่างนี้แล้วก็มีโลหิตพลุ่งออกทางปาก ด้วยอำนาจความแค้นเคืองเศร้าโศกเสียใจเป็นกำลังถึงกับล้มลงขาดใจตายในหาดทรายริมแม่น้ำในสถานที่นั้น เรื่องนี้แลเป็นเรื่องที่พระเทวทัตผูกอาฆาตในสมเด็จพระบรมศาสดาเป็นปฐม

                ครั้นสมเด็จสมเด็จพระบรมศาสดาจารย์ ทรงยกอดีตนิทานมาแสดงดังนี้จบลงแล้ว จึงประทานพุทธโอวาทไว้ด้วยพระคาถาว่า

                อิธ เจ นํ วีราเธสิ                     สทฺธมฺมสฺส นิยามกํ

                จิรํ ตวํ อนุตปฺเปสิ                   เสริวายํว วาณิโชติ

                แปลว่า ดูก่อนภิกษุ ถ้าเธอพลาดจาดคำสอนซึ่งเป็นของแน่นอนในศาสนาแห่งเราตถาคตนี้  เธอจักเดือดร้อนตลอดกาลนาน เหมือนกับพ่อค้าอันมีนามว่าเสริวะ ซึ่งพลาดจาดถาดทองคำฉะนั้น ดังนี้

                แล้วสมเด็จพระทศพล จึงทรงประชุมชาดกยกบุคคลในท้องเรื่องขึ้นประกาศว่า พาณิชผู้เป็นหินชาติอันธพาล ซึ่งมีสันดานมากไปด้วยโลภเจตนา หวังจะโกงเอาซึ่งถาดทองในคราวนั้น ได้มาเกิดเป็นพระเทวทัตในบัดนี้ ส่วนพาณิชที่เป็นบัณฑิตผู้มั่นอยู่ในสัตย์สุจริตในคราวนั้น ได้มาเกิดเป็นเราตถาคตในบัดนี้

“ถ้าท่านพลาดโสดาปัตติมรรค คือ ความแน่นอน

แห่งสัทธรรมในศาสนานี้ ท่านจะต้องเดือดร้อนใจ

ในภายหลังสิ้นกาลนาน ดุจพาณิชชื่อเสรีวะผู้นี้ ฉะนั้น.”

เสรีววาณิชชาดก จบ.