๕. ตัณฑุลนาฬิกชาดก (ว่าด้วยราคาข้าวสาร)

(๕) ตัณฑุลนาฬิกชาดก (ว่าด้วยราคาข้าวสาร)

                สมเด็จพระบรมศาสดาได้ทรงปรารภพระอุทายีเถรเจ้าให้เป็นต้นเหตุมีเนื้อความสืบต่อไปว่า พระอุทายีได้ติเตียน   พระทัพพมัลบุตรผู้มีหน้าที่แจกอาหารแก่สงฆ์ว่าไม่ยุติธรรม สงฆ์จึงพร้อมกันมอบหน้าที่แจกอาหารให้แก่พระอุทายี พระอุทายีเมื่อได้รับหน้าที่แล้วก็แจกไม่เป็น คือผู้ที่ควรได้ก่อนก็ได้ที่หลัง ผู้ที่ควรได้ทีหลังก็ได้ก่อน ภิกษุสามเณรทั้งหลายจึงได้ต่อว่าพระอุ-ทายีโดยประการต่าง ๆ แล้วถอดพระอุทายีออกจากหน้าที่เสียเมื่อทราบถึงพระบรมศาสดา พระองค์ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระอุทายีถูกถอดออกจากหน้าที่แต่ในบัดนี้ เท่านั้นก็หาไม่ ถึงกาลก่อนก็ได้ถูกถอดออกจากหน้าที่มาแล้วเหมือนกัน ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลให้ทรงแสดงเรื่องอดีต พระองค์จึงตรัสว่า ในอดีตกาล ล่วงแล้วแต่หลัง ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี มีอำมาตย์ผู้เป็นเจ้าหน้าที่ตีราคาของหลวงคนหนึ่ง ซึ่งเป็นคนเฉลียวฉลาดรอบรู้ ในราคาสิ่งทั้งปวง ในเวลาจะซื้อของหลวงย่อมตีราคาของได้โดยถูกต้องเสมอมา แต่พระเจ้ากรุงพาราณสีนั้นมีพระหฤทัยเต็มไปด้วยความโลภ ประกอบด้วยเจตนา ละโมบเป็นนิสัย ทรงเห็นว่าอำมาตย์ผู้นั้นซื้อของหลวงด้วยราคาแพงเกินไป พระองค์จึงไม่ทรงพอพระราชหฤทัย ครั้นอยู่มาวันหนึ่ง พระองค์ได้ทรงทอดพระเนตรเห็นซึ่งบุรุษชาวบ้านนอกคนหนึ่งเดินผ่านหน้าพระราชวังมา พระองค์ทรงเห็นว่า บุรุษคนนั้นจะเป็นคนฉลาดสามารถซื้อของหลวงได้โดยราคาเยา  จึงทรงสั่งถอดเจ้าหน้าที่ซื้อของหลวงคนเก่าออกเสีย แล้วตั้งบุรุษคนนั้นแทน บุรุษคนนั้นเป็นคนโง่เขลาไม่เข้าใจในราคาสิ่งของแม้แต่อย่างใดอย่างหนึ่ง ครั้นต่อมา มีพวกพ่อค้าม้านำม้า ๕๐๐ ไปขายที่กรุงพาราณสี พระเจ้ากรุงพาราณสีจึงรับสั่งให้ซื่อไว้ บุรุษผู้เป็นเจ้าหน้าที่คนใหม่นั้น จึงให้หาพวกพ่อค้าม้าเข้าไปในพระราชวัง แล้วตีราคาม้าทั้ง ๕๐๐ ตัวเท่ากับราคาข้าวสารทะนานหนึ่ง แล้วต้อนม้าทั้ง ๕๐๐ นั้นเข้าสู่โรงม้าหลวง ฝ่ายพวกพ่อค้าเมื่อไม่รู้จะทำประการใดก็พากันไปหาอำมาตย์ผู้เป็นเจ้าหน้าที่คนเก่า เล่าเรื่องให้ทราบตลอดแล้วขอความช่วยเหลือ อำมาตย์ผู้เป็นเจ้าหน้าที่คนเก่า จึงบอกอุบายให้ติดสินบนซึ่งเจ้าหน้าที่คนใหม่ เพื่อให้ตีราคากรุงพาราณสีเหมือนกับตีราคาม้า ๕๐๐ ตัว ในที่เฝ้าสมเด็จพระเจ้ากรุงพาราณสี พวกพ่อค้าม้าก็พากันทำตามอุบายได้ไปติดสินบนเจ้าหน้าที่คนใหม่นั้น แล้วพร้อมกันเข้าเฝ้าพระเจ้ากรุงพาราณสี ฝ่ายอำมาตย์ผู้เป็นเจ้าหน้าที่คนเก่ากับเหล่าบริวารก็พากันเข้าเฝ้าด้วย เมื่อพระเจ้ากรุงพาราณสีเสด็จออก พ่อค้าที่เป็นหัวหน้าผู้ใหญ่จึงถามเจ้าหน้าที่คนใหม่ว่า ข้าแต่นาย ม้าทั้ง๕๐๐ นั้นมีราคาเท่าไร เขาก็ตอบว่า มีราคาเท่าข้าวสารทะนานหนึ่ง แล้วพ่อค้าม้าก็ถามต่อไปว่า ข้าวสารทะนานหนึ่งมีราคาเท่าไร เขาก็ตอบว่า มีราคาเท่ากรุงพาราณสี เมื่อพระเจ้าพรหมทัตได้ทรงสดับก็ทรงขัดเคืองยิ่งนัก ฝ่ายเจ้าหน้าที่คนเก่ากับเหล่าบริวาร ก็พร้อมกันตบมือหัวเราะเยาะเย้ยซึ่งเจ้าหน้าที่คนใหม่ ในที่เฝ้าสมเด็จพระเจ้ากรุงพาราณสี พระเจ้ากรุงพาราณสีก็ทรงมีความละอายยิ่งนัก จึงตรัสให้ถอดเจ้าหน้าที่คนใหม่นั้นออกจากตำแหน่งเสีย แล้วทรงมอบตำแหน่งนั้นให้กับอำมาตย์คนเก่าอีกต่อไป ในชาดกนี้ มีพระพุทธ-นิพนธ์คาถาว่า กิมคฺฆติ ตณฺฑุลนา เป็นอาทิ มีใจความเป็นคำถามถึงราคาม้า และราคากรุงพาราณสี ดังที่แสดงมาแล้วนั้น

                ครั้นสมเด็จพระบรมศาสดาทรงแสดงเรื่องอดีตดังนี้จบลงแล้ว จึงทรงประชุมชาดกว่า บุรุษชาวบ้านนอกผู้ตีราคาในคราวนั้น ได้เกิดมาเป็นพระอุทายีในบัดนี้ ส่วนอำมาตย์ผู้เป็นเจ้าหน้าที่ตีราคาของหลวงคนเก่าในคราวนั้น คือเราตถาคตนี้เอง ในเรื่องนี้เป็นเครื่องชี้ให้เข้าใจว่าคนเราไม่ว่าผู้ใดผู้หนึ่ง เมื่อเป็นคนโง่เขลาย่อมปราศจากลาภผลเสมอไป ถึงแม้จะได้รับหน้าที่อันดี ก็ไม่สามารถจะดำรงคงอยู่ในหน้าที่นั้นได้ ส่วนผู้มีสติปัญญา ถึงแม้จะอยู่ในที่ใดก็ย่อมบริบูรณ์ไปด้วยลาภผล แม้ว่าตนจะถูกปลดจากตำแหน่งก็จะได้กลับเข้ารับตำแหน่งหน้าที่นั้นอีกต่อไป มีเจ้าหน้าที่ตีราคาของหลวงทั้งสองคนเป็นนิทัศนอุทาหรณ์

“ข้าวสารทะนานหนึ่งมีราคาเท่าไร พระนคร

พาราณาสี งภายใน ภายนอกมีราคาเท่าไร

ข้าวสารทะนานเดียว มีค่าเท่าม้า ๕๐๐ เทียวหรือ.”

ตัณฑุลนาฬิชาดก จบ.

               

พิมพ์ ๑๑ กันยายน ๒๕๕๙