ทิศหก (หลักสูตรการปรองดอง)

 

 

ทิศหก

ทิศ บาลีเป็น ทิส (อ่านว่า ทิสะ) พจนานุกรม มคธ-ไืทย ของพันตรี ป. หลงสมบุญ ให้คำจำกัดความไว้ว่า ทิส (ปุ) ข้าศึก ,ศัตรู, หรือโจรผู้ปรากฏ

หนังสือพระไตรปิฎก ฉบับภาษาไทย สุตตันปิฎก เล่ม ๓ ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค สิงคาลกสูตร ข้อ ๑๙๘ มีว่า ดูกรคฤหบดีบุตร ก็อริยสาวกเป็นผู้ปกปิดทิศทั้งหกอย่างไร? (ฉทิสาปฏิจฺฉาที โหติ) พึงทราบทิศ ๖ และการปกปิดทิศ (เพื่อให้เกิดความปรองดอง) ดังต่อไปนี้ คือ :-

คำว่า ปกปิดทิศ ๖ นั้น ในทางปฎิบัติจริงหมายถึง ปกปิดข้าศัก ศัตรู หรือปกปิดโจรผู้ร้ายที่ปรากฏไม่ให้มีมาปรากฏในคน ๖ กลุ่มนี้ ปกปิดด้วยการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมให้เกิดให้มีขึ้นในชีวิต ของแต่ละคน ๆ ตามหน้าืที่ที่ตนเป็นอะไร เ่ช่น เป็นมารดาบิดา ย่อมมีคุณธรรมจริยธรรมต่อบุตรธิดา ๕ อย่าง และบุตรธิดาก็มีคุณธรรมจริยธรรมต่อมารดาบิดา ๕ อย่าง เป็นครูอาจารย์ ย่อมมีคุณธรรมจริยธรรมต่อศิษย์หรืออันเตวาสิก ๕ อย่าง เป็นต้น

๑. มารดาบิดา เป็นทิศเบื้องหน้า ให้มีคุณธรรมจริยธรรมต่อบุตรธิดา ๕ อย่าง
๒. ครูอาจารย์ เป็นทิศเบื้องขวา ให้มีคุณธรรมจริยธรรมต่อศิษย์์หรืออันเตวาสิก ๕ อย่าง
๓. บุตรธิดาและภรรยา เป็นทิศเบื้องหลัง ให้มีคุณธรรมจริยธรรมต่อมารดาบิดาต่อสามี ๕ อย่าง
๔. มิตรและัอำมาตย์ (ข้าราชการ) เป็นทิศเบื้องซ้่าย ให้มีคุณธรรมจริยธรรมต่้อกุลบุตรกุลธิดา ๕ อย่าง
๕. ทาสและกรรมกร เป็นทิศเบื้องล่าง ให้มีคุณธรรมจริยธรรมต่อเจ้านาย (นายจ้่าง) ๕ อย่าง
๖. สมณพราหมณ์ (พระสงฆ์) เป็นทิศเบื้องบน ให้มีคุณธรรมจริยธรรมต่อกุลบุตรกุลธิดา ๖ อย่าง
หากคนใดในสังคมกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งใน ๖ กลุ่มนี้ ไม่มีคุณธรรมจริยธรรมดังที่กล่าวมาแล้วนั้น ความปรองดองก็เกิดมีไม่ได้ แพราะทิศ (ข้าศึก ศัตรู โจรผู้ร้าย) ทั้ง ๖ ไม่ปกปิดไว้ (คุณธรรมจริยธรรมในคน ๖ กลุ่มไม่มี) มีแต่จะเป็นข้าศึก เป็นศัตรูต่อกันและักันเท่านั้น หาความปรองดองในสังคมไม่ได้

= คุณธรรมจริยธรรม =

คุณธรรม (คุณ + ธรรม) แปลว่า ธรรมที่ทำให้ชีวิตทรัพย์สิน ของผู้ปฏิบัติตามได้รับคุณฝ่ายเดียว โดยไม่ประสบโทษานุโทษแต่อย่างใด เรียกว่า “คุณธรรม “ ทางพระจะเรียกคุณธรรมว่า “กุสลา ธัมมา หรือกุศลธรรม” ซึ่ง แปลว่า ธรรมที่ทำให้ผู้ปฏิบัติตามเป็นคนฉลาดในการดำเนินชีวิต มีอยู่ ๑๐ ประการ คือ กุศลธรรมทางกาย ๓ ทางวาจา ๔ และทางใจ ๓ (ไปดู กุศลกรรมบถ ๑๐ ในหนังสือ นวโกวาท)

จริยธรรม (จริย + ธรรม) แปลว่า ธรรมที่ควรประพฤติปฏิบัติตาม เรียกว่า จริยธรรม ในทางปฏิบัติย่อมหมายถึง คุณธรรมหรือกุศลธรรม ๑๐ ประการดังกล่าว เป็นธรรมที่ควรประพฤติปฏิบัติ ส่วนธรรมที่ไม่ควรประพฤติปฏิบัติตาม คือ อกุสลา ธัมมา หรืออกุศลธรรม ซึ่งแปลว่า ธรรมที่ทำให้ผู้ปฏิบัติตามเป็นคนไม่ฉลาดในการดำเนินชีวิต มีอยู่ ๑๐ ประการ คือ อกุศลธรรมทางกาย ๓ ทางวาจา ๔ และทางใจ ๓

 

(๑) มารดาบิดาเป็นทิศเบื้องหน้า ให้มีคุณธรรมจริยธรรมต่อบุตรธิดา ๕ อย่าง คือ :-

๑. ปาปา นิวาเรนฺติ. มารดาบิดาย่อมปิดกั้นความประพฤติของลูกให้พ้นจากบาป คือ ไม่นำพาลูกประพฤติปฏิบัติอกุศลธรรม ๑๐ ประการ มาเลี้ยงชีพในครอบครัวหรือสร้างฐานะ เพราะเป็นธรรมชั่วหรือบาป หากเลี้ยงลูกด้วยบาป ย่อมเป็นเหตุให้ลูกเป็นคนบาป เมื่อไปร่วมในสังคมจะก่อกวนให้เกิดการแตกแยก แต่ถ้าเลี้ยงลูกด้วยการเว้นบาป ๑๐ ประการนั้น ย่อมเป็นเหตุให้ลูกเป็นคนไม่มีบาป เมื่อไปร่วมในสังคมจะประสานให้เกิดการปรองดอง

๒. กลฺยาเณ นิเวเสนฺติ. มารดาบิดาย่อมให้ลูกเข้าไปอาศัยอยู่กับกัลยาณธรรม (กัลยาณธรรม คือ กุศลธรรม ๑๐ และศีล ๕) หรืออาศัยอยู่กับกัลยาณมิตร คือ คนหรือองค์กรหรือสถาบันที่ประพฤติปฏิบัติในกุศลธรรม ๑๐ ประการเท่านั้น ลูกจึงจะได้รับการอบรมสั่งสอนในกัลยาณธรรม คือ ให้ประพฤติปฏิบัติด้วยการเว้นบาปทั้ง ๑๐ ประการได้

๓. สิปฺปํ สิกฺขาเปนฺติ. มารดาบิดาย่อมให้ลูกได้ศึกษาศิลปวิทยา ทั้งศิลปวิทยาในการประกอบอาชีพ เช่น พาณิชกรรม เวชกรรม เป็นต้น และศิลปวิทยาในการเอาตัวรอด เช่น ศิลปในการกระทำทางกายให้เป็น สัมมากัมมันตะ (ทำการงานเป็นกุศลกายกรรม ๓) ศิลปในการพูดให้เป็น สัมมาวาจา (พูดให้เป็นกุศลวจีกรรม ๔) ศิลปในการคิดให้เป็น สัมมาทิฏฐิ (คิดให้เป็นกุศลมโนกรรม ๓) เรียกว่า ศิลปในการเอาตัวรอดจากการแตกแยกหรือจากทุกข์ทั้งปวง

๔. ปฏิรูเปน ทาเรน สญฺโญเชนฺติ. มารดาบิดาให้ลูกได้รับโอชะ หรือได้รับความรุ่งเรืองด้วยเมีย (สิ่งที่ลูกชอบใจและเป็นส่วนกุศลธรรมด้วย) ที่สมควรแก่อัตภาพของเขา คือ เมื่อลูกชอบบวช ชอบเรียน ชอบศึกษาค้นคว้า ชอบสร้างซ่อมแซมเครื่องยนต์ ชอบการก่อสร้าง ชอบเขียนภาพ ถ่ายภาพ เป็นต้น โดยไม่ชอบแต่งงานกับคน ดังนี้ก็เรียกว่า“เมีย” ตามภาษาบาลี หรือลูกชอบการแต่งงานกับคน มารดาบิดาก็แนะนำให้เขาเลือกผู้เป็นกัลยาณมิตรด้วยตนเอง ถ้าเห็นว่าไม่ควรย่อมตักเตือนหรือแนะแนวทางให้เขาเลือกใหม่ได้ เป็นต้น

๕. สมเย ทายชฺชํ นิยฺยาเทนฺติ. มารดาบิดาควรมอบทรัพย์หรือโอนความเป็นทายาทให้ลูก ๆ ในสมัยที่ตนไม่มีความสามารถจะบริหารได้อีกต่อไป ให้ตั้งหน้าตั้งตาบำเพ็ญประโยชน์ตนทางจิตวิญญาณอย่างเดียวก็พอ ก่อนชีวิตจะล่วงลับไปจากโลกนี้ ให้ลูก ๆ อุปถัมภ์เลี้ยงดูด้วยปัจจัยต่าง ๆ มีอาหารการบริโภค เป็นต้น

= เอวมสฺส เอสา ปุรตฺถิมา ทิสา ปฏิจฺฉนฺนา โหติ เขมา อปฺปฏิภยา. แปลเป็นไทยว่า ทิศ (ข้าศึก ศัตรู โจรผู้ร้าย) เบื้องหน้านั้น ชื่อว่าอันลูก ๆ ปกปิดให้เกษมสำราญ ให้ไม่มีภัย (ไม่มีภัย ๑๐ อย่าง) ด้วยประการฉะนี้. (ทำให้เกิดความปรองดอง เพราะมารดาบิดามีคุณธรรมจริยธรรมต่อลูก ๕ อย่าง และลูกก็มีคุณธรรมจริยธรรมต่อมารดาบิดา ๕ อย่างด้วยเช่นกัน)

(๒) บุตรภรรยาเป็นทิศเบื้องหลัง มีคุณธรรมจริยธรรมต่อมารดาบิดา ๕ อย่าง คือ :-

๑. ภโต เนสํ ภริสฺสามิ.  ลูก ๆ ย่อมมีความตั้งใจไว้ว่า ท่านเลี้ยงเรามาแล้วเราจักเลี้ยงท่านตอบ และการเลี้ยงตอบแทนมารดาบิดาที่ยังมีชีวิตอยู่นั้น มี ๒ ลักษณะ คือ การเลี้ยงดูโดยตรงในเมื่อตนอยู่บ้านหลังเดียวกับท่าน และการเลี้ยงโดยปริยาย โดยการส่งปัจจัยต่าง ๆ มีเงิน ผ้านุ่งห่ม อาหาร เป็นต้น ไปสมทบกับลูกผู้อยู่บ้านกับท่าน และไปเยี่ยมเยียนท่านบ้างตามกาลเวลาที่เหมาะสม ในเมื่อตนมีหลักฐานบ้านเรือนอยู่ที่อื่น

๒. กิจฺจํ เนสํ กริสฺสามิ.  เราจักรับทำกิจที่ควรทำของท่าน คือ กิจการใดที่มารดาบิดาทำอยู่เป็นประจำ ก็ควรตรวจดูว่า เป็นกิจการเป็นบาปหรือไม่ (บาป คือ อกุศลกรรม ๑๐ อย่าง) หากเห็นว่าเป็นอกุศลกรรมควรแสดงให้ท่านทราบ แล้วหากิจการที่เป็นกุศลหรือเป็นความดีไม่เป็นบาปมาทำแทน โดยอธิบายให้ท่านเข้าใจ แต่ถ้ากิจการที่ท่านทำอยู่ประจำนั้นเป็นกุศลหรือเป็นความดีอย่างใดอย่างหนึ่งใน ๑๐ อย่างนั้น โดยท่านทำอยู่แล้ว ผู้เป็นลูกย่อมทำแทนท่านได้ทันที

๓. กุลวํสํ ฐเปสฺสามิ. เราจักดำรงวงศ์สกุล คือ รักษาความดีที่มารดาบิดาทำไว้แล้ว เหมือนเกลือรักษาความเค็ม ฉะนั้น วงศ์สกุลที่จัดว่าเป็นวงศ์สกุลดีอันมารดาบิดาทำประจำอยู่ เช่น ท่านยินดีในการทาน การประพฤติศีลอุโบสถ การฟังธรรมเทศนา การขวนขวายช่วยเหลือกิจการที่เป็นกุศลหรือความดีในสังคม มีสังคมในวัด เป็นต้น หรือท่านชอบเจริญวิปัสสนาภาวนา เหล่านี้จัดว่ามารดาบิดาสร้างวงศ์สกุลที่ดีไว้ทั้งสิ้น เราผู้เป็นลูกย่อมดำรงหรือสืบต่อไว้อย่าให้ขาดจึงจะเรียกว่า ดำรงวงศ์สกุลที่เป็นฝ่ายดี ส่วนวงศ์สกุลฝ่ายชั่วหรือบาป (อกุศลกรรม) ที่มารดาบิดาสร้างไว้ ลูก ๆ เห็นว่ามีผลเป็นทุกข์ เกิดปัญหาในสังคมให้งดเสียไม่สืบต่อไว้อีก

๔. ทายชฺชํ ปฏิปชฺชามิ. เราจักปฏิบัติตนให้เป็นผู้ควรรับมรดก มรดก ตามความหมายด้านภาษาธรรมหรือภาษาจิตวิญญาณ หมายถึง การประพฤติปฏิบัติของมารดาบิดา ๓ ลักษณะ คือ (๑) ประพฤติปฏิบัตกุศลธรรมหรือความดี ๑๐ อย่าง (๒) ประพฤติปฏิบัติอกุศลธรรมหรือความชั่ว ๑๐ อย่าง (๓) ประพฤติปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานหรือความไม่ดีไม่ชั่ว ๔ อย่าง หากลูกคนใดยินดีสนับสนุนหรือประพฤติปฏิบัติตามมารดาบิดาในกุศลธรรม ย่อมชื่อว่าเป็นทายาทฝ่ายดี แต่ถ้าลูกคนใดประพฤติอกุศลธรรมเหมือนมารดาบิดา ชื่อว่าเป็นทายาทฝ่ายชั่ว ต่อไปย่อมได้รับผลเป็นทุกข์ แตกแยก มีปัญหานานาชนิด ถ้าประพฤติปฏิบัติวิปัสสนา ฯ สายกลางเหมือนมารดาบิดา จัดว่าเป็นทายาทดีที่สุดในโลกใบนี้.

๕. อถวา ปน เปตานํ กาลกตานํ ทกฺขิณํ อนุปฺปทสฺสามิ. ก็หรือว่า เมื่อท่านทำกาลกิริยาไปแล้ว (เสียชีวิตไป) จักตามเพิ่มให้ซึ่งทักษิณาทาน (ทำบุญอุทิศหาท่าน) เรื่องนี้ชาวพุทธเราควรแยกให้ออก คำว่า ทำบุญ หมายถึง การทำทาน ๑ การประพฤติศีล ๑ การภาวนาหรือการอบรมบ่มนิสัยให้ดีและตรง ๑ ถ้าฆ่าสัตว์ไปทานก็ดี ลักทรัพย์ไปทานก็ดี ประพฤติผิดในกามไปทานก็ดี พูดปดหรือพูดหลอกลวงเอาทรัพย์ไปทานก็ดี ทานสุราหรือเบียร์ก็ดี ทานมหรสพหลาย ๆ อย่างให้คนดูฟรี ๆ เป็นต้น ก็ดี คิดว่าเป็นบุญมาก ๆ แล้วอุทิศไปหามารดาบิดาผู้ล่วงลับไปแล้วนั้น จัดว่าเป็นคนมิจฉาทิฏฐิ คือ มีความคิดเห็นผิดเป็นชอบอย่างมาก ความจริงแล้วเป็นการทำบาปอุทิศไปหาท่าน คำกรวดน้ำจะกลายเป็นว่า (อิมินา ปาปกัมเมนะ ไม่ใช่ อิมินา ปุญญกัมเมนะ) และสร้างนรกไว้ในใจของคนผู้จัดทำด้วย หากคนเช่นนี้ไปสัมพันธ์กับสังคมใด ๆ มีแต่จะก่อการทะเลาะวิวาท ขัดขวาง แย่งชิง เอาเปรียบเอารัด ทำให้แตกแยก หาความปรองดองมิได้ โปรดไตร่ตรองให้ดี พุทธภาษิตว่า “น หิ เวเรน เวรานิ สมฺมนฺตีธ  กุทาจนํ.” ในกาลไหน ๆ เวรในโลกนี้ย่อมระงับด้วยเวรไม่ได้เลย. (ขุ. ธ. ๒๕/๑๕.)

(๓) สามีเป็นทิศเบื้องหลัง มีคุณธรรมจริยธรรมต่อภรรยา ๕ อย่าง คือ :-

๑. สมฺมานนาย. ด้วยการยกย่องนับถือว่าเธอเป็นภรรยาที่ดี กล่าวคือ สามีผู้สมบูรณ์ด้วยคุณธรรมจริยธรรมที่ดีต่อภรรยา ย่อมแสดงความนับถือด้วยการใช้ถ้อยคำที่สมควร คือ คำสุภาพ นุ่มนวน เป็นคำอ่อนโยนละมุนละไม เป็นถ้อยคำที่ชาวบ้านผู้เป็นสุภาพชนเรียกกัน เช่น ถ้าลูกคนแรกชื่อพัด หรือชื่อดิษฐ์ เป็นต้น ก็นำมาเป็นถ้อยคำเรียกภรรยาด้วยความนับถือว่า แม่พัด แม่ดิษฐ์ เป็นต้น การที่สามีใช้ถ้อยคำพูดกับภรรยาในลักษณะดังกล่าวเรียกว่า แสดงคำพูดด้วยการยกย่อง นับถือในภรรยา อนึ่ง สามีควรสร้างนิสัยเป็นคนซื่อสัตย์ ซื่อตรงต่อภรรยาด้วยการแสดงตนเป็นคนเปิดเผยไม่มีความลับต่อภรรยา เช่น บอกภรรยาก่อนออกจากบ้านและเมื่อกลับมาก็บอก เข้าทำนองว่า “ไปให้ลามาให้บอก” เป็นต้น หากสามีปฏิบัติตามนี้ความปรองดองในสังคมย่อมมีได้ หากไม่ปฏิบัติตามนี้ย่อมจะเป็นเหตุนำไปสู่ความแตกแยกหาความปรองดองมิได้

๒. อวิมานนาย. ด้วยการไม่ดูหมิ่นภรรยา คือ ไม่ทุบตี ไม่ด่าว่าภรรยาด้วยกิริยาวาจาอันหยาบคาย หากภรรยาพูดผิด ทำผิด หรือล่วงละเมิดอำนาจของตนไป เพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือจงใจก็ตาม สามีย่อมว่ากล่าวสั่งสอนโดยดี แต่เมื่อว่ากล่าวสั่งสอนโดยดีหลายครั้งแล้วไม่เชื่อฟัง ให้หาอุบายบางอย่างเพื่อให้ภรรยาเลิกละการกระทำผิดและการดื้อดึงนั้นโดยทางอื่น เช่น บอกกล่าวผู้ใหญ่ คือ มารดา บิดา หรือปู่ ย่า ตา ยาย พี่น้องของภรรยา ให้ช่วยว่ากล่าวสั่งสอน เป็นต้น ถ้าภรรยายังไม่เชื่อฟังอยู่อีกก็ให้สามีตรวจสอบ “กรรมชั่ว” ของตนในอดีต หรือนำเหตุการณ์ไปปรึกษาหารือกับสัตบุรุษ ผู้มีปัญญาดีกว่าตน เพื่อหลีกเลี่ยงการทะเลาะวิวาทอันจะนำไปสู่การดูหมิ่นดูแคลนภรรยาซึ่งเป็นเหตุแห่งการแตกแยก อันเนื่องมาจากสามีขาดคุณธรรมจริยธรรมอันดีงามต่อภรรยา

๓. อนติจริยาย. ด้วยการไม่ประพฤติล่วงเกิน คือ ไม่ประพฤตินอกใจโดยการละเลยภรรยาของตนไปยินดีต่อหญิงอื่น สามีควรมีความยินดีต่อภรรยาของตนเสมอไป ไม่ควรนอกใจภรรยาของตนเป็นอันขาด เพราะจะทำให้เกิดความบาดหมางหรือทำให้โกรธเคืองกัน เพราะความผิดอันใดที่จะให้เกิดผิดใจกับภรรยายิ่งไปกว่าการที่สามีนอกใจนั้นไม่มี พระพุทธเจ้าเห็นโทษหรือความทุกข์ของสามีภรรยาเกี่ยวกับเรื่องนี้ จึงได้บัญญัติศีลหรือความปรกติในชีวิตข้อ ๓ ในศีล ๕ มีว่า “กาเมสุ มิจฉาจารา เวรมณี สิกขาปทัง สมาทิยามิ” แปลว่า ข้าพเจ้า (คือ สามีหรือภรรยา) ย่อมสมาทานสิกขาบทอันจะนำภัยเวรมาสู่ตัว คือ เจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการประพฤติผิดในกามทั้งหลาย (ผิดในกาม คือ ประพฤติล่วงละเมิดในคนรัก ในของรักต่าง ๆ ที่มีคนอื่นรักและหวงแหนอยู่) หากล่วงละเมิดความปรองดองย่อมเกิดขึ้นในสังคมไม่ได้ จะมีแต่ความแตกแยกเรื่อยไป ในเมื่อไปร่วมกับสังคมใด ๆ ก็ตาม

๔. อิสฺสริยโวสฺสคฺเคน. ด้วยการมอบความเป็นใหญ่ให้เธอ เรื่องนี้พระอรรถกถาจารย์กล่าวหมายถึง เป็นใหญ่หรือเป็นอิสระในการทำครัว เพราะอาหารเป็นของสำคัญในครอบครัว หากแม่บ้าน (แม่บ้านที่ดี) ไม่ได้รับเป็นอิสระเต็มที่เกี่ยวกับอาหารการกินแล้ว จะทำให้พ่อบ้านตลอดถึงครอบครัวทั้งสิ้นไม่ได้บริโภคอาหารที่ดีมีประโยชน์ต่อสุขภาพ ตามสมควรแก่ฐานะของตนเป็นแน่ ส่วนภรรยาเมื่อได้รับอิสระในการทำครัวแล้วจะมีศิลปะในการปรุงอาหารให้ได้รสเลิศถึงขั้นมี “เสน่ห์ปลายจวัก” คือ เสน่ห์ที่เกิดจากฝีมือปรุงอาหารให้ได้รสโอชะหรือไม่เพียงใด  หากชีวิตแม่บ้านคนใดมีเสน่ห์ปลายจวักไม่เพียงพอหรือไม่มีเลย จะทำให้เสน่ห์อื่น ๆ ในตัวภรรยาคนนั้นเสื่อมเสียไปหมดสิ้น ความปรองดองจะเกิดมีในสังคมครอบครัวหรือสังคมอื่น ๆ ไม่ได้ โปรดตรวจสอบให้ดี

๕. อลงฺการานุปฺปทาเนน. ด้วยการให้เครื่องประดับตกแต่ง คือ สามีควรให้เครื่องประดับประดาตามสมควรแก่ฐานะของตน ถึงแม้ว่าภรรยาจะมีเครื่องแต่งตัวติดมาแต่ตระกูลเดิมก็ตาม สามีควรหาให้ใหม่ เพื่อจะได้เป็นที่ชื่นใจของภรรยา เช่น เครื่องนุ่งห่มใหม่ ๆ และนำเครื่องประดับภายในมามอบให้ภรรยาด้วย คือ ศีล ๕ กุศลกรรมบถหรือความดี ๑๐ อย่าง มีเจตนางดเว้นจากการทำปาณาติบาตมาทำครัว เป็นต้น จะเป็นการปฏิบัติให้ตรงกับคำว่า “ไก่งามเพราะขน คนงามเพราะแต่ง” ดังนี้ หรือคำว่า “คนจะงามงามน้ำใจ ใช่ใบหน้า คนจะสวยสวยจรรยา ใช่ตาหวาน คนจะแก่แก่ความรู้ใช่อยู่นาน คนจะรวยรวยสินทานใช่บ้านโต” ดังนี้ สามีคนใดมอบสีลาภรณ์เป็นเครื่องประดับตกแต่งใจให้แก่ภรรยาตน ภรรยาของสามีคนนั้นย่อมจะนำความปรองดองมาสู่สังคมในครอบครัวได้ และจะแผ่ไพศาลไปสู่สังคมอื่น ๆ ได้ในทุก ๆ กรณีด้วย.

ตอนท้ายของทิศเบื้องหลัง พระพุทธองค์จะทรงตรัสว่า “เอวมสฺส เอสา ปจฺฉิมา ทิสา ปฏิจฺฉนฺนา โหติ เขมา อปฺปฏิภยา.” แปลเป็นไทยว่า ทิศ (ข้าศึก ศัตรู หรือโจรผู้ร้าย) เบื้องหลังนั้น ชื่อว่าอันสามีปกปิดให้เกษมสำราญ ให้ไม่มีภัย ด้วยประการฉะนี้. (ทำให้เกิดความปรองดอง เพราะสามีมีคุณธรรมจริยธรรมต่อภรรยา ๕ อย่าง และภรรยามีคุณธรรมจริยธรรมต่อสามี ๕ อย่างด้วยเช่นกัน)

 

(๔) ภรรยาเป็นทิศเบื้องหลัง มีคุณธรรมจริยธรรมต่อสามี ๕ อย่าง คือ :-

๑. สุสํวิหิตกมฺมนฺตา จ โหติ. ภรรยาย่อมเป็นผู้ทำการงานอันเป็นประโยชน์เกื้อกูลให้ดี ๆ และเป็นระเบียบเรียบร้อย การงานอันเป็นประโยชน์เกื้อกูล คือ สัมมากัมมันตะ ทำการงานชอบ ได้แก่ งานไม่ผิดศีล ๕ และไม่ผิดกุศลกรรมบถ ๑๐ แม้งานทำอาหารบริโภคยิ่งสำคัญมากในครอบครัว หากแม่บ้านมีคุณธรรมจริยธรรมหรือมีฝีมือในการปรุงอาหารถึงขั้น “เสน่ห์ปลายจวัก” และงดเว้นไม่นำสัตว์มีชีวิต (ปลามีชีวิต เป็นต้น) และไม่นำสิ่งมีลมปราณ (ไข่เป็ด ไข่ไก่ เป็นต้น) มาทำอาหารด้วยแล้ว ครอบครัวย่อมได้เหตุแห่งความปรองดอง ๒ ประการ คือ ครอบครัวได้บริโภคอาหารดีมีรสเลิศ และอาหารที่บริโภคนั้นไม่มีเวรจากวิญญาณสัตว์และวิญญาณไข่ เป็นต้น มารบกวนใจให้เกิดการแตกแยก ส่วนการงานในบ้านหรืองานนอกบ้านอื่น ๆ ของภรรยาที่ดีย่อมเลือกทำเฉพาะที่เป็น “สัมมากัมมันตะ” เท่านั้น ความแตกแยกจึงจะไม่เกิดมีในครอบครัวและในสังคมอื่น ๆ ที่เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย.

๒. สุสงฺคหิตปริชนา จ. สงเคราะห์คนข้างเคียง คือ ญาติฝ่ายสามีและฝ่ายภรรยาให้ดี ด้วยสิ่งที่เป็นประโยชน์ เกือกูล คำโบราณที่คนนำมาพูดและเขียนมากว่า “ถึงจะเป็นชาติเป็นเชื้อ ถ้าไม่มีความเอื้อเฟื้อก็เหมือนเนื้อในป่า” และมีว่า “ถึงไม่ใช่ชาติไม่ใช่เชื้อ ถ้ามีความเอื้อเฟื้อก็เหมือนเนื้ออาตมา” ในทางปฏิบัติจริงย่อมตรงกับคุณธรรมจริยธรรมของภรรยาในข้อ ๒ นี้พอดี คือ การสงเคราะห์ญาติข้างเคียงในสิ่งที่เป็นประโยชน์เกื้อกูล (ไม่ใช่สิ่งที่เป็นบาปอกุศล) เป็นญาติพี่น้องเอื้อเฟื้อกัน พระอรรถกถาจารย์อธิบายการสงเคราะห์ไว้ว่า ธรรมดาหญิงแม่บ้านแม่เรือนที่ดี ต้องเป็นคนรู้จักใกล้รู้จักไกล รู้จัก (สิ่ง) ที่ควรเผื่อแผ่ไม่ควรเผื่อแผ่ รู้จักต่ำรู้จักสูงจึงจะใช้ได้ เพราะแม่บ้านแม่เรือนนั้นย่อมมีคนเกี่ยวข้องทั้งข้างซ้ายข้างขวา ข้างหน้าข้างหลัง ข้างล่างข้างบน (คน ๖ กลุ่มหรือทิศทั้งหก) เพื่อให้เกิดความปรองดองจึงควรสงเคราะห์ให้ดี ๆ ด้วยการยกย่องนับถือบ้าง ด้วยการส่งสิ่งของ (สิ่งเป็นประโยชน์เกื้อกูล มีอาหาร ผ้านุ่งห่ม เป็นต้น) ไปให้ตามสมควรแก่ฐานะและโอกาสบ้าง ไปเยี่ยมเยียนบ้างในบางเวลา เมื่อทราบข่าวคราวที่ดีหรือที่ร้ายก็ตาม ควรส่งสารแสดงความจริงให้ฟังว่า “ทุก ๆ อย่างเป็นไปตามเหตุปัจจัย” พยายามทำใจให้อยู่กลาง ๆ ไว้ ความทุกข์ใจจึงจักไม่กำเริบ เป็นต้น แต่ถ้าแม่บ้านเห็นว่าคนนั้นหรือสังคมนั้นไม่อยู่ในฐานะที่ตนจะแสดงอะไรออกไปให้ปรากฏก็ให้“อุเบกขา” หรือ “ทำเฉย” ไว้แหละดี โดยไม่แสดงความเห็นไปขัดแย้งหรือไปส่งเสริมในสังคมกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ถึงแม้จะไม่ปรองดองแต่ก็ระงับความแตกแยกในสังคมได้บ้าง.

๓. อนติจารินี จ. ภรรยาที่ดีย่อมไม่ประพฤติให้ล่วงเกินสามี คือ ไม่ประพฤตินอกใจสามี ทั้งภรรยาและสามีควร ศึกษาหาความรู้ในเรื่องนี้จาก “สัตบุรุษ” ผู้แตกฉานศีลข้อ ๑ ใน ๕ ข้อ ความปรองดองจึงจะเกิดมีขึ้นได้ในสังคม ครอบครัวหรือสังคมอื่น ๆ ด้วย มีพุทธศาสนสุภาษิตใน ขุ. สุ. ๒๕/๔๕๗. มีว่า กมฺมุนา วตฺตตี ปชา. แปลว่า หมู่สัตว์ (หมู่คนด้วย) ย่อมเป็นไปตามกรรม คือ ศีลข้อ ๑ มีคำย่อว่า ปาณาติบาต… ในทางภาษาธรรมหรือภาษาปฏิบัติจริงมี ๒ ความหมาย คือ (๑) ฆ่าสัตว์มีชีวิต เช่น ปลา ไก่ เป็นต้น เป็นอกุศลกรรมหรือกรรมชั่ว เป็นเหตุให้วิญญาณสัตว์ที่ถูกฆ่าคละเคล้าอยู่กับวิญญาณคนผู้ฆ่า จะเกิดผลร้ายทางการทะเลาะวิวาท ขัดแย้ง ฆ่า ตี ซึ่งกันและกันด้วยอาวุธต่าง ๆ อาจถึงตาย หรือถ้าไม่ตายความปรองดองก็แตกสลาย (๒) ฆ่าลมปราณหรือฆ่าเชื้อชีวิตสัตว์ เช่น ไข่เป็ด ไข่ไก่ ไข่นก เป็นต้น เป็นอกุศลกรรมหรือกรรมชั่ว เป็นเหตุให้วิญญาณไข่เป็ด ไข่ไก่ เป็นต้น ที่ถูกฆ่าคละเคล้าอยู่กับวิญญาณผู้ฆ่า จะเกิดผลร้ายทางการทะเลาะวิวาท ขัดแย้ง หึงหวง มากชู้หลายเมีย มากชู้หลายผัว มีกิ๊กน้อยกิ๊กใหญ่ทางลับ ๆ หรือเปิดเผย ความปรองดองที่เคยดีกันมาก็เกิดการแตกแยก เพราะอกุศลกรรมหรือกรรมชั่วเป็นเหตุแห่งความแตกแยกทุก ๆ สังคมในโลก ดังนั้น แม่บ้านที่ดีมีความรู้ชอบ ฉลาดในการดำเนินชีวิตให้พ้นจากภัยเวร ย่อมไม่นำสัตว์มีชีวิตและสิ่งมีมีลมปราณมาประกอบอาหารบริโภคในครอบครัว เพราะเป็นเหตุแห่งการแตกแยกจากสังคมหรือทำให้สังคมแตกแยกกมฺมุนา วตฺตตี ปชา.” หมู่สัตว์ (คนด้วย) ย่อมเป็นไปตามกรรม คือ กรรมดีย่อมเกิดความปรองดอง กรรมชั่วย่อมเกิดการแตกแยก.

๔. สมฺภตญฺจ อนุรกฺขติ. ภรรยาที่ดีย่อมตามรักษาทรัพย์ที่สามีรวบรวมมาได้ คำว่า “รักษา” นั้น หมายถึง รักษา ความดีหรือกรรมดีหรือความสุจริตเกี่ยวกับทรัพย์ สละ ละ เลิก หรืองดเว้นไม่ทำความชั่วหรือกรรมชั่วหรือความทุจริตเกี่ยวกับทรัพย์ เช่น การแสวงหาทรัพย์ก็ดี การใช้จ่ายทรัพย์ก็ดี การเก็บทรัพย์ที่เหลือใช้เหลือจ่ายก็ดี แม่บ้านย่อมรักษาความดีความสุจริตเกี่ยวกับทรัพย์ไว้ ไม่ให้เป็นทุจริตหรืออกุศลกรรม การจ่ายทรัพย์ประกันภัยนั้น ไม่มีประกันไหนในโลกจะปลอดจากภัยพิบัติจริง ๆ เท่ากับการประกันภัย คือ “บุญนิธิ” ฝากทรัพย์ไว้กับทาน ศีล ภาวนา นั่นแหละปลอดภัยที่สุดและได้ดอกเบี้ยมากที่สุด (ชีวิตพัฒนา) และทำให้การปรองดองแน่นแฟ้นที่สุดด้วย มีพุทธศาสนสุภาษิตใน สํ. ส. ๑๕/๕๐. มีว่า ปุญฺญํ โจเรหิ ทูหรํ. บุญอันโจรนำไปไม่ได้.

๕. ทกฺขา จ โหติ อนลสา สพฺพกิจฺเจสุ. ภรรยาที่ดีย่อมเป็นคนขยันไม่เกียจคร้านในกิจการทั้งปวง คือ กิจการที่เป็นกุศลกรรม เป็นสุจริต เป็นสัมมากัมมันตะ เป็นสัมมาอาชีวะ เท่านั้น จึงจะเป็นเหตุนำความปรองดองมาให้ได้ และคนขยันเมื่อถึงเวลางานใด ๆ ก็ตาม เช่น งานครัว เป็นต้น ย่อมไม่มีข้ออ้าง ๖ อย่างเหล่านี้ คือ อ้างว่าหนาวนัก ร้อนนัก เย็นมากแล้ว ยังเช้าอยู่ ยังหิวอยู่ มีความกระหายเหนื่อยอ่อนอยู่ แล้วก็ไม่ทำการงานตามเวลาของงานนั้น ๆ เป็นต้น แม่บ้านที่ดีมีความหมั่นขยันในกิจการใด ๆ ก็ตาม (กุศลกิจการ) ย่อมชื่อว่า มีคุณธรรมจริยธรรมอันดีงามในสังคมครอบครัวและสังคมอื่น ๆ ด้วย ก็เป็นเหตุให้เกิดความปรองดองอย่างหนึ่งด้วยเหมือนกัน.

 

(๕) ครูอาจารย์เป็นทิศเบื้องขวา มีคุณธรรมจริยธรรมต่อศิษย์หรืออันเตวาสิก ๕ อย่าง

 ทิศ (ข้าศึก ศัตรู โจรผู้ร้าย) เบื้องขวา ได้แก่ ครูอาจารย์ คำว่า ครู และ อาจารย์ มีความหมายในทางปฏิบัติจริงของคนในสังคมต่างกัน คือ คำว่า ครู หมายถึง ผู้มีภาระอันหนัก ๓ อย่าง คือ ภาระในการบริหารตน ๑ การบริหารคนในสังคมที่ตนเกี่ยวข้อง ๑ การบริหารทรัพย์สมบัติทั้งส่วนตัวและส่วนรวม ๑ คือ บริหารให้มีคุณธรรมจริยธรรม เพื่อให้เกิความปรองดองในสังคมนั่นเอง.

ครูในโลกนี้มีอยู่ ๓ ประเภท คือ ปฐมครู มัชฌิมครู และอุตตมครู

(๑) ปฐมครู ครูระดับแรก สอนศิษย์ผู้เป็นลูกและสอนตามธรรมชาติแห่งนิสัยใจคอของตน (โปรดย้อนอ่านดูทิศหก ตอน ๒) (๒) มัชฌิมครู ครูระดับกลาง คือ สอนศิษย์ผู้มาเรียนหนังสือให้อ่านออก เขียนได้ ใช้เป็น มีระดับอนุบาลบ้าง ระดับประถมศึกษาบ้าง ระดับมัธยมศึกษาบ้าง ระดับอุดมศึกษาบ้าง (๓) อุตตมครู ครูสูงสุด คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอนุพุทธเจ้า สั่งสอนบุคคล ๓ เหล่า คือ คนอุคฆฏิตัญญู ผู้มีบุญมากเพียงฟังหัวข้อธรรมแล้วรู้ทันที ๑ คนวิปจิตัญญู ผู้มีบุญปานกลาง จะรู้ได้ต่อเมื่ออธิบายขยายความแห่งข้อธรรมก่อน ๑ และ เนยยะบุคคล ผู้มีบุญน้อย อาศัยการได้ยินได้ฟังติดต่อกันหลาย ๆ ครั้ง และใช้เวลาพอสมควรย่อมรู้ได้ ๑ โดยสั่งสอนบุคคล ๓ เหล่านี้ให้รู้ภาษาจิตภาษาธรรมหรือภาษาปฏิบัติจริง คือ ให้ปฏิบัติรู้เห็นชีวิตคนทั้งโลกด้านจิตวิญญาณ ๑๐ เผ่าพันธุ์ ได้แก่ (๑) คนพันธุ์สัตว์นรก (๒) คนพันธุ์เปรต (๓) คนพันธุ์เดียรัจฉาน (๔) คนพันธุ์อสุรกาย (๕) คนพันธุ์อมนุษย์ (๖) คนพันธุ์มาร (๗) คนพันธุ์มนุษย์ (๘) คนพันธุ์เทวดา (๙) คนพันธุ์พระพรหม (๑๐) คนพันธุ์พระอริยบุคคล คนทั้ง ๑๐ เผ่าพันธุ์ด้านจิตวิญญาณเหล่านี้ ย่อมเป็นไปตามกรรมของแต่ละคน ๆ ที่ทำมาแล้วก็เกิดผลทางด้านจิตวิญญาณดังกล่าว ปฐมครูก็ดี มัชฌิมครูก็ดี ถ้าหากเป็นครูที่ดีมีคุณธรรมจริยธรรมของครูจริง ๆ แล้ว ควรตระหนักในภาระอันหนักทั้ง ๓ ตลอดชีวิตแห่งความเป็นครู เพื่อให้คุณธรรมจริยธรรมเกิดมีในสันดาน สามารถยังความปรองดองให้เกิดมีขึ้นในสังคม และขจัดปัดเป่าหรือป้องกันปัญหาที่ให้เกิดความแตกแยกได้.

อาจารย์ คำว่า อาจารย์ หมายถึง ผู้ฝึกสอนมรรยาทให้อันเตวาสิก ทางวินัยพระระบุไว้มี ๔ อาจารย์ คือ (๑) ปัพพชาจารย์ อาจารย์ในการบรรพชา ผู้อาศัยเรียกว่า ปัพพชันเตวาสิก (๒) อุปสัมปทาจารย์ อาจารย์ในอุปสมบท ผู้อาศัยเรียกว่า อุปสัมปทันเตวาสิก (๓) นิสสยาจารย์ อาจารย์ผู้ให้นิสัย ผู้อาศัยเรียกว่า นิสสยันเตวาสิก (๔) อุทเทสาจารย์อาจารย์ผู้บอกธรรม ผู้อาศัยเรียกว่า ธัมมันเตวาสิก สำหรับอาจารย์ที่ดีมีคุณธรรมจริยธรรมของอาจารย์จริง ๆ แล้ว ควรตระหนักในความเป็นอาจารย์ ซึ่งเป็นผู้ฝึกสอนมรรยาทให้แก่อันเตวาสิกตลอดชีวิตแห่งความเป็นอาจารย์ เพื่อให้คุณธรรมจริยธรรมเกิดมีในสันดาน และขจัดปัดเป่า หรือป้องกันปัญหาที่ให้เกิดความแตกแยกในสังคม ซึ่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตลอดถึงสาวกของพระองค์ ได้ปฏิบัติเป็นแบบอย่างมาแล้วทุกพระองค์ด้วย.

คุณธรรมจริยธรรมของครูอาจารย์ ที่มีต่อศิษย์และอันเตวาสิก ๕ อย่าง คือ

๑. สุวินีตํ วิเนนฺติ. ย่อมแนะนำให้ศิษย์ไปสู่การเรียนที่ดี คือ แนะนำจรรยามรรยาทให้ศิษย์มีจิตสำนึกในระเบียบวินัยของมนุษย์ก่อน การศึกษาเล่าเรียนให้เกิดความรู้และความดีอื่น ๆ จึงจะสำเร็จได้โดยง่าย เช่น (๑) ระเบียบวินัยในการนุ่งห่ม ย่อมนุ่งห่มตามที่สถาบันกำหนดให้และนุ่งห่มให้เรียบร้อย เมื่ออยู่นอกสถาบัน ควรนุ่งห่มผ้าสีสุภาพไม่ฉูดฉาดจัดจ้าเกินไป หาทรวดทรงผ้าให้เหมาะสมกับเพศ กับวัย เป็นต้น (๒) ก่อนและหลังบริโภคอาหารควรล้างมือและปากให้สะอาดทุกครั้งไป (๓) ระเบียบวินัยในการบริโภคอาหาร ย่อมบริโภคอาหารด้วยความเคารพ คือ ไม่มองดูภาชนะกับข้าวของคนอื่นขณะบริโภคอาหาร ตักแกงพอสมควรแก่ข้าวสุก ไม่ทำคำข้าวให้ใหญ่นัก ไม่บริโภคอาหารให้ปากมีเสียงดังจั๊บ ๆ เป็นต้น

๒. สุคหิตํ คาหาเปนฺติ. ให้การเรียน (ให้ศิษย์รับเอา) แต่เฉพาะสิ่งที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ศิษย์ อันจะนำตนไปในทางที่ดี คือ ครูอาจารย์ย่อมให้ศิษย์ได้เรียนรู้หนังสือ ในส่วนที่เป็น “อรรถ” ซึ่งแปลว่า เนื้อความในหนังสือ และส่วนที่เป็น “พยัญชนะ” ซึ่งแปลว่า หัวข้อหรือตัวหนังสือ โดยสอนให้เขารู้และเข้าใจคำแปลและความหมายตรงกับอรรถและพยัญชนะตามหลักแห่งภาษาในขณะที่ฟัง อ่าน พูด และเขียน ที่เกี่ยวกับหลักแห่งภาษาหนังสือ ของแต่ละชาติแต่ละภาษา ซึ่งเป็นสิ่งดีอันดับแรกที่จะนำศิษย์ไปในทางดีอื่น ๆ ต่อไปภายหน้า ตัวอย่าง เช่น คำที่เป็นหัวข้อว่า“ประชาธิปไตย” ถ้าว่าโดยอรรถหรือโดยเนื้อความย่อมแปลว่า “ให้ผู้ปกครองยกเอาหมู่สัตว์ขึ้นมาเป็นใหญ่” ในการปกครองสังคม แต่ถ้าว่าในแง่ของพยัญชนะย่อมแปลว่า “.ให้เจ้าหรือผัวซึ่งเป็นผู้ปกครองยกเอาหมู่สัตว์ขึ้นมาเป็นใหญ่”ในการปกครอง โดยมีรากศัพท์ (Root) คือ (ปชา = ประชา + อธิ + ปติ = ปไตย) รวมเข้ากันเป็น “ประชาธิปไตย”เดิมเป็นคำ ภาษามคธหรือบาลี แต่มาแผลงเป็นภาษาไทย (ประชาธิปไตยภาคปฏิบัติจริง คอยอ่านคราวหน้า)

๓. สพฺพสิปฺเปสุ ตํ สมกฺขายิโน ภวนฺติ. บอกศิษย์ด้วยดีในศิลปทั้งหลายทั้งปวง โดยบอกสอนศิษย์ว่า ในโลกนี้มีศิลปวิทยาอยู่ ๒ ประเภท คือ (๑) ศิลปวิทยาเพื่อนำไปประกอบอาชีพ เช่น ศิลปวิทยาทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ครุศาสตร์ เป็นต้น และ (๒) ศิลปวิทยาเพื่อเอาตัวรอดหรือเพื่อเอาตนให้พ้นจากความทุกข์ทั้งปวง เช่น ศิลปวิทยาทางพุทธศาสนาในด้านปฏิบัติจริงเกี่ยวกับไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา อาจารย์ที่ดีมีคุณธรรมจริยธรรมต่อศิษย์จริง เมื่อรับหน้าที่สั่งสอนในวิชาใด ๆ ย่อมสั่งสอนศิษย์ให้รู้และเข้าใจจริง ๆ ในวิชานั้น ๆ ให้รู้ทั้งในด้านปริยัติหรือวิชาการ ด้านปฏิบัติจริง และด้านปฏิเวธหรือผลได้จากการปฏิบัติจริง โดยไม่ปิดบังอำพรางไว้สอนพิเศษในเวลาอื่นแต่อย่างใด บัณฑิตจึงจะเรียกว่าอาจารย์มีคุณธรรมจริยธรรมที่ดีต่อศิษย์ดังกล่าว ย่อมจะส่งผลให้ศิษย์และมารดาบิดาเขารักใคร่นับถือ เป็นเหตุให้เกิดความปรองดองในสังคมที่ยั่งยืนต่อไปได้

๔. มิตฺตามจฺเจสุ ปฏิเวเทนฺติ. ยกย่องหรือประกาศให้ปรากฏในท่ามกลางแห่งมิตรและอำมาตย์ (ข้าราชการ) ทั้งหลายในเมื่อศิษย์เป็นคนดี คือ ยกย่องศิษย์คนนั้นในทางความรู้ศิลปวิทยาชนิดนั้น (อาจเป็นสุขศึกษา) ว่า ศิษย์ของข้าพเจ้าคนนี้มีศิลปวิทยาชนิดนี้ดีจริง เก่งจริง ตามที่ข้าพเจ้าสั่งสอนเขามา เป็นต้น อาจารย์ที่ดีมีคุณธรรมจริยธรรมต่อศิษย์จริง ๆ ไม่ควรปิดบังอำพรางความดี ความเก่ง ของศิษย์ไว้ เพราะจะเป็นเหตุให้ศิษย์น้อยใจ และเป็นเหตุไม่ให้ศิษย์คนอื่น ๆ พยายามในการศึกษาเล่าเรียนให้เข้มแข็ง สมกับความประสงค์ของอาจารย์ผู้สั่งสอน และอาจจะประสานให้เกิดความปรองดองได้ยากหรือไม่ได้เลย

๕. ทิสาสุ ปริตฺตาณํ กโรนฺติ. ทำความต้านทานหรือป้องกันภยันตรายให้ศิษย์หรืออันเตวาสิกในทิศทั้งหลาย เรื่องนี้พระอรรถกถาจารย์ขยายความไว้ ๓ นัย คือ (๑) ศิษย์ที่ได้ศึกษาศิลปวิทยาไว้แล้วนั้น ไปแสดงศิลปะในทิศต่าง ๆ ก็ได้ลาภผลในทิศนั้น ๆ ลาภนั้นมีมากน้อยเท่าใดก็ตาม ก็ได้ชื่อว่าเป็นของอาจารย์ให้มาทั้งนั้น (๒) ผู้ที่เรียนวิชาบังตัวได้แล้ว (สมถกัมมัฏฐานสำเร็จอภิญญาหก ข้อแสดงฤทธิ์ได้) ถึงจะไปในป่าดงพงไพรก็ไม่มีพวกโจรเห็น ไม่มีพวกอมนุษย์หรือสัตว์ร้ายเบียดเบียนได้ (จัดว่าเป็นเพราะมีอาจารย์ทำความป้องกันให้เหมือนกัน) (๓) การที่อาจารย์สรรเสริญศิษย์ผู้ไปจากตนแล้วว่า ศิษย์ของข้าพเจ้าคนนั้นมีความรู้ดีในศิลปวิทยานี้ เป็นต้น เมื่อคนทั้งหลายได้ฟังแล้ว นำลาภสักการะไปให้แก่ศิษย์ผู้นั้น ลักษณะการทำทั้ง ๓ อย่างนี้เรียกว่า (อาจารย) ทำการป้องกันในทิศทั้งหลายให้แก่ศิษย์ทั้งนั้น โดยเหตุนี้ ท่านผู้เป็นอาจารย์จึงควรช่วยเหลือศิษย์ของตนให้มีความรู้คู่กับความดีในศิลปวิทยาที่ตนสอนนั้นเต็มที่ แล้วให้สรรเสริญศิษย์ซึ่งไปจากตนแล้วนั้นเสมอ จึงจะได้ชื่อว่าทำตามหน้าที่ คือ มีคุณธรรมจริยธรรมต่อศิษย์โดยสมบูรณ์

(๖) ศิษย์หรืออันเตวาสิกเป็นทิศเบื้องขวา มีคุณธรรมจริยธรรมต่อครูอาจารย์ ๕ อย่าง

ทิศ (ข้าศึก ศัตรู โจรผู้ร้าย) เบื้องขวา ได้แก่ ศิษย์หรืออันเตวาสิก คำว่า ศิษย์ และ อันเตวาสิก มีความหมายในทางปฏิบัติจริงของคนในสังคมต่างกัน คือ คำว่า ศิษย์ หมายถึง ผู้ศึกษาเล่าเรียนวิชาความรู้จากครูในสถาบันการเรียนการสอนต่าง ๆ หรือศึกษาหาความรู้จากตำราของใครแล้วมีศรัทธาเลื่อมใส ก็จัดว่าเป็นศิษย์ได้เช่นกัน ส่วนคำว่า อันเตวาสิก หมายถึง ผู้เป็นอยู่อาศัยอาจารย์เพื่อฝึกมรรยาท เช่น อาศัยอาจารย์ผู้ให้บรรพชาเรียกว่า ปัพพชันเตวาสิก เป็นต้น และศิษย์หรืออันเตวาสิกนั้น มีคุณธรรมจริยธรรมต่ออาจารย์ ๕ อย่าง คือ

๑. อุฏฺฐาเนน. ด้วยการลุกขึ้นยืนรับ คือ เมื่อศิษย์หรืออันเตวาสิกเห็นอาจารย์มาแต่ไกล ควรลุกขึ้นไปต้อนรับ แสดงกิริยาเคารพนอบน้อม รับสิ่งของจากมืออาจารย์ จัดอาสนะหรือจัดเก้าอี้ให้นั่ง หาน้ำดื่มให้อาจารย์ดื่มแก้กระหาย เป็นต้น หากอยู่ในห้องเรียนก็ควรลุกขึ้นยืนรับพร้อมกล่าวถ้อยคำที่เป็นการแสดงความเคารพ การแสดงกิริยานิ่งเฉยในเมื่อพบเห็นอาจารย์เดินผ่านมา ศิษย์ที่ดีมีคุณธรรมจริยธรรมสมบูรณ์ไม่ควรทำอย่างยิ่ง เพราะอาจเป็นเหตุนำไปสู่ความแตกแยกได้

๒. อุปัฏฐาเนน. ด้วยการเข้าไปคอยรับใช้ คือ เมื่อรู้เห็นอาจารย์มีกิจธุระอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ ศิษย์ควรเข้าไปหาเพื่อคอยรับใช้ แต่ไม่ควรแทรกแซงหรือแย่งงานท่านทำในเมื่อท่านยังไม่ออกปากใช้งาน เว้นไว้แต่งานประจำที่ท่านมอบให้ทำประจำอยู่แล้ว หรือเมื่อนำงานที่ทำแล้วมาส่งก็ไม่ควรกลับทันทีควรจะรอให้ท่านตรวจหรืออ่านดูก่อน เพราะอาจมีการท้วงติงหรือใช้งานใหม่อีก ศิษย์ที่ดีมีคุณธรรมจริยธรรมของตนสมบูรณ์ย่อมไม่หลบหลีกหนีหน้าอาจารย์ไปในเมื่ออาจารย์มีกิจธุระอยู่ เพราะอาจเป็นเหตุนำไปสู่ความแตกแยกได้

๓. สุสฺสุสาย. ด้วยการเชื่อฟังด้วยดี อันศิษย์ผู้ที่ไม่เชื่อฟังอาจารย์ผู้สั่งสอนศิลปวิทยาเป็นไปในทางชอบ (ชอบ สงเคราะห์เข้ากุศลธรรม ๑๐) แล้วย่อมไม่ได้คุณความดีอะไรประทับไว้ในชีวิต ดังนั้น ถ้าศิษย์คนใดประสงค์คุณความดีอะไรจากอาจารย์ท่านใด ก็จงเชื่อฟังคำสั่งสอนของอาจารย์ท่านนั้น ที่ว่า เชื่อฟัง” นั้นหมายความว่าการเชื่อฟังประกอบด้วยองค์ ๔ คือ สุ, จิ, ปุ, ลิ,  คำว่า สุ นั้นมาจากสุตแปลว่าการฟัง คือ ฟังคำที่ครูอาจารย์สอนวิทยาการต่าง ๆ ด้วยปากของท่านหรืออ่านบทเรียนบทสอนในตำรา โดยฟังหรืออ่านให้รู้เรื่องในทุกบททุกตอนที่สอนหรืออ่านมา ไม่ใช่ฟังสักแต่ว่าฟังอ่านสักแต่ว่าอ่านพอให้ตนได้ฟังหรืออ่านจบชั่วโมงไปเท่านั้น ถ้าทำเช่นนั้นจัดว่าเป็นศิษย์ที่ไม่เชื่อฟังครูอาจารย์ ย่อมจะหาความรู้หรือความดีอะไรไม่ได้จากศิษย์คนนี้ คำว่า จิ นั้นมาจากจินตแปลว่าการคิด คือ เมื่อรู้และเข้าใจเนื้อหาสาระแห่งบทสอนที่ฟังหรืออ่านมาแล้วให้นำเนื้อหาสาระนั้นไปคิด โดยคิดว่าเนื้อหาสาระในคำสอนนั้นเป็นกุศลธรรมหรือเป็นอกุศลธรรม ถ้าคิดได้ว่าเป็นกุศลธรรมหรือความดีแล้วก็นำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้ แต่ถ้าคิดได้ว่าเป็นอกุศลธรรมที่ชั่วแล้วก็งดเว้นไม่นำไปปฏิบัติในชีวิตของตน หรือถ้าคิดว่าจะนำบทสอนนี้ไปสอบเอาคะแนนนั้น เราไม่แนะนำ ส่วนคำว่า ปุ นั้นย่อมาจากปุจฉา แปลว่าถาม เมื่อนำบทความที่สอนมาคิดแล้วลงความเห็นว่าดีเป็นกุศลหรือว่าไม่ดีเป็นอกุศลก็ไม่ควรหยุดแค่นี้ ควรสอบถามครูอาจารย์อีกว่าที่ศิษย์ออกความเห็นมานั้นเป็นความชอบหรือไม่ชอบอย่างไร และเมื่อได้คำตอบจากครูอาจารย์ชัดเจนแล้วก็เข้าสู่องค์ที่สี่แห่งการเชื่อฟัง คือ ลิ ซึ่งย่อมาจากลิขิต แปลว่าการเขียนหรือบันทึกไว้เพื่อกันลืม โดยอาจเขียนไว้ในใจหรือเขียนไว้ในสมุดย่อมใช้ได้ทั้งนั้น ดังนั้น ศิษย์ที่ดีมีคุณธรรมจริยธรรมต่อครูอาจารย์จริง ๆ ในข้อนี้ คือ ข้อว่าเชื่อฟังครูอาจารย์ด้วยดีดังที่ได้กล่าวมามาแล้ว อาจจะเป็นเหตุนำไปสู่ความปรองดองในสังคมได้บ้างไม่มากก็น้อย

๔. ปาริจริยาย. ด้วยการปรนนิบัติ คือ ปฏิบัติอาจารย์ทุกอย่างที่ตนเห็นว่าสมควร แต่ให้เป็นไปในทางชอบไม่ใช่ทางผิด (ชอบกับกุศลธรรม ๑๐) และเหมาะแก่เพศ วัย กำลัง หรือกาลเทศะด้วย เรื่องนี้ศิษย์ควรใคร่ครวญให้ดี โดยศึกษาและทำความเข้าใจคุณธรรมจริยธรรมของครูอาจารย์ให้ถ่องแท้ว่า คุณธรรมจริยธรรมของท่านนั้น ท่านปฏิบัติมาทำให้สมบูรณ์หรือไม่เพียงใด เป็นต้น

๕. สกฺกจฺจํ สิปฺปํ ปฏิคฺคหเณน. ด้วยการเรียนหรือรับเอาวิชาความรู้หรือศิลปวิทยาด้วยความเคารพนอบน้อม คือ ให้ศิษย์เอาใจใส่ต่อการศึกษาเล่าเรียน ทั้งในเวลาเรียนและเวลาเลิกเรียนแล้ว คือ ในเวลาเรียนอยู่ศิษย์ควรมีความอดทนฟังคำบรรยาย และเพียรพยายามจดบันทึกคำบรรยายไว้ทุกขั้นตอน เวลาท่านถามก็ควรตอบด้วยความเคารพนอบน้อม ส่วนจะผิดถูกอย่างไรหรือไม่นั้นท่านจะชี้แจงให้ฟังเอง และเมื่อเลิกเรียนไปแล้วก็ให้ตั้งใจดู ตั้งใจอ่าน ตั้งใจคิดและทำกับบทสอนที่ผ่านมาแล้วให้คล่องแคล่ว ชำนิชำนาญ เมื่อศิษย์ปฏิบัติต่อการเรียนที่ศึกษาเล่าเรียนด้วยความเคารพนอบน้อมดังที่กล่าวมา ย่อมชื่อว่าศิษย์จะได้ความรู้ความเข้าใจดีเต็มที่ ตามสมควรแก่ศิลปวิทยาที่ตนเล่าเรียนศึกษาเป็นแน่แท้ โดยไม่มีความกังขาหรือสงสัยแต่อย่างใด ทำให้ครูอาจารย์ผู้สั่งสอนมีความรักใคร่และเบาใจ ย่อมเป็นเหตุนำความปรองดองมาสู่สังคมอีกด้วย.

 

(๗) มิตรและอำมาตรเป็นทิศเบื้องซ้าย มีคุณธรรมจริยธรรมต่อกุลบุตร ๕ อย่าง

ทิศ (ข้าศึก ศัตรู โจรผู้ร้าย) เบื้องซ้าย ได้แก่ “มิตรและอำมาตย์” คำว่า มิตร หมายถึง เพื่อนกัน ผู้รักใคร่กัน หรือผู้มีความเยื่อใยซึ่งกันและกัน เรียกว่า “มิตร” ส่วนคำว่า อำมาตย์นั้น หมายถึง ข้าราชการทุกหมู่เหล่า เช่น ข้าราชการการเมือง ข้าราชการทหาร ข้าราชการพลเรือน เป็นต้น เรียกว่า “อำมาตย์” และคำว่า “กุลบุตร” หมายถึง ประชาชนหรือราษฎรทั่ว ๆ ไปที่มิใช่ข้าราชการ

= คุณธรรมจริยธรรมที่ดีของอำมาตย์หรือข้าราชการ =

อำมาตย์หรือข้าราชการในชาติของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทุกหมู่เหล่า ควรปฏิบัติสั่งสมคุณธรรมจริยธรรมอันดีงามให้เกิดมีขึ้นในตนแต่ละคน ๆ ในสังคมอำมาตย์หรือในสังคมข้าราชการทุกหมู่เหล่าก่อน จึงจะสามารถเผื่อแผ่หรือปฏิบัติคุณธรรมจริยธรรมที่ดีแก่กุลบุตรหรือประชาชนราษฎรทุกหมู่เหล่าในชาติได้ ถ้าข้าราชการไม่มีคุณธรรมจริยธรรมอันดีงามในตนก่อนแล้ว จะไปทำความดีเผื่อแผ่ประชาชนราษฎร (เรียกร้องความสามัคคีความปรองดอง) ได้อย่างไรกัน“อันสตรีไม่มีศีลก็สิ้นสวย บุรุษด้วยไม่มีศีลก็สิ้นศรี อันนักบวชไม่มีศีลก็สิ้นดี ข้าราชการศีลไม่มีก็เลวทราม”

ในสุตตันตปิฎกภาษาไทยฉบับหลวง เล่ม ๑๓ จตุกกนิบาต อังคุตตรนิกาย ธรรมิกสูตร ข้อ ๗๐ ความว่า :-

= เมื่อฝูงโคข้ามไปอยู่ (ข้ามน้ำไปสู่ฝั่งโน้น) ถ้าโคผู้นำฝูงไปคด โคเหล่านั้นย่อมไปคดทั้งหมด ในเมื่อโคผู้นำไปคดเสียแล้ว

= ในหมู่มนุษย์ก็เหมือนกัน ผู้ใดได้รับสมมติให้เป็นผู้นำ ถ้าผู้นั้นประพฤติอธรรม ประชาชนนอกนี้ก็จะประพฤติอธรรมเหมือนกัน แว่นแคว้น (ประเทศชาติ) ทั้งหมดจะได้ประสบความทุกข์ (ประสบอุทกภัยบ้าง วาตภัยบ้าง ทุพภิกขภัยบ้าง โจรภัยบ้าง เป็นต้น) ถ้าพระราชา (ข้าราชการ) เป็นผู้ไม่ตั้งอยู่ในธรรมแล้ว

= เมื่อฝูงโคข้ามไปอยู่ (ข้ามน้ำไปสู่ฝั่งโน้น) ถ้าโคผู้นำฝูงไปตรง โคเหล่านั้นย่อมไปตรงทั้งหมด ในเมื่อโคผู้นำไปตรงแล้ว

= ในหมู่มนุษย์ก็เหมือนกัน ผู้ใดได้รับสมมติให้เป็นผู้นำ ถ้าผู้นั้นประพฤติธรรม ประชาชนนอกนี้ย่อมประพฤติธรรมเหมือนกัน แว่นแคว้น (ประเทศชาติ) ทั้งหมดย่อมได้ประสบความสุข (ไม่ประสบภัยพิบัติใด ๆ) ถ้าพระราชา (ข้าราชการ) เป็นผู้ตั้งอยู่ในธรรมแล้ว

 

= สุภาษิตชี้ผลต่างระหว่างธรรมและอธรรม =

ในสุตตันตปิฎกภาษาไทยฉบับหลวง เล่ม ๑๘ ขุททกนิกาย…เถรคาถา ข้อ ๓๓๒ มีบาลีว่า “…น หิ ธมฺโม อธมฺโม จ อุโภ สมวิปากิโน…” แปลว่า ธรรมและอธรรมย่อมมีวิบาก (มีผล) ไม่เสมอกัน อธรรมย่อมนำไปสู่นรก (คือ นำชีวิตไปสู่ที่ชั่ว) ธรรมย่อมนำไปให้ถึงสุคติ (คือ นำชีวิตไปสู่ที่ดี) ฉะนั้น พวกเราผู้เป็นมนุษย์ควรทำความพอใจในธรรม (ควรประพฤติธรรม) ไม่ควรทำความพอใจในอธรรม (ไม่ควรประพฤติอธรรม)

 

= สิ่งที่เป็นธรรมและอธรรม =

สุตตันตปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง เล่ม ๑๖ ทสก – เอกาทสกนิบาต อังคุตตรนิกาย ธรรมสูตร ข้อ ๑๓๘ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า :-

= สิ่งที่เรียกว่า “อธรรม” นั้น คือ (๑) มิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิด (๒) มิจฉาสังกัปปะ ความดำริผิด (๓) มิจฉาวาจา การเจรจาผิด (๔) มิจฉากัมมันตะ การทำการงานผิด (๕) มิจฉาอาชีวะ การเลี้ยงชีพผิด (๖) มิจฉาวายามะ ความพยายามผิด (๗) มิจฉาสติ ความระลึกผิด (๘) มิจฉาสมาธิ ความตั้งใจมั่นผิด (๙) มิจฉาญาณะ มีความรู้ผิด (๑๐) มิจฉาวิมุติ ความหลุดพ้นผิด ทั้ง ๑๐ อย่างนี้เรียกว่า “อธรรม” คือ เป็นธรรมที่มิใช่ธรรม ได้แก่ เป็นธรรมฝ่ายบาป ฝ่ายชั่ว ฝ่ายอกุศล

= สิ่งที่เรียกว่า “ธรรม” นั้น คือ (๑) สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ (๒) สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ (๓) สัมมาวาจา การเจรจาชอบ (๔) สัมมากัมมันตะ การทำการงานชอบ (๕) สัมมาอาชีวะ การเลี้ยงชีพชอบ (๖) สัมมาวายามะ ความพยายามชอบ (๗) สัมมาสติ ความระลึกชอบ (๘) สัมมาสมาธิ ความตั้งใจมั่นชอบ (๙) สัมมาญาณะ มีความรู้ชอบ (๑๐) สัมมาวิมุติ ความหลุดพ้นชอบ ทั้ง ๑๐ อย่างนี้เรียกว่า “ธรรม” คือ เป็นธรรมฝ่ายบุญ ฝ่ายดี ฝ่ายกุศล

= ขบวนการประพฤติปฏิบัติธรรมและอธรรม (ระดับประเทศ) =          สุตตันตปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง เล่ม ๑๓ จตุกกนิบาต อังคุตตรนิกาย ข้อ ๗๐ ธรรมิกสูตร พระผู้มีพระภาคทรงแสดงถึงคนในสังคมประพฤติปฏิบัติอธรรมว่า:-

= ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด พระราชาเป็นผู้ไม่ตั้งอยู่ในธรรม (เป็นผู้นำในการประพฤติปฏิบัติอธรรม มีมิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิด เป็นต้น) สมัยนั้น แม้พวกข้าราชการก็เป็นผู้ไม่ตั้งอยู่ในธรรม พรหมณ์และคฤหบดีก็เป็นผู้ไม่ตั้งอยู่ในธรรม ชาวนิคมและชาวชนบท (สังคมระดับตำบลและหมู่บ้าน) ก็เป็นผู้ไม่คั้งอยู่ในธรรม พระจันทร์และพระอาทิตย์ย่อมหมุนเวียนไม่สม่ำเสมอ หมู่ดาวนักษัตรก็หมุนเวียนไม่สม่ำเสมอ เมื่อคืนและวันหมุนเวียนไม่สม่ำเสมอ เดือนหนึ่งและกึ่งเดือนก็หมุนเวียนไม่สม่ำเสมอ ฤดูและปีก็ย่อมหมุนเวียนไม่สม่ำเสมอ ลมก็พัดไปไม่สม่ำเสมอ ลมก็เดินผิดทางไม่สม่ำเสมอและมีการพัดวนเวียน เทวดาย่อมเกิดเป็นอาการกำเริบ (เทวตา ปริกุปิตา ภวนฺติ) ฝนย่อมไม่ตกต้องตามฤดูกาล (ฝนตกมากเกินไปบ้าง ตกน้อยเกินไปบ้าง) ข้าวกล้าทั้งหลายก็ย่อมสุกไม่เสมอกัน

= ดูกรภิกษุทั้งหลาย มนุษย์ผู้บริโภคข้าวที่สุกไม่เสมอกัน ย่อมเป็นผู้มีอายุน้อย (อายุไม่ยืน) มีผิวพรรณเศร้าหมอง มีกำลังน้อย มีอาพาธมาก (มีโรคมาก เช่น โรคเบาหวาน เป็นต้น) ที่พรรณามาทั้งหมดนี้เป็นขบวนการแห่งหมู่คนในชาติไม่ตั้งอยู่ในธรรม คือ สามัคคีกันประพฤติปฏิบัติอธรรมร่วมกันทั้งชาติ เพราะผู้นำสังคมเป็นผู้นำประพฤติปฏิบัติอธรรม คือ มิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิดเป็นชอบ เป็นต้น (เกิดภาวะโลกร้อนขึ้นเพราะเหตุแห่งคนในชาติหรือในโลก ร่วมกันประพฤติปฏิบัติอธรรม มีมิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิด เป็นต้น) (อ่านทบทวนหัวข้อธรรมและอธรรมด้วย) จากนั้นพระพุทธองค์ทรงแสดงถึงคนในสังคมประพฤติปฏิบัติธรรมว่า :-

= ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด พระราชาเป็นผู้ตั้งอยู่ในธรรม (เป็นผู้นำในการประพฤติปฏิบัติธรรม มีสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ เป็นต้น) สมัยนั้น แม้พวกข้าราชการก็เป็นผู้ตั้งอยู่ในธรรม พรหมณ์และคฤหบดีก็เป็นผู้ตั้งอยู่ในธรรม ชาวนิคมและชาวชนบท (สังคมระดับตำบลและหมู่บ้าน) ก็เป็นผู้คั้งอยู่ในธรรม พระจันทร์และพระอาทิตย์ย่อมหมุนเวียนสม่ำเสมอ หมู่ดาวนักษัตรก็หมุนเวียนสม่ำเสมอ เมื่อคืนและวันหมุนเวียนสม่ำเสมอ เดือนหนึ่งและกึ่งเดือนก็หมุนเวียนสม่ำเสมอ เมื่อฤดูและปีหมุนเวียนไปสม่ำเสมอ ลมย่อมพัดสม่ำเสมอ ลมย่อมพัดไปถูกทางไม่มีการพัดวนเวียน เทวดาย่อมไม่เกิดเป็นอาการกำเริบ (เทวตา ปริกุปิตา ภวนฺติ) ฝนย่อมตกต้องตามฤดูกาล (ถึงฤดูฝนฝนก็ตกพอดี) ข้าวกล้าทั้งหลายก็ย่อมสุกเสมอกัน

= ดูกรภิกษุทั้งหลาย มนุษย์ผู้บริโภคข้าวที่สุกเสมอกัน ย่อมเป็นผู้มีอายุยืน มีผิวพรรณดี มีกำลัง (แข็งแรง) มีอาพาธน้อย (มีโรคไม่มาก เป็นสุขสำราญ) ที่พรรณามาทั้งหมดนี้เป็นขบวนการแห่งหมู่คนในชาติเป็นหมู่ชนที่ตั้งอยู่ในธรรม คือ สามัคคีกันประพฤติปฏิบัติธรรมร่วมกันทั้งชาติ เพราะผู้นำสังคมเป็นผู้นำในการประพฤติปฏิบัติธรรม คือ สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ เป็นต้น (โลกจะเป็นปรกติถ้าคนในชาติหรือในโลกร่วมกันประพฤติปฏิบัติในธรรม มีสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ เป็นต้น) (อ่านหัวข้อธรรมและอธรรมด้วย)

 

= ข้าราชการมีคุณธรรมจริยธรรมต่อกุลบุตรประชาชนราษฎร ๕ อย่าง =

๑. ปมตฺตํ รกฺขนฺติ. ข้าราชการทั้งหลายทุกหมู่เหล่า ย่อมทำหน้าที่รักษากุลบุตรหรือประชาชนราษฎรในชาติผู้ประมาทแล้ว คือ เขาทำผิดกฎหมายบ้านเมือง มีกฎหมายอาญาบ้าง กฎหมายแพ่งบ้าง เป็นต้น ฝ่ายข้าราชการผู้รักษากฎหมายย่อมรักษาเขาให้ปลอดภัย โดยการนำไปแสดงต่อกระบวนการยุติธรรม (ข้าราชการตุลาการ) ก่อน เมื่อข้าราชการตุลาการว่าอย่างไรจึงปฏิบัติตามนั้น หากปฏิบัติกับประชาชนราษฎรผู้ประมาทแล้วด้วยวิธีอื่น มีการฆ่าตัดตอนหรือรีดไถรับสินบน เป็นต้น ชื่อว่าข้าราชการขาดคุณธรรมจริยธรรมที่ดีไป ชื่อว่าไม่ปกปิดทิศเบื้องซ้าย ข้าศึก ศัตรู โจรผู้ร้าย ย่อมปรากฏขึ้นในชาติทุกหัวระแหง ความปรองดองย่อมไม่เกิดมีในสังคม

๒. ปมตฺตสฺส สาปเตยฺยํ รกฺขนฺติ. ข้าราชการทั้งหลายทุกหมู่เหล่า ย่อมทำหน้าที่รักษาทรัพย์สมบัติของกุลบุตรหรือประชาชนราษฎรในชาติผู้ประมาทแล้ว คือ ทรัพย์สมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งของประชาชนราษฎรในชาติหายไปเพราะความประมาทต่าง ๆ เช่น กระเป๋าเอกสารสำคัญตกหล่นหายไป ขโมยลักเอาสัตว์เลี้ยงบ้าง พาหนะที่ตนขับขี่บ้าง เครื่องใช้ในบ้าน เช่น คอมพิวเตอร์ เป็นต้นบ้าง หรือเมื่อประชาชนราษฎรมีกิจจำเป็นได้ไปต่างถิ่น เมื่อเขาออกปากขอฝากบ้านไว้กับข้าราชการบ้าง เป็นต้น ฝ่ายข้าราชการผู้มีคุณธรรมจริยธรรมที่ดี ย่อมติดตามสืบสวนสอบสวนให้ได้มาและดูแลรักษาไว้ให้ดี จนกว่าจะถึงมือเจ้าของ ถ้าท่านผู้เป็นข้าราชการปฏิบัติกับทรัพย์สมบัติของประชาชนราษฎรผู้ประมาทต่อทรัพย์ของตนแล้วเช่นนี้ ย่อมชื่อว่า ทิศเบื้องซ้ายถูกปกปิดไว้แล้ว ประชาชนราษฎรก็ไม่เป็นข้าศึก ศัตรู โจรผู้ร้าย ต่อข้าราชการและต่อสังคมอื่น ๆ ด้วย ความสามัคคีปรองดองของคนในชาติย่อมมีได้โดยง่าย

๓. ภีตสฺส สรณํ โหนฺติ. เมื่อกุลบุตรหรือประชาชนราษฎรในชาติประสบภัย ข้าราชการทุกหมู่เหล่าย่อมเป็นที่พึ่งของเขาเพื่อพ้นจากภัยพิบัติได้โดยง่าย คือ เมื่อประชาชนราษฎรประสบภัย เช่น อุทกภัยบ้าง วาตภัยบ้าง อัคคีภัยบ้าง ทุพภิกขภัยบ้าง โจรภัยบ้าง โรคภัยระบาดบ้าง เป็นต้น ข้าราชการทุกหมู่เหล่าไม่ควรนิ่งเฉย ควรรวบรวมสมัครพรรคพวกยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือ มีการช่วยเหลือด้วยเงินบ้าง อาหารสดอาหารแห้งบ้าง เครื่องนุ่งห่มบ้าง สัตว์เลี้ยงหรือพาหนะอื่น ๆ ที่สมควรบ้าง และใช้คำพูดเพื่อให้กำลังใจด้วย เป็นต้น เมื่อข้าราช การของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในชาติเป็นที่พึงให้ประชาชนราษฎรพึ่งได้อย่างนี้ พวกเขาก็อุ่นใจ ประชาชนราษฎรก็ไม่เป็นข้าศึก ศัตรู โจรผู้ร้ายต่อข้าราชการ ความสามัคคีปรองดองก็ย่อมจะเกิดขึ้นได้ง่าย

๔. อาปทาสุ น วิชหนฺติ. อำมาตย์หรือข้าราชการทั้งหลาย ย่อมไม่ละทิ้งกุลบุตรหรือประชาชนราษฎร ในยามที่เขามีความลำบากหรือเดือดร้อนใจเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ในสังคมของเขา เช่น เป็นอยู่ลำบากเพราะเดือดร้อนเกี่ยวกับกลิ่นที่ไม่ดีบ้าง เกี่ยวกับเสียงดังมาก ๆ อันเกิดจากโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่นายทุนผู้มีอำนาจนำมาก่อตั้งขึ้นในชุมชนบ้าง หรือลำบากเดือดร้อนเพราะโจรผู้ร้ายชุกชม หรือลำบากเดือดร้อนใจเพราะมีนายทุนมาบุกรุกที่ทำมาหากินกินของเขา เป็นต้น หรือลำบากเดือดร้อนเพราะถูกรีดไถ เอาเปรียบเอารัดจากข้าราชการนอกแถวบางคนบางกลุ่ม เป็นต้น ความลำบากเดือดร้อนเหล่านี้ที่ประชาชนราษฎรได้รับ อำมาตย์หรือข้าราชการซึ่งเป็นผู้ที่ถูกสมมติว่าเป็นผู้นำหมู่แล้ว ควรเอาใจใส่ให้มากในการปลดเปลื้องความลำบากเดือดร้อนของเขา ไม่ควรปล่อยปละละเลยให้ยืดเยื้อและบานปลาย ความสามัคคีปรองดองก็ย่อมจะเกิดขึ้นได้ง่าย

๕. อปรปชํปิสฺส ปฏิปูเชนฺติ. อำมาตย์หรือข้าราชการทั้งหลาย ย่อมนับถือบูชากุลบุตรหรือประชาชนอื่น ๆ ด้วย ที่อยู่ในวงศ์สกุลเดียวกัน เช่น นับถือบุตรหลาน เหลน ตลอดถึงญาติฝ่ายภรรยา ฝ่ายสามีของกุลบุตรหรือของประชาชนราษฎรที่ข้าราชการนั้น ๆ คุ้นเคย ด้วยวิธีการเข้าไปช่วยเหลือในกิจการงานบุญต่าง ๆ มีงานบุญฉลองอายุ งานขึ้นบ้านใหม่ งานบุญอุทิศไปหาญาติผู้ล่วงลับไปแล้ว เป็นต้น เมื่อข้าราชการผู้คุ้นเคยแสดงความเคารพนับถือลูกหลาน เหลน ของกุลบุตรประชาชนราษฎรด้วยการเข้าไปช่วยเหลือในกิจการงานบุญ โดยไม่รอให้เขาเชื้อเชิญเช่นนี้ ข้าราชการท่านนั้น ๆ ย่อมชื่อว่าเป็นผู้ปกปิดทิศ หรือปกปิดข้าศึก ศัตรู โจรผู้ร้าย ไม่ให้เกิดมีแก่ตนและแก่ข้าราชการคนอื่น ๆ ด้วย ความสามัคคีปรองดองย่อมเกิดมีได้ง่ายในสังคม “อันความกรุณาปราณี จะมีใครบังคับก็หาไม่ หลั่งมาเองเหมือนฝนอันชื่นใจ จากฟากฟ้าสุราลัยสู่แดนดิน”

ด้วยความรักและเมตตา

ธัมมิกะ

E – Mail thammiga@ hotmail.com

23  ธันวาคม  2553