๑๒๑. กุสนาฬิชาดก (ว่าด้วยประโยชน์ของการผูกมิตร)

๑๓

กุสนาฬิวรรค

(๑๒๑)

กุสนาฬิชาดก (ว่าด้วยประโยชน์ของการผูกมิตร)

          สมเด็จพระบรมศาสดาได้ทรงแสดงเพราะทรงปรารภซึ่งนิจฉยมิตรแห่งอนาถบิณฑิกเศรษฐีให้เป็นตันเหตุ

          มีเนื้อความว่า พวกญาติของอนาถบิณฑิกเศรษฐีนั้นได้ห้ามเศรษฐีไม่ให้คบนิจฉยมิตร โดยอ้างว่านิจฉยมิตรเป็นผู้มีชาติตระกูลและทรัพย์สมบัติต่ำกว่าเศรษฐีมาก แต่เศรษฐีไม่เชื่อฟังทั้งยังไว้ใจ เวลาตนไม่อยู่ได้มอบให้นิจฉยมิตรเป็นผู้ดูแลรักษาบ้านเรือนของตน เมื่อเศรษฐีไปแล้วพวกโจรได้พากันมาล้อมบ้านเศรษฐีในเวลาราตรี เพื่อประสงค์จะปล้น นิจฉยมิตรจึงให้คนทั้งหลายเป่าสังข์ ตีกลอง โห่ร้อง เต้นรำ พวกโจรได้พากันตกใจกลัวหนีไป ทิ้งอาวุธไว้เกลื่อนกลาด เมื่อเป็นดังนั้น คนทั้งหลายได้สรรเสริญเขาว่า ไม่ถูกปล้นเพราะความคิดของเขา เมื่อเศรษฐีนั้นกลับมาได้ทราบเรื่องจึงกล่าวว่า ด้วยเหตุผลอย่างนี้แหละ จึงไม่คบหาสมาคมกับนิจฉยมิตร แล้วออกไปเฝ้าสมเด็จพระบรมศาสดากราบทูลให้พระศาสดาทรงทราบ

          สมเด็จพระบรมศาสดาจึงตรัสว่า ดูก่อนคฤหบดี ธรรมดาว่ามิตรย่อมมีคุณไม่น้อย เมื่อบุคคลอาจรักษาธรรมสำหรับมิตรไว้ได้แล้ว ย่อมเป็นคุณประโยชน์แก่ตน ถึงแม้ว่ามิตรนั้นจะเสมอตน หรือเลวกว่าตน ดีกว่าตนประการใดก็ตาม ก็ควรจะคบหาสมาคมไว้ เพราะว่ามิตรนั้นจะได้ช่วยเหลือในเวลามีกิจธุระเกิดขึ้น ดูก่อนคฤหบดี ตัวท่านได้เป็นเจ้าของแห่งทรัพย์อยู่ในกาลนี้ ก็เพราะอาศัยนิจฉยมิตร ถึงโบราณบัณฑิตในปางก่อน ได้เป็นเจ้าของวิมานก็เพราะอาศัยนิจฉยมิตรแห่งตนเหมือนกัน ครั้นตรัสดังนี้แล้ว จึงทรงแสดงเรื่องอดีตต่อไปว่า ในอดีตสมัย ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเถลิงถวัลยราชย์อยู่ในกรุงพาราณสี มีรุกขเทพยดา ๒ องค์ อาศัยอยู่ในพระราชอุทยานแห่งพระเจ้าพรหมทัต เทพยดาองค์หนึ่งมีวิมานตั้งอยู่ที่มงคลพฤกษ์ต้นหนึ่ง ซึ่งมีพระแท่นศิลาอยู่ภายใต้ต้น ต่อมาจึงมีเทพยดาอีกองค์หนึ่ง ซึ่งมีวิมานอยู่ที่กอหญ้าคาได้เป็นมิตรกับรุกขเทพยดาตนนั้น

          ในเวลานั้น พระเจ้าพาราณสีประทับอยู่ที่ปราสาทเสาเดียว ปราสาทนั้นไหวอยู่เสมอ ราชบุรุษทั้งหลายจึงกราบทูลต้นเหตุให้ทรงทราบ พระองค์ทรงดำริจะแก้ไขจึงโปรดให้หาพวกช่างไม้เข้าเฝ้า ตรัสสั่งให้ไปหาต้นไม้ที่มีแก่นแน่นหนาแข็งแรงมาทำเป็นเสาปราสาท พวกนายช่างรับพระราชโองการ แล้วจึงพากันเข้าไปในพระราชอุทยาน ได้ไปเห็นต้นไม้ใหญ่ ซึ่งเป็นที่อาศัยอยู่แห่งรุกขเทพยดานั้นว่าสมควรที่จะทำเป็นเสาปราสาทได้ แต่ยังไม่กล้าตัด ด้วยเห็นว่าเป็นต้นไม้ที่นับถือแห่งบรมกษัตริย์จึงพากันกลับเข้าไปกราบทูลให้ทรงทราบ พระองค์ก็ทรงพระอนุญาตให้ตัดต้นไม้นั้นดังประสงค์ พวกช่างรับพระราชโองการแล้วจึงนำเครื่องพลีกรรมไปบวงสรวงสักการะบูชาต้นไม้นั้นว่า พรุ่งนี้เช้าข้าพเจ้าทั้งหลาย จะได้พากันมาตัดเมื่อสักการะบูชาแล้วก็พากันกลับไป

          ฝ่ายเทพยดาที่สิงอยู่ต้นไม้นั้น ได้อุ้มบุตรจูงหลานลงมาจากวิมาน ไปเที่ยวหาสถานที่ เมื่อไม่มีที่อาศัยก็ยืนร้องไห้อยู่ในที่แห่งหนึ่ง ฝ่ายเทพยดาที่เป็นมิตรสหายทั้งหลายก็ได้แต่พากันร้องไห้ไม่รู้จะทำประการใด ในเวลานั้นมีเทพยดาตนหนึ่งได้กล่าวว่า ท่านทั้งหลายอย่าได้วิตกเลย เราจะไม่ให้พวกช่างไม้ตัดต้นไม้นั้นได้ด้วยอุบายของเรา พวกท่านจงคอยดูในวันพรุ่งนี้ รุ่งขึ้นเมื่อพวกช่างไม้เข้ามาในพระราชอุทยาน เทพยดาตนนั้นจึงจำแลงเป็นกิ้งก่าวิ่งนำหน้าพวกช่างไม้ไป พอเข้าไปถึงโคนต้นไม้ใหญ่นั้นได้หายตัวเข้าไปในต้นไม้ แล้วไปโผล่ขึ้นที่คาคบไต่ขึ้นไปถึงยอด พวกช่างไม้ได้เห็นก็เข้าใจว่าต้นไม้นั้นเป็นโพรง จึงได้เลิกล้มความคิดเสีย แล้วพากันกลับไป ฝ่ายเทพยดาซึ่งเป็นเจ้าของวิมานในต้นไม้นั้นจึงได้กลับไปอยู่ที่ต้นไม้นั้นตามเดิม เวลาญาติมิตรสายโลหิตไปเยี่ยมเยือนจึงกล่าวสรรเสริญคุณแห่งเทพยดาที่ช่วยเหลือว่า เราทั้งหลายล้วนแต่เป็นมเหสักขเทพยดา แต่ไม่มีปัญญาที่จะคิดแก้ไข ส่วนกุสนาฬิเทพยดา ผู้มีวิมานอยู่ที่กอหญ้าคา ซึ่งเป็นเทพยดาต่ำช้ากว่าพวกเรา ยังมีปัญญาดีกว่าพวกเรา ได้ช่วยป้องกันวิมานของเราไว้ได้ ธรรมดาว่ามิตรผู้มีไมตรีจิตต่อกัน ถึงเลวกว่าหรือเสมอกัน หรือยิ่งกว่าอย่างไรก็ตาม ก็ควรจะคบไว้ เพราะมิตรผู้มีไมตรีจิตต่อกัน ย่อมช่วยทุกขภัยกันได้ เมื่อกล่าวดังนี้แล้ว จึงกล่าวเป็นคาถาต่อไปว่า

กเร   สริกฺโข   อถวาปิ   เสฏฺโฐ   เป็นต้น แปลว่า ผู้ที่เป็นมิตร คือผู้มีไมตรีจิตต่อกัน จะเป็นผู้เสมอกัน หรือดีกว่า หรือเลวกว่าอย่างไรก็ตาม บุคคลก็ควรจะคบไว้ เพราะเมื่อมีภัยอันตรายเกิดขึ้น มิตรย่อมช่วยเหลือได้ เหมือนกับตัวเราและกุสนาฬิเทพยดาผู้สิงอยู่ที่กอหญ้าคาเป็นตัวอย่าง นี้

           ครั้นสมเด็จพระบรมศาสดาทรงแสดงเรื่องอดีตอย่างนี้แล้ว จึงทรงประชุมชาดกว่า รุกขเทวดาผู้มีวิมานอยู่ที่ต้นไม้ใหญ่ในพระราชอุทยานคราวนั้น ได้มาเกิดเป็นพระอานนท์ในบัดนี้ ส่วนเทพยดาที่สิง

อยู่ในกอหญ้าคา ได้อุบัติมาเป็นเราตถาคตนี้แล

          ในชาดกนี้ชี้ให้เห็นว่า คนที่เราจะคบค้าสมาคมนั้นจะเป็นคนต่ำกว่าเรา หรือสูงกว่าเรา เสมอกับเรา โดยชาติ ตระกูล ยศศักดิ์ สมบัติ บริวารความรู้และการงาน อย่างไรก็ตาม ถ้าเขาเป็นผู้มีไมตรีจิต คิดเมตตาแก่เราอยู่เป็นนิจแล้ว เราก็ควรจะคบหาสมาคมไว้ แล้วควรผูกใจเขาไว้ด้วยเครื่องผูก ๔ ประการ คือการให้ปันสิ่งของเงินทองและความรู้ความดี ๑ การเจรจาถ้อยคำอ่อนหวานต่อเขา ๑ การช่วยเหลือกิจธุระของเขา ๑ การไม่ถือตัวต่อเขา ๑ เมื่อผู้ใดทำได้อย่างนี้ ย่อมไม่รู้จักแตกร้าวจากมิตรสหาย และจะได้รับประโยชน์ตอบแทนจากมิตรสหายในเวลาจำเป็นเหมือนกับเรื่องที่แสดงมาแล้ว  ด้วยประการฉะนี้

บุคคลผู้เสมอกัน ประเสริฐกว่ากัน หรือเลวกว่ากันพึงกระทำ

มิตรธรรมเถิด เพราะมิตรเหล่านั้น เมื่อความเสื่อมเกิดขึ้น

ก็พึงทำประโยชน์อันอุดมให้ได้ ดุจเราผู้เป็นรุกขเทวดา

และกุสนาฬิเทวดา คบหาเป็นมิตรกัน  ฉะนั้น.”

กุสนาฬิชาดกจบ.