๒๓. โภชชานียชาดก (ว่าด้วยม้าสินธพอาชาไนย)

 

          สมเด็จพระบรมศาสดา ทรงปรารภภิกษุรูปหนึ่งผู้สละความเพียรให้เป็นเหตุมีเรื่องราวว่า ครั้งนั้น สมเด็จพระบรมศาสดาโปรดให้หาภิกษุนั้นเข้าเฝ้า แล้วตรัสว่านี่แน่ะภิกษุ นักปราชญ์ทั้งหลายในปางก่อนถึงจะถูกประหารอาการปางตายก็ยังไม่วายที่จะพากเพียรพยายามทำหน้าที่ของตนให้สำเร็จไป ซึ่งเป็นหน้าที่อันไม่สมควร ส่วนตัวเธอซึ่งได้บรรพชาอุปสมบทในศาสนาของเราตถาคต ซึ่งเป็นศาสนาที่เธอควรพากเพียรเช่นนี้แล้ว เหตุไรเธอจึงท้อถอยเสีย  ครั้นตรัสดังนี้แล้วจึงทรงแสดงเรื่องอดีตกาลต่อไปว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในรัชกาลของพระเจ้าพรหมทัตซึ่งเถลิงถวัลยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสีมหานคร พระองค์มี  สินธพชาติอาชาไนยตัวประเสริฐอยู่ตัวหนึ่ง ซึ่งเกิดในโพชประเทศบริบูรณ์ด้วยอาการพิเศษน่าอัศจรรย์ เป็นอัศวมงคลของประชาชนชาวกาสี บริโภคข้าวสาลีอันมีกลิ่นหอมชื่นชูใจที่เก็บไว้ถ้วน ๓ ปีเป็นกำหนด ปรุงด้วยสรรพรสอันเลิศหลายประการในสุพรรณภาชน์พานทอง อัศวมงคลตัวประเสริฐนั้นอยู่ในโรงอันมีภาคพื้นประพรมด้วยจตุคันธชาติ ๔ ชนิด เบื้องบนวิจิตรด้วยเครื่องอลังการมีเพดานแล้วด้วยผ้ากัมพลห้อยย้อยด้วยดาวทองอันสุกใส มีพวงสุคันคันธมาลัยประดับอร่ามตา ตามประทีปน้ำมันหอมอยู่ตลอดทุกเวลา ในคราวนั้น ท้าวพระยาสามนตราชทั้งหลายล้วนแต่มีความมุ่งหมายจะชิงราชสมบัติในกาสิกรัฐกรุงพาราณสี จึงพร้อมกันกรีฑาพายุหแสนยากรมาล้อมพระนครไว้เป็นขนัด แล้วทรงจัดส่ง  ราชสาส์นเข้าไปถึงพระเจ้าพรหมทัตว่า พระองค์จะยอมยกราชสมบัติให้หรือจะออกชิงชัยประการใด เมื่อท้าวไทพรหมทัตทรงทราบพระราชสาส์นดังนั้น จึงเสด็จออกท้องพระโรงคัลรัตนา มีพระราชโองการตรัสปรึกษากับมุขอำมาตย์ราชเสนาว่า เราจะทำประการใด ครั้งนั้นที่ประชุมทั้งหลายจึงกราบทูลอุบายวิธีอันจะมีชัยในราชสงครามถวายให้ทรงทราบว่าสมควรจะส่งอำมาตย์ผู้เป็นนายอัสสาจารย์ ให้ออกไปชิงชัยแต่ผู้เดียวก่อน เพราะนายอัสสาจารย์ผู้นี้ หาตัวจับมิได้ใน กระบวนยุทธ ท้าวเธอก็ทรงเห็นดีด้วยจึงมีพระราชโองการให้นายอัสสาจารย์เข้าเฝ้า แล้วตรัสถามว่าเจ้าจะสามารถออกชิงชัยกับท้าวพระยาสามนตราชทั้งหลายได้หรือไม่ประการใด นายอัสสาจารย์กราบทูลว่า ถ้าข้าพระองค์ได้พญาอาชาไนยตัวประเสริฐ ออกสู้รบแล้วอย่าว่าแต่ท้าวสามนตราชเพียงเท่านี้เลย ถึงกษัตริย์ในชมพูทวีปทั้งสิ้น ข้าพระองค์ก็สามารถจะเอาชนะได้โดยไม่ต้องสงสัย จอมนราไทพรหมทัตจึงตรัสอนุญาตดังประสงค์ นายอัสสาจารย์ก็ถวายบังคมลาลงจากท้องพระโรงรัตนมณีไปจัดแจงสรรพาวุธพร้อมเสร็จ แล้วไปเชิญเสด็จพญาอัศวราชว่าขอพระองค์จงยาตราออกสู่สมรภูมิชัย ต่อยุทธกับสามนตราชทั้งหลายในกาลนี้เถิด ครั้งนั้นพญาม้าตัวประเสริฐด้วยกตัญญูระลึกถึงคณูปการแห่งพระเจ้ากรุงพาราณสี และประชาชนชาวกาสีที่มีแก่ตนตลอดกาลนานจึงระลึกเหตุการณ์ว่า สงครามในครั้งนี้เป็นสงครามอันใหญ่หลวง ประชาชนคนทั้งปวงในกาสิกรัฐนอกจากตัวเราผู้เดียวแล้วไม่มีผู้ใดจะเอาชนะได้ สมควรที่เราจะสนองพระคุณแห่งพระเจ้าพรหมทัตและสงเคราะห์ชาวกาสิกรัฐให้พ้นจากมหาพินาศ ครั้นพญาอัศวราชดำริดังนี้แล้วก็แสดงอาการให้นายอัสสาจารย์ขึ้นสู่หลัง แล้วร้องด้วยศัพท์สำเนียงเสียงอันดังขึ้น ๓ ครั้ง เพื่อจะประกาศความมีชัยให้แก่ประชาชนทั้งหลาย ครั้นแล้วจึงคลาดแคล้วออกจากโรงรัตนา วิ่งออกสู่สนามชัยด้วยกำลังอันว่องไวดุจลมพัดทำลายค่ายที่ ๑ แตกกระจัดกระจายแล้ว นายอัสสาจารย์ก็จับเอากษัตริย์ในค่ายนั้นเข้าไปถวายแก่สมเด็จพระเจ้าพรหมทัต แล้วออกไปตีค่ายที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๕  ที่ ๖ จับเอากษัตริย์ในค่ายเหล่านั้นเข้าไปถวายแด่สมเด็จพระเจ้าพรหมทัตอีก  ขณะไปตีค่ายที่ ๖ นั้นพญาม้าได้ถูกอาวุธของข้าศึกบาดเจ็บสาหัส เมื่อวิ่งกลับไปถึงประตูพระนครแล้ว นายอัสสาจารย์ก็แก้เกราะให้หย่อนลงไป เพื่อผ่อนให้พญาม้าได้ระบายลมหายใจเข้าออกได้โดยสะดวก แล้วนายอัสสาจารย์ปรารถนาจะผูกม้าตัวอื่นออกชิงชัยอีก เมื่อพญาม้าเห็นดังนั้นจึงคำนึงว่านอกจากเราแล้วย่อมไม่มีม้าตัวใดที่สามารถจะเอาชัยแก่ข้าศึกได้ ถ้าเราปล่อยให้นายอัสสาจารย์เทียมม้าตัวอื่นออกสู้รบดังนี้ นายอัสสาจารย์ผู้หาตัวเสมอมิได้ในยุทธวิธีก็จะถึงซึ่งปราชัยสิ้นชีวิต ความพยายามที่เราทำไว้ทั้งสิ้นก็จะหามีประโยชน์อันไดไม่ จำเราจะแข็งใจออกชิงชัยอีกครั้งหนึ่ง เมื่อพญาม้าคำนึงดังนี้แล้วจึงบอกให้นายอัสสาจารย์เตรียมตัวออกรบ นายอัสสาจารย์ก็กระทำตามได้ผูกเกราะพญาม้าให้มั่นคง แล้วจับอาวุธขึ้นขี่หลังรีบขับพญาม้าออกยังสมรภูมิชัย ตีฝ่าข้าศึกทั้งหลาย ไปจนทำลายค่ายที่ ๗ แตกกระจาย จับได้พระยาสามนตราชผู้เป็นนายแล้วนำกลับไปเพื่อถวายสมเด็จพระเจ้าพรหมทัต แต่พอไปถึงประตูพระนครก็มอบตัวพระยาสามนตราชนั้นแด่พระเจ้าพรหมทัต แล้วพญาม้าก็ล้มลง ณ ที่นั้นแต่ยังไม่ถึงตักษัย  จอมนราไทพรหมทัตทรงพระโสมนัสหาประมาณมิได้ ในการที่พญาม้ากับนายอัสสาจารย์มีชัยชนะแก่ข้าศึกถึงปานนั้น จึงตรัสพระราชทานความชอบแก่นายอัสสาจารย์กับพญาม้า ส่วนพญาม้าจึงกราบทูลว่าความชอบอันใดที่จะพระราชทานแก่ข้าพเจ้าข้าพระบาท ขอพระองค์จงพระราชทานแก่นายอัสสาจารย์ผู้เดียวเถิด แล้วกราบทูลถวายโอวาทว่าขอพระองค์จงโปรดพระราชทานอภัยให้แก่สามนตราชทั้ง ๗ พระองค์ โดยให้ทรงถวายสัตย์สาบานแล้วปล่อยไปสู่พระราชฐานตามเดิมเถิด ส่วนพระองค์เล่าก็จงสถิตอยู่ในทศพิธราชธรรมทั้ง ๑๐ ประการ ครั้นพญาม้ากราบทูลดังนี้แล้วก็ถึงมรณกาลไปตามกรรม พระเจ้าพาราณสีโปรดให้ทำศพพญาม้าอย่างมโหฬาร แล้วพระราชทานยศใหญ่แก่นายอัสสาจารย์ กับให้กษัตริย์ทั้ง ๗ พระนคร กระทำสัตย์สาบานต่อพระองค์ แล้วส่งกลับไปสู่ประเทศของตน ๆ ส่วนพระเจ้าพรหมทัตก็มีพระกมลหฤทัยเต็มไปด้วยทศพิธราชธรรมทรงบำรุงราชอาณาจักรของพระองค์อยู่โดยชอบจนตลอด พระชนมชีพ

          ครั้นสมเด็จพระบรมศาสดาทรงแสดงเรื่องอดีตจบลงแล้ว จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นักปราชญ์ทั้งหลายในปางก่อนได้กระทำความเพียรในที่ไม่ใช่หลักแหล่ง ถึงถูกอาวุธสาหัสเช่นนั้นก็ยังไม่ละเสียซึ่งความเพียร ส่วนตัวเธอได้บวชในศาสนาอันสมควรพากเพียรอย่างยิ่งเช่นนี้แล้ว เหตุไรจึงท้อถอยเสีย ครั้นตรัสดังนี้แล้ว ก็ทรงแสดงอริยสัจสืบต่อไป ครั้นจบอริยสัจลง ภิกษุผู้สละความเพียรรูปนั้นก็สำเร็จโสดาปัตติผล แล้วสมเด็จพระทศพลจึงทรงประชุมชาดกว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระเจ้าพรหมทัตในครั้งนั้น ได้อุบัติมาเป็นอานนท์ในบัดนี้ นายอัสสาจารย์ผู้ชำนาญในยุทธวิธี ได้อุบัติมาเป็นสารีบุตร ส่วนพญาม้า ได้อุบัติมาเป็นเราตถาคตในบัดนี้ ในชาดกนี้ แสดงซึ่งประเพณีแห่งนักปราชญ์ทั้งหลายในปางก่อน ซึ่งไม่ทิ้งความเพียร แม้ถึงเจ็บจนปางตายก็ยังสู้พยุงกายลุกขึ้นมาทำกิจการจนสำเร็จผลขอจงจำไว้เป็นแบบฉบับสำหรับตน และสั่งสอนลุกหลานต่อไป เพื่อให้สำเร็จผลซึ่งตนประสงค์ด้วยประการฉะนี้

ดูก่อนนายสารถี ม้าสินธพอาชาไนยถูกลูกศรแทง

แล้ว แม้นอนตะแคงอยู่ข้างเดียวก็ยังประเสริฐกว่า

ม้ากระจอก ท่านจงประกอบฉันออกรบอีกเถิด.”

โภชชานียชาดกจบ.