๕๘. ตโยธัมมชาดก (ธรรมของผู้ล่วงพ้นศัตรู)

          พระบรมศาสดาได้ทรงปรารภพระเทวทัตผู้พยายามจะทำลายพระองค์ แล้วจึงทรงแสดงชาดกเรื่องนี้แก่ภิกษุทั้งหลายว่า ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี มีวานรฝูงใหญ่อยู่ฝูงหนึ่งอาศัยอยู่ในป่า หิมวันตประเทศ วานรฝูงนั้นมีวานรที่เป็นนายฝูงอยู่ตัวหนึ่งสำหรับปกครองฝูงแต่วานรนายฝูงนั้นเป็นวานรมีสันดานหยาบช้า เวลาเกิดลูกตัวผู้ขึ้นในหมู่นางวานรที่เป็นบริวารทั้งหลาย วานรนั้นได้ขบพืชวานรที่เป็นลูกตัวผู้นั้นเสียสิ้น โดยเกรงว่าจะแย่งนางวานรซึ่งเป็นบริวารของตน  ตกลงว่าวานรฝูงนั้นมีวานรเป็นผู้มีพืชพันธุ์บริบูรณ์ก็มีอยู่แต่ตัวเดียว คือนายฝูงเท่านั้น นอกนั้นล้วนแต่ถูกตอนสิ้น

          ครั้นอยู่ต่อมาคราวหนึ่ง เมื่อนางวานรตัวหนึ่งได้ตั้งครรภ์ขึ้น นางวานรตัวนั้นได้หลีกหนีจากฝูงไปอาศัยอยู่ในซอกเขาแห่งหนึ่งจนกระทั่งคลอดลูก เมื่อนางวานรนั้นเห็นว่าลูกเป็นตัวผู้ก็ตั้งใจเลี้ยงดูอยู่ในซอกเขานั้นแต่ลำพังตัวเดียว เพื่อหลบหนีจากวานรนายฝูง เมื่อลูกเติบโตขึ้นก็ถามหาบิดา แต่มารดาไม่บอกให้รู้ว่าอยู่แห่งหนตำบลใด ครั้นอ้อนวอนถามอีกในคราวหลังมารดาจึงบอกว่า บิดาของเจ้าเป็นนายฝูงอยู่ที่เขาตำบลโน้น แล้วจึงอ้อนวอนให้แม่พาไปหาบิดา แม่บอกว่า เจ้าจะไปหาบิดาไม่ได้เป็นอันขาด เพราะเหตุว่าบิดาของเจ้ามีใจร้ายกาจยิ่งนักหนา ขึ้นชื่อว่าลูกตัวผู้แล้วเขาก็ไม่มีใจเอ็นดูกรุณาเลย เมื่อเห็นเข้าเป็นต้องขบพืชเสียทุกตัว จึงตอบมารดาว่า ลูกไม่กลัวเลยขอแต่ให้พาไปพบเท่านั้น เมื่อบิดาจะทำอย่างไรต่อไป  ลูกจะแก้ไขเองมิให้เดือดร้อนถึงมารดา กิริยาว่าลูกวานรตัวนั้นมีกำลังแข็งแรงดุจช้างสาร ทั้งสติปัญญาก็เชี่ยวชาญรอบรู้ในเหตุการณ์ได้รวดเร็ว โดยเหตุนี้ ลูกวานรตัวนั้นจึงกล้าอ้อนวอนขอให้มารดาพาไปหาบิดา เมื่อมารดาขัดอ้อนวอนไม่ได้ก็ได้พาไป พอพญาวานรผู้เป็นนายฝูงได้แลเห็น ก็รู้ได้ทันทีว่าลูกวานรตัวนี้เมื่อเติบโตขึ้นจะแย่งคุมฝูงของเราเป็นแน่นอน จึงคิดว่าเราควรจะฆ่าเสียให้ตายในบัดนี้จึงจะดี ครั้นคิดแล้วจึงมีวาจาปราศรัยประหนึ่งว่ามีความรักใคร่โดยน้ำใสใจจริงว่า ดูก่อนลูกรักเหตุไรเจ้าจึงหลบหน้าบิดาจนกระทั่งเติบโตถึงปานนี้ เข้ามาให้บิดากอดจูบสักหน่อยเถิด ลูกวานรตัวนั้นก็กระโดดขึ้นไปนั่งที่ตักทันที พอบิดาได้ทีก็รวบรัดด้วยกำลังแรงประสงค์จะให้ขาดใจตาย  แต่ลูกวานรตัวนั้นมีกำลังร่างกายแข็งแรงกว่า จึงกางแขนทั้ง ๒ ออกแล้วสลัดพลัดจากตักทันทีเมื่อบิดาทานกำลังวังชาไม่ได้ จึงคิดต่อไปว่า เราจะต้องฆ่าลูกวานรตัวนี้ด้วยอุบายอันใดอันหนึ่งให้จงได้ แล้วนิ่งคิดอยู่สักครู่หนึ่งก็นึกขึ้นได้ว่า ที่สระแห่งหนึ่งในสถานที่โน้นเป็นสระที่มีผีเสื้อน้ำอยู่หวงแหน เราจะใช้วานรตัวนี้ให้ไปเก็บดอกบัวในสระนั้นเพื่อให้ผีเสื้อน้ำจับกินเป็นอาหาร ครั้นคิดดังนี้แล้วจึงบอกว่าดูก่อนลูกรักบิดาจะตั้งเจ้าให้เป็นนายฝูงปกครองบริวารแทนบิดาต่อไป เพราะเวลานี้บิดาแก่แล้ว แต่ว่าในการที่จะตั้งเจ้าให้เป็นนายฝูงนั้น จะต้องทำพิธีบูชาด้วยดอกบัว ๓ ชนิด เสียก่อนตามพิธีแห่งวานร เพราะฉะนั้น เจ้าจงไปเก็บดอกบัวในสระซึ่งอยู่ในตำบลโน้นมาให้บิดาให้ได้ถึง ๓ อย่าง คือ เอาดอกบัวขาว ๒ ดอก ดอกบัวขาบ ๓ ดอก ดอกบัวหลวง ๕ ดอก รวมเป็น ๑๐ ดอก เป็น ๕ คู่ด้วยกันในกาลบัดนี้ให้จงได้

          ลูกวานรตัวนั้นก็รับคำแห่งบิดาแล้วก็ไปยังสระนั้น เมื่อไปถึงก็ได้เดินตรวจดูตามริมสระนั้นถึง ๓ รอบ เห็นมีรอยเท้าสัตว์ลงไปไม่มีรอยกลับขึ้นมาเลย ก็ทราบว่าที่สระนี้คงจะมีผีเสื้อน้ำเป็นแน่นอน ถ้าเราลงไปในสระนี้ก็จะต้องเป็นภักษาหารแห่งผีเสื้อน้ำ เราจำเป็นจะต้องเลือกเก็บเอาดอกบัวตามริมสระจึงจะได้ ครั้นคิดแล้วก็เก็บเอาดอกบัวซึ่งเกิดอยู่ในที่ใกล้ริมสระทีละดอก ๆ มากองไว้ริมสระ เมื่อผีเสื้อน้ำเห็นดังนั้นก็เกิดอัศจรรย์ใจ จึงขึ้นมาจากสระเข้าไปหาวานรนั้น แล้วกล่าวสุนทรพจน์ว่า ข้าแต่พญาวานร ธรรมที่ให้ครอบงำศัตรูได้ในเวลามีอยู่ ๓ ประการ ตัวของท่านเห็นจะมีธรรม ๓ ประการนั้น แล้วจึงกล่าวเป็นคาถาต่อไปว่า

ยสฺเสเต   จ   ตโย   ธมฺมา        วานรินฺท   ยถา   ตว

ทกฺขิยํ   สูริยํ   ปญฺญา      ทิฏฺฐํ   โส   อติวตฺตตีติ

          แปลว่า ข้าแต่พญาวานร คุณธรรม ๓ ประการ คือ ความขยัน ๑ ความแกล้วกล้า ๑  ความรอบคอบ ๑ มีอยู่แก่ผู้ใด ผู้นั้นย่อมพ้นศัตรูได้เหมือนกับตัวท่าน ดังนี้

          ครั้นผีเสื้อน้ำกล่าวดังนี้แล้วจึงถามว่า ท่านจะเก็บดอกบัวเหล่านี้ไปทำสิ่งใด เมื่อวานรแจ้งให้ทราบว่าจะเก็บไปทำพิธีในการที่บิดาจะตั้งให้เป็นพญาวานรปกครองบริวารสืบต่อไป ผีเสื้อน้ำนั้นจึงคิดว่าเราไม่ควรจะให้วานรที่ประเสริฐอย่างนี้ถือดอกไม้ไปเองเราควรจะถือไปให้ ครั้นคิดแล้วก็แบกกำดอกไม้ตามหลังวานรตัวนั้นไป จนกระทั่งถึงสำนักแห่งวานรที่เป็นนายฝูง เมื่อวานรที่เป็นนายฝูงเห็นดังนั้นก็เกิดความโทมนัสน้อยใจจนถึงกับหัวใจแตกออกเป็น ๗ ภาค ทำกาลกิริยาตายในสถานที่นั้นฝ่ายฝูงวานรที่เป็นบริวารก็พร้อมกันยกวานรตัวนั้นให้เป็นพญาปกครองต่อไป

          ครั้นสมเด็จพระบรมศาสดา ทรงแสดงเรื่องอดีตดังนี้แล้ว จึงได้ทรงประชุมชาดกว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย วานรที่เป็นนายฝูงในครั้งนั้น ได้มาเกิดเป็นพระเทวทัตในบัดนี้ ส่วนลูกวานรตัวนั้นได้มาเกิดเป็นเราตถาคตในบัดนี้แล ดังนี้ ในชาดกนี้ว่าด้วยความฉลาดรอบรู้แห่งสมเด็จพระบรมครูของเราทั้งหลาย เหมือนกันกับในชาดกก่อน แต่ในชาดกนี้มีข้อธรรมสำหรับปราบปรามศัตรูไว้ ๓ ประการ ดังที่แสดงมาแล้วนั้น ข้อธรรมทั้ง ๓ ประการนั้น คือ ข้อที่ ๑ ซึ่งว่าได้แก่ความขยัน ทั้งความแข็งแรงทางกาย วาจา ใจ คือมีกำลังกาย กำลังใจไม่อ่อนแอ ข้อที่ ๒ ซึ่งว่าได้แก่ ความแกล้วกล้านั้น หมายความว่า ไม่ย่อท้อต่อเหตุการณ์ทุกประเภท ข้อที่ ๓ ซึ่งได้แก่ความรอบคอบนั้น หมายความว่า ละเอียดถ้วนถี่ คือความพินิจหาเหตุผลก่อนแต่จะทำ จะพูด จะคิด ให้รู้จักทางหนีทีไล่โดยรอบคอบเสียก่อน แล้วจึงทำ พูด คิด ต่อภายหลัง ขอท่านทั้งหลายจงจดจำไว้โดยย่อว่า ธรรม ๓ ข้อสำหรับต่อสู้ศัตรูนี้ คือ ความแข็งแรง ๑ ความแกล้วกล้า ๑ ความพิจารณาให้รอบคอบ ๑ ดังนี้ ไว้สำหรับใช้ด้วยตัวเองและสั่งสอนลูกหลานต่อไป ก็จะพ้นอันตรายเหมือนดังเรื่องพญาวานรดังที่ได้บรรยายมาแล้วนี้ ด้วยประการฉะนี้

“ดูกรพญาวานร ผู้ใดมีธรรม ๓ ประการนี้ คือ ความขยัน

ความแกล้วกล้า ปัญญา เหมือนท่าน ผู้นั้นย่อมล่วงพ้นศัตรูได้.”

ตโยธัมมชาดกจบ.