๘๕. กิมปักกชาดก (ว่าด้วยโทษของกาม)

 

          สมเด็จพระบรมศาสดาได้ทรงปรารภภิกษุผู้กระสันอยากสึกรูปหนึ่งให้เป็นต้นเหตุ พระพุทธองค์ทรงตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุเธออยากสึกจริงหรือ ภิกษุนั้นทูลรับว่าจริง จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ กามคุณทั้ง ๕ เป็นของน่ายินดี ก็แต่เมื่อผู้ใดพัวพันเข้าแล้วย่อมให้เกิดทุกข์เหมือนกับบุคคลบริโภคผลไม้อันมีพิษ ครั้นตรัสดังนี้แล้วจึงทรงแสดงเรื่องอดีตว่า ในอดีตกาล มีพ่อค้าเกวียนคนหนึ่งนำเกวียน ๕๐๐ เล่ม อันเต็มไปด้วยสินค้าไปจำหน่ายตามบ้านน้อยเมืองใหญ่ พร้อมด้วยบริวารเป็นอันมาก เมื่อไปถึงปากดงแห่งหนึ่งจึงเรียกบริวารมาประชุมแล้วบอกว่า ในดงนี้มีต้นไม้มีพิษอยู่เป็นอันมากผลไม้สิ่งใดที่พวกเจ้ายังไม่เคยกิน หากพวกเจ้าพบเห็นจงบอกเราก่อน ครั้นสั่งดังนี้แล้วก็เดินผ่านดงไป พวกบริวารได้เห็นต้นไม้ต้นหนึ่งดาษไปด้วยผลตั้งแต่ลำต้นจนกระทั่งถึงยอด ผลไม้ต้นนั้นสีก็งาม กลิ่นก็หอม รสก็อร่อย เหมือนกับผลมะม่วงธรรมดา แต่บอกไม่ได้ว่าเป็นต้นอะไร จึงมีนามตามบาลีว่ากิมปักกพฤกษ์ แปลว่า ต้นอะไร พวกบริวารบางคนก็กินผลไม้นั้น บางคนก็ยังรอพ่อค้าเกวียนที่เป็นหัวหน้าอยู่  มื่อพ่อค้าเกวียนที่เป็นหัวหน้าไปถึง จึงบอกแก่บริวารทั้งหลายว่าต้นไม้นี้เป็นต้นไม้มีพิษ ถ้าไม่อย่างนั้นคงมีนกและมนุษย์เก็บกินผลหมดแล้ว ครั้นกล่าวดังนี้แล้วจึงให้พวกกินผลไม้นั้นกินยาแก้ไข้สำรอกออกมา บางคนก็รอดตายบางคนก็ตายไป แล้วพ่อค้าเกวียนนั้นก็พาบริวารเดินทางต่อไป เมื่อจำหน่ายสินค้าหมดแล้วก็กลับสู่เคหสถานโดยสวัสดิภาพ ครั้นสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสาธกเรื่องอดีตมาแสดงแล้ว จึงตรัสว่า

อายตึ   โทสํ   นาญฺญาย           โย   กาเม    ปฏิเสวติ

วิปากนฺเต   หนนฺตี   นํ                กิมฺปกฺกมิว   ภกฺขิตนฺติ

          แปลว่า ผู้บริโภคกามคุณเพราะไม่เห็นโทษในอนาคต ผลที่สุดกามคุณย่อมฆ่าผู้นั้นเสีย เหมือนกับผลกิมปักกพฤกษ์ คือผลไม้อันไม่มีชื่อเรียกว่าอย่างไร ที่ฆ่าบุคคลผุ้บริโภคฉะนั้น เมื่อตรัสเรื่องอดีตจบลงดังนี้แล้ว จึงทรงแสดงอริยสัจสืบต่อไป เมื่อจบอริยสัจลง ภิกษุผู้กระสันอยากสึกนั้น ก็ได้สำเร็จโสดาปัตติผล ส่วนบุคคลเหล่าอื่นซึ่งอยู่ในสถานที่นั้น บางพวกก็ได้สำเร็จสกทาคามิผล บางพวกก็ได้สำเร็จอนาคามิผล บางพวกก็ได้สำเร็จอรหัตผล แล้วสมเด็จพระทศพลจึงทรงประชุมชาดกว่า บริวารของพ่อค้านั้น ได้มาเกิดเป็นพุทธบริษัทในบัดนี้ ส่วนพ่อค้าเกวียนที่เป็นหัวหน้านั้น ได้มาเกิดเป็นเราตถาคตนี้แล ชาดกนี้เป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่า ผลไม้ในป่าย่อมมีหลายอย่างหลายประการ เหมือนกับผลไม้ที่บริโภคได้ อันมีอยู่ในบ้านเมืองเราก็มี แต่เป็นผลไม้มีพิษ โดยเหตุนี้ผู้เดินทางไปต่างถิ่นต้องระวังการกินเป็นสำคัญ อย่าเห็นแก่ปากแก่ท้อง เพราะจะต้องลำบากต่อภายหลัง ถ้าสิ่งใดไม่เคยบริโภคก็จงสังเกตว่ามีรอยผู้คนและหนูเก็บกินหรือไม่ ถ้าไม่อย่างนั้นย่อมจะถึงแก่ความตายเหมือนกับเรื่องที่แสดงมาแล้วนี้ ดังนี้

ผู้ใดไม่รู้โทษในอนาคตมัวเสพกามอยู่ กามเหล่านั้น

จะต้องล้างผลาญผู้นั้นในเวลาให้ผล  เหมือนผลแห่ง

ต้นกิมปักกพฤกษ์ ทำให้คนผู้ที่บริโภคตายฉะนั้น.”

กิมปักกชาดกจบ.