๙๕. มหาสุทัสสนชาดก (ว่าด้วยสังขาร)

 

       พระพุทธองค์ได้ทรงปรารภคำอาราธนาของพระอานนท์ให้เป็นเหตุ แล้วทรงแสดงชาดกนี้ให้เป็นผลว่า เมื่อพระอัครสาวกทั้ง ๒ ปรินิพพานแล้ว พระพุทธองค์ได้ทรงดำริว่า เราตถาคตจะปรินิพพานในเดือน ๖ เพ็ญ ครั้นต่อมา พระองค์ได้เสด็จไป ฯลฯ แล้วประทับบนพระแท่นศิลาอาสน์ใต้ต้นรังทั้งคู่อยู่ในพระราชอุทยานของพระเจ้ากุสินารา ทรงปรารภจะปรินิพพานในที่นั้น พระอานนท์กราบทูลอาราธนาขอให้เสด็จไปปรินิพพานในนครใหญ่มีกรุงราชคฤห์ สาวัตถีเป็นต้น พระพุทธองค์ตรัสว่า อย่าดูถูกว่า กุสินารานี้เป็นเมืองเล็กเมืองน้อย เพราะเมื่อก่อนนี้เป็นราชธานีอันใหญ่โตกว้างขวางบริบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการ เป็นที่ประทับแห่งมหาสุทัสสนจักรพรรดิราช ครั้นตรัสดังนี้แล้วก็ทรงแสดงเรื่องอดีตว่า ในอดีตกาลมีพระเจ้าจักรพรรดิพระองค์หนึ่งทรงพระนามว่า มหาสุทัสสนะ ครองเมืองกุสินารานี้บริบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการ มีพระเดชานุภาพแผ่ไปทั่วโลก เมื่ออยู่มานานพระองค์ได้เสด็จขึ้นไปเจริญฌานอยู่ในสุธรรมปราสาทกำหนดได้ ๘ หมื่น ๔ พันปี เวลาจะเสด็จสวรรคตได้เสด็จลงจากปราสาท เสด็จไปประทับ ณ พระแท่นอันมีในพระราชอุทยาน พระอัครมเหสีทูลเชิญให้เสด็จไปประทับที่อื่นพระองค์หาได้เชื่อฟังไม่ พระองค์ตรัสว่า

อนิจฺจา วต สงฺขารา      อุปฺปาทวยธมฺมิโน

อุปฺปชฺชิตฺวา นิรุชฺฌนฺติ      เตสํวูปสโม สุโข

       แปลความว่า สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ มีความเกิดขึ้นมา และดับไปเป็นธรรมดา ครั้นเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป การที่สังขารทั้งหลายสงบระงับ ไม่เกิด ไม่ตาย สำเร็จซึ่งนิพพานนั้นแลเป็นความสุข ดังนี้

       ครั้นแสดงอดีตอย่างนี้แล้ว จึงทรงประชุมชาดกว่า พระราชเทวีในครั้งนั้น ได้เกิดมาเป็นมารดาพระราหุลในบัดนี้ ขุนพลแก้วได้เกิดมาเป็นพระราหุล ราชบริวารของพระเจ้ามหาสุทัสสนะได้เกิดมาเป็นพุทธบริวาร ส่วนพระเจ้าสุทัสสนะ คือ เราตถาคต นี้แล ดังนี้ ในชาดกนี้ชี้ให้เห็นว่า ที่ตายไม่สำคัญจะเป็นบ้านเล็กเมืองน้อย บ้านใหญ่เมืองใหญ่ ป่าดงพงไพรอย่างไรก็ตาม สำคัญอยู่แต่ บาปบุญที่เราทำไว้เท่านั้น คือ ถ้าเราทำบาปไว้ ถึงตายในปาสารท ๗ ชั้นก็จะต้องไปทนทุกข์ในเบื้องหน้าโดยเร็วพลัน ถ้าเราทำบุญไว้ถึงจะตายในกระท่อมเล็ก ๆ ก็ตาม ก็จะต้องได้ไปเสวยสุขในทิพยวิมานสุราลัยเทวสถานเป็นแม่นมั่นโดยไม่ต้องสงสัย

“สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ มีความเกิดขึ้น และ

เสื่อมไปเป็นธรรมดา เกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป

ความที่สังขารเหล่านั้นสงบระงับเป็นสุข.”

มหาสุทัสสนชาดกจบ.