เผ่าพันธุ์คนทั้งโลก (ในระบบของจิตวิญญาณ)

เผ่าพันธุ์คนทั้งโลก

(ในระบบของจิตวิญญาณ)

ตระกูลหรือเผ่าพันธุ์คน

                คนทุกชาติทุกภาษาในโลกนี้ ถ้าว่ากันตามภาษาธรรมหรือภาษาจิตแล้ว มีอยู่ ๑๐ เผ่าพันธุ์ คือ

                ๑.            คนพันธุ์สัตว์นรก คือคนผู้มีจิตใจ มีอารมณ์ และมีทรรศนคติเหมือนสัตว์นรก ซึ่งมีนรกอยู่ ๔๕๗ ขุม

                ๒.            คนพันธุ์เปรต คือคนผู้มีจิตใจ มีอารมณ์ และมีทรรศนคติเหมือนเปรต ซึ่งมีเปรตอยู่อย่างน้อย ๒๕ จำพวก ขึ้นไป

                ๓.            คนพันธุ์เดียรัจฉาน คือคนผู้มีจิตใจ มีอารมณ์ และมีทรรศนคติขัดขวางกุศลหรือความดีของตนบ้าง ของ ผู้อื่นบ้าง และหรือขัดขวางความดีทั้งของตนและของผู้อื่นเป็นนิสัย และมีเดียรัจฉานอยู่ ๔ จำพวก

                ๔.            คนพันธุ์อสุรกาย คือ คนผู้ไม่กล้าทำกุศลกรรม หรือไม่กล้างดเว้นจากการทำชั่วทางกาย วาจา ใจ ๑๐ อย่าง มีไม่กล้าเว้นจากการทำปาณาติบาต (ฆ่าสัตว์) เป็นต้น และมีอสุรกายอยู่จำพวกเดียว

                ๕.            คนพันธุ์อมนุษย์ คือ คนผู้ไม่ใช่มนุษย์ และมีอมนุษย์อยู่ ๑๒ จำพวก

                ๖.            คนพันธุ์มาร คือ คนผู้มีนิสัยล้างผลาญชีวิต ทรัพย์สินของตนและของผู้อื่นสัตว์อื่นให้พินาศ และมีคนที่เป็น  มารสังคม ๕ จำพวก

                ๗.            คนพันธุ์มนุษย์ คือ คนผู้มีใจสูง เพราะมีคุณธรรมของมนุษย์คือศีล ๕ และกุศลกรรมบถ ๑๐ ประจำจิตใจ  และมีคนที่เป็นมนุษย์อยู่ ๔ จำพวก

                ๘.            คนพันธุ์เทวดา คือคนผู้มีหูทิพย์ มีตาทิพย์ เพราะมีคุณธรรมของเทวดา ๒ อย่าง อยู่ในชีวิตจิตใจ (หิริ  โอตตัปปะ) และยินดีในการสละทาน โดยเลือกทานแต่เฉพาะในที่ที่เป็นเนื้อนาบุญของโลกเท่านั้น และมีเทวดาอยู่ ๖ ชั้นจิต

                ๙.            คนพันธุ์พระพรหม คือ คนผู้ปฏิบัติหรือฝึกจิตทางสมถกัมมัฏฐาน บรรลุถึงรูปฌาน อรูปฌาน จิตใจ ตั้งมั่น อยู่ในพรหมวิหารธรรม ๔ อย่าง คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา และมีรูปพรหมอยู่ ๑๖ ชั้นจิต อรูปพรหม ๔ ชั้นจิต

                ๑๐          คนพันธุ์อริยะ คือ คนผู้ปฏิบัติหรือฝึกจิตทางวิปัสสนากัมมัฏฐานสายสัมมาปฏิบัติ บรรลุถึงมรรค ๔ ผล ๔ และนิพพาน ๑ (โลกุตตรธรรม ๙) และมีพระอริยบุคคล ๔ จำพวก มีพระโสดาบัน เป็นต้น

กรรมเป็นตัวแบ่งแยกเผ่าพันธุ์

สุตตันต. เล่ม ๑๗ ข้อ ๓๘๒ มีว่า

กมฺมุนา วตฺตตี ประชา

แปลว่า หมู่สัตว์โลก (หมายถึงคนด้วย) ย่อมเป็นไปตามกรรม ซึ่งจะมีกรมให้คนทำอยู่ ๓ กรรม คือ :-

            ๑.         กุศลกรรม คือ กรรมดีที่ทำให้คนฉลาด มีอยู่ ๑๐ อย่าง มีเว้นจากปาณาติบาต เป็นต้น (ไปดูกุศลกรรมบถ ๑๐ ในหนังสือนวโกวาท) และมีกุศลกรรมหรือกรรมดีอยู่ ๓ สาขา คือ :-

            ก.            กุศลกรรม ๑๐ อย่าง เป็นสิ่งนำพาให้จิตใจ อารมณ์ ทรรศนคติของผู้ทำ เกิดเป็นคนพันธุ์มนุษย์ใจสูง

                ข.             กุศลกรรม ๑๐ อย่าง  พร้อมกับมีหิริโอตตัปปะและยินดีในการสละทานด้วย ย่อมนำพาให้จิตใจ อารมณ์ ทรรศนคติของผู้นำ เกิดเป็นคนเทวดา มีหูทิพย์ มีตาทิพย์

                ค.            กุศลกรรม ๑๐ อย่าง พร้อมกับปฏิบัติหรือฝึกจิตทางสมถกัมมัฏฐาน บรรลุถึงรูปฌาน อรูปฌานด้วย ย่อมนำพาให้จิตใจ อารมณ์ ทรรศนคติของผู้ทำเกิดเป็นคนพันธุ์พระพรหม มีพรหมวิหารธรรม ๔ อย่าง ประจำชีวิตตลอดไป

                ๒.         อกุศลกรรม คือ กรรมชั่วที่ทำให้คนไม่ฉลาดมีอยู่ ๑๐ อย่าง มีนิยมทำปาณาติบาต (นิยมฆ่าสัตว์ ) เป็นต้น (ไปดูอกุศลกรรมบถ ๑๐ ในหนังสือนวโกวาท) และมีอกุศลวิบากผลของอกุศลกรรม หรือผลกรรมชั่วย่อมเป็นสิ่งนำพาให้จิตใจ อารมณ์ ทรรศนคติของผู้ทำเกิดเป็นคนพันธุ์สัตว์นรกบ้าง พันธุ์เปรตบ้าง พันธุ์เดียรัจฉานบ้าง พันธุ์อสุรกายบ้าง พันธุ์อมนุษย์บ้าง หรือเป็นคนมารบ้าง

                ๓.         อัพยากตกรรม คือ กรรมที่ทำ (พูด) ให้ผู้ไม่ปฏิบัติด้วยกันรู้แจ่มแจ้งไม่ได้ ได้แก่ การปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานสายสัมมาปฏิบัติ คือ สติปัฏฐาน ๔ อย่าง ปฏิบัติให้เห็นกายในกาย ให้เห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลาย ให้เห็นจิตในจิต และให้เห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่เป็นประจำและให้ต่อเนื่องถึง ๗ วัน ๗ เดือน หรือ เป็นอย่างช้า จักได้รับผลเป็นปฏิเวธ กลับชีวิตจากความเป็นเผ่าพันธุ์พระอริยะ คือผู้มีจิตใจ อารมณ์ และหรือทรรศนคติไกลจากข้าศึกคือความเกิด แก่ เจ็บตายแล้ว ซึ่งมีนามบัญญัติว่าพระโสดาบันบ้าง พระสกทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์บ้าง

วิบากหรือผลของกรรมสุดท้าย

            ๑.         กุศลวิบาก หรือผลแห่งกุศลกรรมสุดท้ายของชีวิตที่เปิดเผย มีอยู่ ๗ อย่าง มีอายุวัฑฒโก อายุของเขาย่อมเจริญ… (มงคลจักวาฬน้อย ในหนังสือสวดมนต์)

                ๒.         อกุศลวิบาก หรือผลแห่งอกุศลกรรม (กรรมชั่ว) สุดท้ายของชีวิตที่เปิดเผย จักประสบภัยพิบัติ ๑๐ อย่าง คือ ราชภัย โจรภัย อัคคีภัย วาตภัย โรคภัย อุปัตติภัย วิวาทภัย ทุพภิกขภัย และวินาศภัย

                ๓.         อัพยากตวิบาก หรือผลแห่งวิปัสสนา ฯ สายสัมมาปฏิบัติ จักบำเพ็ญประโยชน์ได้ ๓ อย่าง ในคราวเดียวกัน คือ โลกัตถจริยา ญาตัตถจริยา พุทธัตถจริยา

 

พระครูสุคนธ์คณารักษ์

เจ้าอาวาสวัดหนองริวหนัง

ตำบลลำหนองแสน อำเภอหนองกุงศรี จังหวัดกาฬสินธุ์