อุบายบรรเทาความโกรธ

อุบายบรรเทาความโกรธ

ถ้อยแถลง

หนังสือ “อุบายบรรเทาความโกรธ” เล่มนี้ ที่เป็นชื่อเรื่องและเค้าโครงนั้น พระเดชพระคุณท่านอาสภเถร ท่านพิมพ์เป็นธรรมบรรณาธิการแก่ศิษย์และญาติมิตรทั้งหลาย เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๙ เห็นว่าเป็นประโยชน์แก่คนผู้มากไปด้วยความโกรธอย่างมหาศาล จึงได้น้อมคารวะนำมาพิมพ์เป็นธรรมบรรณาการแก่ผู้ใครจะบรรเทาความโกรธอีกครั้ง โดยมีการตัดต่อถ้อยคำสำนวนบ้างเป็นบางตอนและบางสำนวน แต่เนื้อหาสาระยังคงเดิม เชื่อว่าจะตรงกับประณิธานของท่านที่ว่า สัพเพ สัตตา อะเวรา โหนตุ ขอให้สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง จงเป็นผู้ไม่มีเวรแก่กันและกันเลย

             พระครูสุคนธ์คณารักษ์

                 เจ้าอาวาสวัดหนองริวหนัง

                                                                 ๒๔ สิงหาคม ๒๕๓๗

 

             อุบายบรรเทาความโกรธ

โทสะ แปลว่า จิตที่ถูกประทุษร้าย ด้วยวิสภาคารมณ์ต่างๆ มีรูปเป็นต้น

โกธะ แปลว่า จิตที่กำเริบขึ้น ด้วยตวามเร่าร้อนกระวนกระวาย

เหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดความโกรธ

          ๑.         ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นสมความปรารถนา เพราะมีผู้ขัดขวางบ้าง เพราะความเขลาของตนบ้าง

            ๒.         พลัดเพรากจากของรักของชอบใจไป เพราะมีผู้มาทำไห้พลัดพรากบ้าง เพราะความสะเพร่าของตนบ้าง

            ๓.         ประสบกับสิ่งไม่เป็นที่รักที่พอใจเข้า ทางตาเห็นบ้าง หูได้ยินบ้าง จมูกได้กลิ่นบ้าง ลิ้นได้รสบ้าง เป็นต้น

โทษแห่งความโกรธ

          ๑.         เผาผลาญจิตและอวัยวะน้อยใหญ่ในร่างกายให้กำเริบ เร่าร้อนกระวนกระวาย เกิดอาการไม่ปรกติต่างๆ ขึ้น

            ๒.         ผู้โกรธนั้น ฆ่าตนเองก็ได้ ฆ่าผู้อื่นก็ได้ ฆ่าสัตว์ก็ได้ ด้วยการฆ่าให้ตายบ้าง ทำให้พิการบ้าง ทรมานบ้าง

            ๓.         ผู้โกรธนั้น ไปทำโจรกรรมทรัพย์หรือเผาผลาญทรัพย์ของผู้อื่นได้ ด้วยตนเองบ้าง ยุยงส่งเสิมบ้าง จ้างวานผื่นบ้าง

            ๔.         ผู้โกรธนั้น พูดเท็จ ส่อเสียด หยาบ เพ้อเจ้อได้ด้วยตนเองบ้าง ยุยงส่งเสริม จ้างวานผื่นบ้าง

            ๕.         ผู้โกรธนั้น ดื่มสุราเมรัยหรือสิ่งมึนเมาต่างๆ ได้ อันเป็นเหตุนำไปสู่ความหายนะอื่นๆ ต่อไป

            ๖.         ผู้โกรธนั้น ก่อการทะเลาะวิวาท ทำการยุแหย่คนในสังคมให้แตกแยกสามัคคี ชื่อว้าป็นผู้ทำสังฆเภทได้

อุบายบรรเทาความโกรธ มี๑๐ อย่าง คือ

          ๑.         กลับเข้าฌานใหม่ หรือเร่งกัมมัฎฐานอีกใหม่

            ๒.         ระลึกถึงพุทธโอวาทที่ทรงประทานไว้ในที่ต่างๆ

            ๓.         หัดมองในแง่ดี คือมองในแง่ทีเป็นส่วนดีจองคนคู่เวรนั้น

            ๔.         อบรมหรือพร่ำสอนตนเอง

            ๕.         ระลึกถึงกรรมของตนในอดีต ส่วนที่เป็นอกุศลกรรม

            ๖.         ระลึกถึงพุทธจริยาแต่ปางก่อน ปางเมื่อเสวยชาติเป็นพระโพธิสัตว์

            ๗.         ระลึกถึงความสัมพันธ์กันมาในสังสารวัฏ

            ๘.         ระลึกถึงอานิสงส์เมตตา ๑๑ อย่าง

            ๙.         แยกธาตุออกดูว่าโกรธเข่ที่ตรงไหนด้วยปัญญา

            ๑๐.      ให้ปันสิ่งของของตน โดยทางตรงบ้าง ทางอ้อมบ้าง

            ๑. กลับเข้าฌานใหม่ คือ เราผู้ปฏิบัติธรรม เคยทำเมตตาฌานให้เกิดขึ้นแล้วในบุคคลจำพวกก่อนๆ มีคนเป็นที่รักเป็นต้น พวกใดพวกหนึ่งหลายๆหน เมื่อออกจากฌานแล้ว จึงพยายามเจริญเมตตาไปในคนคู่เวรนั้นแล้วๆ เล่าๆ เพื่อบรรเทาความโกรธให้หายไป ส่วนผู้เคยทำสมถหรือวิปัสสนากัมมัฏฐานแล้ว ก็ให้เร่งกัมมัฏฐานนั้นๆ อีกใหม่ จะละโกรธได้

            ๒. ระลึกถึงพุทธโอวาท เช่นโอวาทว่า ภิกษุทั้งหลาย! ถ้าพวกโจรใจบาปหยาบช้าจะพึงเอาเลื่อยมีด้ามสองข้างมาเลื่อยอวัยวะทั้งหลายมีขา แขน เป็นต้น แม้ขณะที่พวกโจรทำการเลื่อยอวัยวะอยู่นั้น ผู้ใดเกิดมีใจประทุษร้ายต่อพวกโจร เขาผู้นั้นชื่อว่าไม่ปฏิบัติตามคำสอนของเรา เพราะเหตุที่มีใจประทุษร้ายนั้น หรือพุทธโอวาทอื่นๆ  เช่น “ผู้ใดโกรธตอบต่อคนที่โกรธก่อน ผู้นั้นชื่อว่าเป็นคนเลวเสียยิ่งกว่าคนที่โกรธก่อน เพราะเหตุที่โกรธตอบนั้น ส่วนผู้ใดไม่โกรธตอบคนที่โกรธก่อน ผู้นั้นชื่อว่าเป็นผู้ชนะสงครามที่ชนะได้แสนยาก ดังนี้

            ผู้ใดรู้ว่าคนอื่นโกรธแล้ว เป็นผู้มีสติยังยั้งความโกรธไว้เสียได้ คือไม่โกรธตอบ ผู้นั้นได้ชื่อว่าประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนและคนอื่นด้วยกันทั้งสองฝ่าย ดังนี้

            ๓. หัดมองในแง่ดี คือ บางคนมีมรรยาททางกายเรียบร้อยดี แต่มรรยาททางวาจาและทางใจของเขากลับไม่เรียบร้อย เราก็พยายามมองคนเช่นนี้เฉพาะแต่มารยาททางกายก็พอ ความโกรธอาจบรรเทาลงได้

            บางคนมีมรรยาททางวาจาเรียบร้อยดี แต่มรรยาททางกายและใจของเขากลับไม่เรียบร้อย เราก็พยายามมองคนเช่นนี้เฉพาะแต่มรรยาททางวาจาก็พอ  ความโกรธอาจบรรเทาลงได้

            บางคนมีมรรยาททางใจหรือทางความคิดอ่านเรียบร้อยดี แต่มรรยาททางกายและทางวาจาของเขากลับไม่เรียบร้อย เราก็พยายามมองคนเช่นนี้เฉพาะแต่มรรยาททางใจ หรือทางความคิดอ่านก็พอ ความโกรธอาจบรรเทาลงได้

            ๔. อบรมหรือพร่ำสอนตนเอง เช่น เขาทำทุกข์ให้แก่เจ้าได้ก็แต่ที่ร่างกายของเจ้าเท่านั้น ทำไมจึงหอบเอาทุกข์นั้นเข้ามาใส่ไว้ในใจของตน อันมิใช่วิสัยที่เขาจะพึงให้ได้เล่า ?

            หมู่ญาติที่เขามีอุปการะคุณเป็นอันมาก เจ้าก็ยังละทิ้งเขามาปฏิบัติได้ แต่ทำไมเจ้าจึงละความโกรธอันเป็นตัวศัตรู ผู้ทำความพินาศให้อย่างใหญ่หลวงไม่ได้เล่า ?

            เจ้าอุตส่าห์สมาทานศีลอุโบสถทุกๆ วัน ๘ ค่ำ ๑๔ ค่ำ หรือ ๑๕ ค่ำ แห่งเดือนข้างขึ้นและข้างแรม หรือปฏิบัตินิจศีล ที่เป็นศีล ๕ ศีล ๑๐ หรือศีล ๒๒๗ เหล่าใดไว้ แต่เจ้ากลับเป็นผู้กอบโกยเอาความโกรธอันเป็นเครื่องตัดรากเง่าของศีลเหล่านั้นไว้ด้วย ใครเล่าจะโง่เซอะเหมือนเจ้าเล่า ?

            เจ้าโกรธว่า เขาทำความผิดอันใหญ่หลวงให้แก่เจ้าแล้ว แต่ว่า ทำไมเจ้าจึงปรารถนาที่จะทำความผิดเช่นนั้นด้วยตนเองเสียเล่า เจ้าโง่เอ๋ย

            เขาปรารถนาที่จะทำไห้เจ้าโกรธ เขาจึงทำการยั่วยุด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อให้เจ้าโกรธ แต่ทำไมเจ้าจึงจะทำความปรารถนาของเขาให้สำเร็จเสียเอง ด้วยการยอมให้ความโกรธนั้นเกิดขึ้นได้เล่า ?

            เมื่อเจ้าโกรธขึ้นมาแล้ว เจ้าจักก่อทุกข์ให้แก่ผู้อื่นหรือไม่ก็ตามที แต่ว่า เจ้านั้น ย้อมชื่อว่า เป็นผู้เบียดเบียนตนเองด้วยทุกข์คือความโกรธอยู่ ณ ขณะนั้นทีเดียว

            เมื่อพวกเขาเดินไปสู่ทางผิดคือความโกรธ ซึ่งไม่นำประโยชน์อะไรมาให้แก่ตนเลย ถ้าแม้ว่าเจ้ายังโกรธอยู่ ก็ชื่อว่าได้คล้อยตามทางของเขาแล้ว

            ๕. ระลึกถึงกรรมของตนในอดีต ส่วนที่เป็นอกุศลกรรมว่า นี่แน่! พ่อมหาจำเริญ เจ้าโกรธคนอื่นเขาแล้วจักได้ประโยชน์อะไร กรรมอันมีความโกรธเป็นเหตุของเจ้านี้ซิ มันจักทำให้เจ้าฉิบหายเองไม่ใช่หรือ ?

            ด้วยว่า เจ้าเป็นผู้มีกรรมเป็นของของตน มีกรรมเป็นทายาท มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่ง เจ้าได้ประพฤติกรรมใดไว้ เจ้าจักได้รับผลแห่งกรรมนั้น มิใช่หรือ ?

            อนึ่ง กรรมของเจ้านี้  ไม่สามารถที่จะบันดาลให้สำเร็จสัมมาโพธิญาณ ปัจเจกโพธิญาณ และสาวกภูมิ ไม่สามารถที่จะบันดาลให้สำเร็จสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ความเป็นพระโสดาบันบุคคล เป็นต้นได้

            อันเจ้านี้นั้น เมื่อขืนประพฤติกรรมคือพอกพูนความโกรธอยู่อย่างนี้ ย่อมชื่อว่าเผาตัวเองทั้งเป็น และทำตัวเองให้มีชื่อเสียงเน่าเหม็นเป็นคนแรกโดยแท้

            แม้เขาผู้นั้นโกรธเจ้าแล้ว เขาจักได้ประโยชน์อะไร กรรมอันมีความโกรธเป็นเหตุของเขาผู้นั้นก็จักบันดาลให้เป็นไปเพี่อความพินาศฉิบหายแก่เขาเอง มิใช่หรือ ? เพราะว่า เขาผู้นั้นเป็นผู้มีกรรมเป็นของตน มีกรรมเป็นทายาท มีกรรทเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่ง เขาได้ประพฤติกรรมใดไว้ เขาก็จักต้องได้รับผลแห่งกรรมนั้น มิใช่หรือ ?

            ๖. ระลึกถึงพุทธจิยาแต่ปางก่อนว่า นี่แน่! พ่อมหาจำเริญ พระบรมศาสดาของเจ้าในปางก่อน แต่ยังมิได้ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณ ทรงเป็นพระโพธิสัตว์ บำเพ็ญบารมี ๓๐ ทัศน์อยู่ ๔ อสงไข กับหนึ่งแสนมหากัปนั้น พระองค์ก็มิได้ทำพระหฤทัยให้โกรธเคืองแม้ในศัตรูทั้งหลาย ผู้พยายามประหัตประหารพระองค์อยู่ในชาตินั้นๆ มิใช่หรือ ?

            ๑) ในสีลวชาดก พระโพธิสัตว์เสวยชาติเป็นพระเจ้าแผ่นดิน นามว่าสิลวะ มีอำมาตย์ผู้ใจบาปหยาบช้าลอบล่วงประเวณีกับพระอัครมเหสีของพระองค์ พระองค์ก็ไม่ทรงพิโรธให้กับอำมาตย์ ทรงยึดมั่นในอวิโรธนะธรรมอย่างมั่นคง

            ๒) ในขันติวาทีชาดก พระโพธิสัตว์เสวยชาติเป็นขันติวาทีดาบส เมื่อพระเจ้ากลาพุผู้ครองแคว้นกาลีตรัสถามว่า ท่านสมณะ พระผู้เป็นเจ้านับถือวาทะอะไร ? พระโพธิสัตว์ทูลตอบว่า อาตมาภาพนับถือขันติวาทะ คือนับถือความอดทนทีนั้น พระเจ้ากลาพุได้ทรงรับสั่งให้เฆี่ยนพระโพธิสัตว์ด้วยมีแส้มีหนามเหล็ก เป็นการพิสูจน์ จนในที่สุดถึงกับตัดมือและเท้า แต่แล้ว พระโพธิสัตว์ก็มิได้ทำความโกรธเคืองเลยแม้แต่น้อย แม้เรื่องเวสสันดร พญานาคชื่อภูริทัตตะ ก็นำมาเป็นอุทาหรณ์ได้

            ๗. ระลึกถึงความสัมพันธ์กันมาในสังสารวัฏว่า เรื่องนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสสอนไว้ ซึ่งมีปรากฏในคัมภีร์สังยุตตนิกาย นิทานวรรค ภาษาไทย ฉบับสังคายนา ข้อ ๑๒๔, ๑๒๕, ๑๓๗, ๑๓๘, ๑๓๙, ๑๔๐, ๑๔๑ และข้อ ๑๔๒ มีว่า ดุก่อนภิกษุทั้งหลาย สงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ สัตว์ที่ไม่เคยเป็นบิดามารดากัน ไม่เคยเป็นพี่ชายน้องชายกัน ไม่เคยเป็นพี่สาวน้องสาวกัน  ไม่เคยเป็นบุตรธิดากัน โดยกาลนานนี้ มิใช่หาได้ง่ายเลย หมายความว่าไม่ค่อยมี เพราะฉะนั้นท่านผู้ปฏิบัติธรรมพึงส่งจิตไปในคนคู่เวรกันนั้น อย่างนี้ว่า ได้ยินว่าสตรีผู้นี้ บุรุษผู้นี้ ชายคนนี้ หญิงคนนี้ เขาเคยเป็นมารดาเรา เป็นเป็นบิดาเรา เคยเป็นพี่น้องชายเรา เคยเป็นพี่น้องหญิงเรา เคยเป็นบุตรเราเป็นธิดาเรา เป็นต้น แต่ละบุคคลนั้นเคยได้ทำอุปการะแก่เรามาหลายอย่างหลายหลายประการเป็นอันมาก

            เพราะเหตุนี้ การที่เราจะทำใจให้โกรธแค้นในบุคคลนั้นๆ ย่อมเป็นการไม่สมควรอย่างยิ่ง ฉะนี้

            ๘. ระลึกถึงอานิสงส์แห่งเมตตา ๑๑ ประการ ที่มีอยู่ในพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับสังคายนา เอกาทสกนิบาต อังคุตตรนิกาย เล่มที่ ๒๘ ข้อ ๑๕ ชื่อว่าเมตตานิสังสสูตร มีว่า คนผู้เจริญเมตตาภาวนา พึงหวังได้แน่นอนซึ่งอานิสงส์ ๑๑ ประการ ที่ตนส้องเสพให้มากแล้ว ทำให้เจริญขึ้นแล้ว คือ :-

            ๑)       หลับเป็นสุข คือไม่กลิ้ง ไม่กรน น้ำลายไม่ไหลจากปาก ไม่กลับหัวกลับเท้า หลับอย่างสนิทเหมือนเข้าสมาบัติ มีลักษณะท่านอนสง่า เรียบร้อย งดงามน่าเลื่อมใส

            ๒)       ตื่นเป็นสุข คือตื่นขึ้นมาแล้วไม่ทอดถอนหายใจ ไม่สยิ้วหน้า ไม่บิดไปบิดมา มีหน้าตาแช่มชื่นเบิกบาน เหมือนเอกบัวที่กำลังแย้ม

            ๓)       ไม่ฝันร้าย คือไม่ฝันเห็นสิ่งที่น่าเกลียดน่ากลัว เช่นพวกโจรรุมล้อม สุนัขไล่กัด ตกเหว เป็นต้น ฝันเห็นแต่นิมิตที่ดีงาม เช่นไหว้เจดีย์ ทำการบูชา และฟังธรรมเทศนาจากสัตบุรุษ

            ๔)       เป็นที่รักของมนุษย์ทั้งหลาย คือเมื่อคนทั้งหลายที่เป็นคนดีมีศีลสัจจ์ ได้เห็นหน้า ได้ยินเสียง หรือได้ยินกิตติศัพท์ที่เรื่องลือไป ย่อมรักและเจริญใจ เป็นต้น

            ๕)       เป็นที่รักของอมนุษย์ทั้งหลาย คืออมนุษย์เหล่ากินนรีกินนร นาค ครุฑ คนธรรพ์ เป็นต้น ได้เห็นหน้า ได้ยินเสียง หรือได้ยินกิตติศัพท์ที่เรื่องลือไป ย่อมรักและเจริญใจ เป็นต้น

            ๖)       เทวดาทั้งหลายย่อมตามรักษา คืออากาศเทวดา รุกขเทวดา เป็นต้น ย่อมคอยปกปักรักษาคุ้มครองป้องกัน ไม่ให้ประสบภัยพิบัติใดๆ ได้

            ๗)      ไฟ ยาพิษ หรือศัสตรา ไม่กล้ำกลายในตัวของเขา หมายความว่า ไม่ถูกไฟไหม้ ไม่ถูกยาพิษ หรือไม่ถูกอาวุธใด ๆ ประหัตประหารได้

            ๘)       จิตเป็นสมาธิเร็ว คือเมื่อเจริญสมถหรือวิปัสสนากัมมัฏฐาน จิตย่อมเข้าสู่ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ หรืออัปปนาสมาธิ ได้โดยไม่ยาก

            ๙)      ผิวหน้าเปล่งปลั่ง คือหน้าตาผิวพรรณเปล่งปลั่งสดใส เหมือนลูกตาลสุกที่หล่นจากขั้วใหม่ๆ ฉะนั้น

            ๑๐)     ไม่หลงทำกาลกิริยา คือเมื่อคราวตายก็ตายเพราะการสิ้นอายุไข และมีสติสัมปชัญญะอย่างมั่นคงอยู่ในเมตตานุสัยนั้น ไม่ตายก่อนอายุขัย ไม่ตายเพราะอุบัติเหตุหรืออุบัติภัยต่างๆ มีอุบัติเหตุอุบัติภัยบนท้องถนน เป็นต้น

            ๑๑)     เมื่อไม่ได้บรรลุถึงคุณธรรมชั้นสูง อย่างต่ำก็จะบังเกิดในพรหมโลก คือเมื่อปฏิบัติธรรมชื่อว่าเมตตาพรหมวิหารอยู่เสมอแล้ว ถ้าหากไม่สามารถจะสลัดตนออกจากเมตตาไปสู่มรรค ผล นิพพาน ที่เรียกว่าบรรลุคุณธรรมชั้นสูง เป็นพระอรหันต์ได้ในชาติปัจจุบัน พอเคลื่อนจากมนุษย์โลกก็จะเข้าสู่พรหมโลกทันที เหมือนหลับแล้วตื่น แช่มชื่นเบิกบาน

            นี่แน่ ! พ่อมหาจำเริญ ถ้าเจ้าจักไม่ทำจิตที่โกรธแค้นอยู่นี้ให้ดับไปเสียแล้ว เจ้าจักเป็นคนอยู่ภายนอกอานิสงส์แห่งเมตตาธรรม ๑๑ ประการนี้แล

            ๙. แยกธาตุออกดูว่าโกรธเขาตรงไหนด้วยปัญญาว่า นี่แน่ ! พ่อมหาจำเริญ เมื่อเจ้าโกรธคนชื่อ…นั้น เจ้าโกรธอะไรเขาเล่า ? คือในอาการ ๓๒ เจ้าโกรธผมเขาหรือ ? หรือโกรธขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เป็นต้น

            หรือว่าเจ้าโกรธธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ ของเขาหรือ เพราะว่าคนคู่เวรนั้น มีตัวตนประกอบขึ้นด้วยธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ อินทรีย์ ๒๒ เป็นต้น เหมือนกับตัวเจ้า เมื่อเจ้าโกรธธาตุ ๔ ขันธ์ ๕เป็นต้นของเขา ก็เท่ากับว่าเจ้าโกรธให้ตนเอง ย่อมเป็นการสร้างเวรกรรมใส่ตนให้หนักขึ้นไปอีก 

            เมื่อเรากระจายร่างกายของคนคู่เวรนั้นออกโดยการเป็นธาตุ คือเป็นเพียงชิ้นส่วนอันหนึ่ง ๆ ประกอบกันไว้ดังแสดงมานี้ก็จะเกิดปัญญาขึ้นเพิ่มเติมอีก  มองเห็นอย่างชัดแจ้งว่า ฐานสำหรับจะรองรับความโกรธ ย่อมไม่มีอยู่ในคนคู่เวรนั้น เพราะธาตุทั้งหลายแต่ละธาตุ ๆ มีผมเป็นต้นนั้น เป็นสิ่งอันใคร ๆ ไม่ควรจะโกรธ และนอกเหนือไปจากธาตุทั้งหลายมีผมเป็นต้นดังนั้นแล้วก็หามีคนไม่ ซึ่งเปรียบเหมือนฐานสำหรับรองรับจิตรกรรม ย่อมไม่มีในอากาศ ฉะนั้น  

            ๑๐. ให้ปันสิ่งของของตน โดยทางตรงบ้าง ทางอ้อมบ้าง กล่าวคือ พึงให้ปันสิ่งของของตนแก่คนคู่เวรไป เช่น ถ้าคนคู่เวรมีอาชีพบกพร่อง ขาดอาหาร ขาดผ้านุ่งห่ม ขาดที่อยู่อาศัย หรือขาดเครื่องใช้อื่น ๆ ที่เป็นบริขารจำเป็น ก็พึงให้ปันปัจจัยต่าง ๆ มีอาหาร ผ้านุ่งห่ม เป็นต้นนั่นแหละแก่เธอ เมื่อผู้ปฏิบัติธรรมทำการให้ปันสิ่งของได้อย่างนี้ ความอาฆาตความโกรธแค้น ก็จะระงับลงโดยสนิททีเดียว และแม้ความโกรธของคนคู่เวรนั้น ซึ่งติดตามมาตั้งแต่อดีตชาติก็จะระงับลงโดนทันทีเช่นเดียวกัน     

            การให้ปันสิ่งของอีกวิธีหนึ่ง เป็นวิธีที่ง่ายและได้ผลมากก็คือ ให้ปันสิ่งของของตนในลักษณะไปทำทาน และก็ให้ไปทำในสถานที่ที่ตนศรัทธา เช่น ทานอาหารบ้าง ทานผ้านุ่งผ้าห่มบ้าง หรือทานปัจจัยบริขารอื่นๆ ที่เห็นว่าเป็นประโยชน์บ้าง เมื่อทานแล้วให้ตั้งใจอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลที่ได้ทำทานนี้ ไปหาคนคู่เวรนั้นๆ ด้วย เพราะอานิสงส์แห่งการไห้ปันสิ่งของ ในลักษณะทำทานนี้มีอานุภาพอันยิ่งใหญ่และมากด้วย สมดังพุทธวจนะที่ทรงตรัสสั่งสอนคนชาวโลกไว้ในที่ต่าง ๆ ท่านผู้ฉลาดได้นำมารจนาไว้ในหนังสือ พุทธศาสนสุภาษิต เล่ม๑ ในทานวรรค คือหมวดทาน มีว่า :-

          ๑) ทานัญจะ ยุทธัญจะ สะมานะมาหุ ท่านว่า ทานและการรบย่อมเป็นสิ่งที่เสมอกัน

          ๒) ทะทัง มิตตานิ คันถะติ ผู้ให้ปัน ย่อมผูกมิตรไว้ได้

          ๓) ทะทะมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ปัน ย่อมเป็นที่รัก

          ๔) ทะทะโต ปุญญัง ปะวัฑฑะติ บุญของบุคคลผู้ให้ปัน ย่อมเจริญ

ด้วยความรักและเมตตา

ธัมมิกะ

watnongriewnang@gmail.com