พระโพธิสัตว์ ๑๐ ชาติ

พระโพธิสัตว์ ๑๐ ชาติ และคำปรารถนา

 

                หนังสือพระโพธิสัตว์ ๑๐ ชาติและคำปรารถนาเล่มนี้  ได้คลอดออกมาตามความพากเพียรพยายามของข้าพเจ้าจนเกิดเป็นผลสำเร็จนั้น ก็เพราะมีคนผู้เป็นนักสวด (สัชฌายพหุโล) ที่นิยมสวดมนต์ทำวัตรเช้า – เย็นเป็นประจำ ไต่ถามอยู่เสมอซึ่งบทสวดในหนังสือ “ทำวัตรเช้า – เย็น” ของสวนโมกข์ ฯ ในบทว่า ปัฏฐนปนคาถา คือ คาถาที่เป็นการตั้งคำปรารถนาของพระโพธิสัตว์ว่า “ขอให้ข้าพเจ้าเป็นเหมือนพระโพธิสัตว์ผู้เที่ยงแท้ ได้รับพยากรณ์แต่พระพุทธเจ้าแล้ว ไม่ถึงฐานะแห่งความอาภัพ ๑๘ อย่าง” ดังนี้ อยากทราบคำที่ว่า ความอาภัพ ๑๘ อย่างนั้น มีว่าอย่างไร ?  เป็นต้น

                ข้าพเจ้าได้อาศัยประสบการณ์ด้านวิปัสสนาถาวนาและความตระหนักในหนังสือวินัยปิฎก สุตตันตปิฎก และอภิธรรมปิฎกมากมายและนานพอสมควรเป็นเครื่องมือในการค้นหาคำปรารถนาของพระโพธิสัตว์ ๑๘ อย่าง ที่สุดก็ได้พบและนำมาพิมพ์เป็นทาน แก่ท่านผู้ได้สั่งสมบุญบารมีมาตามเยี่ยงอย่างแห่งพระโพธิสัตว์เจ้า จะได้หลีกเลี่ยงกรรมที่ทำไห้ตนเป็นคนอาภัพตลอดไป ขอให้ท่านผู้ได้รับหนังสือเล่มนี้ทุก ๆ ท่าน จงใคร่ครวญให้ดีแล้วจึงนำเนื้อหาสาระในหนังสือไปปฏิบัติให้เป็นประโยชน์แก่ตนทุกท่าน เทอญ.

 

                                                               พระครูสุคนธ์คณารักษ์

                                               เจ้าอาวาสและเจ้าสำนักปฏิบัติธรรม  วัดหนองริวหนัง

                                                                      ๓ เมษายน ๒๕๕๐

 

 

ชื่อหนังสือ

พระโพธิสัตว์ ๑๐ ชาติและคำปรารถนา

ค้นหาข้อมูลมาพิมพ์ โดย

พระครูสุคนธ์คณารักษ์ ค.ม. M.Ed

เจ้าอาวาสและเจ้าสำนักปฏิบัติธรรม วัดหนองริวหนัง

ตำบลลำหนองแสน อำเภอหนองกุงศรี จังหวัดกาฬสินธุ์

โทร.๐๔๓ ๘๘๑ ๐๙๕, โทรสาร ๐๔๓ ๘๘๑ ๐๙๕

e-mail : watnongriewnang@gmail.com

เวปไซต์ www.watnongriewnang.com

พิมพ์ครั้งที่ ๑ เมื่อ ๑ พฤษภาคม ๒๕๕๕

จำนวน ๑๐,๐๐๐ เล่ม

คณะกรรมการและชาวบ้านบ้านหนองริวหนัง เป็นเจ้าภาพพิมพ์

พิมพ์ที่ หจก. อภิชาตการพิมพ์ ๕๐ ถนนผังเมืองบัญชา

ตำบลตลาด อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม ๔๔๐๐๐

โทรศัพท์ ๐-๔๓๗๒-๑๔๐๓, ๐-๔๓๗๒-๒๓๙๗

โทรสาร ๐-๔๓๗๒-๒๓๙๗

 

ลักษณะพระโพธิสัตว์

คือ ผู้ที่จะได้ตรัสรู้อริยสัจ

                พระโพธิสัตว์ แปลว่า สัตว์หรือคนผู้พึงจะสามารถสั่งสมปัญญา (ภาวนามยปัญญา) ให้ได้ตรัสรู้อริยสัจในภายหน้า โดยมีคุณธรรมจริยธรรมของพระโพธิสัตว์อยู่ ๑๐ ประการ (สุตตันตปิฎก เล่ม ๒๐ ขุททกนิกายชาดก ภาค ๒ ข้อ ๓๙๕) คือ :-        ๑.  พระเตมีย์                         บำเพ็ญเนกขัมมบารมี (ออกบวชหรือเว้น)

                ๒.  พระมหาชนก                   บำเพ็ญวิริยบารมี  (เพียรพยายาม)

                ๓.  พระสุวรรณสามะ            บำเพ็ญเมตตาบารมี (มีความรักใคร่)

                ๔.  พระเนมิราช                     บำเพ็ญอธิษฐานบารมี (มี่ความตั้งใจมั่น)

                ๕.  พระมโหสถ                      บำเพ็ญปัญญาบารมี (มีปัญญารอบรู้)

                ๖.  พระภูริทัตต์                      บำเพ็ญศีลบารมี (มีศีลบริสุทธิ์)

                ๗. พระจัทกุมาร                     บำเพ็ญขันติบารมี (มีความอดทนเป็นเลิศ)

                ๘.  พระนารทะ                       บำเพ็ญอุเบกขาบารมี (วางเฉยได้มนบางกรณี)

                ๙.  พระวิธุระ                          บำเพ็ญสัจจบารมี (มีความจริงใจ)

                ๑๐. พระเวสสันดร                                บำเพ็ญทานบารมี (ทานในกรณีที่ควรทาน)

                คนผู้บำเพ็ญบารมี ๑๐ ทัศน์ หรือคุณธรรมจริยธรรมของคนผู้เป็นพระโพธิสัตว์ ๑๐ ประการดังที่กล่าวมาแล้วนั้น เป็นการกล่าวตามหลักแห่งภาษาคน หรือภาษาพระสูตร ถ้ากล่าวตามภาษาธรรมหรือภาษาปรมัตถ์แล้ว คำว่าบำเพ็ญบารมี ๑๐ หมายถึง คนผู้ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานสายตรง หรือสายสัมมาปฏิบัติจริงๆ สามารถบำเพ็ญได้คราวเดียวไปพร้อมกันทั้ง ๑๐ บารมี คือ มีเนกขัมมบารมี วิริยบารมี เมตตาบารมี เป็นต้น

 

ปัฏฐนฐปนคาถา

คือ บทธรรมของพระโพธิสัตว์ผู้ตั้งความปรารถนาไว้ในชีวิต

                ยันทานิ เม กะตัง ปุญญัง              เตนาเนนุททิเสนะ จะ

            ขิปปัง สัจฉิกะเรยยาหัง                 ธัมเม โลกุตตะเร นะวะ

บุญใดที่ข้าพเจ้าได้ทำในบัดนี้ เพราะบุญนั้น และการอุทิศแผ่ส่วนบุญนั้น ขอให้ข้าพเจ้าทำไห้แจ้งโลกุตตรธรรมเก้า ในทันที

                สะเจ ตาวะ อะภัพโพหัง               สังสาเร ปะนะ สังสารัง.

ถ้าข้าพเจ้าเป็นผู้อาภัพอยู่  ยังต้องท่องเที่ยวไปในวัฏฏสงสาร

            นิยะโต โพธิสัตโตวะ                     สัมพุทเธนะ วิยากะโต.

            นาฏฐาระสะปิ อาภัพพะ               ฐานานิ ปาปุเณยยะหัง

ขอให้ข้าพเจ้าเป็นเหมือนโพธิสัตว์ผู้เที่ยงแท้ ได้รับพยากรณ์แต่พระพุทธเจ้าแล้ว ไม่ถึงฐานะแห่งความอาภัพ ๑๘ อย่าง

                ปัญจะเวรานิ วัชเชยยัง                 ระเมยยัง สีละรักขะเน

            ปัญจะกาเม อะลัคโคหัง               วัชเชยยัง กามะปังกะโต.

ข้าพเจ้าพึงเว้นจากเวรทั้งห้า พึงยินดีในการรักษาศีล ไม่เกาะเกี่ยวในกามคุณทั้งห้า พึงเว้นจากเปลือกตมกล่าวคือกาม

                ทุททิฏฐิยา นะ ยุชเชยยัง               สังยุชเชยยัง สุทิฏฐิยา

            ปาเป มิตเต นะ เสเวยยัง              เสเวยยัง ปัณฑิตา สะทา.

ขอให้ข้าพเจ้าไม่พึงประกอบด้วยทิฏฐิชั่ว พึงประกอบด้วยทิฏฐิที่ดีงาม ไม่พึงคบมิตรชั่ว พึงคบแต่บัณฑิตทุกเมื่อ

                สัทธาสะติหิโรตตัปปา-                 ตาปักขันติคุณากะโร

            อัปปะเสยโห วะ สัตตูหิ                 เหยยัง อะมันทะมุยหะโก.

ขอให้ข้าพเจ้าเป็นบ่ที่เกิดแห่งคุณ คือ ศรัทธา สติ หิริ โอตตัปปะ ความเพียร และขันติ พึงเป็นผู้ที่ศัตรูครอบงำไม่ได้ ไม่เป็นคนเขลา คนหลงงมงาย

               

                สัพพายาปายุปาเยสุ                    เฉโก ธัมมัตถะโกวิโท

            เญยเย วัตตะวะสัชชัง เม              ญาณัง อะเฆวะ มาลุโต.

ขอให้ข้าพเจ้าฉลาดในอุบาย แห่งความเสื่อมและความเจริญ เป็นผู้เฉียบแหลมในอรรถและธรรม ขอให้ญาณของข้าพเจ้าเป็นไปไม่ข้องขัดในธรรมที่ควรรู้ ดุจลมพัดไปในอากาศ ฉะนั้น

                ยา กาเจ กุสะลา มยาสา               สุเขนะ สิชฌะตัง สะเท

            เอวัง วุตตา คุณา สัพเพ               โหนตุ มัยหัง ภะเว ภะเว.

ความปรารถนาใด ๆ ของข้าพเจ้าที่เป็นกุศล ขอให้สำเร็จโดยง่ายทุกเมื่อ คุณที่ข้าพเจ้ากล่าวมาแล้วทั้งปวงนี้ จงมีแก่ข้าพเจ้าทุก ๆ ภพ

                ยะทา อุปัชชะติ โลเก                   สัมพุทโธ โมกขะเทสะโก

            ตะทา มุตโต กุกัมเมหิ                  ลัทโธกาโส ภะเวยยะหัง.

เมื่อใด ! พระสัมพุทธเจ้าผู้แสดงธรรมเครื่องพ้นทุกข์ เกิดขึ้นแล้วในโลกเมื่อนั้น ! ขอให้ข้าพเจ้าพ้นจากกรรมอันชั่วช้าทั้งหลาย เป็นผู้ได้โอกาสแห่งการบรรลุธรรม

                มะนุสสัตตัญจะ ลิงคัญจะ             ปัพพัชชัญจุปะสัมปะทัง

            ละภิตวา เปสะโล สีลี                    ธาเรยยัง สัตถุสาสะนัง.

ขอให้ข้าพเจ้าพึงได้ความเป็นมนุษย์ ได้เพศบริสุทธิ์ ได้บรรพชาอุปสมบทแล้ว เป็นคนรักศีล มีศีล ทรงไว้ซึ่งพระศาสนาของพระศาสดา

                สุขาปฏิปะโท ขิปปา-                    ภิญโญ สัจฉิกะเรยยะหัง

            อะระหัตตัปผะลัง อัคคัง วิชชาทิคุณะลังกะตัง.

ขอให้เป็นผู้มีการปฏิบัติโดยสะดวก ตรัสรู้ได้พลัน กระทำให้แจ้งซึ่งอรหัตตผลอันเลิศ อันประดับด้วยธรรม มีวิชชา เป็นต้น

                ยะทิ นุปปัชชะติ พุทโธ                 กัมมัง ปะริปูรัญจะ เม

            เอวัง สันเต ละเภยยาหัง               ปัจเจกะโพธิมุตตะมัน ติ.

ถ้าหากพระพุทธเจ้าไม่บังเกิดขึ้น แต่กุศลกรรมของข้าพเจ้าเต็มเปี่ยมแล้ว เมื่อเป็นเช่นนั้น ขอให้ข้าพเจ้าพึงได้ญาณเป็นเครื่องรู้เฉพาะตนอันสูงสุด ด้วยเทอญ.

 

พระนิยตโพธิสัตว์

ย่อมไม่บังเกิดในอาภัพพฐาน ๑๘ อย่าง

จาก สารัตถสังคหะ แปลร้อย เล่ม ๑ หน้า ๑๓

ฉบับพิมพ์ พ.ศ. ๒๔๖๑

                ๑.            พระองค์มิได้บังเกิดเป็นคนหูหนวก ตาบอดแก่กำเนิด

                ๒.            พระองค์มิได้บังเกิดเป็นคนบ้า ใบ้ ง่อยเปลี้ย

                ๓.            พระองค์มิได้บังเกิดในมิลักขภาษา มีชาติละหว้า กะเหรี่ยง เป็นต้น

                ๔.            พระองค์มิได้บังเกิดในท้องแห่งนางทาสี

                ๕.            พระองค์มิได้บังเกิดเป็น นิตยมิจฉาทิฏฐิ

                ๖.            เพศแห่งพระองค์มิได้กลับเป็นสตรี

                ๗.            พระองค์มิได้กระทำปัญจานันตริยกรรม

                ๘.            พระองค์มิได้บังเกิดเป็นโรคเรื้อน

                ๙.            ถ้าพระองค์บังเกิดในกำเนิดเดียรัจฉาน ก็มีกายแต่ปานกลาง มิได้ใหญ่กว่าช้าง มิได้น้อยกว่านกกระจาบ

                ๑๐.         พระองค์มิได้บังเกิดในกำเนิดแห่ง ขุปปิปาสิกเปรต

                ๑๑.         พระองค์มิได้บังเกิดในกำเนิดแห่ง นิชฌานตัณหาหิกเปรต

                ๑๒.         พระองค์มิได้บังเกิดในกำเนิดแห่ง กาฬกัญชิกาสูร

                ๑๓.         พระองค์มิได้บังเกิดในกำเนิดใน  อเวจีนรก

                ๑๔.         พระองค์มิได้บังเกิดในกำเนิดใน โลกันตนรก

                ๑๕.         พระองค์มิได้บังเกิดในกำเนิดเป็นมารในกามาพจรภพ

                ๑๖.         พระองค์มิได้บังเกิดในกำเนิดเป็นมารใน อสัญญีภพ

                ๑๗.         พระองค์มิได้บังเกิดใน อรูปภพ

                ๑๙.         พระองค์มิได้บังเกิดใน จักรวาลอื่น

 

อาภัพฐาน ๑๘ อย่าง

                มีคำแปลและความหมายในด้านปฏิบัติจริง แห่งคำว่า อภัพพสัตว์ที่พระโพธิสัตว์ไม่พึงปรารถนาประสบ ในตอนที่ว่า …อาภัพพะฐานานิ เป็นต้น แปลว่า ไม่ถึงฐานะแห่งความอาภัพ ๑๘ อย่าง ดังนี้

                อาภัพพฐาน แปลว่า ฐานะของคนผู้ที่ไม่ควร คือ คนผู้ไม่ควรดำรงตนอยู่ในฐานะมนุษย์ เป็นเทพ เป็นพระพรหม เป็นพระโพธิสัตว์หรือเป็นพระอริยบุคคลได้ เรียกว่า คนอาภัพ คือ อาภัพด้านจิตวิญญาณหรือด้านปัญญาสัมมาทิฏฐิ อันเนื่องมาจาก “กรรม” ที่ชั่วของเขาเอง

                  (๑) เกิดเป็นคนหูหนวก ตาบอดมาแต่กำเนิด

          บอดหนวก ตาบอดหูหนวกมีอยู่ ๒ ประการ คือ ตาหูภายนอกบอดและหนวก ๑ ตาหูภายในบอดและหนวก ๑ และหนวกบอดมาแต่กำเนิดด้วย ที่ว่าตาหูภายในหนวกและบอดนั้น คือ ทิพพจักษุ  ปัญญาจักษุ พุทธจักษุ สมันตจักษุ บอดหนวกเสียแล้ว ไม่สามารถจะรู้เห็นกรรมดีกรรมชั่วได้ ดังนั้น การประกอบอาชีพการงานของคนเช่นนี้ จึงเป็นมิจฉาอาชีวะ มิจฉากัมมันตะไป เพราะจิตวิญญาณตกต่ำลงสู่อบายภูมิเป็นสัตว์นรกบ้าง เปรตบ้าง เดียรัจฉานบ้าง อสุรกายบ้าง อมนุษย์บ้าง หรือเป็นคนมารในสังคมบ้าง นี้ก็เป็นความอาภัพอย่างหนึ่ง

                  (๒) ผู้เกิดมาเป็นคนบ้าใบ้ ง่อย เปลี้ย

          บ้า หมายถึง คนผู้หลงระเริงในการเล่นหรือในภารกิจต่าง ๆ จนเกิดความประมาท ความมัวเมาถึงกับลืมตัวไป ภาษาพระ เรียกว่า “นักเลง” เช่น นักเลงหัวไม้ นักเลงการพนัน นักเลงสุรา เป็นต้น นี้ก็จัดว่าเป็นความอาภัพอย่างหนึ่ง

                ใบ้ หมายถึง คนที่พูดด้วยปากไม่ได้เรียกว่าใบ้ภายนอกส่วนคนใบ้ภายในนั้น คือ คนผู้ที่พูดได้แต่เฉพาะภาษาคนหรือภาษาหนังสืออย่างเดียว ส่วนภาษาธรรมหรือภาษาจิตใจนั้นพูดไม่ได้อ่านไม่ออก นี้ก็เป็นความอาภัพอย่างหนึ่ง

                ง่อย เปลี้ย หมายถึง คนผู้ใช้ขาเดินไปไหนมาไหนไม่ได้เรียกว่า ง่อย เปลี้ย ภายนอก ส่วนคนง่อย เปลี้ย ภายในนั้น คือ กิจการอันใดที่สัตบุรุษจัดขึ้นเพื่อประโยชน์แก่หมู่ชน เขาจะใช้ขาเดินไปเข้าร่วมไม่ได้  เพราะศรัทธาของเขาเป็นง่อยเปลี้ยเสียแล้ว แต่ถ้ากิจการใดที่คนผู้เป็นอสัตบุรุษหรือคนพาลจัดขึ้น เขาจะกระตือรือร้นไปเข้าร่วมให้ได้แม้ไม่มีใครอยู่บ้านก็มอบให้สุนัขตัวโปรดหรือกุญแจเฝ้าให้ ที่เป็นเช่นนี้ก็เนื่องจากทัศนะหรือความเห็นเขาว่าเป็นความดีมีประโยชน์แก่ชนหมู่มาก (เขาเห็นกงจักรเป็นดอกบัว) นี้ก็เป็นความอาภัพอย่างหนึ่ง

                  (๓) คนผู้เกิดในตระกูลมิลักขภาษา

          มิลักขภาษา หมายถึง เผ่าคนที่มีแต่เฉพาะภาษาพูดกัน  โดยไม่มีตัวอักษรเป็นภาษาเขียนประจำเผ่านั้นๆ เช่น คนเผ่ากะเหรี่ยง เผ่ายอ เป็นต้น จะว่าเป็นคนเถื่อนก็ได้ เหมือนสัตว์เดียรัจฉานทุกชนิดมีแต่ภาษาพูด (ร้อง) และรู้กันได้เฉพาะสัตว์ประเภทเดียวกันเท่านั้น  ฉะนั้น จึงจัดว่าเถื่อน (เถื่อนด้านภาษา)

                อนึ่ง ธรรมชาติของคนนั้นย่อมมีทั้งกายหรือวัตถุธาตุ หรือมีทั้งจิตใจหรือนามธาตุผสมผสานกันจึงดำรงชีวิตอยู่ได้ หากใครรู้เฉพาะภาษาคนซึ่งเป็นภาษากาย แม้จะพูด อ่าน เขียน ได้ใช้เป็นก็ตาม แต่ไม่รู้ภาษาธรรมะหรือภาษาจิตใจแล้ว ก็ชื่อว่าเถื่อนเช่นกัน (เถื่อนด้านภาษาธรรม) นี้ก็จัดว่าเป็นความอาภัพอย่างหนึ่ง

                  (๔) คนผู้เกิดในท้องของนางทาสี

          ทาสี หมายถึง หญิงที่ตกเป็นคนรับใช้ผู้อื่น โดยแสดงความเห็นด้วยอิสระของตนไม่ได้ หรือหญิงที่ติดสิ่งเสพติดให้โทษอย่างใดอย่างหนึ่งจนลืมหูลืมตาไม่ขึ้น เช่น เป็นทาสีสุรา เป็นทาสีการพนัน เป็นทาสีหวยเบอร์ ทาสีร้องรำขับเพลงเล่นดนตรี เป็นต้น  ดังนั้น คนผู้เกิดในท้องนางนาสีคือ คนผู้มีคนอื่นกดดันอยู่ หรือมีจิตใจตกอยู่ในอำนาจฝ่ายต่ำจนลืมหูลืมตาไม่ขึ้น นี้ก็จัดว่าเป็นความอาภัพอย่างหนึ่ง

                  (๕) ผู้เกิดมาเป็นคนมีนิตยมิจฉาทิฏฐิ

            นิตยมิจฉาทิฏฐิ หมายถึง เกิดเป็นคนมีความเห็นผิดในแนวดิ่ง คือ ความเห็นหรือทัศนคติ ที่เป็นส่วนผิดของเขาที่เรียกว่า “มิจฉาทิฏฐิ” นั้นฝังรากลึกแล้ว ยากที่จะถอนออกจากใจได้ เช่น ความเห็นเรื่องบาป เรื่องบุญ เรื่องนรก สวรรค์ โลกนี้ โลกหน้า เป็นต้น โดยเขาเห็นสิ่งที่เป็นบาปว่าเป็นบุญ เห็นนรกว่าสวรรค์  เห็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ว่าเป็นโทษ เห็นสิ่งที่เป็นโทษว่าเป็นคุณ เห็นสิ่งที่เป็นกุศลว่าอกุศล เห็นสิ่งที่เป็นอกุศลว่าเป็นกุศล เป็นต้น นี้ก็จัดว่าเป็นความอาภัพอย่างหนึ่ง

                 

 

                  (๖) คนผู้เป็นบุรุษกลับเกิดมาเป็นเพศสตรี

            บุรุษกลับเกิดมาเป็นเพศสตรี หมายถึงผู้เกิดมาในร่างกายของผู้ชายแต่จิตใจ หรือจริตนิสัยกลับเป็นของสตรี หรือว่าเกิดมาในร่างของผู้หญิง แต่จิตใจ หรือจริตนิสัยกลับเป็นของบุรุษ หรือคนที่ชาวโลกนิยมเรียกว่า กะเทย เกย์ ดี้ ทอม ตู๊ด      เลสเบี้ยน ทางพระเรียกว่า อุภโตพยัญชนกะ บัณเฑาะก์ นี้ก็จัดว่าเป็นความอาภัพอย่างหนึ่ง

                  (๗) คนผู้ทำอนันตริยกรรม

          อนันตริยกรรม หมายถึง กรรมชั่วที่หนักและให้ผลร้ายแรงถึงกับแก้ไขไม่ได้เลย มีอยู่ ๕ อย่าง คือ ฆ่าแม่ ฆ่าพ่อ ฆ่าพระอรหันต์ ทำโลหิตุปบาทและทำสังฆเภท  คนผู้ทำอนันตริยกรรม คือ  ทำกรรมชั่วที่หนักมาก ๆ นี้ก็จัดว่าเป็นความอาภัพอย่างหนึ่ง

                  (๘) ผู้เกิดมาเป็นคนมีโรคเรื้อนประจำชีวิต

          โรคเรื้อน พจนานุกรม ฉบับ ราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายไว้ว่า คำว่า โรคเรื้อน  คือ โรคผิวหนังซึ่งติดต่อได้ ทำให้ผิวหนังเป็นผื่น  บางทีเรียกว่า “ขี้เรื้อน” มีกลายชนิด บางชนิดทำให้นิ้วมือ นิ้วเท้ากุด เรียกว่า “เรื้อนกุฏฐัง” ขี้เรื้อนกุฏฐัง หรือ “ขี้ทูด” บางชนิดมีลักษณะเป็นผื่นคัน ทำให้ผิวหนังหนา หยาบ อาจแตกมีน้ำเหลืองไหลหรือตกสะเก็ดในระยะหลัง มักเป็นตามบริเวณข้อเท้า หัวเข่า หรือที่มือเอื้อมไปเกาถึง เรียกว่า “เรื้อนกวาง” หรือขี้เรื้อนกวางบางชนิด ทำให้เป็นแผลมีสีขาว เรียกว่า “เรื้อนน้ำเต้า” หรือขี้เรื้อนน้ำเต้า นี้ก็จัดว่าเป็นความอาภัพอย่างหนึ่ง

                  (๙) คนผู้เกิดเป็นเดียรัจฉานที่มีกายเล็กกว่านกกระจาบ หรือมีกายใหญ่กว่าช้าง

            คนผู้เกิดเป็นเดียรัจฉานที่มีกายเล็กกว่านกกระจาบ หมายถึง เกิดทางใจในลักษณะเป็น “โอปปาติกะ” ดังนั้น คำว่ามีกายเล็กกว่านกกระจาบนั้น คือ หมู่แห่งความรู้หรือปัญญาของเขามีน้อยนิด จะเป็นความรู้ ด้านภาษาคนก็ตาม ความรู้ด้านภาษาธรรมก็ตาม  เขาจะเป็นคนไม่รู้ไม่ชี้อะไร ๆ ในสังคมโลกเลย เพราะไร้การเรียนการศึกษา จัดว่าเป็นคนเถื่อนอย่างหนึ่ง (เถื่อนเพราะไร้การเรียนการศึกษา) คนเถื่อนถึงขั้นนี้ก็จัดว่าเป็นคนอาภัพอย่างหนึ่ง

                เกิดเป็นเดียรัจฉานมีกายใหญ่กว่าช้าง หมายถึง เกิดทางใจในลักษณะเป็น “โอปปาติกะ” เหมือนกัน แต่มีกายใหญ่กว่าช้าง คือ หมู่แห่งความรู้หรือปัญญาของเขามีมากเกินไป ที่มากก็ล้วนแต่เป็น สุตามยปัญญา จินตามยปัญญา ปัญญาชนิดนี้พระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็น “อวิชชา” ซึ่งแปลว่า ความรู้ที่มิใช่ความรู้ เขารู้มากจริง ๆ แต่ไม่เคยพบเห็นสิ่งที่ตนรู้มาสักอย่าง เหมือนคนรู้เห็นช้างในตำรา แต่ไม่เคยเห็นช้างตัวจริงสักครั้งเดียว เป็นต้น เนื่องจากว่าเขาเป็นผู้มีการเรียนมาก มีการศึกษามาก จึงจัดว่าเป็นคนเถื่อนอย่างหนึ่ง (เถื่อนเพราะมีการเรียนการศึกษาวิชาการมาก) แต่ไม่เคยพบเห็นตัวจริง ในสิ่งที่ตนรู้เหล่านั้น คนเถื่อนถึงขั้นนี้ก็จัดว่าเป็นความอาภัพอย่างหนึ่ง

                  (๑๐) คนผู้เกิดเป็นขุปปิปาสิกเปรต

          ขุปปิปาสิกเปรต หมายถึง คนผู้มีจิตใจเกิดเป็นเปรตมีชื่อว่า ขุปปิปาสิกเปรต คือ เป็นเปรตที่ยิ่งด้วยความหิวและความกระหาย คือ หิวในลาภ ยศ สรรเสริญ อามิสสุข กระหายในบุญ ในความดี ในพิธีกรรม เป็นต้น คนผู้มีจิตใจเกิดเป็นเปรตชนิดนี้ จะตรงกับพุทธสุภาษิตว่า “ชิฆจฺฉา ปรมา โรคา” ความหิว (หิวลาภ หรือหิวความร่ำรวยทรัพย์สิน) เป็นโรคอย่างหนึ่ง คนเปรตชนิดนี้ก็จัดว่าเป็นความอาภัพอย่างหนึ่ง

                  (๑๑) คนผู้เกิดเป็นนิชฌานตัณหิกเปรต

          นิชฌานตัณหิกเปรต หมายถึง คนเปรตผู้ยิ่งด้วยตัณหาหรือความอยากในการเพ่งจ้อง คือ เปรตประเภทนี้มีนิสัย เป็นผู้แอบมองหรือมองตรง ๆ ขนาดว่า “เพ่งมองจนตาเป็นมัน” เพ่งมองในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ ถ้าเป็นฝ่ายอิฏฐารมณ์ (พอใจ) ก็เพ่งมองด้วยความอิ่มอกอิ่มใจ เช่น พระวักกลิ บวชมาเพื่อเพ่งมองรูปร่างของพระพุทธเจ้า ด้วยความอิ่มอกอิ่มใจ แต่ถ้าเป็น อนิฏฐารมณ์ (ไม่พอใจ) ก็เพ่งมองหรือเพ่งจ้องด้วยความเศร้าอกเศร้าใจ เกิดเป็นคนอารมณ์เสีย ไม่มีความสดชื่นรื่นเริงกับใคร ๆ คนนิชฌาณตัณหิกเปรต นี้ก็จัดว่าเป็นความอาภัพอย่างหนึ่ง

                  (๑๒) คนผู้เกิดเป็นกาฬกัญชิกาสูร

          กาฬกัญชิกาสูร หมายถึง คนผู้มีจิตใจเกิดเป็นอสูรผู้ถูกฉุดไปด้วยอำนาจแห่งธรรมดำคล้ำ คำว่าอสูร แปลว่า คนไม่กล้างดเว้นจากอกุศลกรรมหรือจากกรรมชั่วกลับมาทำกรรมดี คือ กุศลกรรม ๑๐ ประการ มีกุศลกรรมหรือความดีทางกาย ๓ ทางวาจา ๔ ทางใจ ๓ เรียกว่าอสูร ส่วนธรรมดำคล้ำนั้น คือ อกุศลธรรม ๑๐ นั่นเอง ดังนั้น คนผู้เกิดมาเป็นกาฬกัญชิกาสูร นี้ก็จัดว่าเป็นความอาภัพอย่างหนึ่ง

                  (๑๓) คนผู้เกิดในอเวจีมหานรก

          อเวจีมหานรก หมายถึง นรกหรือความเสื่อมแห่งชีวิตของคนผู้ไม่มีคลื่นกระทบ คือ คลื่นกุศลธรรมหรือคลื่นแห่งความดีที่คนผู้เป็นสัตบุรุษนำมาเผยแผ่ ด้วยเสียงเทศน์หรือหนังสือตำรา เช่น พระไตรปิฎก เป็นต้น ก็ตาม เขาผู้มีชีวิตอยู่ในอเวจีมหานรกย่อมรับฟังหรือรับรู้ไม่ได้ แม้ตาจะมองเห็นหรือหูได้ยินเสียงอยู่ก็ตาม แต่ถ้าเป็นเสียงอสัตบุรุษเทศน์หรือหนังสือ อสัตบุรุษเขียนขึ้น เขาจะได้ยินเสียงและยอมรับเนื้อหาในหนังสือทันที เพราะเห็นว่าเป็นกุศลหรือความดีจริง ๆ และมีประโยชน์อย่างยิ่งด้วย คนผู้เกิดในอเวจีมหานรกดังกล่าวแล้วนั้น ก็จัดว่าเป็นความอาภัพอย่างหนึ่ง

                  (๑๔) คนผู้เกิดในโลกันตนรก

            โลกันตนรก หมายถึง นรกหรือความเสื่อมแห่งชีวิตของคนผู้จมปลักหรือมัวเมาหลวงไหลอยู่ในทรัพย์สมบัติ อันเป็นสิ่งล้ำค่าที่สุดของโลก คนที่ตกนรกขุมนี้จะไม่ยอมเข้าใจได้ว่า โลกนี้คือศาลาพักของคนเดินทางไกล ทรัพย์สมบัติที่นำมาใช้สอยอยู่ประจำโลกก็ไม่เข้าใจว่าเป็นสมบัติของโลก มีความเห็นยืนยันว่าเป็นของของตน บ้านเรือนก็ดี ยศถาบรรดาศักดิ์ เป็นต้น ก็ดี  นับว่าเป็นของของตนทั้งสิ้น คนผู้เกิดในโลกันตนรกเช่นนี้ก็จัดว่าเป็นความอาภัพอย่างหนึ่ง

                  (๑๕) คนผู้เกิดเป็นมารในกามาวจรภพ

          มาร หมายถึง คนผู้มีนิสัยสันดานจองล้างจองผลาญกุศลหรือความดี ทั้งส่วนที่เป็นความดีของตนและผู้อื่น เช่น มีความขัดเคืองหรือขัดแย้งกับใครก็แสดงตนเป็นมารจองล้างจองผลาญ ด้วยการลอบเผาบ้านเรือนเขาบ้าง ลอบตัดขาโคเขาบ้าง ไปทำลายสถานที่หรือสิ่งที่เขาหวงแหนมีศาลาพักร้อนบ้าง โรงเรียนบ้าง เป็นต้น คนผู้เกิดเป็นมารเช่นนี้ก็จัดว่าเป็นความอาภัพอย่างหนึ่ง

                  (๑๖) คนผู้เกิดในอสัญญีภพ

          อสัญญีภพ หมายถึง เกิดเป็นคนผู้ไม่มีสัญญา หรือเป็นคนไม่มีความจำได้หมายรู้ต่ออะไร ๆ ที่ชีวิตผ่านไปแต่ละวัน ๆ นั้น ซึ่งมีอยู่ ๒ ลักษณะ คือ ไม่มีความจำเพราะสมองหรือความจำเสื่อมไป ๑ และไม่มีความจำเพราะใช้ชีวิตปฏิบัติสมถกัมมัฏฐานบรรลุถึงเนวสัญญานาสัญญายตนะฌาน การเพ่งนิมิต ในอายตนะที่มีสัญญาหรือความจำก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาหรือไม่มีความจำก็ไม่ใช่ ๑ คนผู้เกิดเป็นคนไม่มีความจำเพราะเหตุใด ๆ ก็ตาม นี้ก็จัดว่าเป็นความอาภัพอย่างหนึ่ง

                  (๑๗) คนผู้เกิดในอรูปภพ

          อรูปภพ หมายถึง คนผู้ใช้ชีวิตไปปฏิบัติสมถกัมมัฏฐานเอาอรูปหรือเอาสิ่งที่ไม่มีรูปร่างมาเป็นนิมิตหรือเป็นอารมณ์สำหรับบริกรรม เช่น อากาศ หรือวิญญาณ เป็นต้น สร้างขึ้นมาด้วยใจแล้วก็ทำการบริกรรมภาวนา ถ้าสมาธิดีเป็นอุปจารสมาธิ หรืออัปปนาสมาธิแล้วก็บัญญัติว่า เป็นผู้บรรลุธรรม คือ อรูปฌานสมาบัติ คนผู้บรรลุอรูปฌานสมาบัติเช่นนี้ก็จัดว่าเป็นความอาภัพอย่างหนึ่ง

                  (๑๘) คนผู้เกิดในจักรวาลอื่น

          จักรวาลอื่น หมายถึง สิ่งที่ปรากฏอยู่นอกกาย นอกใจ นอกชีวิตของตน คนใดมี อาตาปี สติมา สัมปชาโน คือ มีความเพียร  มีสติ มีสัมปชัญญะ เป็นไปในสิ่งอื่นๆ โดยไม่เป็นไปในกาย ในใจ ในอารมณ์ หรือไม่เป็นความเพียร ไม่เป็นสติ ไม่เป็นสัมปชัญญะในธาตุ ขันธ์ อายตนะของตนตลอดชาติ เรียกว่า คนผู้นั้นเกิดในจักรวาลอื่น ส่วนมากคนจะให้ฉายาว่า “นัก” เช่น นักดาราศาสตร์ นักธรณีวิทยา นักวิทยาศาสตร์ นักจิตวิทยา นักปรัชญา เป็นต้น ดังนั้น ผู้รู้ทางพุทธศาสนาจึงจัดให้คนผู้ใคร่รู้เรื่องอื่นๆ ที่อยู่นอกกายใจตนเองว่า ผู้เกิดในจักรวาลอื่น นี้ก็จัดว่าเป็นความอาภัพอย่างหนึ่ง