๘๐. ภีมเสนชาดก (ว่าด้วยคำแรกกับคำหลังไม่สมกัน)

          พระบรมศาสดาทรงปรารภภิกษุผู้โอ้อวดรูปหนึ่งเป็นต้นเหตุ จึงทรงแสดงเรื่องอดีตว่า ในอดีตกาล มีมาณพคนหนึ่งเกิดในตระกูลแห่งอุทิตยพราหมณ์ เมื่อเจริญวัยขึ้นได้ไปศึกษาศิลปะศาสตร์ ในสำนักทิศาปาโมกข์อาจารย์เมืองตักกสิลา มีนามว่า จูฬธนุคหบัณฑิต ๆ เป็นผู้เชี่ยวชาญในศิลปะธนู แต่เป็นผู้มีร่างกายเตี้ยค่อม เมื่อกลับจากอาจารย์ได้คิดหาอุบายที่จะเข้าถวายตัวพึ่งพระบารมีของพระมหากษัตริย์พระองค์หนึ่ง เกรงว่าพระมหากษัตริย์จะไม่ทรงเชื่อถือตน ว่าเป็นนายขมังธนูอันประเสริฐ เพราะว่าร่างกายของตนไม่สมประกอบ จึงคิดจะให้ผู้อื่นเป็นโล่ ตนจะแอบอาศัยเลี้ยงชีพอยู่เบื้องหลัง เมื่อคิดแล้วก็เที่ยวแสวงหาบุรุษที่มีร่างกายสวยงาม ได้ไปพบบุรุษคนหนึ่งมีนามว่า  ภีมเสน ซึ่งมีรูปร่างเหมาะกับเป็นนายขมังธนู จึงออกอุบายให้แล้วพากันไปเฝ้าพระเจ้าพาราณสี ถวายตัวเป็นข้าเฝ้าเข้าไปรับพระราชทานทรัพย์พันกหาปณะต่อหนึ่งเดือน เมื่อมีราชการเกิดขึ้นแก่นายภีมเสน  มาณพนั้นก็กระทำให้ทุกประการ ครั้นอยู่มาวันหนึ่ง คนทั้งหลายเข้าไปกราบทูลพระเจ้าพาราณสีว่ามีเสือร้ายที่ขบกัดคนและสัตว์เป็นอาหารอยู่ในที่แห่งหนึ่ง พระเจ้าพาราณสีจึงตรัสสั่งให้ภีมเสนออกไปกำจัดเสือร้ายนั้น นายภีมเสนก็นำเรื่องนั้นมาแจ้งแก่มาณพนั้น มาณพนั้นก็ออกอุบายให้แล้วส่งนายภีมเสนไป นายภีมเสนก็กระทำตามอุบายของมาณพนั้น คือเขาป่าวร้องให้ชาวบ้านพร้อมกันไปโห่เสือนั้นในเวลาเห็นเสือออกมาเขาก็หลบไปอยู่ในพุ่มไม้เสีย เวลาชาวบ้านฆ่าเสือตายแล้วเขาจึงตัดเอาเครือเขาลากออกไปจากพุ่มไม้ เมื่อเห็นเสือตายแล้วจึงทำเป็นเกรี้ยวกราดว่า ผู้ใดฆ่าเสือเช่นนี้ เราคิดจะจับเป็นไปถวายพระมหากษัตริย์ ท่านทั้งหลานำเกินพระราชดำรัสจะต้องมีโทษ คนทั้งหลายก็เกรงกลัวพระราชอาญา จึงให้ทรัพย์เป็นสินบน อย่าให้ทูลว่าพวกตนฆ่าเสือนั้นแล้วนายภีมเสนก็ให้หามเสือไปถวายได้รับพระราชทานรางวัลเป็นอันมาก ได้นำทรัพย์และรางวัลนั้นไปแบ่งกันกับมาณพผู้เป็นอาจารย์ ต่อมาอีกไม่นานก็มีรับสั่งให้ไปจับโคร้ายอีก และได้ทำตามอุบายของมาณพผู้เป็นอาจารย์อีก ต่อนั้นมา นายภีมเสนก็มีชื่อเสียงยศศักดิ์บริวารขึ้นเป็นอันมาก เขาได้ดูถูกดูหมิ่นมาณพผู้เป็นอาจารย์ว่า ไม่ใช่ลูกผู้ชาย ครั้นอยู่มาอีกไม่นาน มีกษัตริย์พระองค์หนึ่งยกกองทัพมาล้อมกรุงพาราณสี พระเจ้ากรุงพาราณสีรับสั่งให้นายภีมเสนออกไปสู้รบ นายภีมเสนก็แต่งตัวเป็นกษัตริย์ชวนมาณพผู้เป็นอาจารย์ขึ้นขี่คชสาร ช้างพระที่นั่งปรารถนาจะออกสู่สมรภูมิ แต่พอพ้นประตูพระนครแลเห็นข้าศึกเท่านั้น นายภีมเสนก็มีความกลัวจนตัวสั่นขวัญหายอุจจาระปัสสาวะออกรดหลังช้าง มาณพผู้เป็นอาจารย์จึงกล่าวว่า นี่แนะภีมเสน เมื่อก่อนท่านได้อวดว่าไม่มีใครดีเสมอท่าน แต่บัดนี้สิ ท่านได้ทำลายหลังช้างให้เสียไปด้วยอุจจาระปัสสาวะแล้ว แล้วจึงกล่าวว่า ยนฺเตน ปวิกตฺถิตํ ปุเร เป็นอาทิ แปลว่า นี่แนะภีมเสน คำใดที่ท่านกล่าวไว้แต่ก่อนว่าเราไม่ใช่ชาย ยกตัวท่านว่าเป็นชายชาติทหาร คำนั้นเป็นอันไม่จริงเสียแล้ว เพราะบัดนี้ร่างกายของท่านได้แปดเปื้อนไปด้วยมูตรและคูถ ดังนี้  เมื่อกล่าวอย่างนี้แล้วจึงให้ลงจากหลังช้างกลับไปสู่เคหสถาน ส่วนมาณพนั้นได้ออกไปสู้สนามรบ พร้อมด้วยพลโยธาหาญ ทำยุทธนาการได้ชัยชนะแก่ข้าศึก จับเอาตัวพระเจ้าสามนตราชเข้าไปถวายพระเจ้ากรุงพาราณสี ๆ มีพระราชหฤทัยยินดีพระราชทานทรัพย์ศฤงคารยศศักดิ์แก่มาณพผู้ชื่อว่าจูฬธนุคหบัณฑิตเป็นอันมาก ดังนี้ เมื่อแสดงเรื่องอดีตจบลงแล้ว จึงทรงประชุมชาดกว่า นายภีมเสนในครั้งนั้น ได้มาเกิดเป็นภิกษุโอ้อวดในบัดนี้ ส่วนจูฬธนุคหบัณฑิตได้มาเกิดเป็นเราตถาคตนี้แล

เมื่อก่อนนี้ท่านพูดอวดเรา แต่ภายหลังเหตุไรท่านจึง

ถ่ายอุจจาระออกเล่าดูก่อนภีมเสน คำทั้ง ๒ ย่อมไม่สมกัน

คือ คำที่พูดถึงการรบและบัดนี้ท่านเดือดร้อนใจอยู่.”

ภีมเสนชาดกจบ จบวรุณวรรค