๑๐๐. อสาตรูปชาดก (สิ่งที่ครอบงำคนประมาท)

(๑๐๐)

อสาตรูปชาดก (สิ่งที่ครอบงำคนประมาท)

     พระพุทธองค์ได้ทรงปรารภนางสุปวาสา ผู้เป็นพระราชธิดาแห่งพระเจ้าโกลิยะให้เป็นต้นเหตุ กล่าวคือนางสุปวาสาราชธิดานั้นทรงครรภ์อยู่ถึง ๗ ปี แล้วทรงปวดพระครรภ์อยู่อีก ๗ วัน ได้รับทุกขเวทนาอย่างแสนสาหัส เมื่อนางระลึกถึงพระรัตนตรัย จึงขอให้สามีไปกราบทูลเรื่องพระนางทรงประชวรพระครรภ์ แด่พระบรมศาสดาว่า บัดนี้พระนางขอถวายวันทนาการด้วยความเคารพ พระราชสามีก็ทรงกระทำตาม สมเด็จพระบรมศาสดาจึงตรัสว่า ขอให้นางจงเป็นสุขเถิด จงประสูติกุมารโดยไม่มีโรคเถิด นางก็ได้ประสูติพระกุมารโดยสวัสดี แล้วนางได้ถวายทานอยู่ตลอด ๗ วัน ได้ขนานนามพระราชกุมารนั้นว่าสีวลี แล้วพาพระกุมารไปถวายบังคมพระบรมศาสดาและพระภิกษุสงฆ์ทุก ๆ องค์ ตามลำดับกัน แต่พอมาถึงพระสารีบุตร ๆ ได้ถามว่า ดูก่อนสีวลีกุมาร ท่านมีความสุขสบายดีอยู่หรือ สีวลีกุมารตอบทันทีว่า ข้าพเจ้าไม่มีความสุขเลย เพราะข้าพเจ้าอยู่ในครรภ์มารดาถึง ๗  ปี ๗ วัน พอพระนางผู้เป็นมารดาได้ฟังดังนั้น ก็เกิดปรีดาปราโมทย์อัศจรรย์ใจ พระบรมศาสดาจึงตรัสว่า ดูก่อนสุปวาสา บุคคลอย่างนี้ท่านต้องการหรือไม่ พระนางกราบทูลว่าถ้าเป็นอย่างนี้ถึงหม่อมฉันจะได้อีกสัก ๗ คน  ก็ยังต้องการอยู่พระพุทธเจ้าข้า เมื่อพระบรมศาสดาทรงอนุโมทนาแล้ว ก็พาพระภิกษุกลับไปสู่พระวิหาร

     ส่วนสีวลีกุมาร เมื่อมีพระชนมพรรษาได้ ๗ ปี ก็ได้บรรพชา เมื่อมีพระชนมายุเต็ม ๒๐ ปีก็ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุผู้เลิศด้วยลาภสักการะ ครั้นต่อมาก็ได้สำเร็จพระอรหัตผล อยู่มาวันหนึ่งภิกษุทั้งหลายได้สนทนากันถึงเรื่องนั้น สมเด็จพระบรมศาสดาได้ทรงสดับ จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การที่พระสีวลีอยู่ในครรภ์มารดาถึง ๗ ปี ๗ วันนั้น เป็นเพราะบาปกรรมที่เขาและมารดาได้ทำมาแต่ปางก่อน ครั้นตรัสดังนี้แล้ว จึงทรงแสดงเรื่องอดีตต่อไปว่า ครั้งอดีตกาลในกรุงพาราณสีเมื่อพระเจ้าพรหมทัตสวรรคตแล้ว พระราชโอรสได้สืบราชสมบัติแทน ครั้งนั้นพระเจ้าโกศล ทรงยกพลนิกรมาล้อมกรุงพาราณสี จับพระเจ้ากรุงพาราณสีสำเร็จโทษเสีย ริบเอาอัครมเหสีของพระเจ้ากรุงพาราณสีนั้น ตั้งให้เป็นอัครมเหสีของพระองค์ แล้วประทับอยู่ในกรุงพาราณสีนั้น ฝ่ายพระราชโอรสของพระเจ้ากรุงพาราณสีมีอยู่พระองค์หนึ่ง ซึ่งได้เล็ดลอดออกไปพ้นจากเงื้อมมือข้าศึกได้ ได้ไปเกลี้ยกล่อมพลนิกรเพียงพอแล้ว  ก็ทรงยกมาล้อมกรุงพาราณสีหมายจะแก้แค้นแทนพระชนก เมื่อพระราชชนนีได้ทราบข่าว จึงลอบส่งพระราชสาส์นออกไปว่า การจะรบพุ่งชิงชัยนั้นยังไม่ควรก่อน พ่อจงตั้งล้อมเมืองไว้ให้มั่นคงอย่าให้ผู้คนเข้าออกได้ จนกว่าจะหมดเสบียงอาหารในพระนครก็จะได้พระนครโดยไม่ลำบาก พระราชกุมารก็กระทำตามอุบายของพระราชชนนี ได้ล้อมพระนครนั้นไว้ถึง ๗ ปีกับ ๗ วัน เมื่อชาวพระนครหมดกำลังแล้ว ก็เสด็จกรีฑาทัพเข้าไปจับพระเจ้ากรุงโกศล ตัดพระเศียรเสีย แล้วเสวยราชสมบัติสืบต่อไป ในอดีตชาติอีกชาติหนึ่ง พระราชกุมารนั้นได้ถวายทานแด่พระภิกษุสงฆ์ มีองค์พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าปทุมุตตระเป็นประธาน และปรารถนาว่าขอให้ข้าพเจ้าเป็นผู้เลิศด้วยลาภและยศในอนาคตกาลเถิด ดังนี้ ครั้นสมเด็จพระบรมศาสดาโปรดประทานเทศนาเรื่องอดีตอย่างนี้แล้ว จึงตรัสว่า

อสาตํ   สาตรูเปน          ปิยรูเปน   อปฺปิยํ

ทุกฺขํ   สุขสฺส  รูเปน          ปมตฺตมติวตฺตตีติ

     แปลว่า กรรมอันไม่เป็นที่พอใจ  ย่อมครอบงำผู้ประมาทได้ ประหนึ่งว่ากรรมอันเป็นที่พอใจ  กรรมอันไม่เป็นที่รักใคร่ ย่อมครอบงำผู้ประมาทได้ เหมือนกับกรรมอันเป็นที่รักใคร่ ความทุกข์ย่อม ครอบงำผู้ประมาทได้ เหมือนกับความสุข ดังนี้

     พระพุทธภาษิตนี้พระคันถรจนาจารย์อธิบายไว้ว่า สิ่งทั้ง ๓ คือ ความไม่พอใจ ๑ ความเกลียดชัง ๑ ความทุกข์ ๑ ย่อมครอบงำย่ำยีบุคคลผู้ประมาทด้วยอาการ ๓ อย่าง คือ พอใจในสิ่งที่ไม่น่าพอใจ ๑ ความรักในสิ่งที่ไม่น่ารัก ๑ ความเห็นว่าเป็นสุขในสิ่งที่เกิดทุกข์ ๑ ดังนี้ ได้ใจความว่า ผู้ใดพอใจในสิ่งที่ไม่น่าพอใจ รักในสิ่งที่ไม่น่ารัก เห็นว่าเป็นสุขในสิ่งที่เป็นทุกข์ ผู้นั้นต้องได้รับสิ่งที่ไม่พอใจ และสิ่งที่ไม่น่ารัก สิ่งที่เป็นทุกข์ เหมือนดังชาดกที่แสดงมาแล้วนี้เป็นตัวอย่าง ดังนี้

 “สิ่งที่ไม่เป็นที่พอใจ สิ่งที่ไม่เป็นที่รัก สิ่งที่เป็นทุกข์ ย่อมครอบงำ

ผู้ประมาทด้วยสิ่งเป็นที่พอใจ สิ่งเป็นที่รัก และสิ่งที่เป็นสุข.”

อสาตรูปชาดกจบ จบลิตตวรรค