๔. จุลลกเศรษฐีชาดก (ว่าด้วยคนฉลาดตั้งตนได้)

(๔) จุลลกเศรษฐีชาดก (ว่าด้วยคนฉลาดตั้งตนได้)

                สมเด็จพระบรมศาสดาทรงปรารภพระจูฬบัณถกให้เป็นเหตุ มีเนื้อความว่า พระจูฬบัณถกนั้นเป็นผู้มีสติปัญญาไม่เฉียบแหลม เพียวแต่เรียนพระคาถา ๓๒ อักขระเท่านั้น เรียนอยู่ ๔ เดือนก็จำไม่ได้ พระมหาบัญฑกผู้พี่ชายจึงขับไล่เสียจากวัด พระจูฬบัณถก็อึดอัดไม่รู้จะทำประการใด ครั้นจะสึกเสียก็ยังอาลัยในพระพุทธศาสนา จึงอดทนต่อไป ในเวลาเย็นวันหนึ่ง หมอ- ชีวกโกมารภัจจ์ได้นิมนต์ภิกษุทั้งหลายให้ไปฉันในที่อยู่ของตนต่อพระมหาบัณฑกเถระ ๆ ตอบว่า เรารับนิมนต์ไว้เพื่อภิกษุเหล่าอื่นยกเว้นพระจูฬบัณถกเสีย เพราะเหตุว่าเป็นผู้ไม่มีความเจริญในธรรมวินัย เมื่อพระจูฬบัณถกได้ทราบดังนั้นก็เสียใจตั้งใจจะลาสิกขา ในวันรุ่งขึ้น พระพุทธองค์ทรงเล็งเห็นอุปนิสัยแห่งพระอรหันตผล อันจักเกิดมีแก่พระจูฬบัณถก พระองค์จึงประทานผ้าขาวผืนหนึ่งให้ขยำพร้อมด้วยให้นึกว่า ผ้านี้เป็นผ้าเปื้อนธุลีพระจูฬบัณถกก็กระทำตามพุทธฎีกา ครั้นเวลาไปฉันพระพุทธองค์พร้อมด้วยภิกษุทั้งหลายเสด็จไป ยังเหลืออยู่ในวัดแต่พระพระจูฬบัณถกรูปเดียว ซึ่งนั่งขยำผ้าอยู่ เมื่อขยำไปผ้านั้นก็เกิดเศร้าหมองลง พระจูฬบัณถกก็เกิดความสลดใจแลเห็นว่า สิ่งที่เปื้อนด้วยธุลีย่อมเป็นสิ่งที่เศร้าหมอง ขณะนั้น พระพุทธองค์จึงส่งรัศมีไปให้พระจูฬบัณถกแลเห็นพระองค์ แล้วมีพุทธฎีกาตรัสว่า ดูก่อนจูฬบัณถก คำว่า ธุลีไม่มีแต่ภายนอกเท่านั้น ธุลีภายในก็ยังมีอยู่ ธุลีภายนอกย่อมทำให้สิ่งภายนอกเศร้าหมอง ส่วนธุลีภายในอันได้แก่ โลภะ โทสะ โมหะ ย่อมทำให้ของภายในคือจิตใจเศร้าหมอง เมื่อได้สดับพระพุทธฎีกาจบลง ก็ได้สำเร็จซึ่งพระอรหันตผลพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา ๔ การที่พระจูฬบัณถกได้สำเร็จอรหัน-ตผลอย่างนี้นั้น มีใจความว่า ในอดีตชาติได้เกิดเป็นพระราชา ในเวลาเสด็จเรียนพระนคร พระองค์ทรงซับพระเสโทที่พระนลาฏด้วยผ้าขาวบริสุทธิ์ เมื่อทรงเห็นผ้านั้นเศร้าหมองไป พระองค์ก็ทรงถือซึ่งความไม่เที่ยงแท้แห่งสิ่งทั้งปวงเป็นอารมณ์ เหมือนผ้าขาวผืนนี้เป็นอุทาหรณ์ พอมาเกิดเป็นพระจูฬบัณถก จึงได้สำเร็จพระอรหันต์ โดยถือความเศร้าหมองเป็นอารมณ์ การที่พระจูฬบัณถกเป็นผู้โง่ทึบ ไม่สามารถที่จะเรียนพระคาถาแม้แต่เพียง ๓๒ อักขระโดย ๔ เดือนได้นั้น เพราะบาปกรรมที่ได้ล้อเลียนภิกษุสามเณรด้วยกันให้เกิดความละอายในการเรียนหนังสือ ในครั้งศาสนาพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า

                มีเนื้อความต่อไปว่า ในเวลาที่หมอชิวกน้อมนำน้ำทักษิโนทกเข้าไปถวายพระบรมนายก พระองค์ทรงรับแล้วจึงตรัสว่าภิกษุอยู่ในวัดยังมีอยู่อีก หมอชีวกจึงให้บุรุษนั้นไปนิมนต์พระจูฬบัณถก พระจูฬบัณถกได้นิรมิตกายให้เป็นภิกษุพันรูป บุรุษนั้นก็บอกหมอชีวกว่า ไม่รู้รูปไหนเป็นพระจูฬบัณถก หมอชีวกจึงไปแจ้งแก่พระพุทธองค์ ๆ ตรัสว่า รูปใดขานขึ้นก่อนรูปนั้นแหละเป็นพระจูฬบัณถก แล้วไปนิมนต์อีกจึงได้พระเถระนั้นไปในที่ฉัน เมื่อฉันเสร็จแล้ว ครั้นในเวลาเย็นภิกษุทั้งหลายได้สรรเสริญคุณของพระพุทธองค์ว่าน่าอัศจรรย์ยิ่งนัก พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การที่เราตถาคตให้พระจูฬบัณถกได้โลกุตร-ทรัพย์คืออรหันตผลในบัดนี้หาเป็นการอัศจรรย์ไม่ ส่วนการที่เราตถาคตทำให้จูฬบัณถกได้โลกิยทรัพย์ในอดีตกาลย่อมเป็นการอัศจรรย์กว่านี้ แล้วจึงทรงแสดงซึ่งอดีตยกเรื่องจุฬกเศรษฐีประกาศขึ้นว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในอดีตชาติปางหลังมีเศรษฐีคนหนึ่งในเมืองพาราณสี เป็นผู้รอบรู้ในฤกษ์ต่ำ ฤกษ์บน และรอบรู้นิมิตดีร้ายทั้งปวง วันหนึ่งเมื่อเขาไปเข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดิน ได้พบหนูตายตัวหนึ่งบนถนน จึงตรวจดูฤกษ์ต่ำบน แล้วบอกแก่คนใช้ของตนซึ่งเป็นมานพหนุ่มน้อยว่า ผู้ใดนำเอาหนูตัวนี้ไปขาย ผู้นั้นจะได้เป็นเศรษฐีในไม่ช้า คนใช้นั้นก็ได้นำเอาหนูตัวนั้นไปขายให้แก่คนเลี้ยงแมว ได้ราคากากณึกหนึ่งเท่ากับเงิน ๑ ไพ แล้วเอาเงิน ๑ ไพนั้นไปทำเป็นทุนต่อ คือ เอาไปซื้อน้ำอ้อยไปคอยแจกคนเก็บดอกไม้หลวง ในเวลาเขากลับจากเก็บเอกไม้ตอนเย็น พวกเก็บดอกไม้ก็ได้เอาดอกไม้ให้เป็นของตอบแทน เขาได้เอาดอกไม้นั้นไปขาย แล้วซื้อน้ำอ้อยไปคอยแจกพวกนั้นอีก ทำอยู่อย่างนี้จนกระทั่งได้เงินมากขึ้น อยู่ต่อมาวันหนึ่ง มีลมพายุใหญ่พัดต้นไม้ในสวนหลวงล้มลงเป็นอันมาก เขาได้ไปขอนำมาทำเป็นฟืน เมื่อพวกคนรักษาสวนอนุญาตให้ เขาจึงซื้อเอาน้ำอ้อยไปแจกพวกเด็กเลี้ยงโคอันมีจำนวนหลายร้อยคนแล้ววานให้ช่วยขนฟืนออกจากสวนหลวงไปนอกสวน แล้วไปบอกขายแก่พวกช่างหม้อ พวกช่างหม้อก็ได้พากันไปซื้อเอาจนหมด ครั้นต่อมา เมื่อเขาได้ทราบข่าวว่าจะมีพ่อค้าม้ามาขายม้าที่เมืองนั้น เขาจึงไปเที่ยวซื้อหญ้าไว้เสียหมด แล้วได้ขายหญ้าให้แก่พวกพ่อค้าม้าโดยราคางาม ครั้นต่อมาเขาได้ไปเหมาสินค้าในสำเภา ๕๐๐ ลำ โดยใช้วิธีวางมัดจำด้วยทรัพย์อันเป็นจำนวนพัน แล้วได้ขายสินค้าเหล่านั้นให้แก่พวกพ่อค้าอื่นอีก ได้กำถึงสองแสนมหากณะ แล้วเขาได้นำเอาทรัพย์หนึ่งแสน ไปตอบแทนบุญคุณของเศรษฐีผู้เป็นนายเก่า เมื่อเศรษฐีผู้เป็นนายเก่าได้ทราบอุบายที่เขาหาเงินดังที่แสดงมาแล้วนั้น ก็ได้ยกธิดาของตนให้เป็นภรรยา ในเวลาจะตายได้มอบสมบัติให้เป็นมรดก เมื่อเศรษฐีผู้เป็นพ่อตาทำกาลกิริยาตายแล้วก็ไดรับตำแหน่งเป็นเศรษฐีแทนต่อไป ครั้นต่อมาในสมัยพุทธกาลเศรษฐีผู้เป็นพ่อตาซึ่งเป็นนายเก่าของมาณพนั้น ได้มาเกิดเป็นสัมมาสัมพุทธเจ้าคือเราตถาคตนี้เอง ส่วนมานพนั้นได้มาเกิดเป็นพระจูฬบัณถก ครั้นสมเด็จพะบรมนายกโลกนาถเจ้าทรงแสดงเรื่องอดีตกาลจบลงแล้ว จึงประทานเป็นพระพุทธโอวาทไว้โดยพระคาถาว่า

                                อปปฺเกนปิ เมธาวี                  ปาภเฏน                 วิจกฺขโณ

                                สมุฏฐาเปติ อตฺตานํ              อณุ อัคฺคึว สนฺธมนฺติ

                แปลว่า ผู้มีปัญญาหลักแหลมย่อมตั้งตัวได้ด้วยทุนทรัพย์อันเล็กน้อย เหมือนกับบุคคลก่อไฟให้ติดเป็นโพลงเป็นกองใหญ่ขึ้น ด้วยเชื้อเพลิงเพียงเล็กน้อยฉะนั้น ดังนี้ ในชาดกเรื่องนี้ เป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่า ผู้มีปัญญาย่อมหาทรัพย์ได้โดยง่าย มีจูฬกเศรษฐีที่ขายหนูเป็นตัวอย่าง ดังที่แสดงมานั้นแล้ว เป็นนิทัศนอุทาหรณ์ด้วยประการฉะนี้

“คนทีปัญญาเฉลียวฉลาด ย่อมตั้งตนได้ด้วยต้นทุน

แม้น้อยดุจคนก่อไฟน้อย ๆ ให้เป็นกองใหญ่ ฉะนั้น.”

จุลลกเศรษฐีชาดกจบ.