๒๒. กุกกุรชาดก (ว่าด้วยสุนัขที่ถูกฆ่า)

 

          พระบรมศาสดาประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภการที่พระองค์ทรงสงเคราะห์หมู่ญาติให้เป็นต้นเหตุ  จึงได้ทรงแสดงชาดกเรื่องนี้ มีเนื้อความว่า ในอดีตกาลครั้งพระเจ้าพรหมทัตผ่านราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสีมหานคร มีสุนัขเป็นอันมากอาศัยอยู่ในป่าช้าใหญ่แห่งหนึ่งใกล้กรุงพาราณสี สุนัขนั้น มีสุนัขนายฝูงเป็นผู้ปกครอง ครั้นอยู่มาในเวลาวันหนึ่ง เมื่อพระเจ้าพรหมทัตเสด็จกลับจากพระราชอุทยานด้วยขบวนรถ แล้วเจ้าหน้าที่ทั้งหลายได้พักรถพระที่นั่งไว้นอกโรงราชรถ ในเวลาฝนตกกลางคืนหนังหุ้มสายรัด สายทาม อันมีในรถพระที่นั่งนั้นก็เปียกชุ่มด้วยน้ำฝน ในเวลากลางคืนฝูงสุนัขในพระราชวังก็พากันไปกินหนังที่หุ้มรถและหนังสายรัด สายทาม อันมีในรถนั้นจนหมดสิ้น ในเวลารุ่งเช้าพวกเจ้าพนักงานได้วิ่งขึ้นไปกราบทูลจอมภูมิบาลพรหมทัตว่า พระพุทธเจ้าข้า เมื่อคืนนี้สุนัขทั้งหลายพากันกัดกินหนังหุ้มรถตลอดถึงสายรัด สายทาม อันมีในรถพระที่นั่ง ซึ่งจอดไว้ที่หน้าพระลานชัย ขอพระองค์ได้ทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทเถิดเมื่อพระเจ้าพรหมทัตได้ทรงสดับก็ทรงโทมนัสขัดเคือง ทรงโปรดให้ประกาศทราบทั่วกันทั้งพระนครพาราณสีว่า นับแต่วันนี้ไป เมื่อผู้ใดพบสุนัขในที่ไหนจงฆ่าเสียให้สิ้น คนทั้งหลายได้ยินดังนั้นก็พากันฆ่าสุนัขในที่ทั่วไป ฝูงสุนัขในป่าช้านั้นก็ถูกฆ่าเป็นอันมาก สุนัขนายฝูงซึ่งปกครองฝูงสุนัขอยู่ในป่าช้าใหญ่นั้น เมื่อเห็นบริวารของตนถูกฆ่าลงมากมายดังนั้น ก็สืบสวนว่าเหตุผลเป็นประการใด เมื่อทราบว่าเพราะมีสุนัขกัดกินหนังหุ้มรถของพระเจ้าแผ่นดินเป็นต้นเหตุ สุนัขนายฝูงนั้นจึงคิดว่า ความผิดอันนี้มิได้มีแก่สุนัขเหล่าอื่นนอกจากสุนัขในพระราชวัง แล้วสืบสวนทราบว่าสุนัขในพระราชวังมิได้ถูกฆ่าเลยสักตัวเดียว ครั้นแล้วจึงคิดต่อไปว่านอกจากตัวเราผู้เดียวแล้ว ย่อมไม่มีใครจะเป็นที่พึ่งแก่สุนัขทั้งหลายได้ จำเราจะต้องไปเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวให้จงได้ แล้วจึงนึกถึงบารมีที่ได้อบรมมาในปางก่อนตั้งเมตตาไว้ในคนและสัตว์ทั้งหลายทุกถ้วนหน้า อธิษฐานไว้ว่า ขออย่าให้มีผู้หนึ่งผู้ใดทำอันตรายแก่ข้าพเจ้าได้เลยเป็นอันขาด แล้วก็ออกจากป่าช้าเข้าไปสู่ราชธานี เมื่อคนทั้งหลายแลเห็นก็มีแต่เมตตากรุณา ไม่มีผู้ใดจะฆ่าตีสุนัขนั้นจนกระทั่งสุนัขนั้นเข้าไปถึงในพระราชวัง วิ่งผ่านหมู่อำมาตย์เข้าไปนอนอยู่ใต้ราชบัลลังก์แห่งพระเจ้าพรหมทัตในท้องพระโรงราชวินิจฉัย ในขณะที่พระเจ้าพรหมทัตเสด็จออกจากหมู่อำมาตย์ ครั้นสุนัขนั้นนอนพักอยู่สักครู่หนึ่งแล้ว จึงออกมากราบทูลพระเจ้าพรหมทัตว่า พระพุทธเจ้าข้าได้ยินว่าพระองค์โปรดให้ฆ่าสุนัขทั้งหลายจริงหรือประการใด เมื่อพระเจ้าพรหมทัตตอบว่าจริง จึงทูลถามถึงเหตุการณ์เมื่อจอมภูมิบาลทรงชี้แจงให้ทรงทราบ จึงกราบทูลขึ้นว่าสุนัขที่กัดกินหนังนั้นพระองค์รู้จักตัวหรือไม่ เมื่อตรัสตอบว่าไม่รู้จัก จึงทูลถามว่าพระองค์โปรดให้ฆ่าสุนัขทั้งหมดหรือ หรือสุนัขที่ไม่ถูกฆ่ามีอยู่ เมื่อตรัสว่าก็มีอยู่คือหมู่สุนัขในพระราชวัง จึงทูลถามว่าถ้าอย่างนั้นพระองค์ก็ไม่ทรงตั้งอยู่ในยุติธรรม เพราะพระองค์ไม่ทรงรู้จักสุนัขที่เป็นขโมย ๑ ไม่ได้โปรดให้ฆ่าสุนัขทั้งหมด ๑ สุนัขเหล่าใดที่ไม่มีเจ้าของโปรดให้ฆ่าแต่สุนัขเหล่านั้น ส่วนสุนัขที่มีเจ้าของหาได้ถูกฆ่าไม่ กระหม่อมฉันขอรับรองว่านอกจากสุนัขในพระราชวังแล้ว ไม่มีสุนัขเหล่าอื่นจะเข้ามากัดกินหนังหุ้มรถพระที่นั่งได้เลย เมื่อพระเจ้าพาราณสีได้ทรงสดับคำของสุนัขนั้นก็ทรงเห็นชอบด้วย จึงตรัสถามว่า เจ้าจะทำให้เราเห็นได้หรือไม่ว่าฝูงสุนัขในพระราชวังนี้แหละเป็นขโมย กราบทูลว่าได้ แล้วทูลให้นำน้ำมันเปรียงกับหญ้ามาหน่อยหนึ่งให้ขยำหญ้าลงในน้ำมันเปรียงกรอกปากสุนัขทั้งหลายในพระราชวัง สุนัขเหล่านั้นก็อาเจียนออกมาล้วนมีแต่หนังเป็นประจักษ์พยาน แล้วสมเด็จจอมภูมิบาลพรหมทัตก็ทรงพระโสมนัสต่อถ้อยคำแห่งสุนัขนั้นเป็นอันมาก ได้ทรงยกราชสมบัติกึ่งหนึ่งพระราชทานแก่สุนัขนั้น พร้อมด้วยทรงพระราชทานอภัยแก่บรรดาสุนัขทั้งหลาย  สุนัขได้ทูลแนะนำให้พระเจ้าพรหมทัตดำรงรัฐสีมาโดยทศพิธราชธรรม แล้วถวายคืนซึ่งราชสมบัติ แล้วนิวัตนาการกลับไปสู่ป่าช้าอันเป็นที่อยู่อาศัยแห่งตน ต่อนั้นมาจอมบพิตรพรหมทัตก็โปรดให้ราชบุรุษทั้งหลาย นำพระกระยาหารเหมือนอย่างที่พระองค์เสวย ไปพระราชทานแก่สุนัขนายฝูงนั้นทุกวัน และให้พระราชทานอาหารธรรมดาแก่สุนัขทั้งหลายที่เป็นบริวารอยู่จนตลอดพระชนมชีพของพระองค์ โอวาท คำสั่งสอนของสุนัขนายฝูงนั้น ได้มีผู้ประพฤติตามอยู่ตลอดหมื่นปี                

          ครั้นสมเด็จพระบรมศาสดาทรงนำมาซึ่งอดีตนิทานดังนี้แล้ว จึงตรัสว่า  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระเจ้าพรหมทัตในครั้งนั้น ได้เกิดมาเป็นอานนท์ในครั้งนี้ สุนัขบริวารทั้งหลายที่อาศัยอยู่ในป่าช้า ได้เกิดมาเป็นพุทธบริษัท ส่วนสุนัขนายฝูงได้เกิดมาเป็นเราตถาคตนี้เอง ในชาดกนี้เป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่าพระโพธิสัตว์ทั้งหลายย่อมทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่คนหมู่มาก แม้แต่เพียงเสวยพระชาติเป็นสัตว์ดิรัจฉานก็ทรงทำการอันเป็นประโยชน์ใหญ่ ให้แก่สัตว์เดรัจฉานทั้งหลายที่เป็นหมู่ญาติ ด้วยเหตุนี้สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ญาตกานญฺ จ สงฺคโห  การสงเคราะห์ญาติเป็นมงคลอันสูงสุด ดังนี้

สุนัขเหล่าใดอันบุคคลเลี้ยงไว้ในราชสกุล เกิดใน

ราชสกุลสมบูรณ์ด้วยสีรรและกำลัง สุนัขเหล่านี้นั้น

ไม่ถูกฆ่า พวกเรากลับถูกฆ่า เมื่อเป็นเช่นนี้ ชื่อว่าการฆ่า

โดยไม่แปลกกันก็หาไม่ กลับชื่อว่าฆ่าแต่สุนัขทั้งหลายที่ทุรพล”.

กุกกุรชาดกจบ