๑๑๐. สัพพสังหารกปัญหา (ว่าด้วยการพูดของหญิง ๒ ประเภท)

          มีเรื่องเล่าว่าเมื่อพระเจ้าวิเทหราชส่งราชบุรุษไปสอดแนมดูปัญญามโหสถนั้น มีหญิงเข็ญใจคนหนึ่ง ได้เปลื้องเครื่องประดับทำด้วยสีต่าง ๆ วางไว้บนผ้า แล้วลงไปอาบน้ำในสระโบกขรณีของพระมโหสถ มีหญิงอีกคนหนึ่งหยิบเอาเครื่องประดับนั้นไปเมื่อเจ้าของแลเห็นก็รีบขึ้นจากน้ำติดตามไป เมื่อทันเข้าแล้วต่างก็โต้เถียงกันจนกระทั่งไปถึงสำนักพระมโหสถ พระมโหสถจึงรับวินิจฉัย แต่ก่อนจะวินิจฉัยได้ถามหญิงโจรนั้นก่อนว่า เธออบเครื่องประดับด้วยสิ่งใด หญิงโจรตอบว่า อบด้วยเครื่องหอมทั้งปวง แล้วจึงได้ถามหญิงเจ้าของ หญิงเจ้าของตอบว่า อบด้วยดอกประยงค์อย่างเดียว พระมโหสถจึงเอาเครื่องประดับแช่ลงในถาดน้ำ แล้วให้บุรุษผู้หนึ่งพิสูจน์ดู บุรุษผู้นั้นเมื่อรู้ว่าเป็นกลิ่นดอกประยงค์อย่างเดียว จึงกล่าวเป็นคาถาว่า

สพฺพสํหารโก   นตฺถิ          สุทฺธํ   กงฺคุ   ปวายติ

อลิกํ   ภาสติยํ   ธุตฺตี          สจฺจมาหุ   มหลฺลิกาติ

          แปลว่า กลิ่นเครื่องหอมทั้งปวงมิได้มี มีแต่กลิ่นดอกประยงค์อย่างเดียว หญิงนักเลงคนนี้กล่าวถ้อยคำเหลาะแหละ ส่วนหญิงแก่คนนี้กล่าวจริง ดังนี้ นักปราชญ์คนนั้นจึงถามหญิงโจรว่าเธอเป็นโจรจริงหรือ เขาก็รับว่าจริงปรากฏแก่คนทั้งหลาย เป็นอันว่าในชาดกนี้มีเนื้อเรื่องเหมือนกับอุมมังคชาดกที่จะแสดงในข้างหน้า ดังนี้ ในชาดกนี้ ขอให้พุทธศาสนิกชนทั้งหลายจงเข้าใจเถิดว่า คนพูดเท็จย่อมสู้คนพูดจริงไม่ได้เสมอ แต่คนโดยมากมักแก้ตัวด้วยคำเท็จในเวลามีผู้ซักถาม หรือเวลาเกิดคดีถ้อยความ เพราะไม่เห็นโทษแห่งการพูดเท็จและไม่เห็นคุณแห่งการพูดจริง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนให้คนทั้งหลายพูดจริงอยู่เป็นนิ  เพราะพระองค์ทรงเห็นว่า การพูดจริงเป็นของมีประโยชน์ยิ่งใหญ่ ไม่ทำผู้พูดให้ได้รับความร้อนใจเป็นคำพูดที่ไม่ตาย เป็นคำพูดที่ไล่ไม่จน ส่วนคำพูดเท็จเป็นคำพูดที่ไล่จน สมควรที่คนทั้งหลายจะงดเว้นให้เด็ดขาด จึงจักไม่ปราศจากผลแห่งการเจรจา ดังเรื่องหญิงโจรนั้นเป็นนิทัศนอุทาหรณ์ ดังนี้

“กลิ่นเครื่องอบทั้งปวงไม่มี มีแต่กลิ่นดอกประยงค์ล้วนฟุ้งไปหญิง

นักเลงคนนี้ ย่อมกล่าวคำเหลาะแหละ หญิงผู้ใหญ่กล่าวคำจริง”

สัพพสังหารกปัญหาจบ.

จบปโรสตวรรค