๔๑. โลสกชาดก (ว่าด้วยคนที่ต้องเศร้าโศก)

๕. อัตถกามวรรค

          พระบรมศาสดา ได้ทรงปรารภพระเถรเจ้ารูปหนึ่งซึ่งมีนามว่า โลสกติสสะ ให้เป็นเหตุ แล้วจึงทรงแสดงชาดกนี้ มีเรื่องปรากฏมาว่า พระโลสกติสสเถรเจ้านั้นเป็นบุตรแห่งชาวประมงคนหนึ่ง นับแต่วันที่พระเถรเจ้าถือปฏิสนธิ พวกชาวประมงในตำบลนั้นก็หาปลาไม่ได้เหมือนที่เคยมา และได้รับภัยอีกหลายอย่าง เป็นต้นว่าถูกไฟไหม้ในตำบลนั้น พวกนั้นจึงได้หาวิธีต่าง ๆ จนได้รู้ว่า มารดาแห่งพระเถรเจ้ามีบุตรกาลกัณณี เมื่อพระเถรเจ้าคลอดจากครรภ์แล้ว มารดาบิดาก็อด ๆ อยาก ๆ เรื่อยมา พอบุตรรู้เดียงสาจึงบอกกับบุตรว่า มารดาบิดาได้อด ๆ อยาก ๆ เพราะเลี้ยงเจ้ามาเป็นเวลานานแล้ว  บัดนี้เจ้าจงเที่ยวขอทานเลี้ยงตัวต่อไปเถิด กุมารนั้นเมื่อออกจากสำนักมารดาบิดาไปเที่ยวขอทานตามประสาเด็ก ได้กินบ้าง ไม่ได้กินบ้าง เที่ยวขอทานไปตามแต่จะได้ วันหนึ่งได้เก็บกินเมล็ดข้าวในที่เขาล้างหม้อแห่งหนึ่ง กินทีละเมล็ด ๆ เหมือนกับกาจิกกินเมล็ดข้าวฉะนั้น พระสารีบุตรเถรเจ้าได้พบเข้าก็เกิดความสงสาร จึงถามหามารดาบิดา เมื่อทรงทราบเรื่องราวที่เป็นมาท่านจึงชักนำ ให้ไปบวชเป็นสามเณร กุมารนั้นก็ยินดี เมื่ออายุครบ ๒๐ ปี ก็ได้อุปสมบทเป็นภิกษุนามว่า โลสกติสสะ เมื่อบวชแล้วก็ยังลำบากด้วยอาหารเหมือนอย่างเดิม ในเวลาเที่ยวบิณฑบาต เมื่อคนทั้งหลายนำอาหารมาใส่บาตรถึงจะมากสักเท่าไรก็ตาม อาหารในบาตรนั้นก็อันตรธานไป ต่อมาท่านก็เจริญวิปัสสนาได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ แต่ก็ยังลำบากอยู่ด้วยอาหารอย่างเดิม ในวันที่ท่านจะปรินิพพาน พระสารีบุตรเถรเจ้าผู้เป็นอุปัชฌาย์อาจารย์ คิดจะอนุเคราะห์ให้ท่านได้ฉันอาหารจนอิ่มหนำสำราญ ได้บอกให้คนทั้งหลายจัดอาหารออกไปถวายพระโลสกติสสเถรเจ้าผู้รออยู่ในวิหาร แต่เผอิญคนที่ถืออาหารไปนั้นได้ลืมนึกถึงท่านเสีย หาได้นำอาหารไปถวายท่านไม่ เมื่อพระสารีบุตรเถรเจ้าได้ทราบว่าท่านยังไม่ได้ฉันอาหารก็เกิดสลดใจ จึงย้อนกลับไปบิณฑบาตอีก พระเจ้ากรุงสาวัตถีเห็นว่าหมดเวลาใส่บาตรแล้ว จึงนำจตุมธุรสไปใส่บาตรพระเถรเจ้าให้เต็มบาตร พระเถรเจ้าจึงรีบกลับไป นิมนต์ให้พระโลสกติสสะดื่มจตุมธุรสในบาตรของท่านในขณะที่ท่านถือบาตรอยู่ แต่พระโลสกติสสะไม่กล้าดื่มเพราะความเคารพใน  พระเถรเจ้า พระเถรเจ้าจึงกล่าวว่าถ้าเราไม่ประคองบาตรไว้จะส่งบาตรให้ท่านถือเอง จตุมธุรสในบาตรนี้ก็จะหายไปหมดท่านจงดื่มเถิด พระโลสกจึงดื่มจนอิ่มหนำสำราญตามต้องการ แล้วก็ดับขันธ์เข้าสู่พระปรินิพพานในวันนั้น สมเด็จพระบรมศาสดา พร้อมด้วยเหล่าพุทธบริษัท ได้ทรงทำฌาปนกิจศพพระเถรเจ้าแล้วโปรดนำอัฏฐิธาตุของท่านไปบรรจุไว้ในพระเจดีย์แห่งหนึ่ง ครั้นอยู่มาภิกษุทั้งหลายจึงประชุมสนทนาในโรงธรรมสภาว่า เพราะเหตุไรพระโลสกติสสเถรเจ้า ซึ่งเป็นผู้มีวาสนาบารมีแก่กล้าจนกระทั่งได้สำเร็จพระอรหันต์ จึงเป็นผู้ลำบากด้วยอาหารอยู่จนถึงวันดับขันธปรินิพพาน ในวันจะปรินิพพานได้ฉันจตุมธุรสพออิ่มเพียงครั้งเดียวเท่านั้น เมื่อสมเด็จพระสัพพัญญูเจ้าได้ทรงสดับคำสนทนาแห่งภิกษุทั้งหลายดังนี้ พระองค์จึงมีพระพุทธฎีกาตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การที่พระโลสกติสสะเป็นผู้ฝืดเคืองด้วยอาหารตั้งแต่เกิดมาจนกระทั่งถึงวันปรินิพพานนั้น เป็นด้วย บุพพกรรมของเธอในปางก่อน

          ครั้นตรัสดังนี้แล้ว จึงทรงแสดงบุพพกรรมของพระเถรเจ้าอันมีมาในครั้งก่อนว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ครั้งศาสนาพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า มีภิกษุรูปหนึ่งเป็นผู้มีศีลาจารวัตรปฏิบัติเคร่งครัดในธรรมวินัย เจริญวิปัสสนาอยู่เสมอ  ภิกษุนั้นอยู่ในอาวาสแห่งหนึ่ง มีกุฎุมพีผู้หนึ่งเป็นผู้อุปัฏฐาก ครั้นต่อมา มีพระอรหันต์องค์หนึ่งไปพักอยู่ในอาวาสนั้น เมื่อกุฎุมพีผู้นั้นได้เห็นก็เกิดความเลื่อมใสศรัทธา ได้นิมนต์ไปฉันอาหารที่บ้านของตนพร้อมกับภิกษุเจ้าอาวาส เมื่อเสร็จการฉันแล้วกุฎุมพีผู้นั้น จึงขอนิมนต์ให้พระอรหันต์องค์นั้นพักอยู่ในอาวาสนั้นต่อไป  ในเวลาเย็นกุฎุมพีนั้นก็ออกไปฟังธรรมเทศนา เสร็จการฟังธรรมเทศนาแล้วก็อำลาพระเถรเจ้าทั้งสองกลับไปบ้าน ฝ่ายพระเถระผู้เป็นเจ้าอาวาสก็เกิดระแวงใจว่า พระเถระที่มาใหม่นั้น จะยุยงกุฎุมพีให้แตกจากตน ในเวลารุ่งเช้า เมื่อถึงเวลาจะเคาะระฆังซึ่งเป็นเครื่องสัญญาณให้เข้าไปฉันในบ้านก็เคาะระฆังด้วยเล็บ แล้วไปเคาะประตูปลุกพระเถรเจ้าที่มาใหม่นั้นด้วยเล็บ ทั้งนี้เพื่อประสงค์จะเกียดกันไม่ให้พระเถรเจ้าที่มาใหม่ได้เข้าไปฉันในบ้านกุฎุมพีนั้นอีก เมื่อถึงเวลาเข้าไปฉันก็เข้าไปฉันแต่องค์เดียว แล้วบอกกุฎุมพีว่าภิกษุที่มาใหม่นั้น เมื่อวานนี้เห็นจะฉันอาหารอิ่มเกินไป เราเคาะประตูปลุกสักเท่าไรก็ไม่ตื่นเคาะระฆังให้สัญญาณก็ไม่ตื่นกุฎุมพีสังเกตเห็นกิริยาของพระเถรเจ้าก็ทราบได้ว่าพระเถรเจ้ามีเจตนาเกียดกัน  จึงกล่าวว่าช่างเถิด แล้วก็จัดอาหารถวายแก่พระเถรเจ้า เมื่อพระเถรเจ้าฉันเสร็จแล้วจึงจัดข้าวยาคูใส่ลงในบาตรฝากออกไปถวายพระเถรเจ้าที่มาใหม่ แต่พระเถรเจ้าผู้เป็นเจ้าอาวาสนั้นคิดว่า ถ้าเราจะนำข้าวยาคูไปให้ภิกษุรูปนั้นฉัน  เขาก็จักติดใจในรสอาหารจักไม่ไปจากอาวาสของเรา เราควรจะเททิ้งเสียในกลางทางจะดีกว่า เมื่อคิดแล้ว ก็กลับออกไปจากบ้านกุฎุมพี พอดีไปพบไฟไหม้คันนาอยู่แห่งหนึ่งจึงเทข้าวยาคูลงในกองไฟนั้นเสียแล้วบ่ายหน้าสู่วิหาร ฝ่ายพระอรหันต์เถรเจ้าที่อยู่ในวัดเมื่อทราบอัธยาศัยของภิกษุเจ้าอาวาสก็ไปเที่ยวบิณฑบาตเสียแห่งอื่น  แล้วก็เหาะหนีไปในตำบลข้างหน้า ฝ่ายพระเถรเจ้าผู้เป็นเจ้าอาวาส เมื่อกลับไปถึงวิหารไม่เห็นพระเถรเจ้าองค์นั้น จึงคิดว่าภิกษุนี้คงจะเป็นพระอรหันต์แน่ไม่ต้องสงสัย เมื่อคิดแล้วก็เกิดความเสียใจ นับแต่นั้นมาก็ซูบผอมลงไปทุกทีจนกระทั่งถึงมรณภาพ ครั้นมรณภาพแล้วได้ไปตกนรกอยู่ตลอดแสนปี เมื่อพ้นจากนรกได้มาเกิดเป็นยักษ์และสุนัขอย่างละ ๕๐๐ ชาติ รวมเป็นพันชาติด้วยกัน ในระหว่างพันชาตินั้นมิได้กินอาหารพออิ่มเลยแม้แต่สักชาติเดียว คือในระหว่างที่เกิดเป็นยักษ์  ก็หาอาหารกินก็แสนลำบาก ในวันหนึ่งได้กินรกของเด็กพออิ่มท้องเพียงครั้งเดียวเท่านั้น  ในระหว่างเกิดเป็นสุนัขก็ได้กินอาเจียนพออิ่มท้องในวันเดียวเท่านั้น ไม่ได้กินอาหารอิ่มท้องเลยแม้แต่สักครั้งเดียว เมื่อพ้นจากพันชาตินั้นแล้วก็ได้เกิดในตระกูลเข็ญใจตระกูลหนึ่ง ซึ่งอยู่ในแว่นแคว้นกาสี จำเดิมแต่เด็กนั้นเกิดมาตระกูลนั้นก็ไม่ได้ข้าวและน้ำพออิ่มแม้แต่สักมื้อเดียว เด็กนั้นชื่อว่ามิตตวินทุกะพอเจริญวัยรู้จักเดียงสา  มารดาบิดาก็ปล่อยให้ไปเที่ยวขอทานเลี้ยงชีพโดยลำพังผู้เดียว มิตตวินทุกะนั้นก็เที่ยวซัดเซไปถึงกรุงพาราณสี ทิศาปาโมกข์อาจารย์ได้พบเห็นก็นำไปเลี้ยงไว้ให้เป็นศิษย์ แต่มิตตวินทกะนั้นไม่เอาใจใส่ต่อการศึกษาเล่าเรียนถึงอาจารย์จะว่ากล่าวสักเท่าไรก็ไม่เชื่อฟัง ครั้นเติบโตขึ้นก็หนีจากอาจารย์ไป ไปได้ภรรยาเป็นคนเข็ญใจอยู่ในตำบลหนึ่ง เมื่อมิตตวินทุกะนั้นไปอยู่ในตำบลนั้นคนในตำบลนั้นก็เกิดวิบัติต่าง ๆ คือ ถูกอาชญาถึง ๗ ครั้ง ไฟไหม้บ้านถึง ๗ คราวบ่อน้ำพังถึง ๗ หน  คนทั้งหลายจึงตกลงกันว่า คงจะเป็นเพราะมิตตวินทุกะมาอยู่ในตำบลของเรา จึงเกิดความพินาศย่อยยับเช่นนี้ แล้วเขาก็พร้อมกันขับไล่ มิตตวินทุกะทั้งบุตรภรรยาให้ไปเสียจากตำบลนั้น มิตตวินทุกะก็พาบุตรภรรยาออกไปจากตำบลนั้นเข้าไปสู่ป่าแห่งหนึ่ง เพื่อจะทำมาหากินอยู่ในป่านั้น แต่ไปอยู่ได้ไม่ช้าบุตรภรรยาก็ตาย มิตตวินทุกะก็ออกจากป่านั้นไปสู่บ้านท่าเรือแห่งหนึ่ง  อยู่ต่อมาได้อาศัยเป็นลูกจ้างออกไปในเรือกับพวกพ่อค้าอันจะไปค้าขายทางเรือ แต่เมื่อออกเรือไปในมหาสมุทรได้ ๗ วัน เรือก็หยุดนิ่งในท่ามกลางมหาสมุทร มีอาการเหมือนกับคนมาฉุดไว้ พ่อค้าทั้งหลายจึงจับสลากกัน ด้วยสงสัยกันว่าจะมีคนกาลกัณณีอยู่ในเรือลำนี้ด้วย มิตตวินทุกะได้จับถูกสลากกาลกัณณีถึง ๗ ครั้ง พวกพ่อค้าทั้งหลายจึงทำแพไม้ไผ่ให้มิตตวินทุกะอยู่ในแพนั้นแล้วก็ลอยแพนั้นไป พอมิตตวินทุกะลงจากเรือนั้นแล้วเรือก็ได้แล่นไปโดยสะดวก ฝ่ายมิตตวินทุกะได้ลอยไปในแพไม้ไผ่ในท่ามกลางมหาสมุทรไปได้นางเทพธิดา ๔ องค์ในวิมารแก้วผลึกหลังหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่เหนือมหาสมุทรเป็นภรรยา พออยู่มาได้ ๗ วัน ก็ได้ไปจากที่นั้นอีก ไปได้นางเทพธิดาอีก ๘ องค์ ซึ่งอยู่ในวิมานเงินหลังหนึ่ง จากนั้นไปได้นางเทพธิดาอีก ๑๖ องค์ อันอยู่ในวิมานแก้วมณี แล้วไปพบนางเทพธิดาอีก ๓๒ องค์ ซึ่งอยู่ในวิมานทอง มิตตวินทุกะได้กินอยู่กับนางเทพธิดาเหล่านั้น เพียงแห่งละ ๗ วันเท่านั้น พอในวันที่ ๘ ก็ได้จากไป ด้วยเทพธิดาเหล่านั้นไม่ใช่เทพธิดาแท้เป็นเทพธิดาจำพวกเปรตชนิดหนึ่ง คือ เป็นเทพธิดาอยู่ ๗ วัน แล้วไปเกิดเป็นเปรตอยู่ ๗ วัน แล้วกลับมาเป็นเทพธิดาอีกเป็นอย่างนี้เสมอไป การที่มิตตวินทุกะได้เทพธิดาเหล่านั้นเป็นภรรยาก็เพราะอานิสงส์ที่ได้รักษาศีลเมื่อครั้งบวชเป็นภิกษุ  ในครั้งศาสนาพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้าโน้น มีเนื้อความสืบไปว่า เมื่อ มิตตวินทุกะจากเทพธิดาเหล่านั้นไปแล้ว ได้ลงไปสู่แพลอยไปถึงเมืองยักษ์เมืองหนึ่งเมืองหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่ในระหว่างเกาะกลางมหาสมุทร มีนางยักษิณีตนหนึ่งจำแลงตัวเป็นแม่แพะ เที่ยวไปมาอยู่ในเมืองนั้น เมื่อมิตตวินทุกะได้เห็น จึงคิดว่าจะจับแม่แพะนั้นฆ่ากินเป็นอาหาร จึงเข้าไปจับเท้าแม่แพะนั้น แม่แพะนั้น ก็ดีดมิตตวินทุกะกระเด็นไปตกที่กรุงพาราณสี ซึ่งเป็นเมืองที่อาจารย์อยู่

          ในครั้งนั้น พวกโจรได้ลักนางแพะของพระเจ้ากรุงพาราณสีไปตัวหนึ่ง พวกคนเลี้ยงแพะได้เที่ยวสืบหาจับโจร แต่แม่แพะนั้นโจรได้เอาไปผูกซ่อนไว้ในป่าแห่งหนึ่งซึ่งอยู่ใกล้กันกับที่มิตตวินทุกะกระเด็นไปตก เมื่อมิตตวินทุกะได้เห็นแม่แพะนั้นก็เกิดความดีใจอยากจะให้แม่แพะนั้นดีดให้กระเด็นไปตกในวิมานของเทพธิดาอีกจึงตรงเข้าไปจับเท้าแม่แพะตัวนั้น ๆ ก็ร้องขึ้นทันที พอดีพวกคนเลี้ยงแพะได้ไปถึงก็ตรงเข้าไปจับมิตตวินทุกะด้วยเข้าใจว่าเป็นโจรขโมยแพะ ได้มัดมือไพล่หลังจูงออกจากป่านั้นไปยังพระนคร เผอิญในวันนั้นทิศาปาโมกข์อาจารย์ ได้มาพบจึงขอให้ปล่อยมิตตวินทุกะนั้นเสีย เมื่อมิตตวินทุกะพ้นจากการจับกุมแล้วทิศาปาโมกข์อาจารย์จึงสั่งสอนศิษย์ทั้งหลายว่า โย อตฺถกามสฺส หิตานุกมฺปิโน เป็นอาทิ แปลว่า ผู้ใดไม่เชื่อถือถ้อยคำของผู้คิดจะเกื้อกูลแก่ตน ซึ่งแนะนำใน ทางดี ทางชอบ บุคคลผู้นั้นย่อมจะถึงซึ่งความเศร้าโศกเหมือนกับมิตตวินทุกะ ผู้ไม่เชื่อฟังคำสอนของเราได้รับความเศร้าโศกเพราะไปจับเท้าแม่แพะฉะนั้น ดังนี้

          ครั้นสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดงเรื่องนี้จบลงดังนี้แล้ว จึงทรงประชุมชาดกว่า มิตตวินทุกะในครั้งนั้น ได้มาเกิดเป็นพระโลสกติสสะในบัดนี้  ส่วนทิศาปาโมกข์นั้น มาเกิดเป็นเราตถาคตนี้เอง

“ผู้ใดบุคคลกล่าวสอนอยู่ ไม่ทำตามคำสอนของผู้ปรารถนา

ประโยชน์ ผู้อนุเคราะห์ด้วยประโยชน์เกื้อกูล ผู้นั้นย่อมเศร้า

โศก เหมือนนายมิตตวินทุกะจับเท้าแพะเศร้าโศกอยู่ ฉะนั้น.”

โลสกชาดกจบ.