๓๗. ติตติรชาดก (ว่าด้วยผู้มีความอ่อนน้อม)

          สมเด็จพระบรมศาสดาได้ทรงปรารภการที่ภิกษุหวงห้ามเสนาสนะ ไม่ให้พระสารีบุตรอาศัย มีเรื่องปรากฏมาว่า เมื่อพระพุทธองค์ได้ทรงทราบเรื่อง พระองค์จึงตรัสให้ประชุมสงฆ์ เมื่อซักถามได้ความเป็นจริงว่าเหล่าภิกษุที่เป็นศิษย์แห่งพระฉัพพัคคีย์ได้เกียดกันเสนาสนะไว้เช่นนั้น จึงตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่าภิกษุเช่นไรควรจะได้รับเสนาสนะและบิณฑบาตอันดี ภิกษุบางจำพวกกราบทูลว่า  ภิกษุที่เคยเป็นขัตติยตระกูลมาก่อน ควรจะได้รับเสนาสนะและบิณฑบาตก่อน  บ้างก็ว่าผู้เคยเป็นพราหมณ์มาก่อน บ้างก็ว่าผู้ทรงธรรมทรงวินัย ผู้ที่ได้ปฐมฌาน  ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ท่านที่เป็นโสดาบัน สกทาคามี อนาคามี  อรหันต์ ท่านที่ได้วิชชา ๓ อภิญญา ๖ ท่านเหล่านี้ สมควรจะได้รับเสนาสนะและบิณฑบาตอันล้ำเลิศ เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลถวายความเห็นของตนต่าง ๆ อย่างนี้แล้วพระองค์จึงตรัสว่า ในศาสนาของเราจะได้ยกย่องบุคคลโดย ชาติตระกูลเป็นต้นว่าเป็นผู้สมควรได้รับเสนาสนะ และบิณฑบาตอันดี เหมือนกับภิกษุทั้งหลายกราบทูลนี้ก็หาไม่ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรายกย่องซึ่งบุคคลคือภิกษุผู้มีพรรษาแก่กว่าแต่เดี๋ยวนี้ สารีบุตรซึ่งเป็นอัครสาวกของเราสมควรจะได้รับเสนาสนะต่อจากลำดับเรา แต่เมื่อคืนนี้สารีบุตรหาได้รับเสนาสนะไม่ ได้ไปอาศัยนั่งและเดินที่โคนต้นไม้ตลอดคืนยังรุ่งเป็นการไม่สมควรยิ่งนัก เหตุว่าแม้แต่สัตว์ดิรัจฉานก็ยังเคารพนับถือผู้มีอายุแก่กว่า ครั้นตรัสดังนี้แล้วจึงทรงแสดงเรื่องอดีตว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในอดีตกาลล่วงแล้วมามีสัตว์ ๓ สหาย คือ นกกระทา ลิง และช้างอาศัยอยู่ที่ใต้ต้นไทรใหญ่แห่งหนึ่งในป่าหิมพานต์ สัตว์ ๓ สหายนั้นได้คิดกันว่าเราควรจะเคารพยำเกรงกัน แต่บัดนี้ ยังไม่ทราบว่าผู้ไดมีอายุมากกว่ากัน  อยู่มาวันหนึ่งสัตว์ ๓ สหายนั้น จึงประชุมไต่ถามกันที่ใต้ต้นไทรว่าใครมีอายุเท่าไร   ช้างตอบก่อนว่าเราก็จำไม่ได้ว่ามีอายุเท่าไร แต่จำได้ว่าเมื่อเรายังเล็ก ๆ ต้นไทรต้นนี้สูงพอลอดใต้ท้องของเรา วานรตอบเป็นลำดับที่สอง กล่าวว่าเมื่อเรายังเล็ก ๆ เราได้เคยมาชะเง้อคอกัดกินยอดไทรต้นนี้เสมอ เมื่อจะเทียบช้างเล็กกับวานรเล็กก็นับว่าไทรต้นนี้ยังเล็กกว่าที่ช้างได้เห็น เมื่อเป็นเช่นนี้วานรจึงแก่กว่าช้าง นกกระทาตอบเป็นลำดับสุดท้ายว่า ดูก่อนท่านทั้งสองเมื่อก่อนที่ตรงโน้นมีต้นไทรใหญ่อยู่ต้นหนึ่ง เราได้ไปกินลูกไทรที่ต้นนั้นแล้วมาถ่ายลงไว้ที่นี่ เมล็ดลูกไทรที่เราถ่ายออกมาจึงเกิดเป็นต้นไทรต้นนี้ขึ้น เมื่อนกกระทากล่าวดังนี้แล้ววานรกับช้างจึงกล่าวว่า  ถ้าอย่างนั้นข้าพเจ้าทั้งสองก็อ่อนกว่าท่าน ท่านเป็นอันแก่กว่าข้าพเจ้าทั้งสอง นับแต่วันนี้ไปข้าพเจ้าทั้งสองจะเคารพยำเกรงท่าน จักเชื่อถือถ้อยคำแห่งท่าน จำเดิมแต่นั้นมานกกระทาก็ให้โอวาทสั่งสอนแก่ช้างและวานรสองสหาย แนะนำให้ช้างและวานรตั้งอยู่ในศีล ๕ ช้างและวานรก็กระทำตามโอวาทคำสั่งสอนจนตลอดชีวิต ครั้นสมเด็จพระบรมศาสดาทรงแสดงเรื่องในอดีตกาลจบลงแล้ว จึงทรงบัญญัติสิกขาบทไว้ว่า ภิกษุไดห้ามปรามเกียดกันเสนาสนะแก่ภิกษุผู้แก่กว่าภิกษุนั้นต้องอาบัติทุกกฎแล้วทรงแสดงธรรมด้วยพระพุทธพจน์ว่า

เย   วุฑฺฒมปจายนฺติ              นรา  ธมฺมสฺส   โกวิทา

ทิฏฺเฐ   ธมฺเม   จ   ปาสํสา       สมฺปราโย   จ  สุคฺคตีติ

          แปลว่า คนเหล่าใดฉลาดรอบรู้ในธรรมยำเกรงผู้ที่แก่กว่า คนเหล่านั้นย่อมได้รับความสรรเสริญในชาตินี้ ส่วนในชาติหน้าย่อมได้ไปสู่คติอันดี ดังนี้ มีอรรถาธิบายว่า ผู้ที่เรียกว่าแก่กว่านั้น มี ๓ จำพวก คือ แก่โดยชาติ อันได้แก่ตระกูลสูงกว่า ๑ แก่โดยคุณ อันได้แก่ผู้มีความรู้ความดีมากกว่าตน ๑ แก่โดยวัย  อันได้แก่ผู้มีอายุมากกว่า ๑ ส่วนในพวกภิกษุสามเณรสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติให้เคารพยำเกรงผู้ที่มีพรรษามากกว่า สำหรับฆราวาสให้เคารพยำเกรงกันตามสมควรแก่อายุบ้าง เมื่อบุคคลผู้ไดเป็นผู้เคารพยำเกรงต่อบุคคล ๓ จำพวกนี้บุคคลผู้นั้นเมื่อยังมีชีวิตอยู่ก็มีผู้สรรเสริญว่าเป็นคนดี เมื่อสิ้นชีวิตอินทรีย์แล้วก็ได้ไปเกิดในสวรรค์ หรือ ได้มาเกิดในมนุษย์ในตระกูลอันสูงมีตระกูลแห่งกษัตริย์เป็นต้น เพราะฉะนั้น สมควรที่คนทั้งหลายจะถือไว้เป็นแบบฉบับสำหรับปฏิบัติตามในชาดกนี้เป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่า คนเราที่อยู่กันเป็นหมวดหมู่โดยที่สุดแต่ ๒ คนขึ้นไป ก็จำเป็นต้องเคารพยำเกรงซึ่งกันและกัน ตามฐานานุรูปของตน  ผลแห่งการเคารพยำเกรงย่อมส่งให้เกิดในตระกูลสูง อาการเคารพยำเกรงนั้นมีหลายอย่างต่าง ๆ กัน ตามกาลเทศะ เป็นต้นว่า การหลีกทางให้ การหลีกที่นั่งให้  การให้น้ำดื่มและเครื่องรับรองต่าง ๆ ก็เป็นอาการแห่งความเคารพยำเกรงทั้งนั้น.

นรชนเหล่าใด ฉลาดในธรรม ย่อมนอบน้อมคนผู้

เจริญ นรชนเหล่านั้น เป็นผู้ได้รับความสรรเสริญ

ในปัจจุบันนี้ และมีสุคติเป็นที่ไปในเบื้องหน้า.”

ติตติรชาดกจบ.