๑๘. มตกภัตตชาดก (ว่าด้วยสัตว์ไม่ควรฆ่าสัตว์)

          พระศาสดาทรงปรารภเรื่องมตกภัตต์ แล้วทรงแสดงเรื่องชาดกนี้  มีเรื่องราวว่า ในครั้งนั้น เมื่อภิกษุทั้งหลายได้เห็นพวกคนฆ่าสัตว์ทำบุญ ให้แก่หมู่ญาติที่ตายไป จึงกราบทูลเล่าถวายแด่สมเด็จพระบรมศาสดา แล้วทูลถามว่า พวกนั้นจะได้ผลานิสงส์หรือไม่ประการใด พระองค์ตรัสตอบว่า พวกนั้นไม่ได้ผลานิสงส์เลย เรื่องนี้บัณฑิตในปางก่อนได้แสดงไว้แล้ว แล้วจึงทรงแสดงเรื่องอดีตว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในครั้งพระเจ้าพรหมทัต ผ่านสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี มีพราหมณ์ผู้หนึ่งเป็นทิศาปาโมกข์อาจารย์ ได้สั่งให้ศิษย์บริวารไปจับแกะตัวหนึ่งมาฆ่า เพื่อจะทำบุญให้แก่หมู่ญาติที่ตายไป แกะตัวนั้นได้หัวเราะและร้องไห้ เมื่อพวกศิษย์ของ ทิศาปาโมกข์อาจารย์ไต่ถามว่า เหตุไรจึงหัวเราะและร้องไห้เช่นนี้  แกะนั้นตอบว่า เมื่ออยากจะรู้พาข้าพเจ้าไปสู่สำนักนิศาปาโมกข์เถิด ข้าพเจ้าจึงจักบอกให้ทราบ พวกศิษย์ได้นำแกะตัวนั้นไปหาอาจารย์ เล่าเรื่องให้อาจารย์ฟัง แล้วอาจารย์มีความสอดแคล้วสงสัยจึงไต่ถามว่า ดูก่อนแกะเหตุไรเจ้าจึงหัวเราะแล้วร้องไห้ มีอาการวิปริตผิดไปกว่าแกะทั้งหลายอื่น ๆ แกะจึงตอบว่า เมื่อก่อนข้าพเจ้าได้เกิดเป็นทิศาปาโมกข์อาจารย์เหมือนกับตัวท่านนี้ ได้ฆ่าแกะตัวหนึ่งทำบุญให้หมู่ญาติที่ตายไป ต่อจากชาตินั้นมา ข้าพเจ้าได้ถูกตัดศีรษะถึง ๔๙๙ ชาติ แล้วจะเป็น  ๕๐๐ชาติกับทั้งชาตินี้ แล้วข้าพเจ้าจะสิ้นบาปกรรมที่ฆ่าแกะตัวนั้น เมื่อข้าพเจ้าระลึกชาติได้อย่างนี้ข้าพเจ้าจึงหัวเราะด้วยความดีใจ ว่าจะพ้นจากบาปกรรมในวันนี้ที่ข้าพเจ้าร้องไห้นั้น เพราะมีความสงสารท่านที่จะต้องได้รับบาปกรรมเหมือนข้าพเจ้า เมื่อทิศาปาโมกข์อาจารย์ได้ฟ้งดังนั้นก็เกิดสลดใจและเกรงกลัวบาปกรรมจึงตกลงใจว่า จะไม่ฆ่าสัตว์ตัวนั้นเป็นอันขาด จึงประกาศออกไปด้วยเสียงอันดังว่า แกะเอ๋ยเจ้าจงเบาใจเถิดเราจะไม่ฆ่าเจ้าเป็นอันขาด แกะนั้นจึงตอบว่า ท่านจะฆ่าข้าพเจ้าหรือไม่ก็ตาม ข้าพเจ้าก็จะไม่พ้นจากความตายในวันนี้เป็นแน่ พราหมณ์ทิศาปาโมกข์จึงกล่าวว่าเราจะคอยระมัดระวังเจ้า ไม่ให้ผู้หนึ่งผู้ใดทำอันตรายเจ้าแล้วก็ปล่อยแกะนั้นไป เมื่อแกะนั้นเดินไปทางใดพราหมณ์            ทิศาปาโมกข์ก็พาพวกศิษย์เดินตามไปเพื่อระวังภัยอันจักมีแก่แกะ พอเดินไปไม่ช้าแกะตัวนั้นก็ได้ปีนป่ายขึ้นไปกินใบมี่ศิลาก้อนหนึ่ง ด้วยบาปกรรมที่แกะตัวนั้นได้กระทำไว้ในปางก่อน ก็เผอิญอสุนีบาตฟาดลงมาถูกศีรษะแกะตัวนั้นให้ขาดลงไปทันที คนทั้งหลายซึ้งประชุมกันอยู่ในที่นั้น ต่างก็เกิดความสลดใจ มีเทพยดาตนหนึ่งซึ่งสิงอยู่ที่ต้นไม้ต้นหนึ่ง ได้แสดงตนให้ปรากฏด้วยเทวานุภาพ นั่งแสดงธรรมอยู่บนอากาศด้วยบทพระคาถาว่า

เอวญฺเจ   สตฺตา   ชาเนยฺยํ            ทุกฺขายํ  ชาติสมฺภโว

น   ปาโณ  ปาณินํ   หญฺเญ            ปาณฆาตี   หิ   โสจตีติ

          แปลว่า คนทั้งหลายที่รู้ว่าการเกิดเป็นทุกข์ก็ไม่ควรฆ่าสัตว์ เพาะเหตุว่าการฆ่าสัตว์ย่อมทำให้ได้รับความทุกข์โศกตลอดกาลนาน ดังนี้ เมื่อคนทั้งหลายได้ฟังซึ่งการแสดงธรรมของเทพยดานั้นดังนี้แล้ว  ก็พากันสะดุ้งหวาดหวั่น ต่อบาปกรรม  แล้วพากันงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ตั้งแต่วันนั้นไปตลอดกาลนาน

          ครั้นสมเด็จพระบรมศาสดา ประทานเทศนาเรื่องอดีตจบลงแล้ว จึงทรงประชุมชาดกว่า พฤกษเทพยดาในครั้งนั้น คือ เราตถาคตในบัดนี้ ในชาดกนี้แสดงให้เห็นว่า การฆ่าสัตว์ทำบุญย่อมไม่มีประโยชน์เลย มีแต่ให้โทษแก่ผู้ทำอย่างเดียวขอพุทธศาสนิกชนทั้งหลายจงจำไว้เถิดว่า การฆ่าสัตว์ทำบุญ หรือฆ่าสัตว์มาบริโภคเป็นอาหาร หรือฆ่าไปขายเอากำไรก็ดี ย่อมให้โทษสิ้นกาลนานทั้งนั้น  ดังนี้

“ ถ้าสัตว์ทั้งหลายพึงรู้อย่างนี้ว่า ชาติสมภพนี้เป็นทุกข์ สัตว์

ไม่ควรฆ่าสัตว์ เพราะว่าผู้มีปกติฆ่าสัตว์ย่อมเศร้าโศก.”

มตกภัตตชาดกจบ.