๒๗. อภิณหชาดก (ว่าด้วยการเห็นกันบ่อยๆ)

 

        พระศาสดา ทรงปรารภอุบาสกคนหนึ่ง กับภิกษุแก่รูปหนึ่งให้เป็นเหตุ มีเรื่องมาว่า อุบาสกกับภิกษุแก่รูปนั้นคุ้นเคยสนิทสนมกัน ในเวลาที่ภิกษุนั้นเข้าไปฉันในบ้านอุบาสกนั้นแล้วก็กลับออกมา อุบาสกนั้นก็ตามส่งจนถึงวิหาร แล้วทั้งสองก็ได้สนทนากันอยู่ตลอดทิวาวาร แล้วเวลาเย็น อุบาสกนั้นกลับไปจากวิหาร ภิกษุแก่นั้นก็ตามไปส่งจนถึงประตูเมือง เป็นดังนี้เสมอมาตลอดกาลเนืองนิจ ภิกษุทั้งหลายจึงนำไปกราบทูลสมเด็จพระศาสดาให้ทรงทราบ พระองค์จึงตรัสว่า  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คนทั้งสองนี้จะได้คุ้นเคยกันแต่ในบัดนี้ก็หาไม่ ถึงปางก่อนก็เหมือนกัน ครั้นตรัสดังนี้แล้วจึงทรงแสดงเรื่องอดีตว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ใน     รัชสมัยแห่งสมเด็จพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี มีลูกสุนัขตัวหนึ่งเข้าไปอาศัยกินข้าว อยู่ในโรงพญาช้างต้นมงคลหัตถีเสมอเป็นนิจมา จนได้คุ้นเคยสนิทสนมกับพญาช้าง พญาช้างได้จับสุนัขนั้นด้วยงวงขึ้นชูเล่นด้วยอาการต่าง ๆ บางทีก็เอาวางบนศีรษะของตน ครั้นอยู่มาวันหนึ่ง มีชายคนหนึ่งซื้อเอาสุนัขไปเลี้ยงไว้นอกพระนคร นับแต่สุนัขนั้นหายไป พญาช้างนั้นก็ไม่อาจจับหญ้าและดื่มน้ำ ได้แต่คำนึงถึงสุนัขนั้นเป็นอารมณ์ พวกควานช้างจึงนำความไปกราบทูล สมเด็จพระเจ้ากรุงพาราณสี พระองค์จึงได้โปรดให้อำมาตย์ผู้หนึ่งไปพิจารณาดูเหตุการณ์อันร้ายดี เมื่ออำมาตย์นั้นทราบว่าพญาช้างไม่บริโภคโภชนาหาร เพราะเหตุระลึกถึงสุนัขเป็นประมาณ จึงกลับไปกราบทูลเหตุการณ์ให้ท้าวเธอทรงทราบ  ท้าวเธอจึงโปรดให้ประกาศว่าผู้ใดนำสุนัขนั้นไปจงนำมาคืนโดยเร็วอย่าได้ช้า เมื่อชายนั้นได้ทราบคำประกาศดังนั้นก็เกรงกลัวพระราชอาญารีบปล่อยสุนัขนั้นทันที  สุนัขนั้นก็รีบกลับมาสู่โรงพญาช้างในทันใด พญาช้างก็เกิดความดีใจถึงกับร้องไห้น้ำตาไหลแล้วจึงจับสุนัขนั้นอุ้มชูอยู่ไปมา เมื่ออำมาตย์ได้เห็นกิริยาอาการดังนั้นแล้ว จึงกลับไปกราบทูลให้พระเจ้าพาราณสีทรงทราบ ด้วยพระคาถาว่า

นาลํ   กพลํ    ปทาตเว          น   ปิณฺฑํ  น   กุเส  น  ฆํสิตุ

มญฺญามิ  อภิณฺหทสฺสนา    นาโค  สิเนหมกาสิ   กุกฺกุเรติ

          แปลว่า พญาช้างไม่บริโภคอาหาร ไม่สีกายที่เสาสำหรับสีกายตามเคยเป็นเพราะว่าพลัดพรากจากสุนัขอันเป็นที่รัก พญาช้างได้รักใคร่สุนัขเพราะได้คบหาสมาคมกันเนือง ๆ ดังนี้ เมื่อพระเจ้าพาราณสีได้ทรงสดับก็ทรงโปรดปรานอำมาตย์ผู้นั้นมาก ทรงพระราชทานอิสริยยศแก่อำมาตย์ผู้นั้นเป็นบำเหน็จความดีที่เป็นผู้มีสติปัญญา สามารถรู้จักกระทั่งอัธยาศัยสัตว์ดิรัจฉาน ครั้นสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าโปรดประทานเทศนาเรื่องอดีตจบลงดังนี้แล้ว จึงทรงประชุมชาดกต่อไปว่า  สุนัขในครั้งนั้น ได้มาเกิดเป็นอุบาสกคนนี้ พญาช้าง ได้มาเกิดเป็นภิกษุแก่รูปนี้ พระเจ้ากรุงพาราณสีได้มาเกิดเป็นพระอานนท์ ส่วนอำมาตย์ผู้รอบรู้ในเหตุผลคือเราตถาคตนี้แล ดังนี้ ชาดกนี้เป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่าความรักใคร่พอใจอันจะเกิดมีแก่คนและสัตว์ทั้งหลาย เพราะอาศัยการคบหาสมาคมกันเนืองนิจเป็นมูลเหตุ โดยเหตุนี้ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงโปรดประทานเทศนาไว้ในพระธรรมบทว่า

ปพฺเพว    สนฺนิวาเสน        ปจฺจุปฺปนฺนหิเตน   วา

เอวนฺตํ      ชายเต   เปมํ         อุปฺปลํว   ยโถทเก

          แปลว่า  ความรักย่อมเกิดขึ้น ๒ ประการ คือ การเคยอยู่ร่วมกันในปางก่อน ๑ การได้ช่วยเหลือเกื้อกูลกันในปัจจุบัน ๑ เหตุ ๒ ประการนี้ย่อมทำให้บุคคลมีความรักใคร่สนิทสนมในกันและกัน มีอุปมาเหมือนกับพันธุ์ดอกบัว คือ ธรรมดาดอกบัวย่อมเกิดขึ้นได้เพราะอาศัยโคลนและทั้ง ๒ ประการฉะนั้น ดังนี้ มีอธิบายตามอรรถกถาว่า  บุคคลเคยอยู่ร่วมกันในชาติใกล้เคียงกับปัจจุบัน คือ นับถอยหลังไปเพียง ๗ ชาติ เมื่อได้เห็นกันเข้าเวลาใดก็เกิดความรักใคร่พอใจขึ้นในเวลานั้นทันที ถ้าเคยเป็นสามีภรรยากันภายใน ๗ ชาตินั้น เมื่อได้เห็นกันเข้าในปัจจุบันชาตินี้ความรักนั้นย่อมมีกำลังแรงกล้า แปลกกว่าความรักธรรมดาอันมีในระหว่างหญิงชาย คือความรักนั้นวิ่งเข้าไปจับดวงใจจรดเข้าไปถึงเยื่อในกระดูกทันที  บางทียังไม่ได้เห็นกันเลย เพียงแต่ได้ยินชื่อเสียงเท่านั้นก็เกิดความรักขึ้นเสียแล้ว ความรักนี้เองที่โบราณเรียกว่า บุพเพสันนิวาส ดังนี้

พญาช้างไม่สามารถจะรับเอาคำข้าว ไม่สามารถ

จะรับเอาก้อนข้าว ไม่สามารถจะรับเอาหญ้าทั้งหลาย

ไม่สามารถจะขัดสีกาย ข้าพระบาทมาสำคัญว่า พญาช้าง

ตัวประเสริฐ ได้ทำ ความรักใคร่ในสุนัข เพราะได้เห็นกันเนือง ๆ.”

อภิณหชาดกจบ.