๗๓. สัจจังกิรชาดก (ไม้ลอยน้ำดีกว่าคนอกตัญญู)

            พระบรมศาสดาได้ทรงปรารภการที่พระเทวทัตได้พากเพียรทำลายพระชนมชีพของพระองค์ให้เป็นต้นเหตุ จึงทรงยกอุทาหรณ์ในอดีตกาลมาแสดงว่า ในกรุงพาราณสี มีพระราชกุมารพระองค์หนึ่งทรงพระนามว่าทุฏฐกุมาร มีกิริยาอาการร้ายกาจเปรียบด้วยทีฆชาติงูพิษซึ่งถูกประหาร เมื่อไม่ได้ด่าว่าหรือเฆี่ยนตีผู้ใดแล้วเป็นอันไม่ตรัสเจรจากับผู้ใด พระราชกุมารนั้นไม่เป็นที่พอใจรักใคร่แก่คนทั้งหลาย เปรียบเหมือนกับปีศาจที่มาคอยกินเนื้อมนุษย์ฉะนั้น อยู่มาวันหนึ่ง พระราชกุมารพร้อมด้วยบริวารได้เสด็จไปสู่ฝั่งแม่น้ำเพื่อจะลงเล่นในนทีธาร ในขณะนั้นเมฆอันใหญ่ก็ตั้งขึ้นมามืดหมดทั่วทุกทิศ พระราชกุมารจึงมีประกาศิตสั่งพวกมหาดเล็ก ให้พาพระองค์ว่ายไปในกลางแม่น้ำ พวกมหาดเล็กได้ลอบปรึกษากันว่า พวกเราจะปล่อยคนชั่วร้ายนี้ให้ตายเสียในกลางแม่น้ำ ครั้นแล้วก็พร้อมกันพาพระราชกุมารไปปล่อยในกลางแม่น้ำแล้วพากันกลับ เมื่อพระมหากษัตริย์ผู้เป็นพระราชบิดาทรงไต่ถามว่า พระราชกุมารหายไปไหน ก็กราบทูลว่า หายไปในเวลามืดฟ้ามัวฝน ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ได้พร้อมกันค้นหาจนสุดความสามารถแล้ว จึงกลับมากราบทูลให้ทรงทราบในบัดนี้ เมื่อพระมหากษัตริย์ได้ทรงทราบดังนั้น ก็โปรดให้บุรุษออกเที่ยวตามหาทุกแห่งหนแต่ก็ไม่มีใครพบเห็น

            ฝ่ายพระราชกุมารได้ถูกกระแสน้ำพัดไป ได้เกาะขอนไม้อันหนึ่งลอยไปตามกระแสน้ำ ครั้งนั้นก็มีงูกับหนู ๒ ตัวว่ายมาเกาะขอนไม้ได้ลอยไปด้วยกัน เมื่อลอยไปอีกก็มีลูกนกแขกเต้าตัวหนึ่ง ซึ่งตกลงมาจากรัง ได้เกาะอาศัยที่ขอนไม้นั้นอีก ในเวลานั้นมีฤๅษีตนหนึ่งสร้างอาศรมบทศาลาอยู่ที่ริมแม่น้ำนั้น ได้ช่วยพระกุมารและสัตว์ทั้ง ๓ นั้นให้ขึ้นจากน้ำ พาไปสู่อาศรมบทของตนแล้วก่อไฟให้ผิง แต่ได้ให้สัตว์ทั้งสามนั้นผิงก่อน ด้วยเห็นว่าเป็นสัตว์มีกำลังอ่อนแอ แล้วจึงผ่อนให้พระราชกุมารผิงต่อภายหลัง เวลาให้อาหารก็ให้แก่สัตว์ทั้ง ๓ นั้นก่อน แล้วจึงให้พระราชกุมารต่อไป ฝ่ายพระราชกุมารผู้ที่มีสันดานร้ายกาจก็ผูกอาฆาตในฤๅษีว่า นับถือสัตว์ดิรัจฉานมากกว่าตน พออยู่ได้ ๒- ๓ วัน ต่างก็พากันลาฤๅษีกลับไปสู่ที่อยู่ของตน ๆ งูได้สั่งฤๅษีไว้ว่า ถ้าพระผู้เป็นเจ้าต้องการทรัพย์จงไปที่โน้น ข้าพเจ้าจะยกทรัพย์ ๔๐ โกฏิบูชาคุณพระผู้เป็นเจ้า กล่าวคือ เมื่อก่อนงูตัวนี้ได้เกิดเป็นเศรษฐี ได้ฝังทรัพย์ไว้ในที่แห่งหนึ่ง เวลาจะตายได้มีความเสียดายห่วงใยในทรัพย์ จึงมาเกิดเป็นงูเฝ้าทรัพย์อยู่ ณ ที่นั้น

            ฝ่ายหนูก็ได้บอกฤๅษีเหมือนกันว่า ถ้าพระผู้เป็นเจ้าต้องการทรัพย์จงไปหาข้าพเจ้า ๆ จะถวายแก่พระผู้เป็นเจ้าสมดังความต้องการ ด้วยเหตุว่าหนูตัวนั้นเมื่อก่อนก็ได้เป็นเศรษฐีเหมือนกับงูตัวนั้น

            นกแขกเต้าได้กล่าวว่า ถ้าพระผู้เป็นเจ้าต้องการข้าวสาลี ให้ไปหาข้าพเจ้าในสถานที่โน้น ข้าพเจ้าจะไปคาบเอาข้าวสาลีซึ่งมีสีแดงงามมาถวาย

                ส่วนพระราชกุมารไม่กล่าวแต่อย่างใดอย่างหนึ่ง คิดอยู่แต่ว่า เมื่อฤๅษีตนนี้ไปสู่บ้านเมืองของเรา เราจะฆ่าเสีย เมื่อคิดดังนี้แล้วจึงกล่าวว่า ถ้าพระผู้เป็นเจ้าต้องการปัจจัย ๔ ขอจงไปสู่กรุงพาราณสี ในเวลาที่ข้าพเจ้าได้รับราชสมบัติแทนพระราชบิดา เมื่อสัตว์และบุคคลทั้ง ๔ ต่างก็กล่าวคำอำลาด้วยประการฉะนั้น แล้วก็กลับไปสู่ที่อยู่ของตน ๆ

                ครั้นอยู่มาฤๅษีคิดจะทดลองซึ่งสัตว์ทั้ง ๓ และพระกุมารนั้นว่า ผู้ใดจักรู้คุณของตน จึงไปหางูก่อน พอร้องเรียกเพียงคำเดียวงูนั้นก็ออกมาจากรู ไหว้พระฤๅษีแล้ว กล่าวว่า ทรัพย์ ๔๐ โกฏิมีอยู่ในสถานที่นี้ เมื่อพระผู้เป็นเจ้าต้องการก็จงนำเอาไปทั้งหมด ฤๅษีจึงตอบว่า เอาไว้ก่อนเถิดเรายังไม่ต้องการ ว่าแล้วก็ไปหาหนูและนกแขกเต้าตามลำดับ หนูและนกแขกเต้าก็กล่าวยืนคำอยู่ตามเดิมดังที่บอกฤๅษีนั้น แล้วฤๅษีก็ลางู หนูและนกแขกเต้าไปสู่กรุงพาราณสี ไปพักอยู่ในพระราชอุทยานพอรุ่งเช้าขึ้นก็เข้าไปบิณฑบาตในราชธานี ขณะนั้น พระราชกุมารก็ได้เสวยราชสมบัติแล้ว ได้ทรงช้างพระที่นั่งสะพรั่งพร้อมด้วยราชบริวารเสด็จเลียบพระนคร พอได้ทอดพระเนตรเห็นฤๅษีมาแต่ไกลก็ทรงจำได้ จึงทรงพระดำริว่า ฤๅษีโกงคนนี้ปรารถนาจะมาอยู่ในสำนักเรา เราจะตัดศีรษะเสียก่อนอย่าได้ทันให้ประกาศคุณที่ทำแก่เราให้ผู้ใดทราบ ครั้นทรงพระดำริอย่างนี้แล้ว จึงทอดพระเนตรดูราชบุรุษ ราชบุรุษจึงกราบทูลถามว่า ต้องพระประสงค์สิ่งใด จึงมีพระราชโองการตรัสสั่งว่า เจ้าทั้งหลายจงไปจับฤๅษีนั้นมัดมือไพล่หลังโบยในที่ ๔ แห่ง คือ ข้างหน้า ข้างหลัง ข้างซ้าย ข้างขวา แล้วนำไปตัดศีรษะเสียที่ตะแลงแกงนอกพระนครเสียบศีรษะประจานไว้ พวกราชบุรุษรับพระราชโองการแล้วก็พร้อมกันไปจับฤๅษีผูกมัดโบยตีแล้วนำไปสู่ตะแลงแกง เมื่อฤๅษีได้ถูกพระราชอาญาเช่นนั้น ก็ได้กล่าวขึ้นว่า

สจฺจํ   กิเรวมาหํสุ         นรา   เอกจฺจิยา  อิธ

กฎฺฐํ  นิปฺผวิตํ  เสยฺโย    น  เตฺวเวกจฺจิโย   นโรติ

                แปลว่า บางคนในโลกนี้กล่าวไว้ว่า ยกเอาท่อนไม้ขึ้นจากน้ำยังดีกว่ายกคนบางคนขึ้นจากน้ำ ดังนี้ ฤๅษีนั้นได้กล่าวยืนคำอยู่อย่างนี้เสมอไป ในเวลาที่ถูกโบยตีและเวลาที่เขาจะนำไปฆ่า พวกราชบุรุษผู้มีปัญญาจึงเกิดความสงสัยว่า จะมีเหตุผลกลใดฤๅษีจึงกล่าวอย่างนี้ แล้วได้พร้อมกันถามฤๅษี ๆ ก็เล่าเรื่องให้ฟังตั้งแต่ครั้งได้ช่วยพระราชานั้นขึ้นจากน้ำ เมื่อพวกราชบุรุษและชาวพระนครทั้งหลายได้ฟังดังนี้ก็พากันโกรธว่า พระราชาของพวกเรานี้เป็นคนอกตัญญูได้ประทุษร้ายผู้มีคุณแก่ตน ถ้าขืนเอาพระราชานี้ไว้บ้านเมืองก็จักไม่เจริญ แล้วพากันลุกฮือขึ้นไปล้อมจับพระราชานั้นฆ่าเสีย ทิ้งซากศพไว้ที่หลังคูพระนคร แล้วอภิเษกฤๅษีนั้นให้ขึ้นเสวยราชสมบัติต่อไป เมื่อฤๅษีได้เสวยราสมบัติแล้วก็พร้อมด้วยราชบริพารยกพยุหโยธาหาญไปเอาทรัพย์ของงู ๔๐ โกฏิ และทรัพย์ของหนูอีก ๓๐ โกฏิ มาไว้ในท้องพระคลัง แล้วเสด็จไปสู่ที่อยู่ของนกแขกเต้า ตรัสเล่าพระประสงค์ให้ทราบว่าพระองค์ทรงต้องการข้าวสาลี นกแขกเต้าก็ไปคาบเอาข้าวสาลีมาถวาย พระองค์โปรดให้นำสัตว์ทั้ง ๓ นั้นไปเลี้ยงไว้ในพระราชวัง โปรดให้ทำทะนานทองให้งูอยู่ ให้กระทำโพรงแก้วผลึกให้หนูอยู่ ให้ทำกรงทองให้นกแขกเต้าอยู่ พระราชทานข้าวตอกและน้ำผึ้งรวงด้วยจานทอง ให้แก่งูและนกแขกเต้า พระราชทานข้าวสารอันมีกลิ่นหอมให้แก่หนู พระองค์ทรงเลี้ยงดูสัตว์ทั้ง ๓ เสมอมา และทรงบำเพ็ญบุญกุศลสัมมาปฏิบัติจนตลอดพระชนมชีพของพระองค์ แล้วเสด็จสู่สวรรคาลัย เมื่อทรงแสดงเรื่องอดีตดังนี้แล้ว จึงทรงประชุมชาดกว่า พระเจ้ากรุงพาราณสีในครั้งนั้นได้มาเกิดเป็นพระเทวทัตในบัดนี้ งูได้มาเกิดเป็นพระโมคคัลลาน์ นกแขกเต้าได้มาเกิดเป็นพระอานนท์ ส่วนฤๅษีนั้นได้มาเกิดเป็นเราตถาคต ดังนี้ ในชาดกนี้แสดงให้เห็นว่า ธรรมดาคนอกตัญญูย่อมคอยดูแต่โทษของท่านผู้มีคุณแก่ตนเท่านั้น เมื่อเห็นโทษของผู้มีคุณแม้เพียงเล็กน้อย ก็ถือเอาเป็นเครื่องขุ่นแค้นคิดอาฆาต เหมือนดังพระราชกุมารนั้น แล้วก็ได้รับโทษต่อภายหลัง ส่วนผู้ทำคุณแก่คนอื่น ย่อมได้รับผลตอบแทนโดยทางอ้อมก็มี โดยทางตรงก็มี เหมือนอย่างฤๅษีนั้นเป็นตัวอย่างที่อ้างให้เห็น โดยเหตุนี้ขอท่านทั้งหลายผู้ได้สดับ จงจดจำไว้สำหรับสั่งสอนตนและคนอื่นต่อไป อย่าได้เป็นคนอกตัญญูประทุษร้ายผู้มีคุณเป็นอันขาด จงมีเมตตากรุณาแก่ผู้อื่นเสมอเป็นนิตยกาล เมื่อเห็นผู้ใดประสบภัยอันตรายหรือตกทุกข์ได้ยาก จงพยายามช่วยเหลือตามกำลังของตนอย่าเป็นคนใจคับแคบเห็นแก่ตัวฝ่ายเดียว จงเหลียวแลถึงผู้อื่นด้วย จะช่วยให้ตนมีความเจริญด้วยยศทรัพย์ศฤงคารบริวารเหมือนฤๅษีที่แสดงมาแล้วนั้น ดังนี้

“ได้ยินว่า นรชนบางพวกในโลกนี้ ได้กล่าวความจริงไว้อย่างนี้ว่าการ

เก็บไม้ที่ลอยน้ำขึ้นมายังดีกว่า ช่วยคนอกตัญญูบางคนขึ้นจากน้ำ”

สัจจังกิรชาดกจบ.