๑๗. มาลุตชาดก (ว่าด้วยความหนาวเกิดแต่ลม)

          สมเด็จพระบรมศาสดา ทรงปรารภภิกษุแก่ ๒ รูปให้เป็นเหตุ มีเรื่องราวมาว่ามีภิกษุแก่ ๒ รูปอยู่ในป่าแห่งหนึ่ง  รูปหนึ่งชื่อชุณหะ  รูปหนึ่งชื่อกาฬะ  ครั้นอยู่มาวันหนึ่ง ภิกษุ ๒ รูปนั้นได้เกิดไต่ถามกันขึ้นว่า ความหนาวมีมาในครั้งไหน  รูปชื่อ    ชุณหะตอบว่า มีมาในข้างขึ้น รูปซึ่งชื่อกาฬะตอบว่า มีมาในเวลาข้างแรม แล้วโต้เถียงกันไป เมื่อตกลงกันไม่ได้จึงพากันไปถามพระบรมศาสดา พระองค์จึงตรัสว่า  พวกเธอทั้ง ๒ จะได้มีการแก่งแย่งกันในเรื่องความหนาวแต่ในแต่ในบัดนี้ก็หาไม่  ถึงในปางก่อนก็เหมือนกัน แล้วจึงทรงแสดงเรื่องอดีตว่า  ในอดีตกาลล่วงแล้วมา มีสัตว์สองสหาย คือ ราชสีห์และเสือโคร่ง อยู่ในถ้ำเดียวกัน ครั้นอยู่ต่อมาวันหนึ่ง ราชสีห์และเสือโคร่งนั้น ได้เกิดเถียงกันในเรื่องความหนาว  ราชสีห์กล่าวว่า ความหนาวย่อมมีมาในเดือนข้างขึ้น  เสือโคร่งกล่าวว่า  ความหนาวย่อมมีมาในเวลาเดือนข้างแรม เมื่อไม่ตกลงกันได้ จึงพากันไปถามฤๅษีรูปหนึ่ง ฤๅษีรูปนั้นจึงตอบว่า

กาเฬ  วา  ยทิ  วา  ชุเณฺห         ยทา  วายติ  มาลุโต

วาตชานิ  หิ  สีตานิ                 อุโภตฺถมปราชิตาติ

          แปลว่า  ความหนาวจะกำหนดลงแน่ว่า  มีมาในข้างขึ้นหรือข้างแรมนั้นไม่ได้  เมื่อใดลมพัดมาแต่ทิศต่าง ๆ ความหนาวก็ย่อมมีมาเมื่อนั้น  เพราะว่าความหนาวมีลมเป็นต้นเหตุ  เธอทั้งสองเป็นผู้พูดผิดด้วยกันทั้งนั้น  ดังนี้

          แล้วสมเด็จพระทศพลได้ทรงประชุมชาดกว่า  ราชสีห์ในครั้งนั้น ได้มาเกิดเป็นพระชุณหะในบัดนี้  เสือโคร่งได้มาเกิดเป็นพระกาฬะ ส่วนฤๅษี  คือเราตถาคตนี้เอง  ในชาดกนี้เป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่า ต้นเหตุแห่งความหนาว คือลม  เมื่อลมพัดมาเวลาใด ความหนาวหรือความเย็นก็มีมาในเวลานั้น  อันนี้ว่าด้วยความหนาวหรือความเย็นในฤดูร้อน  ฤดูฝน  ไม่ใช่หมายความหนาวในฤดูหนาว  ส่วนในฤดูหนาวนั้นจะมีลมพัดมาหรือไม่ก็ตาม ก็ย่อมมีความหนาวเป็นธรรมดา  ดังนี้

“ ข้างขึ้นหรือข้างแรมก็ตาม สมัยใดลมย่อมพัด

มา สมัยนั้นย่อมมีความหนาว เพราะความหนาว

เกิดแต่ลม ในปัญหาข้อนี้ ท่านทั้งสองชื่อว่าไม่แพ้กัน.”

มาลุตชาดก จบ.