๔๓. เวฬุกชาดก (ว่าด้วยคนที่นอนตาย)

         พระบรมศาสดา ทรงปรารภภิกษุผู้ว่ายากรูปหนึ่งให้เป็นต้นเหตุ จึงทรงแสดงเรื่องอดีตว่า ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตผ่านสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี มีกุลบุตรผู้หนึ่งอยู่ในแขวงเมืองพาราณสี เป็นผู้มีความรู้ในทางโลกและทางธรรมจำเนียรกาลต่อมา ได้ออกบรรพชาเป็นฤๅษีเจริญกสิณจนได้สำเร็จอภิญญา ๕ สมาบัติ ๘ คือ แสดงฤทธิ์ได้ต่าง ๆ และมีหูทิพย์ ตาทิพย์ รู้จักใจผู้อื่น ระลึกชาติหนหลังได้ กับได้รูปฌาน ๔ และอรูปฌาน ๔ ต่อมาได้มีฤๅษีที่เป็นศิษย์ขึ้นอีก ๕๐๐ ตน ในจำนวนฤๅษีทั้ง ๕๐๐ ตนนั้น มีฤๅษีตนหนึ่งไปได้ลูกงูพิษตัวหนึ่งมาเลี้ยงไว้ในกระบอกไม้ไผ่ให้อาหารลูกงูพิษนั้นกินเสมอ รักลูกงูนั้นเหมือนกับบุตรของตนเมื่อฤๅษีผู้เป็นอาจารย์ได้ทราบ จึงเรียกมาว่ากล่าวห้ามปรามไม่ให้เลี้ยงลูกงูพิษนั้นต่อไป แต่ฤๅษีตนนั้นหาเชื่อฟังไม่ ครั้นต่อมาคราวหนึ่ง ฤๅษีทั้ง ๕๐๐ ตนนั้นได้พากันไปเที่ยวป่าหิมพานต์ ได้ทิ้งลูกงูตัวนั้นไว้ในปล้องไม้ไผ่ เมื่อเวลากลับมาจากป่าหิมพานต์ฤๅษีตนนั้นจึงนำอาหารไปให้ลูกงูพิษกิน พอหยิบอาหารเข้าไปในกระบอกไม้ไผ่ ลูกงูพิษนั้นก็กัดเอามือแห่งฤๅษีตนนั้นให้ถึงซึ่งความตายในที่นั้น ด้วยอำนาจที่ลูกงูพิษนั้น เกิดความโกรธ โดยไม่ได้กินอาหารมาถึง ๓ วัน ครั้นลูกงูพิษได้กัดฤๅษีนั้นตายแล้ว ก็เลื้อยเข้าป่าไป เมื่อฤๅษีทั้งหลายไปพบเห็นจึงไปแจ้งให้อาจารย์ทราบ อาจารย์พร้อมกับเหล่าศิษย์บริวารก็ได้จัดการทำศพฤๅษีนั้น เมื่อเสร็จการทำศพแล้วฤๅษี ผู้เป็นอาจารย์จึงให้โอวาทแก่เหล่าศิษย์และบริวาร ด้วยประพันธ์คาถาว่า

โย   อตฺถกามสฺส   หิตานุกมฺปิโน       โอวชฺชมาโน   น   กโรติ   สาสนํ

เอวํ   โส   นิหโต   เสติ           เวฬุกสฺส   ยถา  ปิตาติ

          แปลว่า ผู้ใดไม่ทำตามโอวาทคำสั่งสอนแห่งผู้มีเมตตากรุณาแก่ตน บุคคลผู้นั้นย่อมถึงความพินาศ เหมือนกับฤๅษีผู้ตั้งตนเป็นบิดาแห่งลูกงูพิษ อันอยู่ในกระบอกไม้ไผ่ฉะนั้น ดังนี้

          ครั้นสมเด็จพระบรมศาสดาทรงแสดงเรื่องนี้จบลง จึงทรงประชุมชาดกว่าฤๅษีตนนั้น ได้มาเกิดเป็นภิกษุผู้ว่ายากรูปนี้ ฤๅษีที่เป็นบริวารทั้งหลายนั้นได้มาเกิดเป็นพุทธบริษัทในปัจจุบันนี้ ส่วนฤๅษีที่เป็นอาจารย์ ได้เกิดมาเป็นเราตถาคตในบัดนี้ ดังนี้

“ ผู้ใดบุคคลกล่าวสอนอยู่   ไม่ทำตามคำสอนของผู้

ปรารถนาประโยชน์ ผู้อนุเคราะด้วยประโยชน์

เกื้อกูล ผู้นั้นย่อมนอนตายอยู่ เหมือนดาบส

ผู้เป็นบิดาของลูกงูชื่อเวฬุกะ ฉะนั้น.”

เวฬุกชาดกจบฺ