๙๐. อกตัญญูชาดก (ว่าด้วยคนอกตัญญู)

         พระบรมศาสดาทรงปรารภอนาถบิณฑิกเศรษฐีให้เป็นต้นเหตุ จึงทรงแสดงเรื่องอดีตว่า ในกรุงพาราณสีมีเศรษฐี ๒ คนเป็นสหายที่ไม่เคยเห็นกัน คนหนึ่งอยู่ในกรุงพาราณสี อีกคนหนึ่งอยู่ที่หัวเมือง เศรษฐีที่อยู่หัวเมืองได้บรรทุกสิ่งของเต็มเกวียน ๕๐๐ ให้บ่าวไพร่นำไปขอแลกเปลี่ยนสินค้ากับเศรษฐีผู้เป็นสหาย บ่าวไพร่ทั้งหลายก็กระทำตามถ้อยคำ พากันนำเกวียน ๕๐๐ ไปกระทั่งถึงบ้านเศรษฐี ๆ ได้จัดแจงต้อนรับอย่างดี เมื่อแลกสินค้าหมดแล้วจึงกลับไป บ่าวไพร่เหล่านั้นเมื่อไปถึงเศรษฐีผู้เป็นนายของตนก็ได้แจ้งให้ทราบตามยุบล (เรื่องราว) ทีมีมา

         ครั้งต่อมาเศรษฐีผู้เป็นสหาย ก็ให้บ่าวไพร่บริวารจัดสินค้าบรรทุกเต็มเกวียน ๕๐๐ ออกไปแลกเปลี่ยนสินค้ากับเศรษฐีผู้เป็นสหายในหัวเมืองนั้น บ่าวไพร่บริวารก็กระทำตาม เมื่อออกไปไปถึงเศรษฐีคนนั้นก็ถามว่า พวกท่านมาแต่ไหน เมื่อได้ยินคำตอบว่า มาแต่บ้านเศรษฐีผู้เป็นสหายของท่าน ซึ่งอยู่ในกรุงพาราณสีดังนี้แล้ว ก็หัวเราะเยาะเย้ยกล่าวว่า ชื่อเศรษฐีนั้นคงจะเป็นชื่อของผู้ใดผู้หนึ่งก็ได้ แต่เราไม่รู้จักเขา ครั้นกล่าวดังนี้แล้ว ก็รับเอาเครื่องบรรณาการแล้วได้ให้ออกไปเสียจากบ้านโดยไม่จัดการต้อนรับแม้แต่ประการใด คนเหล่านั้นก็เที่ยวหาแลกเปลี่ยนสินค้าเอาเอง แล้วกลับไปสู่กรุงพาราณสีเล่าเรื่องให้นายฟัง

         ครั้นนานมา เศรษฐีผู้อยู่หัวเมืองนั้นก็จัดให้บ่าวไพร่ของตนนำเกวียน ๕๐๐ ไปหาเศรษฐีอีก พวกบ่าวไพร่ของเศรษฐีในกรุงพาราณสีก็เอาเครื่องบรรณาการแล้วบอกให้ไปพักที่นอกพระนคร พอถึงเวลาเที่ยงคืนก็ยกพวกเข้าปล้น เก็บเอาข้าวของในเกวียนจนหมดสิ้น แล้วกลับมาบอกแก่นายของตน ดังนี้ แล้วพระองค์ก็ทรงแสดงพระธรรมเทศนาต่อไปว่า

โย   ปุพฺเพ   กตกลฺยาโน     กตตฺโถ   นาวพชฺฌติ

ปจฺฉา   กิจฺเจ   สมุปฺปนฺเน   กตฺตารํ   นาธิคจฺฉตีติ

         แปลว่า ผู้ใดอาศัยผู้อื่นทำคุณงามความดีให้แก่ตนแล้ว ย่อมไม่รู้สึกคุณความดีของเขา ผู้นั้นเมื่อตนมีกิจเกิดขึ้นภายหลังย่อมหาผู้ช่วยเหลือไม่ได้ ดังนี้

         อธิบายว่า คนทั้งหลาย มีกษัตริย์เป็นต้น ไม่ว่าผู้ใดผู้หนึ่ง เมื่อผู้อื่นมีบุญคุณเกื้อหนุนแก่ตนไว้แล้วย่อมไม่รู้สึกคุณของเขา คนเช่นนี้เมื่อตนมีกิจธุระเกิดขึ้นภายหลังย่อมจะค้นหาผู้ช่วยทำการไม่ได้ ดังนี้ ครั้นแสดงอดีตอย่างนี้แล้ว จึงทรงประชุมชาดกว่า เศรษฐีบ้านนอกในครั้งนั้น ได้เกิดมาเป็นเศรษฐีบ้านนอกคนนี้เอง ส่วนเศรษฐีในเมือง ได้เกิดมาเป็นเราตถาคตนี้แล ในชาดกนี้ชี้ให้เห็นชัดอยู่แล้วว่า ธรรมดาคนอกตัญญูไม่ว่าในอดีต อนาคต ปัจจุบันย่อมเป็นคนไม่ดีทั้งนั้น จะติดต่อกับบุคคลผู้ใดก็ย่อมไม่ตลอด เมื่อคนทั้งหลายทราบว่าตนเป็นคนอกตัญญูแล้ว ย่อมไม่มีผู้ใดที่จะพอใจช่วยเหลือเกื้อกูล อันบุคคลผู้มีนิสัยอกตัญญูจะทำสิ่งใดย่อมไม่เจริญงอกงาม เปรียบเหมือนกับหว่านข้าวกล้าลงในศิลาฉะนั้น โดยเหตุนี้ทุกคนควรละเว้นเป็นคนอกตัญญูเสีย หัดนิสัยใจคอให้เป็นคนมีกตัญญูรู้จักบุญคุณของผู้อื่น ที่ทำไว้แก่ตนแม้แต่เพียงเล็กน้อย แล้วให้คอยหาโอกาสตอบแทนด้วย กาย วาจา ใจ หรือสิ่งของอย่างใดอย่างหนึ่งให้จงได้ เมื่อทำได้อย่างนี้ ตนจะมีแต่ความสุขความเจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไปแม้ถึงคราวที่ต้องภัยได้ทุกข์ด้วยบาปกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งก็จะมีผู้ยินดีช่วยเหลือ ให้รอดพ้นจากทุกขภัย โดยเหตุนี้ จึงมีสุภาษิตไว้ว่า

กตัญญูควรคิด     กตเวทีคิดทุกค่ำเช้า

คนจะสรรเสริญกิต-  ติศัพท์ซื่อ   สัตย์แฮ

ผลจะส่งเสริมเข้า    เขตข้างทางเกษม

         ดังนี้ สุภาษิตนี้สอนให้บุคคลมีกตัญญูกตเวที เพื่อจะได้มีความสุขความเจริญ ในชั่วนี้และชั่วหน้า ผู้จะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นบรมครูของโลกก็ดี ผู้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าก็ดี ผู้เป็นพระสาวก สาวิกาทั้งหลาย ก็ดี ก็ล้วนแต่เป็นผู้มั่นอยู่ในกตัญญูกตเวทีทั้งนั้น เป็นอันว่า กตัญญูกตเวทีเป็นของสำคัญยิ่ง ดังนี้

“ผู้ใดอันผู้อื่นทำความดี ทำประโยชน์ให้ในกาลก่อน แต่ไม่

รู้สึกคุณ เมื่อมีกิจเกิดขึ้นในภายหลัง ย่อมไม่ได้ช่วยเหลือ.”

อกตัญญูชาดกจบ.