๗๑. วรุณชาดก (ว่าด้วยการทำไม่ถูกขั้นตอน)

๘. วรุณวรรค

            พระบรมศาสดา ทรงปรารภพระติสสภิกษุผู้เป็นบุตรแห่งกุฎุมพี ให้เป็นต้นเหตุ มีเรื่องกล่าวมาว่า ในครั้งหนึ่ง บุตรแห่งชาวกรุงสาวัตถี ๓๐ คนเป็นสหายกันเมื่อกุลบุตรเหล่านั้นได้ฟังธรรมก็มีความเลื่อมใส จึงพากันออกบวชอยู่ในสำนักอุปัชฌาย์ เมื่อเล่าเรียนพระธรรมวินัยพอสมควรจึงลาอุปัชฌาย์อาจารย์ไปเฝ้าพระบรมศาสดา แล้วกราบทูลว่า ข้าพเจ้าทั้งหลายกลัวภัยในวัฏฏสงสาร ขอพระองค์โปรดบอกพระกัมมัฏฐานแก่ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายด้วยเถิด ครั้นแล้วสมเด็จพระบรมศาสดา ก็ทรงสอนพระกัมมัฏฐานให้แก่ภิกษุเหล่านั้นตามนิสัยของตน ๆ แล้วภิกษุเหล่านั้นก็พากันถวายบังคมลากลับมาหาพระอุปัชฌาย์อาจารย์ แล้วลาออกไปเจริญพระกัมมัฏฐาน ในพวกภิกษุเหล่านั้นมีภิกษุรูปหนึ่งซึ่งเป็นบุตรแห่งกุฎุมพีผู้หนึ่ง มีนามว่าพระติสสภิกษุเป็นผู้เกียจคร้าน มัวเมาอยู่แต่ในรสอาหาร เมื่อติดตามพระภิกษุเหล่านั้นไปถึงป่าแห่งหนึ่งก็กลับคืนมาเสีย ส่วนภิกษุเหล่านั้นได้พากันเจริญพระกัมมัฏฐานด้วยความไม่ประมาท ก็ได้สำเร็จพระอรหันต์หมดด้วยกัน ครั้นออกพรรษาก็ได้พากันมาเฝ้าสมเด็จพระบรมศาสดา ๆ ได้ตรัสถามถึงการเจริญสมณธรรม เมื่อทราบความจึงสรรเสริญด้วยประการต่าง ๆ ฝ่ายพระติสสภิกษุเมื่อได้ฟังพระพุทธองค์สรรเสริญภิกษุเหล่านั้น ตนก็อยากเจริญสมณธรรมบ้าง แล้วตั้งใจพากเพียรจนเกินไป ได้ยืนพิงกระดานหลับไป พอพลิกตัวก็ล้มลงกระดูกขาหัก แล้วร้องขึ้นด้วยเสียงอันดังพระภิกษุอื่นได้ช่วยกันพยาบาลเป็นโกลาหล เมื่อทราบถึงพระทศพล พระองค์จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระติสสภิกษุนั้นพากเพียรจนเกินไปในเวลาไม่สมควร จึงเป็นอันตรายแก่ร่างกาย แต่จะเป็นเฉพาะแต่ในปัจจุบันชาตินี้ก็หาไม่ ถึงในอดีตก็เหมือนกัน ครั้นตรัสดังนี้แล้วก็ทรงแสดงเรื่องอดีตต่อไปว่า

            ในอดีตมีทิศาปาโมกข์อาจารย์อยู่คนหนึ่ง เป็นอาจารย์สั่งสอนศิลปะศาสตร์แก่ศิษย์บริวาร ๕๐๐ คน ซึ่งล้วนแต่เป็นหนุ่มน้อยอยู่ในเมืองตักกสิลา อยู่มาวันหนึ่งพวกมาณพที่เป็นศิษย์ได้พากันออกไปเพื่อหาฟืน มาณพคนหนึ่งซึ่งเป็นคนเกียจคร้าน ได้หนีออกไปผูกเปลนอนอยู่ที่ต้นกุ่มต้นหนึ่งด้วยคิดว่านอนตื่นขึ้นแล้วจะหาฟืน เวลาตื่นขึ้นก็เห็นพวกเพื่อนได้ฟืนพอแล้วตนก็ลุกขึ้นเพื่อจะหาฟืน ได้คว้าหักกิ่งต้นกุ่มกิ่งหนึ่งโดยกำลังแรง กิ่งต้นกุ่มนั้นก็หักถูกตาข้างหนึ่งของมาณพนั้น พวกเพื่อนก็ช่วยกันพากลับบ้าน เมื่อทราบถึงอาจารย์ ๆ ก็ติเตียนมาณพนั้นด้วยถ้อยคำต่าง ๆ แล้วกล่าวเป็นสุภาษิตว่า ผู้ใดประสงค์จะทำสิ่งที่ควรทำก่อนในภายหลัง ผู้นั้นย่อมเดือดร้อนในภายหลัง เหมือนกับมาณพที่หักกิ่งไม้กุ่มฉะนั้น เมื่อแสดงเรื่องอดีตจบลงดังนี้แล้ว จึงทรงประชุมชาดกว่า มาณพผู้เกียจคร้านซึ่งถูกกิ่งกุ่มกระทบลูกตาบอดในครั้งนั้น ได้มาเกิดเป็นภิกษุขาหักในบัดนี้ มาณพที่เป็นบริวารของทิศาปาโมกข์อาจารย์นั้น ได้มาเกิดเป็นบริวารแห่งเราตถาคตในบัดนี้ ส่วนทิศาปาโมกข์อาจารย์ ได้มาเกิดเป็นเราตถาคตนี้แล ในชาดกนี้ชี้ให้เห็นว่า คนขี้เกียจมักง่ายย่อมได้ทุกข์เสมอไป ขึ้นชื่อว่าความเพียรแล้ว ย่อมเป็นของประเสริฐสูงสุด สมควรที่หมู่มนุษย์จะจดจำไว้เป็นแบบฉบับสำหรับฝึกกาย วาจา เพื่อไม่ให้เป็นคนเกียจคร้าน  ให้มีความหมั่นในกิจการทั้งปวง เพื่อล่วงเสียซึ่งทุกข์ทั้งในปัจจุบันชาตินี้ และอนาคตภายภาคหน้า ดังนี้

“ผู้ใดปรารถนาจะทำกิจที่ควรทำก่อนในภายหลัง

ผู้นั้นย่อมเดือดร้อนในภายหลัง เหมือนมาณพหักไม้กุ่ม ฉะนั้น.”

วรุณชาดกจบ.