๘๑. สุราปานชาดก (โทษของการดื่มสุรา)

. อปายิมหวรรค

          พระบรมศาสดาทรงปรารภพระสาคตเถรเจ้าให้เป็นต้นเหตุ มีเนื้อความว่า สมเด็จพระบรมศาสดาทรงจำพรรษาอยู่ ณ กรุงสาวัตถีพอออกพรรษาแล้วเสด็จไปสู่เจติยชนบทได้เสด็จแวะบ้านภัททวติกคาม บรรดาคนเลี้ยงโคและคนเลี้ยงสัตว์ต่าง ๆ ตลอดถึงชาวนาและคนเดินทางได้พากันกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ ขอพระองค์อย่าได้เสด็จไปสู่ท่าอัมพะเลย เพราะมีพญานาคตนหนึ่ง ซึ่งมีพิษร้ายแรงอาศัยอยู่ใกล้อาศรมแห่งชฎิลที่ท่านั้น ถ้าพระองค์ขืนเสด็จไปพญานาคนั้น ก็จะทำอันตรายแก่พระองค์ แต่พระพุทธองค์ทรงทำเป็นไม่ได้ยิน ถึงคนเหล่านั้นจะทูลห้ามถึง ๓ ครั้งพระองค์ก็ทรงนิ่งเฉยเสีย แล้วเสด็จเข้าไปประทับอยู่ที่ภัททวติกคาม ฝ่ายพระสาคตเถรเจ้าผู้ได้สำเร็จโลกิยฌาน ได้ไปสู่อาศรมแห่งชฎิล ซึ่งนาคนั้นอาศัยอยู่แล้วพระผู้เป็นเจ้าก็เข้าไปสู่โรงบูชาไฟ ลาดหญ้าลงรองนั่ง ตั้งตัวให้ตรงดำรงสติไว้ให้ดี เมื่อนาคนั้นแลเห็นก็เกิดขัดใจจึงพ่นพิษออกไป พระเถรเจ้าก็บันดาลให้เป็นพิษโต้ตอบกำจัดพิษนาคนั้นเสีย นาคนั้นบันดาลให้เป็นไฟลุกรุ่งเรืองขึ้น พระเถรเจ้าก็เข้าเตโชสมาบัติบันดาลให้เป็นไฟโต้ตอบจนนาคนั้นยอมแพ้ แล้วพระผู้เป็นเจ้าจึงสั่งสอนนาคนั้นให้ตั้งอยู่ในพระไตรสรณคมน์และเบญจศีล แล้วกลับมาเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าที่ภัททวติกคาม เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่ภัททดิกคามตามสมควรแก่พระประสงค์แล้วเสด็จกลับไปสู่เมืองโกสัมพี ชาวเมืองโกสัมพีทราบว่าพระสาคตเถรเจ้ามีชัยชนะแก่พญานาค ต่างคนก็ออกไปต้อนรับพระบรมศาสดา แล้วไปนมัสการพระเถรเจ้าไต่ถามว่า สิ่งใดที่เป็นของหายากและเป็นของชอบใจแห่งพระผู้เป็นเจ้า ข้าพจั้งหลายจะจัดถวาย ภิกษุพวกฉัพพัคคีย์จึงบอกว่า สุราอย่างใสซึ่งมีสีแดงดังสีเท้านกพิราบนั้นแลเป็นของหายาก และเป็นที่ชอบใจแห่งคนทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงจัดเตรียมสุรานั้นไว้ถวายจึงจะดี คนเหล่านั้นก็กระทำตามถ้อยคำแห่งภิกษุพวกฉัพพัคคีย์ เวลาพระสาคตเถรเจ้าไปบิณฑบาตก็ขอให้พระผู้เป็นเจ้าดื่มสุรานั้น พระผู้เป็นเจ้าก็ดื่มสุราทุก ๆ เรือนไป เมื่อออกจากเรือนก็ล้มลงที่ประตูเมืองด้วยความมึนเมาสุรา เมื่อพระพุทธองค์ทราบเรื่องจึงทรงตรัสติเตียนหลายประการ แล้วจึงทรงบัญญัติห้ามไม่ให้ภิกษุทั้งหลาย ดื่มสุราเมรัยอีกต่อไป ถ้าภิกษุใดดื่มสุราเมรัยภิกษุนั้นต้องอาบัติปาจิตตีย์ ในเวลาต่อมาภิกษุทั้งหลายได้เจรจากันถึงโทษแห่งการดื่มสุราในโรงธรรมสภา พระบรมศาสดาเสด็จไปโรงธรรมสภาแล้วตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บรรพชิตที่ดื่มสุราแล้วเสียสติเช่นนี้จะได้มีมาแต่ในปัจจุบันนี้ก็หาไม่ ถึงในปางก่อนก็เคยมีเหมือนกัน ครั้นตรัสดังนี้แล้ว จึงทรงแสดงเรื่องอดีตว่า ในอดีตกาล มีกุลบุตรผู้หนึ่งซึ่งเป็นบุตรแห่งพราหมณ์ อันมีตระกูลสูงอยู่ในแว่นแคว้นแดนพาราณสี เมื่อเจริญวัยขึ้นได้ออกบวชเป็นฤๅษีบำเพ็ญพรตจนสำเร็จอภิญญาสมาบัติอยู่ในป่าหิมพานต์มีศิษย์ ๕๐๐ เป็นบริวาร อยู่มาคราวหนึ่ง ศิษย์ทั้ง ๕๐๐ ได้ลาไปจำพรรษาอยู่ในกรุงพาราณสี พระเจ้ากรุงพาราณสีนิมนต์ให้เข้าไปฉันในพระราชวังเสมอ  ครั้นอยู่มาวันหนึ่งมีนักขัตฤกษ์ขึ้นในเมือง พระเจ้ากรุงพาราณสีได้จัดสุราอย่างดีถวายแก่ฤๅษีเหล่านั้น ๆ ได้พากันดื่มสุราจนมึนเมา แล้วกลับไปสู่พระราชอุทยานอย่างเดิม ฤๅษีบางตนก็เต้นรำ บางตนก็ขับร้อง บางตนก็ล้มลุกคลุกคลาน เมื่อสร่างสุราแล้วต่างพากันเสียใจ และห้ามปรามกันไม่ให้ดื่มสุราอีกต่อไป เวลากลับไปถึงอาจารย์ก็ได้สารภาพโทษของตนด้วยคำว่า อปายิมฺห อนจฺจิมฺห เป็นอาทิ แปลว่า ข้าพเจ้าทั้งหลายผู้เคยอยู่แต่ในป่า เมื่อได้ดื่มสุราแล้วก็พากันเต้นรำขับร้องแล้วได้ร้องไห้เสียใจ เมื่อดื่มสุราจนเสียสติแล้วกลับเห็นดีเป็นชั่ว ชั่วเป็นดี ไม่ประพฤติเหมือนอยู่ในสำนักอาจารย์ ดังนี้ เมื่อฤๅษีผู้เป็นอาจารย์ได้ฟังคำสารภาพโทษแห่งศิษย์ทั้งหลาย ดังนี้ ก็ได้กล่าวสั่งสอนว่า การทำอย่างนี้ไม่สมควรแก่พวกเราที่บวชเป็นฤๅษีอยู่ในป่า ฤๅษีเหล่านั้นก็พากันเชื่อฟังคำสั่งสอนของอาจารย์ ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตามระบอบแห่งฤๅษีอยู่จนตลอดชีพแล้วไปเกิดในพรหมโลก ดังนี้  ครั้นทรงแสดงอดีตอย่างนี้แล้ว จึงทรงประชุมว่า ฤๅษีทั้ง ๕๐๐ ในครั้งนั้น ได้มาเกิดเป็นบริวารแห่งเรา ตถาคตในบัดนี้ ส่วนฤๅษีผู้เป็นอาจารย์ คือ เราตถาคตนี้แล ดังนี้

พวกผมได้ดื่มสุราแล้ว พากันฟ้อนรำขับร้องและร้อง

ไห้ พวกผมดื่มสุราอันกระทำให้เสียสติแล้ว ท่าน

อาจารย์ไม่ได้เห็น กลายเป็นเหมือนวานรไป.”

สุราปานชาดกจบ.