๙๖. เตลปัตตชาดก (ว่าด้วยการรักษาจิต)

(๙๖)

เตลปัตตชาดก (ว่าด้วยการรักษาจิต)

     สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์ ได้ทรงแสดงชาดกนี้โดยอุปมาว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตจะยกตัวอย่างมาอุปมาให้ฟัง เหมือนอย่างว่า ถ้าจะมีหมู่ชนเป็นอันมากประชุมกล่าวกันว่า นางชนปทกัลยาณีซึ่งเป็นหญิงอันงามพร้อมทุกอย่าง ทั้งฉลาดในการฟ้อนรำขับร้อง ได้ฟ้อนรำขับร้องในสนามแห่งหนึ่ง ขณะนั้นมีบุรุษผู้รักษาชีวิตคนหนึ่งมาในสถานที่นั้น และมีราชบุรุษคนหนึ่งนำบาตรอันเต็มไปด้วยน้ำมันงา บังคับให้บุรุษนั้นถือไปว่า ถ้าเธอทำน้ำมันให้ตกในที่ใดเราจะฟันเธอให้ล้มลงในที่นั้น ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราถามเธอทั้งหลายว่าบุรุษนั้นจะตั้งใจประคองบาตรน้ำมันงานั้นหรือไม่ ภิกษุทั้งหลายตอบว่า ตั้งใจประคองพระพุทธเจ้าข้า จึงตรัสว่าดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความอุปมาในข้อนี้ฉันใด ส่วนความอุปไมยมีอยู่ว่า บาตรอันเต็มไปด้วยน้ำมันงานั้นได้แก่ กายคตาสติ คือการพิจารณาร่างกายเธอทั้งหลายจงตั้งใจพิจารณาร่างกายให้เหมือนกับบุรุษผู้ประคองบาตรน้ำมัน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การที่บุรุษนั้นประคองบาตรน้ำมันโดยความตั้งใจด้วยกลัวราชบุรุษจะฟันด้วยดาบนั้นไม่เป็นการอัศจรรย์ ส่วนบัณฑิตในปางก่อนไม่หลงระเริงในยักษิณีที่นิรมิตร่างกายประหนึ่งว่านางฟ้านั้นแหละเป็นการอัศจรรย์ ครั้นตรัสดังนี้แล้ว จึงทรงแสดงเรื่องอดีตต่อไปว่า

     ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตผ่านสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระราชโอรสองค์ที่ ๑๐๑ ซึ่งเป็นองค์สุดท้ายของพระเจ้าพรหมทัตนั้น ได้กรองน้ำถวายและชำระเท้าพระปัจเจกพุทธเจ้า และปฏิบัติอย่างอื่นเสมอเป็นนิจ ในเวลาที่พระปัจเจกพุทธเจ้าเข้าไปฉันในพระราชวัง อยู่มาวันหนึ่ง พระราชกุมารนั้นทรงดำริว่าพระเชษฐาของเรามีอยู่มาก เราจะได้รับราชสมบัติในพระนครนี้หรือไม่หนอ เราควรจะถามพระปัจเจกพุทธเจ้าให้รู้แน่ รุ่งขึ้นวันที่ ๒ เวลาพระปัจเจกพุทธเจ้าไปฉันในพระราชวังจึงถามตามที่ได้ดำริไว้ พระปัจเจกพุทธเจ้าถวายพระพรว่า พระองค์จักไม่ได้ราชสมบัติในเมืองนี้เป็นแน่แท้ แต่ว่าตั้งแต่เมืองนี้ไปไกล ๕๐ โยชน์ มีเมืองหนึ่งชื่อว่าตักกสิลาอยู่ในแว่นแคว้นคันธารราช ถ้าพระองค์สามารถไปถึงเมืองนั้นได้ก็จักได้ราชสมบัติในเมืองนั้นในวันที่ ๗ นับตั้งแต่วันนี้ไป แต่ว่าในระหว่างทางกลางดงนั้นมีอันตรายใหญ่อยู่อย่างหนึ่ง ถ้าจักเดินอ้อมดงไป หนทางก็ไกลถึง ๑๒๐ โยชน์ ถ้าจักเดินตัดตรงไปหนทางไกล ๕๐ โยชน์เท่านั้น แต่หนทางตรงนั้นมียักษิณีทั้งหลาย ได้นิรมิตบ้านและศาลา พร้อมด้วยเครื่องใช้สอยอันน่าทัศนา เมื่อเห็นบุรุษเดินไปก็ล่อลวงกินเสีย ถ้าพระองค์จะดำรงสติไว้ให้ดี ไม่หลงใหลในจำพวกนางยักษิณี อุตส่าห์เดินทางไปจนถึงเมืองตักกสิลาก็จะได้ราชสมบัติในวันที่ ๗ สมประสงค์ เมื่อพระราชกุมารได้ทรงสดับดังนั้นก็กล่าวยืนยันว่าจักไม่หลงใหลต่อพวกนางยักษิณีเป็นอันขาด แล้วไปถวายบังคมลาพระชนกนาถราชชนนี ขณะนั้นมีมหาดเล็ก ๕ นายขอตามเสด็จไปด้วย พระราชกุมารก็ชี้แจงเรื่องพวกนางยักษิณีให้ฟังแล้วทรงห้ามเสีย แต่มหาดเล็กทั้ง ๕ นั้นได้อ้อนวอนขอตามเสด็จไปจนได้ เมื่อเดินทางไปถึงด่านนางยักษิณี มหาดเล็กทั้ง ๕ นั้นก็หลงใหลนางยักษิณี นางยักษิณีก็จับกินเป็นอาหารเสียสิ้นเหลืออยู่แต่พระราชกุมารพระองค์เดียว เมื่อพระองค์ไปถึงเมืองตักกสิลา ได้เข้าไปพักอยู่ในศาลาหลังหนึ่งภายนอกพระนคร ในเวลานั้น พระมหากษัตริย์ผู้ครองกรุงตักกสิลา ได้เสด็จออกประพาสพระราชอุทยาน พบนางยักษิณีซึ่งนิรมิตเพศเป็นนางเทพธิดาติดตามพระราชกุมารไปจึงพอพระราชหฤทัย เมื่อทรงทราบว่าไม่ใช่ภรรยาพระราชกุมารก็ทรงรับนางยักษิณีนั้นขึ้นสู่ช้างพระที่นั่ง แล้วเสด็จเข้าสู่พระนครตั้งให้เป็นอัครมเหสี ในเวลากลางคืนนางยักษิณีนั้นแกล้งทำเป็นร้องไห้ พระมหากษัตริย์จึงตรัสถามถึงเหตุที่ร้องไห้ นางยักษิณีทูลว่า กลัวจะมีผู้ดูถูกดูหมิ่นว่าตนเป็นคนไม่มีหลักแหล่ง พระเจ้าแผ่นดินได้พบปะตามถนนหนทาง ถ้าพระองค์ทรงพระกรุณาโปรดให้หม่อมฉันเป็นใหญ่กว่าชาวพระนครทั้งสิ้นจึงจะไม่มีใครหมิ่นประมาทได้ พระเจ้าแผ่นดินจึงตรัสตอบว่า เราจะยกให้เจ้าเป็นใหญ่ดังที่ทูลขอนี้ไม่ได้ เพราะเมื่อชาวเมืองไม่พอใจก็จะเกิดความเดือดร้อนขึ้น นางจึงกราบทูลว่า ถ้าอย่างนั้นขอจงให้หม่อมฉันเป็นใหญ่เพียงในพระราชวังเท่านี้ก็พอ พระเจ้าแผ่นดินก็ทรงอนุญาต เมื่อนางยักษิณีอัครมเหสีได้รับพระราชทานพรอย่างนี้แล้ว เวลาพระเจ้าแผ่นดินบรรทมหลับสนิท นางก็กลับไปยังเมืองยักษ์ เรียกพวกพ้องมากินคนในพระราชวังเสียสิ้น ส่วนตนก็ได้กินพระเจ้าแผ่นดิน แล้วพากันกลับไปสู่เมืองยักษ์ตามเดิม ครั้นเวลารุ่งเช้าชาวพระนครจึงรู้ข่าวเรื่องนั้น แล้วพร้อมกันชำระพระราชวังให้สะอาด ประพรมด้วยน้ำจันทน์แดงอันมีค่า ฉาบทาด้วยสรรพเครื่องหอม โปรยปรายบุปผชาติต่าง ๆ แขวนพวงมาลัยไว้อร่ามตา อบควันธูปกำจัดกลิ่นร้ายให้อันตรธาน จัดแจงพระราชฐานให้งดงามวิจิตรแล้ว จึงปรึกษากันว่า บุรุษที่นางยักษิณีติดตามมาเมื่อวานนี้เขาเป็นคนดีไม่แลดูมันเลยจัดว่าเป็นบุรุษอัศจรรย์ ถ้าเราได้เขามาปกครองบ้านเมือง ๆ เราก็จะมีความสุข เมื่อกล่าวกันอย่างนี้แล้วจึงพร้อมกับอำมาตย์ราชเสนาน้อยใหญ่ ไปทูลเชิญพระราชกุมารให้เข้าไปรับราชสมบัติ เป็นพระมหากษัตริย์ในกรุงตักกสิลา พระองค์ก็ทรงรับอาราธนา เมื่อได้เป็นพระมหากษัตริย์แล้วพระองค์ก็ทรงบำเพ็ญโพธิสมภารบารมี มีการบริจาคทานเป็นต้น จนตลอดพระชนมายุขัย

     ครั้นสมเด็จพระบรมศาสดา ได้ทรงแสดงเรื่องอดีตอย่างนี้แล้ว จึงประทานพระโอวาทไว้โดยคาถาว่า สมติตฺติกํ อนวเสกํ เป็นอาทิ แปลว่า บุรุษควรตั้งใจประคองบาตรอันเต็มไปด้วยน้ำมันงาฉันใด นักปราชญ์ผู้ประสงค์จะไปสู่ทิศที่ไม่เคยไปควรตั้งใจประคองสติให้ดีฉันนั้น คำว่าทิศที่ไม่เคยไปได้แก่พระนฤพาน ผู้ประสงค์จะไปพระนฤพานควรตั้งใจประคองสติ พิจารณาร่างกายให้มั่นคงเป็นอารมณ์ฉะนั้น ดังนี้ ในชาดกนี้เป็นเครื่องสั่งสอนหมู่มนุษย์นิกร ไม่ให้หลงใหลร่างกายอันเปรียบเหมือนนางยักษิณีแปลง โดยอธิบายว่า นางยักษิณีแปลงย่อมล่อลวงให้บุรุษหลงรักใคร่ แล้วจับกินเสียฉันใด ส่วนร่างกายก็ทำให้คนทั้งหลาย หลงรักใคร่ในเบื้องต้น คือ ในเวลายังหนุ่มสาว แล้วทำให้เกลียดกลัวในตอนปลาย คือ ในเวลาแก่เฒ่าชราฉันนั้น เมื่อผู้ใดหลงใหลร่างกายเกินไป ผู้นั้นก็จะได้รับโทษทุกขภัยไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่งเป็นแน่แท้ จะตัดกระแสมรรคผลนิพพานทำให้ตกจากคุณงามความดี เหมือนกับนางยักษิณีหลอกฆ่าบุรุษ ฉะนั้น ดังนี้

บุคคลพึงประคองภาชนะอันเต็มเปี่ยมด้วยน้ำมัน

ฉันใด บัณฑิตผู้ปรารถนาจะไปสู่ทิศที่ยังไม่เคยไป

ก็พึงตามรักษาจิตของตนไว้ด้วยสติ ฉันนั้น.”

เตลปัตตชาดกจบ.