๓๑. กุลาวกชาดก (ว่าด้วยการเสียสละ)

 

      

๔.  กุลาวกวรรค 

          สมเด็จพระบรมศาสดาทรงปรารภภิกษุรูปหนึ่ง ซึ่งดื่มน้ำที่ยังไม่ได้กรอง  เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามได้ความจริงแล้ว จึงติเตียนว่า ดูก่อนภิกษุการที่เธอดื่มน้ำไม่ได้กรองไม่ถูกต้องตามพระวินัย นักปราชญ์ทั้งหลายในปางก่อนได้สู้สละชีวิตให้เป็นทานแก่ลูกครุฑทั้งหลายด้วยตั้งใจว่า ถึงตัวเราจะตายก็ไม่ทำลายซึ่งศีล ครั้นแล้วจึงทรงแสดงเรื่องอดีตว่า ในครั้งพระเจ้ามคธเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงราชคฤห์มีมาณพคนหนึ่งซึ่งมีนามว่ามฆมาณพ เป็นบุตรแห่งตระกูลผู้ใหญ่ในบ้านอจลคามซึ่งเป็นเขตแคว้นแดนราชคฤห์ เมื่อมฆมาณพเติบโตข้นก็ได้แต่งงานกับสุชาดากุมารีธิดาของลุง และต่อมาได้มีภรรยาขึ้นอีก ๓ คน คือ นางสุธรรมา สุนันทา สุจิตรา ครั้นอยู่นานมามฆมาณพกับสหาย ๓๒ คน ได้พร้อมใจกันทำบุญกุศลโดยก่อถนนหนทางขุดบ่อน้ำสร้างศาลา ส่วนนางสุธรรมาได้สร้างช่อฟ้าศาลา นางสุนันทาสร้างสระโบกขรณี นางสุจิตราสร้างสวนอุทยาน นางสุชาดาไม่ได้สร้างสิ่งใด ได้แต่ตกแต่งร่างกายเท่านั้น โดยถือว่าเป็นภรรยาหลวงแห่งมฆมาณพด้วย เป็นบุตรของลุงด้วย เมื่อมฆมาณพทำสิ่งใดตนก็จะพลอยมีส่วนได้ด้วย ครั้นต่อมาเมื่อคนเหล่านั้นทำกาลกิริยาตายไปแล้วก็ได้แยกกันเป็น ๒ พวก มฆมาณพกับสหายอีก ๓๒ คนและช้างที่ใช้บรรทุกขนเครื่องสร้างศาลา กับช่างไม้พร้อมด้วยนางสุธรรมา สุนันทา สุจิตราได้ขึ้นไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ด้วยผลกุศลที่ทำไว้ตกแต่งให้เป็นไป กล่าวคือมฆมาณพผู้เป็นหัวหน้า ได้เกิดเป็น                      สมเด็จอมรินทราธิราช สหายอีก ๓๒ คนก็ได้เกิดเป็นเทวราช ๓๒ องค์ ช่างไม้ได้เกิดเป็นมาตลีเทพบุตร ช้างที่ใช้สำหรับลากขนเครื่องสร้างศาลานั้น ได้ไปเกิดเป็นเอราวัณเทพบุตร นางทั้ง ๓ ได้เกิดเป็นอัครมเหสีของสมเด็จอมรินทราธิราช เสวยทิพยสมบัติอยู่ในเวชยันตปราสารท เวชยันตปราสารทนั้น ได้เกิดขึ้นด้วยผลที่สร้างศาลา มีกำหนดสูงได้ ๓๐๐ โยชน์แล้วด้วยแก้ว ๗ ประการมีเทวสภาหลังหนึ่งกว้างใหญ่ ๕๐๐ โยชน์ มีนามอุโฆษว่า สุธรรมาเทวสภา เป็นที่ประชุมฟังธรรมแห่ง เทพยดาทั้งหลาย เกิดขึ้นด้วยบุญที่นางสุธรรมาได้สร้างช่อฟ้าศาลาไว้ มีทิพยวโนทยานกว้างยาว ๕๐๐ โยชน์ประดับด้วยต้นไม้อันทรงดอกออกผลอยู่เป็นนิตยกาล  เกิดขึ้นด้วยผลบุญที่นางสุจิตรา ได้สร้างสวนอุทยานไว้ในชาติก่อน มีทิพยสระโบกขรณีกว้างได้ ๕๐๐ โยชน์ เดียรดาษด้วยปทุมชาติ ๕ ประการ เกิดขึ้นด้วยผลบุญที่นางสุนันทาได้สร้างสระโบกขรณีไว้ในปางก่อน ส่วนนางสุชาดา ได้เกิดเป็นนกยางอยู่ระหว่างซอกเขาแห่งหนึ่ง ด้วยกรรมที่ตนไม่ได้ทำบุญกุศลสิ่งใดไว้ ในเวลาที่เขาทำบุญตนก็กังวลแต่จะแต่งตัว ต่อมาสมเด็จอมรินทราธิราชเจ้า จึงเสด็จมาให้โอวาทสั่งสอนให้นางนกยางรักษาเบญจศีล ๕ ประการ เมื่อตายจากกำเนิดนกก็ได้ไปเกิดเป็นลูกช่างหูกอยู่ในเมืองพาราณสีแล้วได้รักษาศีล ๕ ต่อไปอีก ในชาติเป็นลูกสาวช่างหูกนั้น สมเด็จอมรินทราธิราชได้นำทองคำมาพระราชทานให้  ๑ เกวียน ทองคำ ๑ เกวียนนั้น พระองค์ทรงบันดาลให้เป็นเหมือนฟักทอง เพื่อป้องกันโจรภัยมิให้มีผู้ใดคิดฉกลักช่วงชิงปล้นสะดมนางก็ได้ตั้งใจรักษาศีล ๕ โดยนิยมมา ครั้นตายจากชาตินั้นแล้ว ก็ได้ไปเกิดเป็นพระราชบุตรีแห่ง ท้าวเวปจิตติอสุรินทร์ในพิภพอสูร เป็นผุ้มีรูปร่างอันโสภาหาสตรีใดเสมอเหมือนมิได้ ด้วยผลที่นางได้รักษาศีลมาตลอดถึง ๒ ชาติ เมื่อพระนางทรงเจริญวัยได้ ๑๖ ปี ท้าวเวปจิตติอสุรินทร์ผู้เป็นพระราชบิดาก็ได้ป่าวประกาศให้พวกอสูรมาสันนิบาตประชุมกันที่ท้องพระลานชัยให้พระนางทรงเลือกคู่ ในขณะนั้น ก็รู้ไปถึงสมเด็จอมรินทราธิราชพระองค์จึงลงมาจากดาวดึงส์สวรรค์ ทรงจำแลงแปลงเพศให้เป็นอสูรแก่ตนหนึ่งไปยืนอยู่ข้างนอกหมู่อสูร เมื่อพระนางได้แลเห็นก็ทรงพระเสน่หา ด้วยบุพเพวาสนาอันเคยเป็นสามีภรรยากันมาในปางก่อน พระนางจึงทรงโยนพวงมาลัยไปสวมกรอสูรแก่นั้น ๆ จึงประกาศแก่พวกอสูรทั้งหลายว่า บัดนี้ พระราชบุตรีได้ตกเป็นกรรมสิทธ์ของเราแล้วโดยถูกต้องตามประเพณี ครั้นประกาศแล้วจึงได้ทรงเข้าไปอุ้มพระราชบุตรีเหาะหนีขึ้นสู่อากาศ กลับกลายพระองค์เป็นสมเด็จอมรินทราธิราชตามเดิม แล้วร้องประกาศแก่อสูรว่า ตัวเราคือ ท้าวสหัสนัยน์เทวราช ผู้เป็นใหญ่อยู่ในอมรมาศเมืองแมนแดนสวรรค์ ครั้นทรงร้องประกาศดังนี้แล้ว ก็ทรงอุ้มพระนางเหาะขึ้นไปทรงเวชยันตราชรถไปสู่ดาวดึงส์สวรรค์ ตั้งให้พระนางเป็นเอกอัครมเหสีมีพระนามว่านางสุชาดา ตามที่เคยมีมาแล้วในครั้งก่อน แล้วก็เสวยทิพยสมบัติโดยปราศจากทุกขภัย ครั้นต่อมาก็ได้ทำสงครามกับพวกอสูร เมื่อพวกเทพยดาพ่ายแพ้ สมเด็จท้าวสหัสนัยน์เทวราชก็ทรงเวชยันตราชรถหนีกลับไปทางหลังมหาสมุทร เมื่อเสด็จผ่านดงงิ้วไปก็ได้ทรงสดับเสียงลูกครุฑอันร้องอยู่ในรังด้วยความกลัวตาย พระองค์จึงตกลงพระทัยว่าถ้าเราขืนเดินรถไปทางนี้ ลูกครุฑทั้งหลายซึ่งอยู่ในดงงิ้วนี้ ก็จะแหลกลาญไปด้วยฝีเท้าม้าสินธพอาชาไนยพันหนึ่งที่เทียมรถ ป่าไม้งิ้วทั้งหมดก็จะแหลกเป็นผงด้วยกำลังเวชยันตราชรถอันกว้างยาวถึง ๓๐๐ โยชน์ เราควรจะกลับรถไปทางเก่าถึงพวกอสูรจะจับเราฆ่าก็ตามที ครั้นทรงดำริดังนี้แล้ว จึงตรัสบอกแก่มาตลีเทพสารถีว่า  กุลาวกา มาตลี เป็นอาทิ ดังที่ยกขึ้นไว้ข้างต้นแล้ว แปลว่า ดูก่อนมาตลี ลูกครุฑทั้งหลายย่อมเต็มไปในต้นงิ้วเหล่านั้นเธอจงหนีบงอนรถไปข้างหน้าอย่าให้งอนรถถูกต้องลูกครุฑเหล่านี้เลย เราหมดความอยากได้ใคร่ดีแล้ว เราสละชีวิตอินทรีย์ให้แก่พวกอสูรแล้ว อย่าให้ลูกครุฑเหล่านี้ล่วงไปจากรังถึงแก่ความตายเลย ดังนี้  เมื่อมาตลีเทพสารถีได้ฟังเทวบัญชาดังนี้แล้วก็บ่ายหน้าราชรถกลับทางเก่าอีก  เมื่อพวกอสูรแลเห็นก็เข้าใจว่ามีพระอินทร์องค์อื่นยกมาช่วยต่างก็พากันกลัวตายจึงพร้อมกันบ่ายหน้ากลับเข้าสู่พิภพอสูร ส่วนพระอินทร์จึงโปรดให้มาตลีเทพสารถีบ่ายหน้าราชรถเลี้ยวกลับไปทางเหนือมหาสมุทรขึ้นสู่ดาวดึงส์พิภพเสวย ทิพยสมบัติต่อไป แล้วให้ทรงตั้งด่านรักษาดาวดึงส์ไว้ ๕ ชั้น คือ ด่านหน้าอยู่ตีนเขาพระสุเมรุซึ่งตั้งอยู่บนมหาสมุทร ถัดขึ้นไปเป็นด่านครุฑ ถัดขึ้นไปเป็นด่านกุมภัณฑ์ ถัดขึ้นไปเป็นด่านยักษ์ ต่อขึ้นไปเป็นด่านท้าวจาตุมมหาราชซึ่งเป็นสวรรค์ชั้นที่ ๑ ด่านทั้ง ๕ นี้ตั้งอยู่ในทิศทั้ง ๔ แห่งดาวดึงส์สวรรค์ สูงขึ้นไปกว่ากันเป็นลำดับ ส่วนดาวดึงส์สวรรค์อันเป็นที่อยู่ของพระอินทร์ตั้งอยู่บนยอดภูเขาพระสุเมรุมีรูปร่าง ๔ เหลี่ยมจัตุรัส วัดตรงไปด้านละหมื่นโยชน์ สูงจากพื้นดินขึ้นไป ได้  ๘,๔๐๐ โยชน์ ซึ่งจัดเป็นสวรรค์ชั้น ๒ มีพระอินทร์เป็นผู้ปกครองสืบมา ครั้นสมเด็จพระบรมศาสดาทรงเทศนาจบลงดังนี้ จึงตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุบัณฑิตในปางก่อนยอมสละชีวิตให้เป็นทานแก่สัตว์ดิรัจฉานอย่างนี้ ส่วนตัวเธอที่บวชในศาสนาของเราเหตุไรจึงดื่มน้ำที่ไม่ได้กรอง ซึ่งมีสัตว์อยู่ในน้ำเข้าไปเช่นนั้นเป็นการไม่สมควรยิ่งนัก แล้วทรงประชุมชาดกว่า มาตลีเทพสารถีในครั้งนั้น ได้เกิดมาเป็นพระอานนท์ในบัดนี้ ส่วนท้าวโกสีย์ คือเราตถาคตนี้เอง ดังนี้ ในชาดกนี้ เป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่า ถึงตัวจะตายก็ไม่ควรทำลายศีลเป็นอันขาด เพราะศีลมีอำนาจให้ได้รับความสุขในภายภาคหน้าเป็นอันมาก ตัวอย่างดังนางนกยางที่รักษาศีล ๕ แล้วเลื่อนขึ้นไปเกิดในชาติสูงเป็นลำดับไป จนถึงกับได้เป็นอัครมเหสีแห่ง ท้าวโกสีย์อมรินทราธิราชดังที่แสดงมาแล้วนั้น ดังนี้.

ดูกรมาตลีเทพบุตร ที่ต้นงิ้วมีลูกนกครุฑจับอยู่

ท่านจงหันหน้ารถกลับ เรา ยอมสละชีวิตให้พวก

อสูร ลูกนกครุฑเหล่านี้ อย่าได้แหลกลาญเสียเลย.”

กุลาวกชาดกจบ.