๓๒. นัจจชาดก (เหตุที่ยังไม่ให้ลูกสาว)

          พระบรมศาสดาทรงปรารภภิกษุรูปหนึ่งให้เป็นต้นเหตุ มีเรื่องราวมาว่า  มีกฎุมพีผู้หนึ่งซึ่งอยู่ในกรุงสาวัตถี เมื่อภรรยาสิ้นชีพแล้วก็ได้ออกบวชในพุทธศาสนา  เมื่อบวชแล้วก็เก็บเอาทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทองไปสะสมไว้ในกุฏิของตน ทั้งเรียกบ่าวไพร่ไปใช้ให้หุงข้าว ต้มแกง กระทำกิจการงานให้แก่ตนเหมือนเมื่อยังเป็นฆราวาสเมื่อสมเด็จพระบรมทศพลทรงทราบ จึงโปรดให้หาตัวเข้าเฝ้าตรัสถามว่า  เธอสะสมบริขารไว้จริงหรือประการใด ภิกษุนั้นกราบทูลว่าจริง จึงตรัสถามว่า    เหตุไรเธอจึงสะสมบริขารไว้มากเช่นนั้นเล่า แต่พอพระพุทธองค์ตรัสเท่านี้ ภิกษุรูปนั้นก็มีความโกรธขึ้นมาทันที จึงเปลื้องสบงจีวรออกเสีย แล้วกล่าวว่า ข้าพระองค์จะถือวัตตจริยาเป็นผู้มักน้อยเช่นนี้ต่อไป ในขณะนั้น คนทั้งหลายซึ่งอยู่ในที่ ประชุมนั้น ต่างก็กล่าวติเตียนภิกษุรูปนั้น ๆ ก็หลีกออกจากที่นั้นไปเสีย รุ่งขึ้นวันหลังภิกษุทั้งหลายได้ไปนั่งประชุมสนทนากันอยู่ในธรรมสภาว่า ภิกษุรูปนั้นเป็นผู้ไม่มียางอายต่อสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าและประชุมชนทั้งหลาย ลงท้ายก็ได้ถึงซึ่งความวิบัติเสียจากพระพุทธศาสนา ขาดจากสารประโยชน์อันสำคัญทั้งในปัจจุบันและอนาคต พระพุทธองค์ได้เสด็จไปสู่ธรรมสภาแล้วมีพุทธฎีกาตรัสว่า  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุรุษผู้โฉดเขลานั้น จะเป็นอย่างนี้เท่านั้นก็หาไม่ ถึงในปางก่อนก็เหมือนกัน ครั้นตรัสดังนี้แล้วก็ทรงแสดงเรื่องอดีตว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในต้นภัททกัลป์อันนี้สัตว์ทั้งหลายต่างก็ตั้งพวกของตนให้เป็นพญาสำหรับปกปักรักษา คือ จำพวกสัตว์ ๔ เท้า ก็ตั้งให้ราชสีห์เป็นพญา จำพวกปลา ก็ตั้งให้ปลาอานนท์เป็นพญา จำพวกนก ก็ตั้งให้หงส์เป็นพญา อยู่มาคราวหนึ่งอยู่มาคราวหนึ่ง พญาหงส์ทองมีความประสงค์จะแต่งงานให้แก่บุตรของตนซึ่งมีรูปร่างงดงามจึงโปรดให้ประชุมฝูงนก มีหงส์และนกยูงเป็นต้น ที่พื้นศิลาใหญ่แห่งหนึ่งแล้วให้บุตรีเลือกคู่ บุตรีได้แลเห็นหนุ่มนกทั้งหลายซึ่งมาประชุมพร้อมกันอยู่ในสถานที่นั้น  ก็ได้เกิดความรักใคร่นกยูงใหญ่ตัวหนึ่งซึ่งมีสร้อยคอเหมือนกับสีแก้วมณี จึงกราบทูลพระชนกชนนี กล่าวคือ พญาหงส์ทองและนางพญาหงส์ให้ทราบ พญาหงส์ทองผู้เป็นพระราชบิดาจึงตรัสว่าถ้าอย่างนั้นบิดาจะยกเจ้าให้เป็นภรรยาแห่งนกยูงตัวนั้น ในขณะนั้น นกทั้งหลายก็เข้าไปหานกยูง  ยกย่องชมเชยบุญวาสนาว่า ตัวท่านจะได้เป็นพระราชบุตรเขยแห่งพญาหงส์ทองด้วยท่านมีรูปร่างสะสวยงดงามยิ่งกว่านกทั้งหลายเหล่าอื่น ฝ่ายนกยูงหนุ่มตัวนั้นก็รู้สึกฮึกเหิมในใจ  จึงอวดอ้างความสวยงามของตนว่าท่านทั้งหลายยังไม่เคยเห็นความสวยงามของเรา ได้เห็นแต่เพียงรูปร่างธรรมดาเท่านั้น ครั้นกล่าวดังนี้แล้วก็ยกปีกหางขึ้น รำแพนในท่ามกลางที่ประชุม นกทั้งหลายเหล่าอื่นเมื่อได้เห็นดังนั้นก็พากันติเตียนว่าเหตุไรหนอนกยูงนี้จึงไม่มีความละอายเช่นนี้ ฝ่ายพญาหงส์ทองเมื่อได้สดับคำติเตียนแห่งนกทั้งหลาย พร้อมกับเห็นอากับกิริยาแห่งนกยูงตัวนั้นก็รู้สึกละอายใจ คิดจะไม่ให้ลูกสาวของตนแก่นกยูงหนุ่มตัวนั้น จึงกล่าวเป็นนิพนธ์คาถาว่า รุทํ   มนุญฺญํ   รุจิรา   จ   ปิฏฺฐิ   เป็นอาทิ   ดังปรากฏอยู่ในมหานิบาตนั้น แปลตามนิพนธ์คาถาว่า เสียงเจ้าก็ไพเราะ หลังเจ้าก็งาม คอเจ้าก็อร่าม เหมือนกับสีแก้วไพฑูรย์ หางเจ้าก็ยาวประมาณวาหนึ่ง แต่เจ้าไม่มีความละอายได้ฟ้อนรำในที่กลางประชุมเราจะไม่ยกลูกสาวให้เจ้า ครั้นพญาหงส์ทองกล่าวดังนี้แล้วก็ยกลูกสาวของตนให้แก่หงส์ทองหลานชาย ฝ่ายนกยูงนั้น เมื่อไม่ได้ลูกสาวพญาหงส์ทอง  ก็เกิดความละอายบินหนีไปเสียจากที่นั้น ครั้นสมเด็จพระบรมศาสดาประทานเทศนาเรื่องอดีตจบลงแล้ว จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุรูปนั้นได้ขาดประโยชน์สำคัญในศาสนาแห่งเราเพราะหายางอายมิได้ ในชาติก่อนก็ได้ขาดจากนางแก้วกล่าวคือลูกพญาหงส์ทองด้วยไม่มียางอายเหมือนกัน ครั้นตรัสดังนี้แล้ว  จึงทรงประชุมชาดกว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นกยูงในครั้งนั้น ได้เกิดมาเป็นภิกษุผู้ไม่มียางอายในบัดนี้ ส่วนพญาหงส์ทอง คือเราตถาคตนี้แล ดังนี้

          ในชาดกนี้เป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่า ความละอายและความเกรงกลัวในทางที่ถูกที่ควร ย่อมเป็นคุณธรรมอันประเสริฐ เมื่อผู้ไดไม่มีคุณธรรม ๒ ข้อนี้ประจำใจ ผู้นั้นย่อมไร้ประโยชน์ที่ตนปรารถนาเหมือนดังเรื่องที่แสดงมาแล้วนี้

“เสียงของท่านก็เพราะ หลังของท่านก็งาม คอของท่านก็

เปรียบดังสีแก้วไพฑูรย์ และหางของท่านก็ยาวตั้งวาเรา

จะไม่ให้ลูกสาวของเราแก่ท่าน ด้วยการรำแพนหาง.”

นัจจชาดกจบ.