๒๘. นันทิวิสาลชาดก (ว่าด้วยการพูดดี)

        พระบรมศาสดาทรงปรารภถึงซึ่งความหยาบคายแห่งภิกษุพวกฉัพพัคคีย์ฑั้งหลาย มีเรื่องปรากฏมาว่า ในครั้งนั้นภิกษุพวกฉัพพัคคีย์ทั้งหลายได้ทะเลาะ  วิวาทกัน ด่าว่ากันด้วยคำหยาบหลายประการ เมื่อทราบถึงสมเด็จพระบรม  ศาสดาจารย์พระองค์จึงโปรดให้หาตัวภิกษุเหล่านั้นเข้าเฝ้า ตรัสถามได้ความจริงแล้วจึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ขึ้นชื่อว่าคำหยาบคายย่อมไม่เป็นที่ชอบใจของผู้ใด อย่าว่าแต่มนุษย์เลยถึงสัตว์ดิรัจฉานก็ไม่ชอบคำหยาบคาย แล้วจึงทรงแสดงเรื่องอดีตว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าคันธารราชเสวยราชสมบัติอยู่ในเมืองตักกสิลา พราหมณ์ผู้หนึ่งได้ลูกโคตัวหนึ่งมาจากสำนักบุคคลผู้บริจาคทาน แล้วได้เลี้ยงไว้ด้วยความรักใคร่เหมือนดังบุตรให้บริโภคอาหารมีข้าวต้มข้าวสวย เป็นต้น เหมือนดังมนุษย์ให้นามว่าโคนันทิวิศาล เมื่อโคนันทิวิศาลเจริญวัยวัฒนาการขึ้นมาก็มีกำลังวังชาหาโคตัวอื่นจะเสมอมิได้ โคนันทิวิศาลนั้นได้จินตนาการอยู่เสมอว่า พราหมณ์ผู้นี้ได้เลี้ยงดูเรามาด้วยความลำบากยากเย็นสมควรที่เราจะตอบแทนคุณของพราหมณ์นี้ ให้ถึงขนาดเห็นทันตาประจักษ์แก่มหาชนทุกถ้วนหน้า ด้วยอาการอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งจะทำให้พราหมณ์นี้บริบูรณ์ด้วยทรัพย์สมบัติพัสถานในวันใดวันหนึ่งจงได้ อยู่มาวันหนึ่ง โคนันทิวิศาลจึงบอกพราหมณ์ว่าให้ท่านไปบอกโควินทกเศรษฐี ว่าโคของข้าพเจ้าอาจลากเกวียน ๑๐๐ เล่ม ซึ่งเต็มไปด้วยกรวดและทรายได้ ถ้าเศรษฐีไม่เชื่อจงพนันด้วยทรัพย์พันหนึ่งเถิด พราหมณ์ก็ไปบอกตามคำของโคนันทิวิศาล เศรษฐีไม่เชื่อจึงรับพนันด้วยทรัพย์พันหนึ่ง แล้วพราหมณ์ก็กลับมาบรรทุกเกวียน ๑๐๐ เล่มอันเต็มไปด้วยกรวดทรายผูกติดต่อเรียงกันเป็นลำดับ แล้วจับโคนันทิวิศาลไปอาบน้ำเจิมด้วยแป้งหอม ๕ แห่งเอามาลัยสวมลงที่คอ แล้วนำไปเทียบกับเกวียนเล่มหน้าเสร็จแล้ว ตัวเองได้ขึ้นนั่งที่ทูบเกวียน ยกปฏักขึ้นทำท่าทางเหมือนจะแทงพร้อมกับมีวาจาขู่สำทับเป็นผรุสวาทว่า เฮ้ยโคโกง เอ็งจงลากเกวียนไปให้คลาดเคลื่อนจากที่ในบัดนี้ให้จงได้ ฝ่ายโคนันทิวิศาลก็รู้สึกเดือดดาลในใจว่าพราหมณ์คนนี้เรียกเราผู้ไม่โกงว่าเป็นโคโกง ดังนี้ หาสมควรไม่ แล้วจึงยืนกรานเท้าทั้ง ๔ เสียให้มั่นคงเหมือนกับเสาที่บุคคลปักลงในพื้นพสุธา พราหมณ์จะทำประการใดก็ไม่คลาดคลาไปจากที่  ขณะนั้น เศรษฐีจึงทวงเอาทรัพย์พันหนึ่งจากพราหมณ์ตามที่ได้สัญญากันไว้  พราหมณ์ก็จำใจต้องเสียทรัพย์นับด้วยพันให้แก่ท่านเศรษฐี แล้วก็แก้โคนันทิวิศาลปล่อยไป ส่วนตัวก็กลับไปยังเคหสถานด้วยความเศร้าโศกเสียใจอาหารก็รับประทานไม่ได้ ได้แต่นอนซบเซาอยู่วันยังค่ำ เมื่อโคนันทิวิศาลกลับมาในเวลาเย็น เห็นพราหมณ์นอนซบเซาอยู่จึงเข้าไปอยู่ทีใกล้ แล้วจึงมีวาจาปราศรัยว่าข้าแต่ท่านพราหมณ์ท่านนอนหลับอยู่หรือประการใด พราหมณ์จึงตอบไปว่าเราจะนอนหลับที่ไหนได้ เพราะเราได้เสียทรัพย์ไปตั้งพัน โคนันทิวิศาลจึงกล่าวไปทันใดว่า  ข้าแต่ท่านพราหมณ์ นับแต่ข้าพเจ้ามาอยู่ในบ้านของท่านจนกระทั่งเวลาวันนี้ ได้เคยทำสิ่งไดของท่านให้แตกเสียหายมีอยู่บ้างหรือ ได้เคยเหยียบผู้ใดผู้หนึ่งซึ่งเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่มีบ้างหรือ ได้เคยถ่ายอุจจาระปัสสาวะลงในที่ไม่สมควรมีบ้างหรือ  พราหมณ์ตอบว่า ไม่มีเลยลูกเอ๋ย โคนันทิวิศาลจึงกล่าวว่าถ้าอย่างนั้นทำไม  ท่านจึงเรียกข้าพเจ้าว่าเป็นโคโกง การที่ท่านแพ้ในทางพนันเป็นด้วยความผิดของท่านเองไม่ใช่ความผิดของข้าพเจ้า ถ้าท่านรู้สึกตัวว่ามีความผิดดังนี้แล้วจงกลับไปพนันกับเศรษฐีใหม่ด้วยทรัพย์ ๒ พัน ข้าพเจ้าขออาสาพนันอีกเป็นครั้งที่ ๒ ในครั้งที่ ๒ นี้ ขอท่านอย่าเรียกข้าพเจ้าว่าโคโกงดังก่อน ข้าพเจ้าจะทำให้ท่านชนะเศรษฐีให้จงได้แน่นอน เมื่อพราหมณ์ได้ฟังคำของโคนันทิวิศาลดังนั้นก็ไปพนันต่อเศรษฐีใหม่ด้วยทรัพย์ ๒ พัน แล้วนำโคนันทิวิศาลเข้าเทียมเกวียน ส่วนตนได้ขึ้นนั่งบนทูบเกวียน เอามือลูบหลังโคนันทิวิศาลแล้วกล่าวว่า ดูก่อนโคนันทิวิศาลผู้เจริญขอพ่อจงลากเกวียน ๑๐๐ เล่มนี้ไปเถิด เมื่อโคนันทิวิศาลได้ฟังดังนั้นก็เกิดความอุตสาหะลากเกวียนทั้ง ๑๐๐ เล่มนั้นไปให้พ้นจากที่โดยเร็ว ทำให้พราหมณ์ชนะเศรษฐีได้ทรัพย์ไป ๒ พัน จัดเป็นกำไรเสียพันหนึ่ง แล้วพราหมณ์ก็นำโคนันทิวิศาลกลับยังเคหสถานของตน มีดวงกมลอันปลาบปลื้มปรีดาหาประมาณมิได้ ครั้นสมเด็จพระศาสดาทรงแสดงเรื่องนี้จบลงแล้ว จึงตรัสต่อไปว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อันธรรมดาคำหยาบคายนี้ย่อมไม่เป็นที่พึงพอใจของผู้ใด ครั้นตรัสดังนี้แล้ว จึงทรงติเตียนภิกษุฉัพพัคคีย์ ด้วยพระพุทธฎีกามีประการต่าง ๆ แล้วทรงวางซึ่งสิกขาบทบัญญัติห้ามมิให้ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งด่าว่ากันด้วยถ้อยคำอันหยาบช้า เมื่อภิกษุใดฝ่าฝืนภิกษุรูปนั้นต้องอาบัติปาจิตตีย์  แล้วจึงทรงแสดงพระธรรมด้วยถ้อยคำอันเป็นสุนทรวาทีโดยประพันธ์คาถาว่า

มนญฺญเมว  ภาเสยฺย               นามนุญฺญํ  กุทาจนํ

มนุญฺญํ  ภาสมานสฺส                      ครุภารํ  อุททฺธริ

ธนญฺจ   นํ   อลาเภสิ             เตน    จตฺตมโน   อหูติ

          แปลว่า ไม่ว่าเวลาใด บุคลควรกล่าวแต่คำที่พึงพอใจ อย่ากล่าวถ้อยคำอันไม่เป็นที่พึงพอใจเป็นอันขาด เพราะเมื่อพราหมณ์ทิชชาติกล่าวถ้อยคำอันเป็นที่พึงพอใจ  โคนันทิวิศาลก็ได้ฉุดลากเกวียนอันหนักไปได้ทำให้พราหมณ์ได้ทรัพย์นับพัน ทั้งตัวโคนันทิวิศาลเองก็เกิดโสมนัสปลาบปลื้มในดวงหฤทัย ดังนี้              พระอรรถกถาจารย์ได้ขยายบทพระคาถานี้ให้แจ่มแจ้งว่า เมื่อบุคคลเจรจากับผู้อื่นควรเจรจาแต่ถ้อยคำอันเป็นที่รักอย่างเดียว เว้นเสียซึ่งถ้อยคำอันประกอบด้วยองค์  ๔ ประการคือ คำเท็จ ๑ คำส่อเสียด ๑ คำหยาบ ๑ คำเหลวไหล ๑ ให้เจรจาแต่คำที่จริงที่แท้ ๑ ถ้อยคำที่สมานมิตร ๑ ถ้อยคำที่อ่อนหวาน ๑ ถ้อยคำอันมีประโยชน์  ๑ เพราะเมื่อบุคคลเจรจาถ้อยคำอันประกอบด้วยโทษย่อมเปล่าปราศจากประโยชน์ เหมือนกับพราหมณ์นั้นเป็นตัวอย่าง ดังนี้

          ครั้นแล้วพระพุทธองค์จึงทรงประชุมชาดกว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลายพราหมณ์ในอดีตชาตินั้น ครั้นต่อมาในปัจจุบันชาตินี้ ได้มาเกิดเป็นอานนท์ ส่วน               โคนันทิวิศาลได้มาเกิดเป็นเราตถาคตในบัดนี้ ดังนี้ ในชาดกนี้เป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่า คนเราย่อมมีวาจาเป็นสำคัญ โบราณจึงได้ประพันธ์ภาษิตไว้ว่า พูดดีเป็นเงินเป็นทอง พูดไม่ดีเสียเงินเสียทอง ขอให้ทุกท่านจงจำไว้เพื่อเป็นประโยชน์แก่ตน  ดังนี้

บุคคลพึงกล่าวแต่คำที่ไพเราะเท่านั้น ไม่

พึงกล่าวคำที่ไม่ไพเราะเพราะในกาลไหน ๆ

เมื่อพราหมณ์กล่าวคำไพเราะโคนันทิวิศาลได้ลาก

เอาภาระอันหนักไปได้ ทำพราหมณ์ผู้นั้นให้ได้ทรัพย์

ด้วยตนเอง ก็เป็นผู้ปลื้มใจเพราะการช่วยเหลือนั้นด้วย.”

นันทิวิสาลชาดกจบ.