๑๐๖. อุทัญจนีชาดก (ว่าด้วยหญิงโจร)

 

          พระพุทธองค์ทรงปรารภเรื่องกุมาริกาผู้เป็นสาวแก่คนหนึ่ง ซึ่งเจรจาเล้าโลมภิกษุรูปหนึ่งให้เป็นต้นเหตุ ในเรื่องนี้จักมีแจ่มแจ้งใน จูฬนารทกัสสปชาดกข้างหน้า ส่วนในชาดกนี้มีแต่ปลายเรื่องแห่งเหตุ กล่าวคือ เมื่อพระพุทธองค์ได้ทราบเรื่องแล้ว จึงรับสั่งให้ภิกษุนั้นเข้าเฝ้า ทรงซักถามว่า ดูก่อนภิกษุเธอมีความปฏิพัทธ์ในสิ่งไร ภิกษุนั้นกราบทูลว่า มีใจปฏิพัทธ์ในนางกุมารีนั้น จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ นางกุมารีนั้นแหละได้ทำเธอให้เสียศีลถึงกับต้องซบเซาในภายหลัง แต่หากเธอได้อาศัยนักปราชญ์จึงกลับได้ความดีใจ ครั้นตรัสดังนี้แล้วจึงทรงแสดงเรื่องอดีตว่า ในกรุงพาราณสีมีฤๅษีคณาจารย์องค์หนึ่งอยู่ในป่าหิมพานต์ มีบุตรเป็นศิษย์อยู่คนหนึ่ง ชื่อว่าจุลดาบส ในเวลาวันหนึ่ง เมื่อฤๅษีผู้เป็นบิดาไปเที่ยวแสวงหาผลไม้น้อยใหญ่ในป่า แล้วกลับมาในเวลาเย็น เมื่อเปิดประตูเข้าไปในบรรณศาลาได้เห็นจุลดาบสผู้เป็นบุตรนั่งซบเซาอยู่ จึงถามว่า ในวันก่อน ๆ เธอตักน้ำหาฟืนมาไว้แต่เหตุไรวันนี้จึงไม่ทำ นั่งหน้าซูบซีดอยู่เช่นนี้ จุลดาบสผู้เป็นบุตรจึงตอบว่า เมื่อบิดาไปหาผลไม้ในป่ามีนางกุมารีคนหนึ่งเข้ามาเล้าโลมข้าพเจ้าและปรารภจะพาข้าพเจ้าไป แต่ข้าพเจ้ายังคิดอยู่ว่าเมื่อบิดาอนุญาตจึงจะไป ครั้งนั้นฤๅษีผู้เป็นบิดาจึงว่าบัดนี้เราไม่สามารถจะกลับใจของลูกได้เสียแล้ว จึงอนุญาตว่าถ้าอย่างนั้นเจ้าจงไปเถิด แต่บิดาขอสั่งไว้ว่า เมื่อนางกุมาริกาพาเจ้าไปแล้วเวลาเขาอยากกินอาหาร เป็นต้นว่าปลาหรือเนื้อก็ดี หรือเวลาเขาอยากได้สิ่งของ เป็นต้นว่าเนยใส เกลือและข้าวสารก็ดี เวลานั้นแหละเขาจะทำให้เจ้าลำบาก คือเขาจะอ้อนวอนให้เจ้าไปเที่ยวแสวงหาสิ่งนั้น ๆ มาให้เขา เมื่อเป็นเช่นนี้เจ้าจงนึกถึงคุณแห่งบิดา แล้วจงรีบกลับมาหาบิดาเสีย

          จุลดาบสผู้เป็นบุตร ได้ตามนางกุมาริกาไปจนถึงบ้านเมืองของนาง แล้วนางก็ทำให้จุลดาบสตกอยู่ในอำนาจของนาง  ใช้ให้ไปหาเนื้อ หาปลาและสิ่งของต่าง ๆ ตามปรารถนา จุลดาบสก็เฉลียวใจว่า บัดนี้เราถูกบังคับให้รับใช้เหมือนกับทาส หรือกรรมกรเสียแล้ว หากเราขืนอยู่ไปก็จะต้องเป็นขี้ข้าแห่งหญิงคนนี้ไปตลอดชีวิต เมื่อคิดได้ดังนี้แล้ว ก็ได้กลับไปหาฤๅษีผู้เป็นบิดา ครั้นถึงก็ยกมืออภิวาทวันทากล่าวเป็นคาถาว่า สุขํ   วต   มํ   ชีวนฺตํ   เป็นอาทิ แปลว่า หญิงโจรนั้นมันเผาลูก อบลูก ซึ่งลูกได้เคยมีชีวิตเป็นสุขให้เป็นทุกข์ตลอดเวลา โดยกิริยาที่ใช้ให้หาน้ำมันและเกลือด้วยถ้อยคำอันอ่อนหวาน ดังนี้ ลำดับนั้นดาบสผู้เป็นบิดาจึงปลอบบุตรให้คลายความเสียใจว่า ช่างเถิด เจ้าจงอุตสาห์เจริญพรหมวิหารต่อไป ว่าแล้วก็สอนพรหมวิหาร ๔ ให้บุตร ๆ ก็กระทำตาม จนได้สำเร็จอภิญญา ๕ สมาบัติ ๘ มีหูทิพย์ ตาทิพย์ เป็นต้น เมื่อทำลายชนม์ก็ได้ไปบังเกิดในพรหมโลกกับบิดา

          ครั้นสมเด็จพระบรมศาสดา ทรงนำมาซึ่งเรื่องอดีตอย่างนี้แล้ว จึงทรงแสดงอริยสัจเทศนา ภิกษุนั้นก็ได้สำเร็จโสดาปัตติผล แล้วพระองค์จึงทรงประชุมชาดกว่า นางกุมาริกาในครั้งนั้น ได้เกิดมาเป็นสาวแก่ที่เล้าโลมภิกษุรูปนี้ ส่วนจุลดาบสก็คือภิกษุรูปนี้ ฤๅษีผู้เป็นบิดา คือเราตถาคตนี้แล ดังนี้ ในชาดกนี้เป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่า บุรุษทั้งหลายซึ่งพัวพันอยู่ในทางโลกล้วนแต่เป็นทาสช่วงใช้แห่งสตรี แต่นักปราชญ์โบราณได้เปลี่ยนโวหารเสียใหม่ว่าเป็นทาสตัณหา โดยอธิบายว่า บุรุษทั้งหลายเมื่อมีภรรยาแล้วต้องหาเลี้ยงภรรยาเป็นธรรมดา บางคนก็เกินธรรมดา คือยอมให้ภรรยาบังคับทำการงานทั้งหนักและเบา ทั้งในบ้านและนอกบ้าน ทั้งกลางวันและกลางคืน เหมือนอย่างทาสน้ำเงิน มิหนำซ้ำแถมให้ภรรยาด่าว่า เหมือนขี้ข้าในเรือนเบี้ยก็มี เข้าในสุภาษิตว่าไม่รู้ไม่ชี้เป็นหนี้เขาจนตาย สุภาษิตนี้มีอรรถาธิบายว่า ปุถุชนผู้หมกมุ่นอยู่ในทางฆราวาสวิสัยต้องเป็นคนใช้ของบุตรภรรยาร่ำไปเหมือนกับเป็นหนี้บุตรภรรยาตั้งร้อยชั่วพันชาติ ถ้าถูกภรรยาที่ดีก็พอทำเนา ถ้าถูกภรรยาที่ชั่วช้าก็ยิ่งซ้ำร้ายใหญ่ โดยเหตุนี้ขอพุทธศาสนิกชนทั้งหลายที่เป็นสตรี จงพยายามทำตนให้เป็นภรรยาที่ดีของสามี อย่าได้เป็นภรรยาที่ชั่วร้าย เพราะเมื่อแตกกายทำลายขันธ์ก็พลันที่จะต้องไปสู่ทุกข์ในอบายภูมิมีนรกเป็นต้น เมื่อทำตนให้เป็นภรรยาที่ดี เวลายังมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ก็จะเป็นที่สรรเสริญแห่งคนทั้งหลาย เวลาตายไปก็จะได้ไปเสวยสุขในมนุษย์ หรือในสวรรค์ภายภาคหน้า หากจะมีคำค้านเข้ามาว่า ถ้าสามีบางคนเป็นคนโหดร้ายต่อภรรยา กดขี่ข่มเหงด่าว่าทุบตีภรรยาเหมือนกับทาสก็มี สามีคนนั้นจะไม่ได้บาปหรือ วิสัชนาว่าได้บาปเหมือนกันเพราะเหตุว่าขาดเมตตา กรุณาสำหรับสามี คือธรรมดาสามีต้องมีหน้าที่ช่วยทุกข์ยากของภรรยา เป็นผู้จะต้องมีเมตตา กรุณาต่อภรรยา แต่ถ้าภรรยาเป็นคนชั่วช้าเลวทราม ก็ให้ว่ากล่าวแต่โดยดี  ดังนี้

“หญิงโจรผู้นำของไปด้วยหม้อน้ำ เบียดเบียนฉันผู้เคยมีชีวิตอยู่เป็นสุข

จะขอน้ำมัน หรือเกลือ ก็ด้วยการกล่าวคำอ่อนหวานฐานเป็นภรรยา.”

อุทัญจนีชาดกจบ.