๒๕.ติตถชาดก (ว่าด้วยการเบื่อเพราะซ้ำซาก)

 

          สมเด็จพระบรมศาสดาประทับอยู่ที่พระเชตวนารามกรุงสาวัตถี ทรงปรารภภิกษุรูปหนึ่ง ซึ่งเป็นศิษย์แห่งพระธรรมเสนาบดีสารีบุตรให้เป็นเหตุ แล้วจึงทรงแสดงชาดกนี้ให้เป็นผล มีเรื่องราวมาว่า พระสารีบุตรเถรเจ้าแนะนำภิกษุรูปนั้นให้บำเพ็ญสมณธรรมทั้ง ๕ เดือนก็ไม่สำเร็จมรรคผลสิ่งใด พระสารีบุตรจึงพาภิกษุรูปนั้นไปเฝ้าพระบรมศาสดาว่าภิกษุรูปนี้แหละเป็นพุทธเวไนยแน่แท้ พระพุทธองค์ทรงรับภิกษุรูปนั้นไว้ ทรงพิจารณาดูก็เห็นว่าเธอเคยเป็นบุตรช่างทองมา ๕๐๐ ชาติแล้ว การที่สารีบุตรให้เจริญอสุภกัมมัฏฐานนั้นย่อมไม่ถูกกับนิสัยของเขา เขาควรจะได้อารมณ์อันงดงาม จึงจะสำเร็จมรรคผลได้ แล้วพระองค์จึงทรงนิรมิตสระอันเต็มไปด้วยบัวทอง ให้ภิกษุรูปนั้นนั่งดูดอกบัวอยู่ในสระนั้น ส่วนพระองค์ก็เสด็จขึ้นสู่พระคันธกุฎี เมื่อภิกษุรูปนั้นนั่งดูดอกบัวอยู่ก็เกิดร่าเริงบันเทิงใจมีใจผ่องใสขึ้นเป็นลำดับ พระพุทธองค์จึงทรงบันดาลดอกบัวในสระให้เหี่ยวแห้งร่วงโรยไปตามลำดับ จนภิกษุรูปนั้นจับความไม่เที่ยงแห่งสังขารทั้งปวงได้ แล้วพระพุทธองค์จึงทรงเปล่งรัศมีไปทำให้ภิกษุนั้นแลเห็นพระองค์ แล้วจึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ เธอจงตัดซึ่งความรักเสียเหมือนกับบุคคลเด็ดก้านบัวให้ขาด แล้วจงพยายามบำเพ็ญข้อปฏิบัติอันจะไปสู่นิพพานที่เราได้ประกาศไว้ ดังนี้ พอภิกษุนั้นได้ฟังก็ได้สำเร็จอรหัตผล อยู่มาวันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายจึงสนทนากันว่า พระสารีบุตรไม่รู้จักอุปนิสัยของศิษย์ สมเด็จพระบรมศาสดาจึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่ว่าสารีบุตรจะไม่รู้จักอุปนิสัยของศิษย์แต่กาลบัดนี้ก็หาไม่  ถึงในกาลก่อนก็เหมือนกัน แล้วทรงแสดงเรื่องในกาลก่อนว่า ในอดีตกาล นายอัสสาจารย์ผู้เลี้ยงม้าพระที่นั่งของพระเจ้าพรหมทัตในกรุงพาราณสี ได้นำม้าพระที่นั่งไปอาบน้ำที่ท่าสำหรับพญาม้าเสมอ อยู่มาวันหนึ่ง มีม้าวลาหะ คือม้าธรรมดาหลายตัวลงไปอาบน้ำที่ท่านั้นในเวลาที่นายอัสสาจารย์นำพญาม้าไปยังท่านั้น พญาม้าก็ไม่ลงอาบน้ำตามที่เคย  นายอัสสาจารย์ไม่รู้จะทำประการใดจึงนำความไปกราบทูลต่อพระเจ้าพรหมทัต  ท้าวเธอจึงโปรดให้ราชปุโรหิตผู้หนึ่งไปพิจารณาดู เมื่อราชปุโรหิตนั้นออกไปพิจารณาดู  เมื่อราชปุโรหิตนั้นออกไปพิจารณาดูก็ทราบว่า ม้าพระที่นั่งรังเกียจว่าม้าสามัญได้ลงอาบน้ำที่ท่านี้ แต่ปุโรหิตนั้นไม่บอกนายอัสสาจารย์ให้ทราบตามความจริง ได้กล่าวเปรียบเปรยไปในทางอื่นว่า

อญฺญมญฺเญหิ  ติตฺเถห          อสฺสํ  ปาเยหิ  สารถิ

อจฺจาสนสฺส   ปุริโส                 ปายาสสฺสปิ ตปฺปตีติ

          แปลว่า ดูก่อนนายสารถี เธอจงนำม้าพระที่นั่งไปอาบน้ำและดื่มน้ำที่ท่าอื่นบ้าง เพราะแม้ว่าข้าวปายาสที่มีรสอร่อย ถ้าคนเราบริโภคอยู่เสมอก็ยังรู้จักเบื่อดังนี้ นายสารถีก็กระทำตามคำแนะนำของปุโรหิตนั้น ดังนี้

          ครั้นทรงแสดงเรื่องอดีตอย่างนี้แล้ว จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  เมื่อก่อนเราได้รู้จักอัธยาศัยแห่งสัตว์ทั้งหลาย มีเรื่องนี้เป็นตัวอย่างที่อ้างให้เห็น  แล้วจึงประชุมชาดกว่า ม้าพระที่นั่งในครั้งนั้น ได้มาเกิดเป็นภิกษุรูปนี้ คนเลี้ยงม้านั้น ได้มาเกิดเป็นสารีบุตร พระเจ้าพรหมทัต ได้มาเกิดเป็นอานนท์ ส่วนราชปุโรหิตได้มาเกิดเป็นเราตถาคตในบัดนี้ ในชาดกนี้เป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่า คนและสัตว์ทั้งหลาย ย่อมมีอัธยาศัยต่าง ๆ กัน เมื่อได้อารมณ์ถูกต้องตามอัธยาศัยของตนแล้วก็มีความสุขจะทำสิ่งใดมักจะได้รับผลอันดีงาม จึงจำเป็นที่คนเราทั้งหลายจะต้องเลือกอารมณ์ที่ถูกต้องกับความนิยมของตนเป็นประมาณ แต่อารมณ์นั้นต้องเป็นอารมณ์ที่ดีหาโทษมิได้จึงจะให้คุณประโยชน์ ดังนี้

“ ดูกรนายสารถี ท่านจงยังม้าให้อาบและดื่มน้ำที่ท่าโน้นบ้าง

ท่านี้บ้าง แม้ข้าวปายาสที่บริโภคบ่อยครั้ง คนก็ยังเบื่อได้.”

ติตถชาดกจบ.