๒๐. นฬปานชาดก (ว่าด้วยการพิจารณา)

 

          พระพุทธองค์ประทับอยู่ที่พระเชตวันมหาวิหาร ใกล้สระโบกขรณีอันมีนามว่านฬปานคาม ทรงปรารภไม้อ้อเป็นต้นเหตุ แล้วทรงแสดงชาดกนี้ให้เป็นผลมีเนื้อความว่า ในครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายพากันลงไปอาบน้ำในสระโบกขรณีนั้นแล้วได้ใช้สามเณรไปเอาไม้อ้อมาหลายลำ เพื่อจะเอามาทำเป็นกล่องเข็ม เมื่อได้เห็นไม้อ้อนั้นกลวงหมดทุกลำไม่มีลำใดจะมีข้อ จึงกราบทูลถามพระบรมศาสดาว่า เหตุใดไม้อ้อเหล่านี้จึงไม่มีข้อเหมือนไม้อ้ออื่น ๆ สมเด็จพระบรมศาสดาตรัสตอบว่า เป็นเพราะเราตถาคตได้อธิษฐานไว้แต่ปางก่อน ครั้นตรัสดังนี้แล้วจึงทรงแสดงเรื่องอดีตว่าดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในครั้งก่อนที่นี่เป็นป่าทึบมีสระโบกขรณีอันนี้อยู่มีผีเสื้อน้ำรักษาสระโบกขรณีอันนี้ ไม่ว่าคนหรือสัตว์ที่ลงไปในสระโบกขรณีอันนี้แล้วผีเสื้อน้ำก็จับกินเป็นอาหารสิ้น ในกาลครั้งหนึ่ง มีวานรอยู่ฝูงหนึ่ง มีมากถึง ๘ หมื่นตัว วานรที่เป็นนายฝูงมีรูปร่างสูงใหญ่เท่าลูกละมั่ง วานรที่เป็นนายฝูงนั้นได้สั่งแก่พวกบริวารว่า ธรรมดาในป่าใหญ่ย่อมมีต้นไม้ที่เป็นพิษ สระโบกขรณีที่เกิดเองก็มักมีผีเสื้อน้ำหวงแหน เมื่อพวกเธอพบปะผลไม้ที่ยังไม่เคยกินหรือสระโบกขรณีที่ยังไม่เคยลง จงบอกให้เราทราบโดยตรงเสียก่อนแล้วจึงค่อยผ่อนผันกินและผ่อนผันลงต่อภายหลัง เมื่อสั่งดังนี้แล้วก็พาบริวารเที่ยวมาถึงสถานที่นี้ เมื่อฝูงบริวารได้มาถึงสระโบกขรณีนี้ ก็พากันคอยนายฝูงอยู่ไม่กล้าจะลงไปกินและไปอาบ เมื่อวานรนายฝูงมาถึงจึงไต่ถามว่า เหตุไรพวกเจ้าจึงยังไม่ลงไปสู่สระโบกขรณีนี้ เมื่อพวกบริวารตอบว่ายังคอยท่านอยู่ วานรนายฝูงนั้นจึงตอบว่าเป็นการดีทีเดียว แล้วจึงเที่ยวตรวจดูรอบ ๆ สระ ก็เห็นแต่รอยเท้าของคนและสัตว์ที่ลงไป หาได้มีรอยเท้ากลับขึ้นจากสระนั้นไม่ จึงบอกแก่บริวารว่าสระนี้มีผีเสื้อน้ำหวงแหนอยู่ ที่เจ้าทั้งหลายไม่จรจู่ลงไปเป็นการดีหาน้อยไม่ ขณะนั้น ผีเสื้อน้ำที่เฝ้าสระรู้ว่าพวกวานรไม่ลงไปในสระแล้ว จึงจำแลงเพศน่าเกลียดน่ากลัวให้ปรากฏแก่วานรทั้งหลาย คือ ทำให้มีท้องเขียวหน้าเหลือง มือแดง เท้าแดง แหวกน้ำโผล่ขึ้นมาถามฝูงวานรว่า เหตุไรพวกเจ้าจึงนั่งเฉยอยู่อย่างนี้เล่า จงพากันลงไปในสระดื่มน้ำให้สำราญใจเถิด วานรที่เป็นนายฝูงจึงถามว่า ท่านเป็นผีเสื้อน้ำอยู่ในสระนี้หรือ เมื่อผีเสื้อน้ำตอบว่า เออข้าพเจ้าเป็นผีเสื้อน้ำอยู่ในสระนี้แหละ จึงถามว่า คนและสัตว์ที่ลงไปในสระนี้แล้ว ท่านอาจจับกินเป็นอาหารหรือ เออ ข้าพเจ้าอาจจับกิน โดยที่สุดแม้แต่หมู่นกที่มาลงในสระนี้ แล้วเราก็จับกินสิ้นทั้งนั้น ถึงพวกท่านถ้าลงไปในสระนี้แล้วเราก็จะจับกินเหมือนกัน พญาวานรจึงกล่าวว่า พวกเราจะไม่ยอมให้ท่านจับกินเล่นเลย ผีเสือน้ำจึงถามว่าพวกท่านจะดื่มน้ำในสระนี้ของเราหรือไม่ พญาวานรตอบว่า ดื่มแต่จะไม่ให้ท่านจับพวกเรากินได้ดังใจหวัง คือเรากับบริวารจักถือเอาไม้อ้อตัวละลำ ๆ ดูดน้ำในสระของท่านมาดื่มตามประสงค์จะไม่ลงไปในสระของท่านเป็นอันขาด ดังนี้แล้ว จึงกล่าวคาถาว่า “ทิสวา ปทมนุตฺติณฺณํ ทิสฺวาโนตริตํ ปทํ, นเฬน วารี ปิวิสฺสาม เนว มํ ตวํ วิธิสฺสสีติ”

          แปลความว่า เมื่อพญาวานรเห็นแต่รอยเท้าลงไปไม่เห็นรอยขึ้น จึงกล่าวกับผีเสื้อน้ำว่าพวกเราจะดื่มน้ำด้วยไม้อ้อ ท่านก็จับเรากับบริวารกินไม่ได้ดังประสงค์ ดังนี้ ครั้นพญาวานรกล่าวดังนี้แล้วก็ให้บริวารนำไม้อ้อลำหนึ่งมาก่อนแล้วนึกถึงบารมีที่ได้สะสมมา ตั้งสัตยาธิษฐานเป่าลงไปในปล้องไม้อ้อ ไม้อ้อก็กลวงตลอดปลายไม่มีข้ออันใดอันหนึ่ง แล้วพญาวานรก็ส่งไม้ลำนั้นให้แก่บริวารแล้วให้บริวารตัวอื่นนำไม้อ้อมาให้เป่าอีก เมื่อเห็นว่าเวลาจะไม่พียงพอจึงอธิษฐานรวมกันทีเดียวว่าขอให้ไม้อ้อบรรดาที่เกิดอยู่ริมสระนี้ จงมีปล้องทะลุตลอดยอดเถิด พอสิ้นคำอธิษฐานลงไม้อ้อทั้งดงที่อยู่ริมสระนี้ก็มีปล้องทะลุหมดทุกลำตั้งแต่วันนั้นมาจนกระทั้งวันนี้ ซึ่งเป็นเวลานานอยู่ตลอดกัลปาวสาน ครั้นสมเด็จพระบรม ศาสดาจารย์ ทรงแสดงเรื่องในอดีตกาลดังนี้จบลงแล้ว จึงทรงประชุมชาดกต่อไปว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผีเสื้อน้ำในครั้งนั้น ครั้นต่อมาได้มาเกิดเป็นพระเทวทัตในบัดนี้ ลิงบริวารทั้งหลาย ได้มาเกิดเป็นพุทธบริษัท ส่วนพญาวานรนั้นได้มาเกิดเป็นเราตถาคตในบัดนี้ ในชาดกนี้พระอรรถกถาจารย์ได้แสดงไว้ว่าสิ่งที่น่าอัศจรรย์ซึ่งตั้งอยู่ชั่วกัลป์หนึ่งนั้น มีอยู่ ๔ ประการ คือรูปกระต่ายในวงพระจันทร์ ๑ ป่าที่พญานกคุ่ม อธิษฐานไม่ให้ไฟไหม้ ๑ ที่อยู่ของนายช่างหม้อครั้งศาสนาพระกัสสปะ ๑ ไม้อ้อที่เกิดอยู่รอบสระโบกขรณี ซึ่งมีปล้องเดียวตลอดยอดอันมีอยู่ในสระโบกขรณีใกล้บ้านนฬปานคามในประเทศ โกศล ๑ ของทั้ง ๔ อย่างนี้เรียกว่า กัปปัฎฐิปาฏิหาริย์ แปลว่า สิ่งที่น่าอัศจรรย์ประจำกัลป์นี้ ดังนี้

“พญากระบี่ไม่เห็นรอยเท้าขึ้น  เห็นแต่รอยเท้าลง

จึงกล่าวว่า เราจักดื่มน้ำด้วยไม้อ้อ ท่านก็จักฆ่าเราไม่ได้.”

นฬปานชาดกจบ. จบสีลวรรค