๘๖. สีลวิมังสชาดก ( ว่าด้วยผู้มีศีล )

          พระบรมศาสดาทรงปรารภพราหมณ์ผู้หนึ่งซึ่งทดลองศีลให้เป็นต้นเหตุ ดังได้สดับมาว่า พราหมณ์ผู้นั้นเป็นปุโรหิตาจารย์ของพระเจ้าโกศลในกรุงสาวัตถี เป็นผู้มีศีล ๕ ประจำตัว ทั้งตั้งอยู่ในพระไตรสรณคมน์ และแตกฉานในไตรเภท เป็นที่นับถือแห่งพระเจ้าแผ่นดินยิ่งกว่าคนเหล่าอื่น พราหมณ์นั้นจึงคิดสงสัยว่า พระเจ้าแผ่นดินทรงนับถือเรายิ่งกว่าผู้อื่น จะเป็นเพราะชาติ โคตร ตระกูล และศิลปศาสตร์แห่งเรา หรือจะเป็นเพราะศีลที่เรารักษา เราควรจะทดลองดูให้รู้แน่ ครั้นคำนึงนึกอย่างนี้แล้ว วันหนึ่งได้หยิบเงินกหาปณะหนึ่งจากกระดานนับเงินโดยไม่บอกกล่าวประการใด ส่วนพนักงานก็ไม่ว่ากล่าวประการใด เพราะมีความเคารพยำเกรงต่อพราหมณ์นั้น รุ่งขึ้นวันที่ ๒ ก็ได้หยิบเอาทรัพย์ไปอีก ๒ กหาปณะ รุ่งขึ้นวันที่ ๓ ได้ถือทรัพย์ไปเต็มกำมือ เจ้าพนักงานคนนั้นจึงร้องขึ้นว่าพราหมณ์นั้นขโมย แล้วช่วยกันทุบตี คนละ ๒-๓ ที เสร็จแล้วจึงมัดมือไปถวายพระเจ้าแผ่นดิน พระเจ้าแผ่นดินทรงเสียพระราชหฤทัยเป็นอันมาก แล้วตรัสว่า ดูก่อนพราหมณ์ เหตุไรท่านจึงเสียศีลอย่างนี้ แล้วรับสั่งให้ราชบุรุษลงอาชญา แต่พราหมณ์ได้กราบทูลชี้แจงขึ้นก่อนว่า ขอเดชะมหาราชเจ้า ข้าพเจ้าไม่ได้เป็นโจร ข้าพเจ้าได้ทำเพื่อทดลองศีลดูต่างหากว่า พระองค์ทรงนับถือข้าพระพุทธเจ้าเพราะชาติตระกูล ศิลปวิทยา หรือเพราะศีลเป็นประการใด บัดนี้ข้าพระพุทธเจ้าทราบด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมแล้วว่า พระองค์ทรงนับถือข้าพระพุทธเจ้าด้วยศีล ข้าพระพุทธเจ้าเห็นชัดแล้วว่า ศีลเป็นใหญ่ในโลกนี้ ข้าพระพุทธเจ้าขอทูลลาออกบรรพชารักษาศีลในพระพุทธศาสนา ขอพระองค์จงโปรดประทานให้ข้าพระพุทธเจ้าได้บรรพชาเถิด พระเจ้าแผ่นดินก็ทรงอนุญาตตามคำร้องขอ พราหมณ์นั้นก็ถวายบังคมลากลับไปสู่เคหสถาน สั่งบุตรภรรยา ญาติมิตรทั้งปวง แล้วก็ออกไปบรรพชาอุปสมบทในสำนักพระศรีสุคตศาสดาจารย์ ไม่ช้าก็ได้สำเร็จพระอรหัตผล  แล้วเข้าเฝ้ากราบทูลแด่สมเด็จพระทศพลให้ทรงทราบ

          อยู่มาวันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายจึงประชุมสนทนากันในธรรมสภา ปรารภเรื่องพราหมณ์ทดลองศีลนั้นขึ้น เมื่อได้ทราบถึงพระโสตแห่งพระทศพล พระองค์จึงทรงเสด็จสู่ธรรมสภาแล้วตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พราหมณ์นี้จะได้ทดลองศีล จะได้ที่พึ่งแต่คนเดียวนี้ก็หามิได้ ถึงคนอื่นก็เหมือนกัน แล้วทรงแสดงเรื่องอดีตว่า ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตผ่านสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี มีพราหมณ์ปุโรหิตาจารย์ของท้าวเธอคนหนึ่ง เป็นผู้ทดลองศีล จนถึงเจ้าพนักงานหาว่าลักพระราชทรัพย์ จับตัวไปถวายพระเจ้าแผ่นดิน แต่ในเวลาที่เขาจับมัดไปนั้นมีพวกเล่นงูอยู่ในระหว่างทาง โดยจับหางงูบ้าง จับคองูบ้าง เอางูพันคอของตนบ้าง พราหมณ์จึงห้ามพวกหมองูว่า พ่อเอ๋ย เจ้าอย่าพากันเล่นงูเลย งูจะกัดพวกเจ้าตาย พวกหมองูจึงว่า งูตัวนี้มีศีล มีความประพฤติดี ไม่เป็นคนทุศีลเหมือนกับตัวท่าน ส่วนตัวท่านเป็นคนไม่มีศีล ถูกเขามัดมาว่าเป็นโจรลักพระราชทรัพย์ พราหมณ์นั้นจึงคิดแน่ใจว่า เพียงแต่งูไม่กัดผู้ใดยังได้ชื่อว่าเป็นงูมีศีล ไม่ต้องกล่าวถึงมนุษย์ ศีลเป็นของสูงสุดในโลก ไม่มีสิ่งอื่นจะเสมอเหมือน ดังนี้ เมื่อไปถึงที่เฝ้าพระเจ้าแผ่นดิน ก็ได้กราบทูลชี้แจงตามความจริง ให้ทรงทราบว่าตนไม่ได้ขโมยเพียงแต่ทำเพื่อจะทดลองศีลเท่านั้น แล้วกราบทูลถึงเรื่องงูนั้นด้วย ลงท้ายจึงกราบทูลสรรเสริญด้วยสีลคาถาว่า สีลํ กิเรว กลฺยาณํ เป็นอาทิ แปลว่า ศีลเป็นของดี ศีลเป็นของสูงสุดในโลก ดูแต่งูซึ่งไม่ทำร้ายผู้ใด เขาก็ยังเรียกว่ามีศีล ดังนี้ ครั้นกราบทูลอย่างนี้แล้วก็ทูลลาออกบวชเป็นฤๅษี ได้สำเร็จฌานสมาบัติอันเป็นโลกีย์  แล้วได้ขึ้นไป เกิดในพรหมโลก

          ครั้นสมเด็จพระบรมศาสดา ทรงแสดงเรื่องอดีตอย่างนี้แล้ว จึงทรงประชุมชาดกว่า พระเจ้าแผ่นดินในครั้งนั้น ได้เกิดมาเป็นอานนท์ในบัดนี้ ส่วนพราหมณ์ปุโรหิตาจารย์ผู้ทดลองศีลนั้น ได้เกิดมาเป็นเราตถาคตนี้แล ดังนี้ ในชาดกนี้เป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่า ชาติตระกูล ยศศักดิ์และสมบัติบริวาร หรือศิลปะวิทยาการอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งมีอยู่ในโลกย่อมไม่ประเสริฐเท่าศีล เพราะถ้าเสียศีลแล้วย่อมไม่มีผู้นับถือ ต้องได้รับโทษทุกขภัยทั้งในปัจจุบันและอนาคต เหมือนอย่างพราหมณ์ที่ทดลองศีล ด้วยการขโมยพระราชทรัพย์ของพระเจ้าแผ่นดินนั้นเป็นพยาน ดังนี้

“ได้ยินว่าศีลเป็นคุณชาติงามเป็นเยี่ยมในโลก เชิดชูงูใหญ่

มีพิษร้ายแรงเป็นสัตว์มีศีล เหตุนั้น จึงไม่เบียดเบียนใคร.”

สีลวิมังสชาดกจบ.