๖๑. อาสาตมันตชาดก (ว่าด้วยหญิงเลวทราม)

๗. อิตถีวรรค

        สมเด็จพระบรมศาสดาได้ทรงปรารภภิกษุผู้มีความกระสันรูปหนึ่งให้เป็นต้นเหตุ พระองค์ได้ทรงตรัสแก่ภิกษุผู้มีความกระสันรูปนั้นว่า ดูก่อนภิกษุ หญิงบางจำพวกย่อมเป็นหญิงไม่มีสติ  มีความประพฤติอันเลวทราม แต่เหตุไรเธอจึงมีความกระสันดิ้นรนเพราะหญิงเหล่านั้นเป็นเหตุ ตรัสดังนี้แล้วจึงทรงแสดงเรื่องอดีตว่า ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเถลิงถวัลยราชสมบัติอยู่ในเมือง พาราณสีมีทิศาปาโมกข์อาจารย์คนหนึ่งอยู่ในเมืองตักกสิลา อันเป็นพระราชอาณาจักรคันธารราช

        ในครั้งนั้นมีพราหมณ์ตระกูลหนึ่งอยู่ในกรุงพาราณสี เป็นผู้นิยมการบูชาไฟตั้งแต่วันที่บุตรถือปฏิสนธิจนกระทั่งบุตรคลอดจนอายุได้ ๑๖ ปี จึงบอกบุตรว่าไฟที่มารดาบิดาจุดไว้ในเรือนนี้ เริ่มจุดไว้ตั้งแต่เจ้ายังอยู่ในครรภ์ เติมไส้และน้ำมันอยู่เป็นนิจไม่ได้ให้ไฟนี้ดับลงเลย เพื่อประสงค์จะบูชาพรหมถ้าเจ้าต้องการจะไปเกิดในพรหมโลกจงออกบวชบูชาไฟอยู่ในป่า ถ้าเจ้าประสงค์จะอยู่ในฆราวาสก็จงไปศึกษาศิลปศาสตร์ในสำนักทิศาปาโมกข์อาจารย์ ซึ่งอยู่ในตักกสิลาราชธานี เมื่อเรียนสำเร็จแล้ว เจ้าจงกลับมารับทรัพย์มรดกของมารดาบิดาในภายหลังเถิด

        เมื่อบุตรได้ฟังดังนั้นจึงตอบว่า ข้าพเจ้าไม่อาจจะออกไปบวชบูชาไฟอยู่ในป่าได้ ข้าพเจ้ายินดีจะอยู่ในเพศฆราวาส ครั้นแล้วก็กราบทูลลามารดาบิดา ถือเอาทรัพย์พันหนึ่งเป็นส่วนบูชาครู ไปสู่สำนักอาจารย์ทิศาปาโมกข์เพื่อขอเรียนศิลปะศาสตร์ทั้งปวงเมื่อเรียนจบแล้วก็กลับมาสู่สำนักมารดาบิดา แต่มารดาบิดาของมาณพนั้นไม่ปรารถนาจะให้บุตรอยู่ครองฆราวาส แต่ปรารถนาจะให้บุตรนั้นออกบวชบูชาไฟอยู่ในป่า จึงหาอุบายให้บุตรเบื่อหน่ายสตรี โดยให้พิจารณาเห็นโทษให้เด่นชัดด้วยตนเองจึงถามบุตรว่า เจ้าได้เรียนมนต์อันชื่อว่า อสาตมนต์ ในสำนักอาจารย์แล้วหรือ เมื่อบุตรตอบว่า หามิได้ จึงบอกว่า ถ้าอย่างนั้นเจ้าจงกลับไปเรียน อสาตมนต์ ให้ได้เสียก่อนแล้วจึงค่อยกลับมา มาณพผู้เป็นบุตรก็รับคำมารดาแล้วกราบลาไปสู่เมืองตักกสิลา เพี่อจะเรียนอสาตมนต์นั้นในสำนักอาจารย์

        ก็แลมารดาของอาจารย์ทิศาปาโมกข์นั้น เป็นหญิงแก่ชรามีอายุ ๑๒๕ ปีแล้ว อาจารย์ทิศาปาโมกข์นั้น ได้ปฏิบัติมารดาด้วยมือตนเองทุกประการเป็นต้นว่า อาบน้ำชำระกายให้ และให้ข้าวน้ำโภชนาหารอยู่เป็นนิตยกาลจนคนทั้งหลายรังเกียจ จึงได้นำมารดาออกไปปฏิบัติเลี้ยงดูอยู่ในป่า สร้างบรรณศาลาอยู่โดยผาสุก

        เมื่อมาณพนั้นไปถึงเมืองตักกสิลาทราบว่าอาจารย์ไม่อยู่ จึงติดตามออกไปสู่ป่าจนกระทั่งพบอาจารย์ แล้วชี้แจงเหตุการณ์ที่ตนต้องกลับมาให้อาจารย์ทราบอาจารย์ก็ดำริว่ามนต์อันใดอันหนึ่งที่ชื่อว่าอสาตมนต์นั้นมิได้มี ชะรอยมารดาของมาณพนี้ปรารถนาจะให้บุตรรู้จักโทษของสตรีเป็นแน่นอน ดำริอย่างนี้แล้วจึงบอกแก่มาณพนั้นว่า เราจะให้เธอเรียนอสาตมนต์นั้นตามประสงค์ แต่เธอจงปฏิบัติมารดาแทนเรานับแต่วันนี้เป็นต้นไป ในเวลาที่เธออาบน้ำนวดฟั้นขัดสีให้แก่มารดาของเรา เธอจงสรรเสริญร่างกายมารดาของเราว่า ข้าแต่แม่เจ้า ในเวลาที่แม่เจ้าแก่ชราถึงเพียงนี้แล้ว แต่ร่างกายยังสวยงามเหลือเกิน เมื่อเวลาแม่เจ้ายังสาวอยู่ร่างกายของแม่เจ้าจะสวยงามสักปานใดหนอ ดังนี้ เธอจงกล่าวอย่างนี้เสมอไป ถ้ามารดาของเรากล่าวอย่างไรเธอจงจำมาบอกเราให้จงได้ เราจึงจะสอนอสาตมนต์ให้ มาณพนั้นก็รับคำอาจารย์และทำตามสั่งทุกประการ เมื่อมาณพนั้นสรรเสริญร่างกายอยู่เนือง ๆ ดังนี้ กิเลสก็เกิดขึ้นในใจมารดาของทิศาปาโมกข์อาจารย์ ด้วยความสำคัญว่ามาณพนี้คงจะมีความยินดีร่วมอภิรมย์กับเรา

        เมื่อเข้าใจอย่างนี้แล้ว อยู่มาวันหนึ่งมารดาแห่งทิศาปาโมกข์อาจารย์จึงถามมาณพนั้นว่า เจ้าปรารถนาจะร่วมอภิรมย์กับเราหรือจึงได้สรรเสริญร่างกายของเราว่าสวยงามอย่างนี้ มาณพนั้นจึงตอบว่าปรารถนา แต่ว่ายังเกรงอาจารย์มากอยู่ไม่รู้ว่าจะทำประการใด จึงบอกว่า ถ้าอย่างนั้นเธอจงฆ่าอาจารย์ผู้ซึ่งเป็นบุตรของเราเสียเถิด มาณพนั้นก็ตอบว่า ฆ่าไม่ได้ เพราะท่านมีพระเดชพระคุณแก่ข้าพเจ้ามาก ข้าพเจ้าได้ศึกษาเล่าเรียนศิลปวิทยากับท่าน จักฆ่าท่านเพราะอำนาจกิเลสไม่สมควรยิ่งนัก จึงถามว่า ถ้าอย่างนั้นเธอจะไม่ทิ้งเราหรือ ถ้าเธอจักทิ้งเรา เราจักเป็นผู้ฆ่าเอง

        เมื่อมาณพได้ฟังดังนั้น จึงไปบอกแก่อาจารย์ ๆ กล่าวว่าเป็นการดีแล้ว อาจารย์จึงตรวจดูอายุสังขารของมารดาตามตำราไสยศาสตร์ ก็เห็นว่ามารดาจะขาดชีวิตอินทรีย์ ถึงซึ่งความตายในเวลาวันนี้เป็นแม่นมั่น จึงชวนมาณพนั้นไปตัดไม้มะเดื่อต้นหนึ่ง มาทำเป็นรูปหุ่นประมาณเท่ารูปคน แล้วเอาไปวางให้นอนหงายอยู่ในที่นอนของตนเอาผ้าคลุมไว้เป็นอันดี แล้วทำราวเชือกสำหรับจับไว้ราวหนึ่ง ก็เมื่อทำเสร็จแล้วจึงบอกมาณพนั้นว่า เธอจงถือขวานเล่มนี้ไปให้มารดาของเรา บอกว่าเรานอนอยู่ในที่นี้ หนทางที่จะมาที่นี้ก็มีราวเชือกสำหรับจับ มาณพนั้นก็กระทำตามคำของอาจารย์ ฝ่ายมารดาของอาจารย์จึงซักมาณพนั้นอีกว่า เธอจะไม่ทิ้งเราแน่แล้วหรือ เมื่อมาณพนั้นตอบว่าแน่แล้ว จึงพยุงให้ลุกขึ้นถือเอาขวานเดินเกาะราวเชือกไต่ไปทั้งที่มีร่างกายสั่นระรัวเมื่อไปถึงหุ่น จึงนั่งลงลูบคลำด้วยมือแต่เบา ๆ เข้าใจว่าหุ่นนั้นเป็นบุตรของตน จึงเปลื้องผ้าคลุมหน้าออก ด้วยคิดจะฟันให้คอขาดทีเดียว ในขณะนั้น บุตรได้แอบไปดูอยู่ในที่ใกล้ เมื่อเปลื้องผ้าคลุมออกแล้วจึงยกขวานขึ้นฟันลงที่คอ ก็รู้สึกว่าเป็นของแข็งจึงทราบว่าเป็นรูปหุ่น ฝ่ายบุตรที่แอบดูอยู่นั้นจึงถามออกไปว่า ข้าแต่มารดาเหตุไรมารดาจึงทำอย่างนี้ เมื่อมารดานั้นรู้สึกตัวว่าถูกลวงแล้วก็เสียใจ และล้มลงขาดใจตายอยู่ในสถานที่นั้น

        ฝ่ายบุตรผู้เป็นทิศาปาโมกข์อาจารย์ จึงพร้อมกับมาณพผู้เป็นศิษย์ช่วยกันทำศพมารดา เมื่อทำสรีรกิจเผาศพเสร็จแล้ว จึงบูชาด้วยดอกไม้และของหอม แล้วพามาณพผู้เป็นศิษย์กลับไปที่บรรณศาลาบอกว่า ดูก่อนมาณพ มนต์ที่ชื่อว่า อสาตมนต์นั้นมิได้มี อสาตมนต์นั้นได้แก่ความไม่มีสติแห่งหญิงบางจำพวก ดังมารดาของเราที่เธอเห็นเป็นตัวอย่างนี้แล ครั้นกล่าวดังนี้แล้วก็ให้มาณพกลับบ้านเมือง

        เมื่อมาณพกลับไปถึงบ้านเมืองของตน แล้วก็บอกกับมารดาว่าได้เรียน อสาตมนต์แล้ว มารดาจึงถามว่า บัดนี้เจ้าจะอยู่หรือจะบวช ตอบมารดาว่า ข้าพเจ้าได้เห็นโทษของสตรีทั้งหลายแล้วไม่ยินดีที่จะอยู่ในฆราวาส ข้าพเจ้าจะออกบวชบูชาไฟอยู่ในป่า แล้วกล่าวต่อไปว่า อรสา โลกิตฺถิโย นาม เป็นอาทิ แปลว่า หญิงบางจำพวกในโลกนี้เป็นผู้ไม่มีสติเหนี่ยวรั้งใจ ไม่มีสติเป็นเครื่องกั้นกางเขตแดนของหญิงจำพวกนั้นไม่มี หญิงจำพวกนั้นมีแต่ความรักใคร่ยินดี และดีแต่ความคะนอง กาย วาจา ใจ ไม่รู้จักอิ่มในกามารมณ์ เปรียบเหมือนกับไฟซึ่งไม่รู้จักอิ่มด้วยเชื้อไฟทั้งปวงฉะนั้น โดยเหตุนี้ข้าพเจ้าจึงจะละเพศฆราวาส ออกบรรพชาเจริญวิเวกสมาบัติอยู่ในป่า ดังนี้

        ครั้นมาณพนั้นกล่าวดังนี้แล้ว ก็กราบลามารดาออกไปบรรพชาเป็นฤๅษีอยู่ในป่า เวลาละเบญจขันธ์ก็ขึ้นไปเกิดในพรหมโลก ด้วยอำนาจฌานสมาบัติและด้วยจริยาวัตรของตน

        ครั้นสมเด็จพระทศพลทรงแสดงเรื่องอดีตอย่างนี้แล้ว จึงตรัสซ้ำอีกว่าดูก่อนภิกษุ หญิงบางจำพวกเป็นผู้ไม่มีสติ เป็นคนชั่วช้าลามก ให้ทุกข์แก่ผู้ที่รักใคร่ตนเหมือนดังเรื่องที่แสดงมาแล้วนี้ ครั้นตรัสดังนี้แล้ว จึงทรงประชุมชาดกว่า มารดาของทิศาปาโมกข์อาจารย์ในครั้งนั้น ได้มาเกิดเป็นนางภัททกาปิลานีในบัดนี้ บิดาแห่งทิศาปาโมกข์อาจารย์นั้น ได้มาเกิดเป็นพระมหากัสสป มาณพผู้เป็นศิษย์ของทิศาปาโมกข์ ได้มาเกิดเป็นพระอานนท์ ส่วนทิศาปาโมกข์อาจารย์ ได้มาเกิดเป็นเราตถาคตนี้เอง ดังนี้ ในชาดกนี้ชี้ให้เห็นว่าสตรีบางคนหรือบางพวกย่อมเป็นผู้ขาดสติไม่รู้จักเหนี่ยวรั้งใจของตนเอง เมื่อความรักเกิดขึ้นก็ปล่อยให้เป็นไปตามความรัก  จนถึงกับอาจทำความชั่วอันใหญ่หลวงได้ เหมือนกับเรื่องในชาดกนี้เป็นอุทาหรณ์ โดยเหตุนี้ นักปราชญ์ทั้งหลายจึงสั่งสอนกุลบุตรสืบ ๆ กันมาว่า ขึ้นชื่อว่าสตรีแล้วอย่าไว้วางใจ ให้ถือว่าเป็นอสรพิษตัวสำคัญ ถ้าพลาดก็จะฆ่าตนให้ถึงซึ่งความตาย และยังมีสุภาษิตอยู่บทหนึ่งว่า ธรรมดาช้างสารและงูเห่า ข้าเก่า เมียรัก อย่าไว้ใจนักมักจะระทม ดังนี้ นี่ก็ล้วนเป็นคำเตือนให้รู้จักสังเกตพิจารณาว่า สตรีคนใดจะเป็นผู้ที่ตนไว้วางใจได้ ถึงสตรีเล่าก็เหมือนกัน ต้องให้มีสติพิจารณาว่า บุรุษคนใดจะเป็นผู้ที่ตนไว้วางใจได้ เพราะเหตุว่า บุรุษก็มีหลายจำพวกเหมือนกันกับสตรี กล่าวโดยย่อ คือ จำพวกที่เลวก็มี จำพวกที่ดีก็มี แต่สำหรับบุรุษมักเป็นผู้มีสติเหนี่ยวรั้งใจของตน ไม่ถึงกับฆ่าลูกฆ่าเมียด้วยความรัก เป็นแต่ทำความเดือดร้อนเสียหายในทางทำลายความสุขแห่งครอบครัวบางอย่างเท่านั้น เว้นแต่ภรรยาทำความชั่วช้าด้วยการคบชู้หาผัวเท่านั้น บุรุษจึงจักฆ่าภรรยาได้ เพราะเหตุว่าธรรมดาบุรุษทั้งหลาย ย่อมเป็นผู้มีกำลังใจแข็งแรง มีสติปัญญากว้างขวางกว่าสตรีจะทำสิ่งใดย่อมพิจารณาเห็นกาลไกลเสมอว่า เมื่อเราทำลงไปแล้วจะได้รับผลอย่างไรต่อไปในข้างหน้า ส่วนสตรีจำพวกที่ดีก็มีเหมือนกันกับบุรุษ มิใช่ว่าจะเลวไปหมดทุกคนก็จะหาไม่ ด้วยประการฉะนี้

“ขึ้นชื่อว่าหญิงในโลกนี้เลวทราม เพราะหญิงเหล่านั้นไม่มีเขตแดน

มีแต่ความกำหนัดยินดี คึกคะนองไม่มีเลือก เหมือนกับไฟที่ไหม้

ไม่เลือกฉะนั้น เราจะละทิ้งหญิงเหล่านั้นไปบวชพอกพูนวิเวก.

อาสาตมันตชาดกจบ.