๑๖. ติปัลลัตถมิคชาดก (ว่าด้วยเล่ห์กลลวงพราน)

          พระบรมศาสดาได้ทรงปรารภพระราหุล ผู้สมบูรณ์ด้วยอัชฌาศัยพอใจในการศึกษาให้เป็นต้นเหตุ แล้วจึงทรงแสดงชาดกนี้ให้เป็นผล  มีเนื้อความว่า  ครั้งนั้น ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาทั้งหลาย  ได้พากันไปฟังธรรมที่วิหารแต่ในเวลากลางวัน  ในตอนกลางคืนคงเหลือแต่พวกภิกษุกับอุบาสกเท่านั้น  เมื่อเลิกฟังธรรมพวกภิกษุที่เป็นผู้ใหญ่ก็พากันกลับไปสู่ที่อยู่ของตน  ฝ่ายภิกษุผู้น้อยก็นอนปะปนอยู่กับพวกอุบาสกในศาลา เมื่อภิกษุเหล่านั้นนอนหลับไปก็ได้มีกิริยาอาการน่าอดสูหลายอย่าง เป็นต้นว่านอนกรน นอนคราง เมื่อพวกอุบาสกเห็นดังนั้นจึงไปกราบทูลสมเด็จพระบรมศาสดา พระองค์จึงทรงบัญญัติห้ามไม่ให้ภิกษุทั้งหลายนอนร่วมกับผู้ไม่ใช่ภิกษุต่อไป ครั้นอยู่มาวันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายได้ขอให้พระราหุลผู้ยังเป็นสามเณรไปนอนเสียในที่อื่น เพราะกลัวจะผิดต่อพุทธบัญญัติ พระราหุลเมื่อไม่เห็นมีที่ใดก็ตรงเข้าไปนอนในวัจจกุฎีแห่งพระพุทธองค์  ในเวลาจวนสว่างพระผู้มีพระภาคเจ้าได้เสด็จไปที่วัจจกุฎีนั้น แต่ก่อนจะเสด็จเข้าไปได้ทรงกระแอมไอให้เป็นอาณัติสัญญา เมื่อพระราหุลได้ยินจึงกระแอมไอตอบแล้วออกมาถวายบังคม พระพุทธองค์ตรัสว่าเหตุใดจึงมานอนอยู่ในที่นี้ พระราหุลกราบทูลเรื่องราวให้ทรงทราบ  ครั้นต่อมา  พระองค์ได้ตรัสกับพระสารีบุตรว่า  ดูก่อนสารีบุตร เธอทั้งหลายพากันเพิกเฉยต่อสามเณรราหุลเช่นนี้ แล้วภายหน้ากุลบุตรทั้งหลายมาบรรพชาเป็นสามเณรพวกเธอจะทำอย่างไรเล่า แล้วจึงทรงบัญญัติสิกขาบทอีกว่าให้ภิกษุทั้งหลายนอนร่วมกับผู้ไม่ใช่ภิกษุได้เพียง ๓ คืน ครั้นถึงคืนที่ ๔ ให้เว้นเสียคืนหนึ่ง แล้วนอนได้อีกต่อไปจนกว่าจะครบ ๓ ราตรี แล้วเว้นเสียอีกคืนหนึ่ง โดยนัยนี้เสมอไป  จนกว่าจะแยกที่นอนกันได้กับผู้ไม่ใช่ภิกษุนั้น  ดังนี้  ในเวลาวันหนึ่งภิกษุทั้งหลายได้ประชุมสรรเสริญพระราหุลในธรรมสภาว่า พระราหุลเป็นผู้ใคร่ต่อการศึกษามาก  เป็นผู้ว่าง่ายสอนง่าย  เพียงแต่ภิกษุทั้งหลายบอกให้หาที่นอนในที่อื่นคำเดียวเท่านั้นก็มิได้ขัดขืน ได้ไปนอนอยู่ในวัจจกุฎีของพระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปถึงธรรมสภาจึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลายราหุลจะได้เป็นผู้เคร่งต่อการศึกษา เป็นผู้ว่าง่ายสอนง่าย แต่ในการบัดนี้ก็หาไม่ ถึงในกาลก่อนก็เป็นผู้ใคร่ต่อการศึกษาเหมือนกัน ครั้นตรัสดังนี้แล้ว จึงทรงแสดงเรื่องอดีตว่า  ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้ามคธเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงราชคฤห์มีเนื้อฝูงใหญ่อยู่ในป่าแห่งหนึ่ง ซึ่งมีนายเนื้อเป็นผู้ปกครอง อยู่มาคราวหนึ่งนางเนื้อตัวเป็นน้องสาวแห่งเนื้อนายฝูงนั้น ได้นำลุกของตนไปมอบให้เนื้อนายฝูงผู้เป็นพี่ชาย ช่วยสั่งสอนให้รอบรู้อุบายเล่ห์กลสำหรับฝูงเนื้อ เนื้อพี่ชายก็ได้ตั้งใจสั่งสอนจนสิ้นเชิงในเล่ห์กลอุบายของเนื้อ อยู่มาวันหนึ่ง ลูกเนื้อได้ไปติดบ่วงของนายพรานแล้วได้ร้องขึ้นด้วยเสียงอันดัง เมื่อหมู่เนื้อทั้งหลายได้ฟังก็ตกใจกลัวพากันวิ่งหนีไปเสียสิ้น  เมื่อนางเนื้อที่เป็นมารดาทราบว่าลูกของตนติดบ่วงของนายพรานป่าแล้วก็รีบมาหาพี่ชาย  ไต่ถามว่าท่านได้สั่งสอนอุบายให้หลานชายของท่านแล้วหรือ พี่ชายจึงตอบว่า  เจ้าอย่าวิตกไปเลย ลูกของเจ้าได้ศึกษาเล่าเรียน ชำนิชำนาญเป็นอันดีแล้ว  ไม่ช้าก็จะหลุดพ้นจากบ่วงของนายพรานได้  แล้วจึงกล่าวว่า  มิคํติปลฺลตฺถมเนกมายํ  เป็นอาทิ  แปลว่า  พี่ยังเนื้ออันเป็นหลานชายซึ่งมีกีบเท้า ๘ กีบ  ให้นอนโดยท่าทั้ง ๒ คือ นอนโดยข้างทั้งสองและนอนตรงมีอาการดุจโคนอนมีเล่ห์กลมารยามาก ซึ่งออกจากป่ามาดื่มน้ำในเวลาเที่ยงคืน  ให้ศึกษาเล่าเรียนเป็นอันดีแล้ว ดูก่อนน้องผู้เป็นที่รัก เนื้อหลานชายเป็นสัตว์ฉลาดรู้จักกลั้นลมหายใจ ผ่อนลมหายใจเข้าออกโดยช่องจมูกข้างล่าง ซึ่งแนบสนิทติดอยู่กับพื้นดินจะลวงนายพรานด้วยอุบาย ๖ อย่าง คือ จักเหยียดเท้าทั้ง ๔ ออกแล้วนอนตะแคง ๑ จักคุ้ยหญ้าและฝุ่นด้วยกีบเท้า ๑ จักแลบลิ้นออกให้ห้อยแล้วย้อยลง ๑ จักทำให้ท้องพองนูนขึ้น ๑ จักถ่ายมูตรและคูถออก ๑ จักกลั้นลมหายใจไว้ ๑ อีกอย่างหนึ่งจักกวาดฝุ่นและทรายกองไว้เบื้องหน้าบ้าง  ผลักออกไปบ้าง ทำอาการดิ้นรนไปมาในข้างทั้งสองบ้าง ตะเบ็งท้องขึ้นเบื้องบนบ้าง  แขม่วท้องลงเบื้องต่ำบ้าง เนื้อผู้เป็นหลานชายจักทำอุบายลวงนายพรานอย่างนี้เป็นแน่นอน ดังนี้ ฝ่ายลูกเนื้อที่ติดบ่วงของนายพราน ก็ได้ทำอาการหลอกลวงนายพราน  ดังเนื้อนายฝูงแจ้งไว้ทุกประการ เมื่อนายพรานไปเห็นก็เข้าใจว่าเนื้อนั้นตายแล้วจึงแก้บ่วงออก  ไปเที่ยวหากิ่งไม้และใบไม้มาเพื่อจะรองเชือดเนื้อในที่นั้น ๆ ส่วนลูกเนื้อนั้นได้ทีก็ลุกขึ้นสลัดร่างกายแล้ววิ่งหนีไปโดยเร็วพลันจนกระทั่งถึงสำนักมารดา  ดังนี้

          ครั้นสมเด็จพระบรมศาสดา  ทรงแสดงเรื่องอดีตจบลงแล้ว จึงทรงประชุมชาดกว่า ลุกเนื้อที่ติดบ่วงในคราวนั้น  คือพระราหุลในบัดนี้ นางเนื้อที่เป็นมารดาคือนางอุบลวัณณา  ส่วนพญาเนื้อที่เป็นนายฝูง คือเราตถาคตนี้เอง  ดังนี้  ในชาดกนี้ชี้ให้เห็นว่าการเป็นผู้ว่าง่ายสอนง่าย  ย่อมเป็นอุบายให้รอดพ้นจากทุกข์ได้เหมือนอย่างลูกเนื้อนั้น ด้วยประการฉะนี้

“ฉันยังเนื้อหลานชายผู้เท้ามี ๘ กีบ นอนโดยอาการ ๓ ท่า มี

เล่ห์กลมารยาหลายอย่าง ดื่มกินน้ำในเวลาเที่ยงคืน  ให้เล่า

เรียนมารยาของเนื้อดีแล้ว  ดูกรน้องหญิง เนื้อหลานชาย

กลั้นลมหายใจไว้ได้  โดยช่องนาสิกข้างหนึ่งแนบติดอยู่

กับพื้น จะทำเล่ห์กลลวงนายพรานด้วยอุบาย ๖ ประการ.”

ติปัลลัตถมิคชาดก จบ.