๓๔. มัจฉชาดก (ว่าด้วยความหึงหวง)

            พระบรมศาสดาได้ทรงปรารภการที่ภรรยาเก่าแห่งภิกษุรูปหนึ่งประเล้าประโลมให้ภิกษุรูปนั้นเกิดความรักใคร่พอใจ แล้วจึงทรงแสดงซึ่งเรื่องนี้ให้แจ่มแจ้งแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในรัชกาลแห่งพระเจ้าพรหมทัต ซึ่งเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี มีปลาใหญ่ตัวหนึ่งเล่นน้ำอยู่กับนางปลาอันเป็นที่รักของตน ปลาใหญ่ตัวนั้นว่ายน้ำวนเวียนอยู่ไปมาด้วยความเพลิดเพลิน  นางปลานั้นว่ายไปข้างหน้าแห่งปลาใหญ่ตัวนั้นก็ได้กลิ่นแหจึงว่ายหลบหนีไปเสียทางอื่น ส่วนปลาใหญ่ตัวนั้นมิได้ทันพิจารณา ด้วยอำนาจความเสน่หาในนางปลา  ได้ว่ายตามหลังนางปลาไปโดยเร็วจนกระทั่งพุ่งตัวไปในท้องแห ชาวประมงผู้เป็นเจ้าของแหก็ยกแหขึ้นจับเอาปลาตัวนั้นไปวางไว้ที่หาดทราย แล้วไปติดไฟและเหลาไม้แหลมด้วยจิตคิดจะย่างปลาตัวนั้นกิน ฝ่ายปลาใหญ่ตัวนั้นก็รำพันด้วยถ้อยคำต่าง ๆ ตามอย่างประสาปลาว่าการที่เราจะถูกย่างบนถ่านไฟก็ดี จะถูกเสียบด้วยไม้แหลมก็ดี เราไม่เป็นทุกข์นัก เราเป็นทุกข์เพียงอกหัก แต่ที่นางปลาไม่รู้ว่าเรามาติดในแหคงจะน้อยใจให้เราว่าไปหลงแต่นางปลาตัวอื่นเสีย ข้อนี้แหละเป็นทุกข์อันยิ่งใหญ่ของเรา แล้วกล่าวต่อไปว่า

น   มํ   สีตํ   น   มํ   อุณฺหํ                   น   มํ   ชาลสฺมิ  พาธนํ

ยญฺจ   มํ   มญฺญเต  มจฺฉี              อญฺญํ   โส  รติยา   คโตติ

          แปลว่า ความหนาว ความร้อน ความลำบากใจในการติดข่ายก็ไม่สู้ทำให้เราเป็นทุกข์นัก การที่นางปลาจะเข้าใจว่าเราไปหลงคบหานางปลาตัวอื่นนั้นแหละเป็นทุกข์อันยิ่งใหญ่ของเรา ดังนี้ อธิบายว่า ในเวลาน้ำแห้งความหนาวย่อมเกิดมีแก่ปลาทั้งหลาย เมื่อเกิดความหนาวแล้วก็เกิดความร้อน ปลาใหญ่ตัวนั้นนึกถึงเหตุ ๒ ประการนี้แหละ จึงรำพันเพ้อว่าความหนาวและความร้อน ไม่สู้จะทำให้เราเป็นทุกข์นัก ความทุกข์จะถูกปิ้งลงบนถ่านเพลิงก็ดี ปลาใหญ่ตัวนั้นก็ไม่สู้จะเป็นทุกข์นัก  การที่ลำบากอยู่ในข่ายปลาใหญ่ตัวนั้นก็ไม่ถือว่าเป็นทุกข์นัก ปลาใหญ่ตัวนั้นเวลาที่นอนอยู่บนหาดทรายได้บ่นเพ้อรำพันอยู่ว่า นางปลาเมื่อไม่ทราบว่าเราติดข่าย ก็จะเกิดความน้อยใจว่าเราไปหลงนางปลาตัวอื่น ข้อนี้แหละเป็นทุกข์ของเราอันยิ่งใหญ่ ดังนี้  ในเวลานั้นปุโรหิตาจารย์คนหนึ่ง ซึ่งเป็นอาจารย์แห่งพระเจ้าพาราณสี มีบ่าวไพร่ห้อมล้อมเป็นบริวารได้ไปสู่นทีธารเพื่อจะอาบน้ำปุโรหิตผู้นั้นเป็นผู้รอบรู้ภาษาสัตว์ทุกจำพวก เมื่อได้ฟังเสียงพรรณนาแห่งปลาใหญ่ตัวนั้นจึงคิดว่าปลาตัวนั้นหมกมุ่นอยู่ในกิเลส มีใจเร่าร้อนด้วยความรัก ถ้าตายลงจักต้องไปเกิดในนรกเป็นเที่ยงแท้ เราควรจะเป็นที่พึ่งของปลาตัวนี้ ครั้นคิดแล้วมิช้าก็ตรงไปหาชาวประมงผู้นั้นแล้วกล่าวว่า ดูกรพ่อผู้เจริญ พวกเธอไม่เคยให้ปลาเราไปต้มแกงกินเลยแต่สักตัวเดียว ชาวประมงคนนั้นจึงตอบว่าข้าแต่นาย นายพูดอะไรเช่นนี้ เมื่อนายต้องการปลาตัวไหนก็เลือกเอาไปเถิด ปุโรหิตจึงกล่าวว่าปลาตัวอื่นเราก็ไม่ต้องการเราต้องการเฉพาะปลาใหญ่ตัวนี้ ถ้าเธอมีแก่ใจก็จงให้ปลาใหญ่ตัวนี้แก่เรา ชาวประมงคนนั้นจึงตอบว่า โปรดถือเอาไปตามชอบใจเถิดแล้วปุโรหิตก็นำปลาใหญ่ตัวนั้นไปที่ฝั่งแม่น้ำแล้วกล่าวสั่งสอนว่า ดูก่อนปลาตัวเจริญ ถ้าเราไม่พบท่านในวันนี้ ท่านก็จะสิ้นชีวิตอินทรีย์ นับแต่วันนี้ไปท่านอย่าตกอยู่ในอำนาจแห่งราคะดำฤษณา ว่าแล้วก็ปล่อยปลาใหญ่นั้นลงไปสู่แม่น้ำให้พ้นจากความตาย  ครั้นสมเด็จพระบรมศาสดาทรงแสดงเรื่องอดีตจบลงแล้ว ภิกษุผู้ถูกภรรยาเก่าเล้าโลมนั้นก็ได้สำเร็จโสดาปัตติผล แล้วทรงประชุมชาดกยกเป็นอนุสนธิต่อไปว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นางปลาในครั้งนั้นได้เกิดมาเป็นภรรยาเก่าแห่งภิกษุรูปนี้ปลาใหญ่ตัวนั้น ได้เกิดมาเป็นภิกษุรูปนี้ ส่วนปุโรหิต คือเราตถาคตนี้เอง ในชาดกนี้เป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่า ทุกข์อันยิ่งใหญ่ของสรรพสัตว์ทั้งหลายก็คือทุกข์อันเกิดจากความพลัดพรากจากอารมณ์อันเป็นที่รักใคร่พอใจ อีกประการหนึ่ง ชาดกนี้เป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่า สรรพสัตว์ทุกถ้วนหน้าจะได้เสวยทุกขเวทนาในโลกนี้และโลกหน้าก็เพราะกิเลส คือ ความรัก ความโกรธ ความลุ่มหลง เป็นต้นเหตุ บุคลผู้หวังความสุขแก่ตนไม่ควรกังวลด้วยกิเลส ไม่ควรปล่อยให้กิเลสครอบงำใจของตนเกินประมาณ ดังนี้.

ความเย็น ความร้อน และการติดอยู่ในแห ไม่ได้เบียดเบียน

เราให้ได้รับทุกข์เลย แต่ข้อที่นางปลาสำคัญว่า เราไปหลง

นางปลาตัวอื่นนั่นแหละ เบียดเบียนเราให้ได้รับทุกข์.”

มัจฉชาดกจบ.