๒๔. อาชัญญชาดก (ว่าด้วยม้าอาชาไนยกับม้ากระจอก)

 

          พระบรมศาสดา ทรงปรารภภิกษุผู้สละความเพียรรูปหนึ่งเหมือนในกาลหนหลัง แล้วจึงทรงแสดงชาดกนี้ต่อไปว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  ในอดีตกาลล่วงแล้วมา ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี มีพระยาสามนตราชทั้ง ๗ พระนคร ได้มาล้อมกรุงพาราณสีเหมือนกับเรื่องในโภชชานียชาดก ครั้งนั้นมีนายทหารรถผู้หนึ่งเทียมม้าสินธพพี่น้องทั้งคู่เข้าสู่ในราชรถ ออกไปต่อสู้อริราชศัตรู จับได้พระยาสามนตราชทั้ง ๗ พระองค์ ก็พอม้าสินธพผู้พี่ชายถูกอาวุธของข้าศึก  นายสารถีก็รีบขับม้ามายังประตูพระนครแก้ม้าสินธพนั้นออกจากรถทำเกราะให้หย่อนให้นอนตะแคงข้างหนึ่งแล้ว ปรารถนาจะเทียมม้าตัวอื่นออกรบแทน พญาสินธพเห็นดังนั้นก็คำนึงดุจพรรณนามาแล้วในโภชชานียชาดกได้เรียกนายสารถีมากล่าวคาถาว่า

ยทา  ยทา  ยตฺถ  ยทา            ยตฺถ   ยตฺถ   ยทา    ยทา

อาชญฺโญ  กุรุเต  เวคํ           หายนฺติ  ตตฺถ  ตตฺถ   วาฬวาติ

          แปลว่า ไม่ว่าเมื่อใด เมื่อม้าอาชาไนยออกรบ ม้าวลาหะย่อมถอยหนี นายสารถีได้พยุงม้าอาชาไนยขึ้นเทียมรถออกตีค่ายที่ ๗ ให้แตกทำลายหมด จับกษัตริย์ที่ ๗ ได้แล้ว ขับรถไปถึงประตูพระนครจึงแก้ม้าสินธพออก ดังนี้  มีเนื้อความสืบต่อไปว่าม้าสินธพนั้นเมื่อนายสารถีแก้เกราะออกแล้วก็ลงนอนตะแคงที่ประตูพระนคร ถวายโอวาทแก่บรมกษัตริย์ผู้จอมอดิศรแล้วก็ดับจิตไป บรมกษัตริย์ก็โปรดให้ทำศพพญาสินธพนั้นอย่างมโหฬาร พระราชทานบำเหน็จความชอบแก่นายสารถี แล้วทรงส่งพระยาสามนตราชทั้งหลายกลับพระนครของตน ๆ ส่วนจอมมหิดลพรหมทัต ก็ทรงปกครองกรุงพาราณสีมาโดยยุติธรรมจนตลอดพระชนมชีพของพระองค์

          ครั้นสมเด็จพระบรมศาสดาทรงแสดงชาดกนี้แล้ว จึงทรงแสดงอริยสัจต่อไป  เวลาจบอริยสัจภิกษุผู้สละความเพียรนั้นก็บรรลุอรหัตผล แล้วสมเด็จพระทศพลจึงทรงประชุมชาดกว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมเด็จพระเจ้าพรหมทัตในครั้งนั้น ได้อุบัติมาเป็นอานนท์ในบัดนี้ นายสารถี ได้มาเกิดเป็นสารีบุตร ส่วนม้าสินธพอาชาไนยนั้น ได้อุบัติมาเป็นเราตถาคตนี้แล ดังนี้ ในชาดกนี้ชี้ให้เห็นว่านักปราชญ์ทั้งหลายล้วนแต่ไม่ทิ้งความเพียรเหมือนกับโภชชานียชาดกที่แสดงมาแล้วนั้น ดังนี้

ไม่ว่าเมื่อใด ในขณะใด ณ ที่ไหน ๆ ณ สถานที่ใด ๆ

ม้าอาชาไนยใช้กำลังรบ  ม้ากระจอกย่อมถอยหนี.”

   อาชัญญชาดกจบฺ