๖๔. ทุราชนชาดก (ภาวะของหญิงรู้ยาก )

         พระบรมศาสดาได้ทรงปรารภอุบาสกคนหนึ่งให้เป็นเหตุ มีเรื่องปรากฏว่า อุบาสกคนนั้นเป็นคนนับถือพระรัตนตรัย แต่ฝ่ายภรรยาเป็นคนทุศีล ถ้าวันใดได้ประพฤติมิจฉาจารได้ วันนั้นก็มีกิริยาอ่อนน้อมต่ออุบาสก เหมือนกับทาสที่ไถ่มาด้วยทรัพย์ ๑๐๐ ตำลึง ถ้าวันใดไม่ได้ประพฤติอนาจาร ก็แสดงอาการดุร้ายด่าว่าอุบาสกผู้สามี เหมือนกับนายเงิน จนอุบาสกนั้นรู้สึกอึดอัดรำคาญในภรรยาของตนมิใช่น้อย ครั้นอยู่มาวันหนึ่ง ได้ออกไปเฝ้าพระบรมศาสดาแล้วทูลเล่ากิริยาแห่งภรรยาของตนถวายให้ทรงทราบ พระองค์จึงตรัสว่า ธรรมดากิริยาสตรียากที่จะรู้โดยง่าย ครั้นตรัสดังนี้แล้วจึงทรงแสดงเรื่องอดีตต่อไปว่า ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตครองราชย์สมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี มีทิศาปาโมกข์อาจารย์ อยู่คนหนึ่ง ซึ่งเป็นคณาจารย์ใหญ่อยู่ในกรุงพาราณสีนั้น ในครั้งนั้น มีศิษย์อยู่คนหนึ่งได้นำกิริยาของภรรยาไปชี้แจงให้ฟังว่าภรรยาของตนมีอาการคุ้มดีคุ้มร้าย บางวันก็อ่อนน้อมดุจทาส บางวันก็แข็งกระด้างหยาบคายร้ายกาจดุจนายเงิน ไม่ทราบว่าจะมีเหตุผลดีร้ายประการใด อาจารย์จึงบอกว่าเป็นเพราะภรรยาได้นอกใจเธอเสียแล้ว ในวันที่เขาอ่อนน้อมดุจทาสีนั้นแหละให้รู้เถิดว่าเขานอกใจเธอ ในวันที่เขาร้ายกาจย่อมเป็นนิสัยธรรมดา เพราะไม่ได้คิดนอกใจ แต่เธออย่าถือเรื่องนี้เป็นอารมณ์เลย แล้วกล่าวเป็นคาถาต่อไปว่า

มา   สุ   นนฺทิ  อิจฺฉติ   มํ       มา   สุ   โสจิ   น   อิจฺฉติ

ถีนํ   ภาโว   ทุราชาโน        มจฺฉสฺเสโวทเก   คตนฺติ

          แปลว่า ท่านอย่าหลงเพลินว่าภรรยารักเรา ท่านอย่าเศร้าใจว่าภรรยาไม่รักเรา กิริยาของหญิงทั้งหลายย่อมรู้ได้ยาก ดุจกิริยาเป็นที่ไปของปลาในน้ำย่อมยากที่พรานเบ็ดทั้งหลายจะรู้ได้ฉะนั้น

 เมื่อศิษย์นั้นได้ฟังโอวาทของอาจารย์ก็มีใจเพิกเฉย ฝ่ายภรรยาเข้าใจว่าสามีรู้เท่าทันว่าตนกระทำมิจฉาจารจึงไม่ประพฤติมิจฉาจารอีกต่อไป

          ครั้นสมเด็จพระบรมศาสดา ทรงแสดงเรื่องอดีตอย่างนี้แล้ว จึงทรงประชุมชาดกว่า สองสามีภรรยาในครั้งนั้นก็คืออุบาสกกับภรรยาในบัดนี้ ส่วนทิศาปาโมกข์อาจารย์นั้น คือเราตถาคตนี้แล ดังนี้

“ ท่านอย่าดีใจว่าหญิงปรารถนาเรา อย่าเศร้าโศก

ว่าหญิงนี้ไม่ปรารถนาเรา ภาวะของหญิงทั้งหลาย

เป็นของรู้ได้ยาก เหมือนทางไปของปลาในน้ำ ฉะนั้น.”

ทุราชนชาดกจบ