๑๐๒. ปัณณิกชาดก (ว่าด้วยที่พึ่งให้โทษ)

(๑๐๒)

ปัณณิกชาดก (ว่าด้วยที่พึ่งให้โทษ)

     พระพุทธองค์ ทรงปรารภอุบาสกผู้หนึ่งซึ่งมีนามว่า ปัณณิอุบาสกให้เป็นต้นเหตุ มีเรื่องแห่งอุบาสกนั้นว่า อุบาสกผู้นั้นตั้งเคหสถานสำเร็จการเลี้ยงชีพด้วยการขายรากไม้ ใบไม้และผลไม้ต่าง ๆ อยู่ในกรุงสาวัตถี อุบาสกผู้นั้นมีธิดาอยู่คนหนึ่งซึ่งบริบูรณ์ด้วยรูปสมบัติ จรรยาสมบัติ น่าเอ็นดู แต่ชอบเล่นหัวอยู่เหมือนทาริกา ครั้นนานมาจึงมีตระกูลหนึ่งซึ่งมีฐานะเสมอกันมาสู่ขอ อุบาสกนั้นจึงนึกว่าการที่เขามาขอก็ควรอยู่แล แต่ว่าธิดาของเรายังมีกิริยาเป็นทาริกาอยู่ ถ้าเรายกธิดาของเราให้ไปก็จะมีผู้ครหานินทา

     อยู่มาวันหนึ่ง อุบาสกนั้นจึงทดลองธิดาของตนดูว่า จะเป็นผู้รู้เดียงสาสมควรจะมีสามีได้หรือไม่ จึงให้บุตรถือกระเช้าไปสู่ป่า เพื่อจะหาเก็บผักด้วยกันกับตน ครั้นถึงกลางป่า ก็ทำอาการประหนึ่งว่าชายหนุ่มกับหญิงสาวกล่าววาจาเกี้ยวพานและจับข้อมือธิดาไว้ ส่วนนางกุมาริกาผู้เป็นธิดานั้น จึงร้องไห้ขึ้นทันทีแล้วต่อว่าบิดาว่าบิดาทำอย่างนี้ไม่สมควร ดุ้นไฟหรือจะปรากฏขึ้นบนแม่น้ำได้ พออุบาสกผู้เป็นบิดาได้ฟังดังนั้นจึงบอกความประสงค์ว่า ตนทำเพื่อจะทดลองให้รู้ว่าธิดารู้จักเดียงสาหรือยัง ธิดาจึงชี้แจงให้ตนทราบว่าตนรู้เดียงสาแล้ว แต่ยังไม่เคยแลดูชายคนใดคนหนึ่ง ด้วยปรารถนาจะได้เป็นสามีเลย เมื่ออุบาสกทดลองธิดาอย่างนี้แล้วก็พากลับบ้านจัดการทำวิวาหมงคลส่งธิดาไปอยู่ในตระกูลสามีเสร็จสรรพเป็นอันดีแล้วก็น้อมนำเครื่องสักการบูชาออกไปเฝ้าสมเด็จพระบรมศาสดา กราบทูลตามที่ตนทดลองให้ทรงทราบทุกประการ

     สมเด็จพระบรมศาสดาจึงตรัสว่า ดูก่อนอุบาสก นางกุมารีบุตรีของท่านนี้ แต่กาลก่อนนางก็สมบูรณ์ด้วยสีลาจารวัตร และตัวท่านก็ได้ทดลองมาอย่างนี้เหมือนกัน แล้วพระองค์จึงทรงแสดงเรื่องอดีตว่า ครั้งพระเจ้าพรหมทัตได้เสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสีอันมีในอดีตกาลแล้วนั้น มีอุบาสกผู้หนึ่งเป็นคนขายผักอยู่ในกรุงพาราณสี ได้ทดลองบุตรีของตนเหมือนกันกับท่านนี้อยู่ในป่าใกล้ที่อยู่แห่งพฤกษเทพยดาตนหนึ่ง ใน เวลานั้นพอธิดาถูกบิดาจับข้อมือก็กล่าวว่า

โย   ทุกฺขผุฏฺฐาย   ภเวยฺย   ตาณํ          โส   เม   ปิตา   ทุพฺภิ   วเน   กโรติ

สา   กสฺส   กนฺทามิ   วนสฺส   มชฺเฌ          โย   ตายิตา   โส   สหสา   กโรตีติ

     แปลว่า เมื่อข้าพเจ้าตกทุกข์ได้ยาก ถ้าผู้ใดเป็นที่พึ่งของข้าพเจ้า ผู้นั้นก็คือบิดาของข้าพเจ้า ก็เมื่อบิดามาทำลายข้าพเจ้าในป่าเช่นนี้ ข้าพเจ้าจะคร่ำครวญหาใครในกลางป่านี้เล่า ข้าพเจ้านับถือผู้ใดว่าเป็นที่พึ่งของข้าพเจ้า ผู้นั้นกลับมาทำลายอย่างนี้ ดังนี้

     ครั้นนางกุมาริกานั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว อุบาสกผู้เป็นบิดาก็ปลอบโยนให้หายเสียใจ แล้วถามว่า เจ้ารู้รักษาตัวได้แล้วหรือ จึงตอบบิดาว่า ได้แล้ว บิดาก็พากลับเคหสถาน ทำการวิวาหมงคลส่งไปอยู่ในตระกูลที่มาขอ

     ครั้นสมเด็จพระบรมศาสดาทรงแสดงเรื่องอดีตอย่างนี้แล้ว จึงทรงประชุมชาดกว่า อุบาสกในครั้งนั้น คืออุบาสกในบัดนี้ นางกุมาริกาในครั้งนั้นก็คือบุตรีของอุบาสกคนนี้ ส่วนพฤกษเทพยดาผู้รู้เห็นเหตุแจ่มแจ้งในครั้งนั้น ก็คือเราตถาคตนี้แล ในชาดกนี้เป็นเครื่องชี้ให้เห็นเหตุ ๒ ประการ กล่าวคืออากัปกิริยาของบุรุษสตรีประการหนึ่ง การรู้จักรักษาตัวของสตรีที่ดีประการหนึ่ง ฯ กล่าวคือ บุรุษสตรีทั้งหลายเมื่อจะกล่าวโดยอากัปกิริยาแล้วก็มี ๒ อย่าง คือ อากัปกิริยาของเด็กอย่างหนึ่ง อากัปกิริยาของผู้ใหญ่อย่างหนึ่ง บางคนตัวเป็นผู้ใหญ่แต่มีอากัปกิริยาเหมือนกับเด็ก บางคนตัวเป็นเด็ก แต่มีอากัปกิริยาเหมือนกับผู้ใหญ่ ฯ เมื่อผู้ใดเป็นอย่างนี้ผู้นั้นยากที่คนอื่นจะรู้ได้ว่า ภายในใจของเขาจะเป็นอย่างไร โดยเหตุนี้ อุบาสกนั้นจึงจำเป็นต้องทดลองธิดาของตน เพื่อให้รู้แน่ความในใจว่า ใจจะเป็นเด็กเหมือนกิริยาหรือไม่ ฯ เมื่อผู้ใดมีอากัปกิริยา ไม่สมควรแก่อายุของตน ผู้นั้นย่อมเป็นที่น่าติเตียนของคนทั้งหลายยิ่งตัวแก่แล้ว แต่แสดงอากัปกิริยากระปรี้กระเปร่า มีท่าทางเป็นเจ้าชู้หรือเป็นเด็ก ผู้นั้นก็ยิ่งเป็นที่น่าเกลียดของคนทั้งหลาย แต่ถ้าใจของผู้นั้นเป็นไปตามกิริยาก็ทำเนา สำหรับเด็กเล่าขอท่านทั้งหลายจงจำไว้ว่า ถ้าเด็กชายหรือเด็กหญิงคนใดมีอาการพูดจาท่าทางเหมือนอย่างผู้ใหญ่ คือ ชอบพูด ชอบฟัง แต่สิ่งที่เป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่เป็นต้นว่า การทำมาหาเลี้ยงชีพหรือการบ้านการเรือน เด็กคนนั้นย่อมเอาดีไม่ได้ ลงท้ายจะต้องกลายเป็นคนเหลวไหล ส่วนผู้ใหญ่คนใดชอบเล่นหัวอย่างเด็กก็ไม่ดีเหมือนกัน ไม่อาจจะดำรงตนให้สมควรแก่เพศบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ได้ ด้วยเหตุนี้ไซร้  ขอท่านทั้งหลายจงกล่าวสั่งสอนลูกหลานให้ประพฤติตัวให้สมควรแก่วัยอายุกาล จึงจะหวังความเจริญในข้างหน้า ด้วยประการฉะนี้

“ผู้ใดเมื่อดิฉันได้รับทุกข์พึงเป็นที่พึ่งได้ ผู้นั้นคือบิดาของดิฉันกลับมาทำ

ความประทุษร้ายแก่ดิฉันในป่า ดิฉันจะคร่ำครวญถึงใครในกลางป่า

 ผู้ใดควรจะเป็นที่พึ่งของดิฉัน ผู้นั้นกลับมาทำกรรมอย่างสาหัส.”

ปัณณิกชาดกจบ.