๙๘. กูฏวาณิชชาดก (ว่าด้วยคนผู้เป็นบัณฑิต)

(๙๘ )

กูฏวาณิชชาดก (ว่าด้วยคนผู้เป็นบัณฑิต)

        พระผู้มีพระภาคได้ทรงปรารภพ่อค้าโกงคนหนึ่ง มีเนื้อความต่อไปว่า ในกรุงสาวัตถีนั้น มีพ่อค้าอยู่ ๒ คน คนหนึ่งเป็นบัณฑิตมีใจสุจริตซื่อตรง คนหนึ่งเป็นพาลมีสันดานโกง คราวหนึ่งได้เข้าหุ้นกันซื้อสินค้า เมื่อได้กำไรแล้วพ่อค้าโกงจึงคิดว่า ถ้าพ่อค้าที่เป็นบัณฑิตตาย เราจักแบ่งทรัพย์ออกเป็น ๓ ส่วน คือให้แก่บุตรของเขาส่วนหนึ่ง เราจะเอาเสีย ๒ ส่วน เมื่อคิดดังนี้แล้วก็หาอุบายผลัดเพี้ยนไม่ยอมแบ่งทรัพย์และกำไรโดยเร็ว ส่วนพ่อค้าผู้ซื่อสัตย์สุจริต จึงไปแค่นไค้ขอแบ่งทุนทรัพย์และผลกำไรจนได้ เมื่อเสร็จการแบ่งทรัพย์แล้ว จึงถือเครื่องสักการบูชาออกไปเฝ้าสมเด็จพระบรมศาสดา ได้กราบทูลเรื่องค้าขายให้ทรงทราบทุกประการ พระองค์จึงตรัสว่า ดูก่อนอุบาสก พ่อค้าโกงคนนั้นคิดโกงเธอไม่สำเร็จแต่เพียงคนเดียวเท่านี้ก็หาไม่ ถึงเขาจะคิดโกงคนอื่นก็ไม่สำเร็จเหมือนกัน แล้วจึงทรงยกเรื่องอดีตมาแสดงว่า เมื่อครั้งอดีตกาลในกรุงพาราณสี มีพ่อค้าอยู่ ๒ คน คนหนึ่งชื่อว่าบัณฑิต อีกคนหนึ่งชื่อว่าอติบัณฑิต ได้ค้าขายเข้าหุ้นส่วนกัน อยู่มาวันหนึ่ง พ่อค้าทั้ง ๒ คนนั้นบรรทุกสินค้าเต็มเกวียน ๕๐๐ เล่ม ออกไปจำหน่ายตามบ้านนอกหัวเมือง  เวลาจำหน่ายสินค้าหมดแล้วก็ได้พากันกลับมาสู่กรุงพาราณสีพ่อค้าที่ชื่อว่า อติบัณฑิตจึงกล่าวว่า เราควรจะได้กำไร ๒ ส่วน บัณฑิตพาณิชจึงถามว่า เพราะเหตุไร เขาตอบว่า เพราะชื่อของเราดีกว่าท่าน ตัวท่านเพียงแต่ชื่อบัณฑิตเท่านั้น ส่วนเรามีอติเติมหน้าตัวหนึ่งรวมเป็นอติบัณฑิต ถ้าจะแปลตามชื่อของเราทั้งสองแล้ว ชื่อของเราก็ดีกว่าชื่อท่าน คือ ท่านชื่อบัณฑิต ซึ่งแปลว่าผู้มีปัญญาเท่านั้น ส่วนตัวเราชื่อว่าอติบัณฑิต ซึ่งแปลว่า ผู้มีปัญญายิ่ง โดยเหตุนี้ เราควรจะได้กำไรมากกว่าท่านอีกส่วนหนึ่ง แต่บัณฑิตพาณิชไม่ยินยอม ครั้นต่อมาอีกหลายวัน อติบัณฑิตคิดได้อุบายอย่างหนึ่ง คือให้บิดาของตนเข้าไปอยู่ในโพรงไม้ใหญ่ แล้วทำเหมือนรุกขเทวดา กับให้ทำเสียงแปลกกว่าเดิมและให้ตัดสินว่าเขาควรได้ ๒ ส่วน เมื่อบอกอุบายอย่างนี้แก่บิดาแล้วจึงชวนเพื่อนว่า นี่แน่ะบัณฑิต เราพากันไปถามรุกขเทวดาที่ต้นไม้ใหญ่โน้นเถิด ว่าใครควรจะได้กี่ส่วน แล้วก็พากันไป เทวดาปลอมได้ตัดสินตามอุบายนั้น แต่บัณฑิตพาณิชเป็นผู้วิจิตรไปด้วยปัญญารู้เท่าทันอุบายจึงกล่าวว่า รุกขเทวดานี้ตัดสินไม่เป็นยุติธรรมเราจะต้องเอาไฟเผาเสีย ว่าแล้วก็หาฟางมาสุมต้นไม้นั้น ฝ่ายบิดาของอติบัณฑิตทนความร้อนไม่ได้ก็ทะลึ่งขึ้นจากโพลงไม้นั้นแสดงตัวให้ปรากฏ ได้ห้อยกิ่งไม้อยู่จนหมดกำลังแล้วตกลงมาที่พื้นดิน จึงกล่าวขึ้นว่า

สาธุ โข ปณฺฑิโต นาม          น เตฺวว อติปณฺฑิโต

อติปณฺฑิเตน ปุตฺเตน          มนมฺหิ อุปกุฏฺฐิโตติ

       แปลว่า พ่อค้าที่ชื่อว่าบัณฑิตดีแท้ แต่พ่อค้าที่ชื่อว่าอติบัณฑิตไม่ดีเลย เราถูกไฟลวกหน่อยหนึ่งแล้วเพราะอติบัณฑิตผู้เป็นบุตรของเรา ดังนี้

       ครั้นสมเด็จพระบรมศาสดาโปรดประทานอดีตอย่างนี้แล้ว จึงทรงประชุมชาดกว่า อติบัณฑิตผู้เป็นพ่อค้าโกงในครั้งนั้น ได้เกิดมาเป็นพ่อค้าโกงในครั้งนี้ ส่วนบัณฑิตพาณิชผู้เป็นพ่อค้าที่ซื่อสัตย์ในครั้งนั้น คือเราตถาคตนี้แล ดังนี้ ในชาดกนี้เป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่า ธรรมดาคนโกงย่อมสู้คนซื่อสัตย์สุจริตไม่ได้ จำเป็นจะต้องพบคนดีในเวลาใดเวลาหนึ่งจนได้ ขอให้พุทธศาสนิกชนทั้งหลายจงจดจำเรื่องนี้ไว้สั่งสอนตนเอง และลูกหลานเหลนต่อไปเถิด ดังนี้

“ ธรรมดาคนที่เป็นบัณฑิตเป็นคนดี คนที่เป็นบัณฑิตเกินไป

เป็นคนไม่ดีเราถูกไฟลวกเพราะบุตรที่เป็นบัณฑิตเกินไป.

กูฏวาณิชชาดกจบ.